Last updated: 19 ก.ย. 2565 | 2522 จำนวนผู้เข้าชม |
ระบบโซตัส ต้นตอปัญหาเรื้อรังในการศึกษาไทย
กิจกรรมรับน้องใหม่เริ่มถูกจับตามอง หลังจากมีข่าวความรุนแรงออกตามสื่อต่างๆ มีผู้ชี้ว่าอย่างน้อยก็เป็นข่าวในปลายทศวรรษ 2520 ทั้งนี้ มีเนื้อหาจากงานวิจัยปี 2530 ว่าสื่อมวลชนสำคัญเช่นหนังสือพิมพ์รายวันและโทรทัศน์ออกข่าวการประชุมร้องเพลงเชียร์และต้อนรับน้องใหม่ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงของสถาบันอุดมศึกษา
ปัญหาการประชุมร้องเพลงเชียร์และการต้อนรับน้องใหม่ และการออกข่าวของสื่อมวลชนได้ทวีความรุนแรงขึ้นมากในระยะสามปีที่ผ่านมา ปัญหาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นักศึกษา บรรยากาศการเรียนการสอน และชื่อเสียงของสถาบันอุดมศึกษาเป็นอันมาก
จากงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ผู้วิจัยไม่ได้เห็นว่าระบบโซตัสเป็นเรื่องเลวร้าย เพราะระบบนี้สอดคล้องกับ 'วัฒนธรรมไทย' ที่เน้นการนับถืออาวุโส มีระเบียบวินัย มีความสามัคคี และมีน้ำใจ ปัญหาจึงอยู่ที่ตัวบุคคลที่ไม่ได้ปฏิบัติตามระบบโซตัสอย่างจริงจัง
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ถึงความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่มีผลต่อการรับน้อง เมื่อความใฝ่ฝันของนักศึกษาทศวรรษ 2530 ถึง 2540 คือ การไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร แต่มุ่งหวังให้เป็นเจ้าของกิจการ ดังนั้นพวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครือข่ายเพียงมหาวิทยาลัยแบบเหล่าข้าราชการในยุคก่อน แต่แทนที่ประเพณีรับน้องจะค่อยๆ เสื่อมลง กลายเป็นว่ามีบทบาทที่ขยายตัวมากขึ้นตามการเติบโตของมหาวิทยาลัย
นิธิยังเล่าถึงประสบการณ์ของนักศึกษาบางคนว่า การไม่ยอมอ่อนข้อให้รุ่นพี่ตอนปีหนึ่งอาจทำให้ถูกคว่ำบาตรจากทั้งเพื่อนร่วมรุ่น ในคณะ และกระทั่งอาจารย์ ส่งผลให้ 'การศึกษา' กับ 'ความรุนแรงที่มากับการควบคุมวินัย' ที่ควรลดลงในระดับมหาวิทยาลัย กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และที่หนักไปกว่านั้นคือ เมื่อรุ่นน้องขึ้นเป็นรุ่นพี่ในชั้นปีที่สองก็เป็นผู้จรรโลงสืบทอดระบบนั้นต่อไปอีก การควบคุมวินัยผ่านเรือนร่างและพฤติกรรมจึงไม่ได้มีเพียงในโรงเรียน แต่ขยายขอบเขตมายังการศึกษาระดับอุดมศึกษาอีกด้วย แค่ผู้ควบคุมกลับเป็นนักศึกษาที่อ้างสิทธิธรรมผ่านความอาวุโส
ขณะที่ระดับมหาวิทยาลัย แม้มองผิวเผินจะเห็นว่ารัฐตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง ที่สำคัญเกิดขึ้นมาจากการรับน้อง แต่ก็เพื่อกลบเกลื่อนความรุนแรงในหน้าข่าวต่างๆ เช่น ข่าวใหญ่ปี 2540 ที่สโมสรนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มีมติตัดรุ่นนักศึกษาที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมของคณะ จนทำให้สภาอาจารย์ออกมาคัดค้าน ข่าวดังกล่าวส่งผลต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยต้องออกหน้าแก้ไขปัญหาข้างต้น
กระทั่งการประชุมสภาผู้แทนราษฎรปี 2541 รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยได้กล่าวถึงประเด็นการรับน้องว่ามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ กำกับดูแลไม่ให้เกิดความรุนแรงและการล่วงละเมิด กิจกรรมรับน้องต้องเกิดจากความสมัครใจ และองค์การนิสิตนักศึกษาจะต้องขออนุมัติโครงการก่อน ปัญหาสำคัญคือพวกเขาตระหนักเพียงความรุนแรงทางกายภาพที่เกิดขึ้น แต่เห็นดีเห็นงามกับกิจกรรมที่ใช้เป็นการหล่อหลอมพฤติกรรมและระเบียบวินัย
ดังนั้น เช่นเดียวกับความเห็นนักวิจัยในปี 2530 คือระบบโซตัสมิใช่เรื่องผิด เนื่องจากมันช่วยจัดระเบียบวินัยเพื่อสังคมในอุดมคติของพวกเขา และยังสอดคล้องกับประเพณีอันดีงามเรื่องอาวุโส
บทความของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ได้ชี้ให้เห็นกลไกในระบบนี้คืออธิการบดีและคณบดีของแต่ละคณะเป็นประธานระบบโซตัสตัวจริง เพราะว่ากิจกรรมรับน้องได้สร้างหลักประกันให้ผู้บริหารในการเกณฑ์นักศึกษามาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้
อย่างไรก็ดี ในยุคหลังเริ่มมีเครื่องมือที่ใช้ควบคุมนักศึกษาโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกิจกรรมรับน้อง เช่น นโยบายกิจกรรมภาคบังคับ หรือ 'ทรานสคริปต์กิจกรรม' ซึ่งใช้กำหนดเวลาร่วมกิจกรรมขั้นต่ำของนักศึกษา ก่อนหน้านี้นักศึกษามีอิสระที่จะเลือกทำหรือไม่ทำกิจกรรมใดก็ได้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้พูดถึงประเด็นนี้จากเมื่อปี 2550 โดยมีจุดประสงค์ส่วนหนึ่งคือ สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมหาวิทยาลัยที่ได้กระจายไปตามวิทยาเขตต่างๆ ในภาคใต้ แต่ที่เป็นข่าวคือในปี 2554 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตเสนอให้จัดทำทรานสคริปต์กิจกรรมคู่กับทรานสคริปต์เกรดเฉลี่ย โดยอ้างว่าเพิ่มช่องทางในการหางานทำในฐานะเป็นแต้มต่อ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้แพร่หลายไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ
กล่าวคือ มหาวิทยาลัยได้เลือกใช้ระบบกิจกรรมเป็นตัวหลักในการดึงคนให้ครบตามจำนวนเพื่อเข้าร่วมทำกิจกรรมแลกกับคะแนน นักศึกษาในฐานะมวลชนจึงมีสถานะเป็น 'แรงงาน' หรือ 'ผู้เข้าร่วมงาน' ให้งานดูไม่โหรงเหรง ดังนั้น ด้วยกลไกดังกล่าว นักศึกษาส่วนใหญ่จึงตกเป็น 'ผู้ตาม' แทบจะไม่มีสิทธิเรียกร้องหรือเลือกกิจกรรมได้เลย
-- บางส่วนจาก เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย
คลิกสั่งซื้อในราคาพิเศษ ชุดหนังสือประวัติศาสตร์ที๋โรงเรียนไม่ได้สอน พร้อมให้คุณเบิกเนตรและตาสว่าง