Last updated: 29 พ.ย. 2566 | 2007 จำนวนผู้เข้าชม |
จุดเริ่มต้นของข่าวในพระราชสำนัก
ในราวทศวรรษ 2520 สถานีโทรทัศน์ทุกสถานีมีการรายงานข่าวในพระราชสำนักออกอากาศเป็นรายการแรกในช่วงของการรายงานข่าวภายใต้การควบคุมของกองข่าว สำนักราชเลขาธิการ โดยทางสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องจะมีผู้ประกาศข่าวเป็นผู้รายงานข่าว รวมทั้งเผยแพร่ภาพพระราชกรณียกิจตามที่กำหนดไว้ให้ ดังนั้น เนื้อหาในการแพร่ภาพในแต่ละช่องจะถูกนำเสนอเหมือนกัน
สถานีโทรทัศน์ของกองทัพบกและรัฐบาลล้วนมีบทบาทสำคัญในการแพร่ภาพพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ต่อสาธารณชน ทั้งนี้ การรายงานข่าวโทรทัศน์ตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา มักแพร่ภาพแสดงให้เห็นพระราชกรณียกิจที่ทรงใส่ใจพยายามแก้ไขเรื่องน้ำให้ชาวนาชาวไร่ ขณะที่การแพร่ภาพเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แสดงให้เห็นบทบาทด้านการทอผ้าและอาชีพเสริมของชาวนาชาวไร่ (ผาสุก และ คริส เบเคอร์ 2539: 533)
นอกจากจะเสนอข่าวในด้านที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในด้านกิจกรรมเกี่ยวกับชนบทแล้ว ยังมีการนำเสนอให้เห็นถึงการรับมอบเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนในมูลนิธิต่างๆ และโครงการส่วนพระองค์ รวมทั้งการบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เพื่อนำไปใช้ดำเนินการตามพระราชประสงค์เป็นจำนวนมากจากบริษัท ห้างร้าน เอกชน และองค์กรต่างๆ แต่ไม่มีการรายงานถึงเงินในการบริจาค จากที่กล่าวมา สะท้อนความสามารถในการระดมทุนจากเอกชนของสถาบันกษัตริย์
สื่อมวลชนไม่เพียงแต่มีบทบาทในการเผยแพร่กิจกรรมในด้านโครงการพระราชดำริของสถาบันกษัตริย์ ผ่านการนำเสนอข่าวในพระราชสำนักเท่านั้น หากแต่ยังได้เผยแพร่ทัศนะทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง สำหรับเหตุการณ์ทางการเมืองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในการใช้สื่อมวลชนด้วยพระองค์เองในยุคนี้ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เวลา 19.15 น. แสดงความเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกันนั้นพระองค์ยังทรงนิยามเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า ‘วันมหาวิปโยค’ ซึ่งส่งผลต่อความทรงจำทางการเมืองของสังคมไทยในเวลาต่อมาอย่างสำคัญ ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นภาพประทับในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่พระราชดำรัสด้วยพระองค์เอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นบทบาทของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ในฐานะเครื่องมือในการเผยแพร่พระราชดำริอันทรงประสิทธิภาพยิ่งในการเข้าถึงราษฎร
..,
บางส่วนจากเล่ม โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ :
การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ : เขียน
ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น : คำนำ
สั่งซื้อหนังสือ คลิก