Last updated: 5 ม.ค. 2566 | 2820 จำนวนผู้เข้าชม |
สมเด็จพระนางเจ้าคัทริน เดอ เมดิซิ : สตรีสูงศักดิ์ผู้เลิศเลอในประวัติศาสตร์ หรือ ยอดนางอิจฉาในละครน้ำเน่า
เพียงสองปีหลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.1572 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๙ (Charles IX) ก็เสด็จสวรรคต คนใจร้ายบางคน (ชวนสงสัยว่าคงเป็นนักประวัติศาสตร์โปรเตสแตนต์) ซ้ำเติมพระองค์ด้วยการอธิบายสาเหตุของการสิ้นพระชนม์ว่า “เพราะถูกหลอกหลอนโดยปีศาจของพวกอูเกอโน” สำหรับพวกที่เชื่อว่าบรรดาสรรพสิ่งเป็นไปตามกฎของกรรมก็ยกกรณีพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๙ เป็นตัวอย่าง
ส่วนพวกที่เชื่อในวิทยาศาสตร์ก็คงโต้ว่าคำอธิบายนี้มาจากความเขลา เพราะในทางการแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าพระองค์เป็นวัณโรค (มีน้อยคนที่สงสัยว่าพระองค์ถูกวางยาพิษ) ซึ่งนอกจากเป็นโรคสามัญ (ประจำบ้าน) แล้วก็ยังมีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยัน ขณะที่ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ เลยว่า วิญญาณของผู้เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบที่ได้มาปรากฏให้พระขวัญของพระองค์กระเจิดกระเจิงจนรักษาพระหฤทัยไว้ไม่ได้ คำอธิบายนี้จึงไร้ค่าโดยสิ้นเชิง และเป็นคำอธิบายที่นักประวัติศาสตร์คาทอลิกเห็นว่าต้องมาจากจิตใจที่ชิงชังคลั่งแค้น
แต่ตามสายตาของพวกไม่มีความศรัทธาใดๆ ไม่ว่าในโลกนี้หรือในโลกหน้า ซึ่งเห็นว่ากฎแห่งกรรมก็มี ‘สองมาตรฐาน’ เช่นเดียวกับกฎอื่นในโลก ก็จะยกกรณีสมเด็จพระนางเจ้าคัทริน เดอ เมดิซิ (Catherine de Medici) ขึ้นมาแย้งว่า พระนางมีพระชนม์ชีพยืนยาวถึง 69 พระชันษา (ซึ่งนับว่าเจริญพระชนมายุตามมาตรฐานสมัยนั้น)
ทั้งที่พระหัตถ์ของพระองค์มิได้ชุ่มเลือดน้อยไปกว่าพระราชโอรสเลย หนำซ้ำยังอาจจะมากกว่าหลายเท่าด้วย เพราะเชื่อกันว่าพระองค์ได้ทั้งกึ่งขอร้องกึ่งบังคับตลอดคืนวันที่ 22 ให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๙ ทรงออกคำสั่งสังหาร และบทบาทของพระองค์ในการวางแผนให้เกิดการสังหารหมู่ก็เป็นที่ยอมรับกันกว้างขวาง ไม่เว้นแม้กระทั่งคาทอลิก ‘ฮาร์ดคอร์’ เช่นนักเขียนงานวรรณกรรมเรืองนาม ออนอเร่ เดอ บัลซัค (Honoré de Balzac) ซึ่งถึงกับยกพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า “พวกนักบันทึกหน้าไหว้หลังหลอกทุกยุคทุกสมัยชอบหลั่งน้ำตาให้กับชะตาชีวิตของไอ้พวกกเฬวรากสองร้อยคนที่สมควรตาย”
การสังหารหมู่ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามกลางเมืองซึ่งมีความขัดแย้งหลายซับหลายซ้อน นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของบัลซัค เรื่อง คัทริน เดอ เมดิซิ (Catherine de Medici) ไม่ได้เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์วันสังหารหมู่โดยตรง แต่วางไว้เป็นฉากหลัง และอ้างอิงเป็นนัยอยู่เป็นระยะๆ หัวใจของนวนิยายเล่มนี้ (สำหรับผู้เขียน) เป็นทั้งความพยายามอธิบายประวัติศาสตร์ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ ความจำเป็น รวมทั้งความชอบธรรมในพระราชกรณียกิจสังหารหมู่ของสมเด็จพระนางเจ้าคัทริน เดอ เมดิซิ
..,
งานศึกษาเกี่ยวกับสมเด็จพระนางเจ้าคัทริน เดอ เมดิซิ มีอย่างต่อเนื่องและหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นงานทางวิชาการ วรรณกรรม ภาพยนตร์ และศึกษาในแง่มุมต่างๆ เป็นต้นว่า พระองค์ในการเมืองฝรั่งเศสและความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักร พระองค์ในช่วงผันผวนของสงครามศาสนา พระองค์ในฐานะสตรีที่เดินหมากการเมืองในสนามความขัดแย้งอันสลับซับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องที่พระนามของพระองค์ควบคู่อยู่กับการสังหารหมู่ ‘สิงหาฯ โหดอำมหิต’
เจ. เอ็ม. ทอมป์สัน (J. M. Thompson) เขียนว่า “ผู้ที่รับผิดชอบในการฆ่าฟันครั้งนี้ยังไม่ทราบแน่นอนทีเดียว แต่เชื่อกันว่าเป็นแผนการของพระนางคัทริน” แต่บางคนก็ไม่ตอบอย่างฟันธงว่า สมเด็จพระนางเจ้าคัทริน เดอ เมดิซิ เป็นผู้บงการหรืออยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่พวกอูเกอโน โดยเฉพาะช่วงภายหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ หรือแม้ในช่วงพระชนม์มายุของพระองค์ อย่าว่าแต่จะตอบเลย จะตั้งเป็นคำถามก็ไม่มี
ในเมื่อไม่ควรมองพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๙ จากมุมใดมุมเดียว หลักการนี้ก็ควรใช้กับสมเด็จพระนางเจ้าคัทริน เดอ เมดิซิ ด้วย สำหรับบัลซัค พระองค์เป็นบุคคลสำคัญยิ่งใหญ่ สง่างาม (the grand and splendid figure) เป็นผู้ทรงทำคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินและต่อราชวงศ์อย่างอเนกอนันต์ (เอกเอื้ออนันตคุณ!) ผู้ทรงสามารถใช้กลเม็ดเด็ดพรายทางการเมืองและการทหารปกป้องราชบัลลังก์ฝรั่งเศส (save the crown of France)
และถ้าจะมีบุคคลใดที่พระเจ้าอองรีและหลุยส์ทั้งหลาย (จาก Henri III ถึง IV และ Louis XIII จนกระทั่งถึง Louis XVI) สมควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น บุคคลผู้นั้นก็คือสมเด็จพระนางเจ้าคัทริน เดอ เมดิซิ ยิ่งกว่านั้นถ้าบรรดาพสกนิกรฝรั่งเศสทั้งในอดีตและปัจจุบันไม่ไร้ความสำนึกกตัญญูรู้คุณแล้วไซร้ พระองค์คือพระราชินีที่ทุกเขตคามควรมีพระฉายาลักษณ์มาประดับฝาบ้านทุกหลังคาเรือน
ก็ไม่ใช่เพราะราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) อันเชื่อมโยงและสืบไอศูรย์ราชสมบัติจากราชวงศ์วาลัวส์ (Valois) ซึ่งพระนางคัทรินเป็นพระสุณิสาดอกหรือ ที่ทำให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนจากสภาพที่เคยเป็นเขตแดนต่างๆ ซึ่งปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระต่อกัน กลายเป็นฝรั่งเศสที่มีศูนย์กลางอำนาจและอาณาเขตแน่นอน โดยกำราบเจ้าเล็กเมืองน้อยและวงศ์ตระกูลขุนนาง โดยเฉพาะวงศ์ตระกูลกิส (Guise) และพวกมักใหญ่ใฝ่สูงนานาประเภทที่พยายามแย่งชิงอำนาจกันวุ่นวาย ให้มาอยู่ใต้เศวตฉัตรเดียวกัน อันนำไปสู่ความเป็นปึกแผ่น รุ่งเรืองทางศิลปะวิทยาการ ไม่ต้องเป็นรองสเปนและอาณาจักรแฮปส์บวร์ก
บางส่วนจากในเล่ม น้ำตาเหือด แล้วเลือดตก
ไชยันต์ รัชชกูล : เขียน
ไอดา อรุณวงศ์ : บรรณาธิการ