Last updated: 4 มิ.ย. 2565 | 1688 จำนวนผู้เข้าชม |
พูดถึง 'คู่ประหลาด' แห่งวงการวรรณกรรมฝั่งอเมริกา (สมัยยุค 1920) คู่แรกและคู่ในตำนานที่ผุดขึ้นมา ยังไงก็คงไม่พ้น เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) และ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway)
จะว่าเป็นเพื่อน เป็นคู่แข่ง หรือเป็นผู้ร่วมชะตากรรมในฐานะที่มี บ.ก. แจ้งเกิดคนเดียวกัน คือ แม็กซ์เวลล์ เพอร์กินส์ (Maxwell Perkins) ก็คงได้
เส้นทางทางวรรณกรรมของทั้งสองบางครั้งก็เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า แต่บางครั้งก็เหมือนไต้ฝุ่นที่ถล่มกันเอง (และแน่นอน, เฮมิงเวย์เป็นฝ่ายถล่มฟิตซ์เจอรัลด์มากกว่า)
ย้อนกลับไปในตอนต้นแมตช์ ฟิตซ์เจอรัลด์ดูเหมือนจะมีคะแนนนำมากกว่าจากการก้าวเข้าสู่เส้นทางนักเขียนก่อนเฮมิงเวย์เกือบ 7 ปี
เพอร์กินส์ไปควานหาตัวฟิตซ์เจอรัลด์มาจากหน้าแมกกาซีน และเป็นคนเดียวในสำนักพิมพ์ Charles Scribner's Sons (หรือเรียกย่อๆ ว่า Scribner) ที่ยอมรับฝีไม้ลายมือของนักเขียนโรแมนติคฟุ้งเฟื่องคนนี้ เพราะในขณะที่คนอื่นโยนดราฟต์ต้นฉบับ This Side of Paradise ของฟิตซ์เจอรัลด์ทิ้งอย่างไม่ไยดี เพอร์กินส์กลับเคี่ยวเข็ญจนนวนิยายเรื่องยาวนี้ได้ตีพิมพ์ในปี 1920 ซึ่งนับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของนวนิยายอเมริกันขณะนั้น
แม้ในวิถีชีวิตส่วนตัว ฟิตซ์เจอรัลด์อาจมีพฤติกรรมหลายอย่างที่สร้างปัญหา (ใช้เงินฟุ่มเฟือย ติดเหล้า) แต่กับบรรณาธิการอย่างเพอร์กินส์ ความสัมพันธ์ของพวกเขานับว่ายืนยาวจนถึงวาระสุดท้ายของฟิตซ์เจอรัลด์ และงานชิ้นสำคัญที่พวกขาทำร่วมกัน ก็คือ 'The Great Gatsby'
ด้วยอานิสงส์ของฟิตซ์เจอรัลด์นี้เอง เพอร์กินส์จึงได้รู้จัก เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ซึ่งในขณะนั้นทำงานเป็นผู้สื่อข่าวอยู่ที่ยุโรป เพราะ 'The Great Gatsby' เป็นเรื่องที่ทำให้เฮมิงเวย์นึกอยากเขียนนวนิยายขึ้นมาบ้างหลังจากที่เขียนแต่เรื่องสั้นมานานปี เขาวางแผนเขียนเรื่อง 'The Sun Also Rises' ระหว่างเทียวไปเทียวมาในยุโรปทั้งที่สเปน ออสเตรีย และปารีส จนปี 1926 เฮมิงเวย์จึงได้ตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกด้วยฝีมือการผลักดันของ 'แม็กซ์' แม็กซ์เวลล์ เพอร์กินส์ บรรณาธิการคู่ใจของฟิตซ์เจอรัลด์นั่นเอง
การผลักดันงานของเฮมิงเวย์ นอกจากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เฮมิงเวย์เป็นที่รู้จักในวงการแล้ว ยังส่งผลสะเทือนต่อตัวฟิตซ์เจอรัลด์ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตบรรณาธิการของเพอร์กินส์ เพราะยุคแรกคนยังไม่ 'อิน' กับประโยคทื่อๆ แมนๆ ของเฮมิงเวย์นัก งานของเขาหนักแน่น ห้วน กระชับ ต่างกันชนิดฟ้ากับเหวจากงานอันเพริศแพร้วที่เต็มไปด้วยเรื่องความสัมพันธ์ฉาบฉวยของฟิตซ์เจอรัลด์ แต่เพอร์กินส์ก็ยังคงแน่วแน่กับสายตาของตน สนับสนุนให้งานของเฮมิงเวย์ได้รับการตีพิมพ์ออกมา
ฉะนั้นหลังผลงานเล่มที่ 2 ของเฮมิงเวย์อย่าง A Farewell to Arms ได้ตีพิมพ์ในปี 1929 และทะยานขึ้นสู่อันดับต้นๆ ของหนังสือขายดี คนที่เคยวิจารณ์เขาก็เป็นอันต้องหุบปากกันหมด
แต่เมื่อเฮมิงเวย์โดดเด่นขึ้นมา ชื่อเสียงของฟิตซ์เจอรัลด์ (ระหว่างที่เขาใช้ชีวิตนักเขียนไปพลาง ผลาญเงินไปพลาง) ก็ยิ่งตกลงๆ และตัวเฮมิงเวย์เองก็ยังเคยเหยียดฟิตซ์เจอรัลด์เรื่องงานเขียนของเขาบ่อยๆ ว่าไม่มีสาระอะไรนอกจากเรื่องชีวิตของพวกไฮโซ (ทั้งๆ ที่เคยชอบ The Great Gatsby จนถึงขั้นอยากเขียนนิยายเองนั่นแหละ)
พูดง่ายๆ ก็คือ เฮมิงเวย์ออกจะขี้หาเรื่องและมีด้านมืดพอสมควร แต่ถ้าว่ากันเฉพาะด้านงานเขียน คงเป็นโชคร้ายของฟิตซ์เจอรัลด์ด้วยที่ความนิยมเรื่องโรแมนติคหรูหราหวานอมขมกลืนเหมือนอยู่ในมนตราของอเมริกันดรีมเพิ่งสลายหายไปพอดี
ดังนั้นถ้าจะถามว่าสุดท้ายแล้วใครอยู่ยั้งยืนยงกว่ากัน...ก็คงพอจะเดากันได้
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น Scott Donaldson ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Hemingway vs. Fitzgerald อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสองคนนี้แบบง่ายๆ ไว้ว่า
แต่เพื่อความยุติธรรม ควรบอกเอาไว้ก่อนว่างานของ Donaldson ออกจะเอนเข้าข้างเฮมิงเวย์มากกว่าฟิตซ์เจอรัลด์ การเล่าเรื่องมิตรภาพเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดและศัตรูคู่แค้นของเขาแม้จะมีส่วนที่บันเทิงต่อผู้อ่าน แต่ก็ทำให้ฟิตซ์เจอรัลด์เป็นไอ้ขี้เมาที่ใช้ชีวิตเละเทะกว่าความเป็นจริงมากขึ้นไปอีก (ทั้งที่ปกติก็ติดเหล้าหนักอยู่แล้ว) ส่วนเฮมิงเวย์ที่ร้ายอยู่แล้วก็ยิ่งดูเหมือนคนพาลเกเรที่น่ารำคาญหนักกว่าเก่า ดังนั้นแม้ประเด็นในเรื่องจะสนุกอยู่ แต่จะเชื่อทั้งหมดนั้นทันทีก็ไม่ได้
และถ้าสงสัยว่าเหตุใดเฮมิงเวย์ถึงร้ายกับฟิตซ์เจอรัลด์นัก...ต้องขอบอกก่อนว่าไม่ใช่ เพราะปาป้าแกยังร้ายกับเพื่อนร่วมยุคอีกหลายคน ทั้ง เกอร์ทรูด สไตน์ ที่เคยอยู่แก๊งเดียวกันที่ปารีส และ วิลเลียม โฟล์คเนอร์ (William Faulkner) อนาคตผู้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม (ก่อนเฮมิงเวย์ด้วย)
จนชื่อเสียงของฟิตซ์เจอรัลด์ตกต่ำไปแล้วขณะที่ตัวเองกำลังรุ่งเรืองขึ้น เฮมิงเวย์ถึงได้ไม่ค่อยสนใจจะระรานฟิตซ์เจอรัลด์อย่างเปิดเผยอีก (และต่อมาก็หันไปแซะโฟล์คเนอร์แทน)
แต่ว่ากันแบบเข้าข้างปาป้าเล็กน้อย ในส่วนลึก เฮมิงเวย์ก็ยังคงยอมรับในความสามารถของเพื่อนร่วมยุคคนนี้ (แล้วก็เบะปากออกสื่อว่าเป็นแค่เรื่องน้ำเน่าไร้สาระ) เพราะฉะนั้นเมื่อฟิตซ์เจอรัลด์เสียชีวิตไปแล้วและผู้คนเริ่มกลับมาพูดถึงงานของเขาในแง่ที่ดี เฮมิงเวย์ถึงได้เริ่มออกอาการเหยียดงานของฟิตซ์เจอรัลด์ขึ้นมาอีกระลอก
เข้าทำนอง จริงๆ ก็รู้แหละว่าเก่ง แต่แล้วยังไงล่ะ?
ส่วนฟิตซ์เจอรัลด์ ถามว่าเขาเคยอยากตะบันหน้าเฮมิงเวย์กลับบ้างไหม?...บางทีก็อาจจะมีบ้าง!!
ความสัมพันธ์ระหว่างสองคนนี้มีทั้งความเคารพในฝีมือการเขียน (แต่ด่างานเขียนและตัวตนของกันและกัน) และเรื่องที่ทั้งคู่ต่างก็ผ่านสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 1 มาเหมือนๆ กัน เฮมิงเวย์ผู้ชอบเรื่องปืนผาหน้าไม้และอินกับสงคราม ในขั้นต้นจึงไม่ได้รังเกียจฟิตซ์เจอรัลด์นัก ส่วนฟิตซ์เจอรัลด์เองก็มีความ 'อ่อน' ในตัวเองมากอยู่แล้ว (ซึ่งนี่ก็คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเขียนงานละเมียดๆ หรือเรื่องรักได้ดี) จะให้ทำตัวเกรี้ยวกราดด่าตอบก็คงไม่ใช่
หลังจากพบกันมาระยะหนึ่ง พฤติกรรมติดเหล้าของฟิตซ์เจอรัลด์ทำให้เฮมิงเวย์อดรู้สึกดูถูกไม่ได้ เขามองว่านั่นคือสิ่งที่คนอ่อนแอเป็น (กินเหล้าไม่ผิด แต่ควบคุมตัวเองไม่ได้น่ะผิด) มิตรภาพระหว่างทั้งคู่จึงเลวลง
แต่เอาเข้าจริง ลึกๆ แล้วเฮมิงเวย์ก็ไม่ได้เกลียดชังเพื่อนคนนี้อยู่ดี เพราะในจดหมายที่เขาเขียนหาฟิตซ์เจอรัลด์เรื่องงานเขียนและเรื่องชีวิตจิปาถะ แม้จะมีคำตำหนิ แต่ก็ยังมีประโยคให้กำลังใจแทรกอยู่เสมอ
สุดท้ายแล้วสองคนนี้ใครเก่งกว่ากัน ดีกว่ากัน คนในยุคหลังอย่างเราๆ ก็คงบอกได้แค่ 'ทั้งคู่ต่างกัน' ทั้งแนวทางการเขียน ความคิดอ่าน ความชอบ ล้วนไปคนละทางกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นจึงยากจะบอกว่าฟิตซ์เจอรัลด์หรือเฮมิงเวย์คือที่สุด เพราะถ้าจะวัดกันที่สำนวนหยดย้อย เฮมิงเวย์ย่อมเทียบฟิตซ์เจอรัลด์ไม่ติดฝุ่น แต่ถ้าจะวัดกันที่ความนิยม ชื่อเสียงของเฮมิงเวย์กลับอยู่ยงคงกระพันยาวนานกว่า
และต่อมาคนรุ่นหลังก็ยกย่องทั้งคู่เหมือนๆ กันในฐานะนักเขียนคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20
ฉะนั้นคำตอบของคำถามนี้ ก็คงเหมือนคำถามที่ว่านวนิยายเรื่องไหนสนุกกว่ากันนั่นแหละ
ตอบยาก...ก็แล้วแต่คนชอบ!
==============================
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์วรรณกรรม The Paperless
==============================
สั่งซื้องานเขียนของฟิตซ์เจอรัลด์ คลิก หวนคืนสู่บาบิลอน และเรื่องสั้นอื่นๆ
สั่งซื้องานเขียนของเฮมิงเวย์ คลิก บาย - ไลน์ (By-Line)