การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐที่มีมาโดยตลอด?!

Last updated: 12 ม.ค. 2566  |  1572 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐที่มีมาโดยตลอด?!

political participation ได้รับความนิยมขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1950 เปรียบได้ว่าเป็นการหัดเต้นรำจีบกันกับรัฐ หรือเต้นรำกับชนชั้นนำ เพราะการเมืองในอดีตนั้นเป็นเรื่องของชนชั้นนำเท่านั้น เราต่างฝ่ายต่างจะได้คุ้นเคยซึ่งกันและกัน เหมือนกับการ courting หรือจีบกัน ตอนจีบกันคุณอยากได้อะไรล่ะ? “ฉันจะให้คุณนะ ถ้าคุณทำตามที่ฉันต้องการ” รัฐก็ต้องหลอกล่อชาวนาให้มาเป็นพลเมือง ให้เข้ามาอยู่ในระบบ ยอมรับอำนาจ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนพวกเอ็งเป็นใครก็ไม่มีใครรู้ หน้าตาก็ยังไม่เคยเห็น จะมาปกครองกูทำไม แน่นอน กลไกของการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐก็มีมาโดยตลอด ตั้งแต่อริสโตเติล เพราะรัฐเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของประวัติศาสตร์โบราณ

อีกหนึ่งกลไกสำคัญของรัฐก็คือ การใช้กำลังบังคับในฐานะผู้ยึดครอง คำกล่าวของ ซีซาร์ (Caesar) “I came, I saw, I conquered” แต่ในแง่ของ cost-benefit มันลงทุนมาก ภายใต้วิถีชีวิตและระบบคิดแบบพ่อค้า ต้องคุ้มค่า Political Rationality ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ทีนี้ในโลกหลังอาณานิคม ถ้าคุณเป็นคนชนเผ่าจะต้องเข้ามาอยู่ใน Nation-State แล้วคุณจะต้องทำตัวอย่างไร? สิ่งพวกนี้สำคัญมากในโลกหลังอาณานิคม เมื่อประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นอาณานิคม ในตอนนี้ต้องเข้ามาจัดการดูแลตัวเองแล้ว แน่นอน ต้องใช้ social mobilization ผ่านการสื่อสารคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

การถูกตรึงด้วยอำนาจทางการเมืองของรัฐมากขึ้น จะยิ่งส่งผลให้เรื่องยุทธศาสตร์มีความสำคัญมากขึ้น การเสริมสร้างความคิดให้คนธรรมดามียุทธศาสตร์หมายความถึงการเปลี่ยนคนธรรมดาๆ ที่เคยเป็นชาวนาให้กลายมาเป็น ‘นายพล’ ทุกคนจะมีโลกทัศน์แบบการเมืองและชนชั้นนักรบ จะต้องมีกระบวนการ warriorization แบบไม่ฆ่า เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่แค่ embourgeoisement เท่านั้น โดยสิ่งที่กระฎุมพีและชนชั้นนักรบมีร่วมกันคือ ความกล้าหาญ นักรบก็ต้องกล้าไปตายในสนามรบ พ่อค้าก็ต้องกล้าเสี่ยง  กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ

ถ้าเดินตามความคิดของ โจเซฟ ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter) ระบบทุนนิยมต้องสร้างสิ่งใหม่ในแบบ creative destruction ปฏิวัติการผลิตเพื่อให้ได้การผลิตที่ได้ประโยชน์สูง ตอนนี้ก็อาจจะเรียกว่า disruption ตามแนวคิดของ เคลย์ตัน คริสเตนเซน (Clayton Christensen) ที่เรียกว่า disruptive innovation ที่จริงแล้วในปี 1995 เขาเขียนคู่กับ โจเซฟ แอล. โบเวอร์ (Joseph L. Bower) ลงใน Harvard Business Review แต่กระนั้นพอหนังสือของคริสเตนเซนออกมาเครดิตก็เป็นของ เคลย์ตัน คริสเตนเซน คนที่จะทำอะไรใหม่ๆ การจะมี innovation ก็ต้องกล้า กล้าที่จะเสี่ยงทำอะไรที่ไม่เหมือนเดิม

บางส่วนจากในเล่ม ON ANGLO-AMERICAN ว่าด้วยแนวคิดแบบแองโกล-อเมริกัน
ธเนศ วงศ์ยานนาวา : เขียน
ภูริภัทร์ เครือนพรัตน์ ขวัญข้าว คงเดชา : เรียบเรียงและบรรณาธิการ


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้