Last updated: 26 ม.ค. 2565 | 1852 จำนวนผู้เข้าชม |
จาก วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 4 ประจำเดือนเมษายน – มิถุนายน 2548
Can Poetry Matter?
ถึงเขาเจ้าชายผู้ขังตัวเองในปราสาทร้าง
(จากปัจเจกนิยมพาฝันถึงโลกเฉพาะอันโดดเดี่ยว)
วิภาส ศรีทอง, หนุมาน กรรมฐาน แปลและเรียบเรียงจาก Can Poetry Matter? พิมพ์ครั้งแรก The Atlantic Monthly, May 2001
..,
“บทกวีได้สูญหายไปจากการเป็นพลังทางวัฒนธรรมของประเทศอเมริกามาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว หากเหล่ากวีสามารถข้ามพ้นไปสู่โลกภายนอกได้ พวกเขาจะสามารถรังสรรค์สาระสำคัญแห่งบทกวีให้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง”
บทกวีอเมริกันในปัจจุบันกลายเป็นโลกเฉพาะ (subculture) และไม่ได้มีบทบาทสำคัญในชีวิตของศิลปินและปัญญาชนอีกต่อไป มันกลายเป็นเพียงอาชีพเฉพาะทางของกลุ่มคนที่โดดเดี่ยว มีความพยายามเพียงน้อยนิดในการเอื้อมมือออกจากสังคมปิดนี้ เหล่ากวีมิได้มีส่วนร่วมในความเป็นไปของสังคม เป็นเหมือนกับนักบวชแห่งเมืองเล็กๆ ที่สิงสู่อยู่แต่ในความเชื่อและศรัทธาของตนเอง แต่เป็นศิลปินที่ไม่อาจจับต้องได้ของมวลชน
อะไรที่ทำให้บทกวีร่วมสมัยตกอยู่ในสถานการณ์นี้ น่าตกใจว่ามันได้กลายเป็นศิลปะที่ไม่อาจขยับขยายขอบเขตอีกต่อไป ทั้งที่ไม่เคยมียุคสมัยใดที่มีการตีพิมพ์บทกวี และนิตยสาร วารสารมากมายเท่านี้ ไม่เคยมียุคสมัยใดที่ใครสักคนจะเป็นกวีได้ง่ายดายเท่ายุคนี้ เวลานี้มีงานสอนวิชาการเขียนสร้างสรรค์ (Creative Writing) และการเขียนในระดับต่างๆ สำหรับนักเขียนและกวีหลายพันแห่ง เรายังสามารถพบเห็นโครงข่ายที่ซับซ้อนของกิจการเกี่ยวกับกวีอีกมากมาย ทั้งที่อุดหนุนโดยรัฐ ท้องถิ่น และกองทุน รวมถึงรางวัลต่างๆ ไม่น้อย และไม่เคยมียุคสมัยใดที่มีการตีพิมพ์บทวิจารณ์เกี่ยวกับกวีร่วมสมัยในจดหมายข่าวทางวรรณกรรมที่เกิดขึ้นเป็นโหลๆ แบบนี้มาก่อน
วิชาชีพกวีและโครงการทั้งหลายเกี่ยวกับกวีนี้ เป็นตัวบ่งชี้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าประหลาดใจยิ่ง เพียงแค่หนังสือบทกวีนับพันที่ตีพิมพ์กันในแต่ละปี และยังบทกวีจำนวนมากที่พิมพ์ในนิตยสารทั้งเล็กและใหญ่ ไม่มีใครรู้ว่ามีการอ่านบทกวีมากมายแค่ไหนในแต่ละปี แต่แน่นอนว่าจำนวนนั้นต้องมีมากนับแสน และเวลานี้ก็มีหลักสูตรการเขียนสร้างสรรค์ (Creative Writing) ระดับปริญญาตรีมากกว่า 200 หลักสูตรในสหรัฐอเมริกา และมีนักเรียนมากกว่าหนึ่งพันคน ซึ่งมีนักเรียนที่เรียนบทกวีอย่างน้อย 10 คนในแต่ละหลักสูตร หลักสูตรพวกนี้จะผลิตกวีอาชีพมากกว่า 20,000 คนในทศวรรษหน้า จากสถิติดังกล่าวใครก็คงสรุปได้ง่ายๆ ว่าเรากำลังอยู่ในยุคทองของบทกวีอเมริกัน
แต่การบูมของกวีนิพนธ์กลับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยจะดีนัก ทั้งรัฐและเอกชนร่วมกันผลิตกวีอาชีพในฐานะครู บัณฑิต บรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้บริหาร บนพื้นฐานของระบบมหาวิทยาลัย กลุ่มคนเหล่านี้จะค่อยๆ กลายเป็นผู้อ่านบทกวีร่วมสมัย ส่งผลให้กวีนิพนธ์อเมริกัน ซึ่งเคยส่งพลังของมันออกไปยังสังคมภายนอก กลับกลายมาเป็นหดตัวเข้าสู่ภายใน ชื่อเสียงและรางวัลเป็นสิ่งที่กระจายกันอยู่ในโลกเฉพาะ (subculture) เช่นที่ Russell Jacoby เขียนงานวิชาการร่วมสมัยตีพิมพ์ใน The Last Intellectuals ว่า "ชื่อเสียง" ของกวีในเวลานี้หมายถึง คนที่มีชื่อเสียงสำหรับกวีคนอื่นเท่านั้น เพียงแต่ว่ามันมีกวีคนอื่นในปริมาณมากพอที่จะทำให้ชื่อเสียงในกลุ่มเฉพาะนี้มีความหมายขึ้นมา เมื่อไม่นานมานี้คำว่า "มีเพียงแต่กวีด้วยกันเท่านั้นถึงจะอ่านบทกวี" ยังเป็นคำที่มีความหมายในเชิงแดกดันอยู่เลย เวลานี้คำกล่าวนี้กลับกลายเป็นข้อพิสูจน์การตลาดที่ได้ผลไปเสียแล้ว
สถานการณ์นี้ได้กลายเป็นกระบวนการทางสังคมที่ขัดแย้งในตัวเอง มากกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้ 'เชี่ยวชาญ' ในการอ่านบทกวีเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างคงที่ นักอ่านทั่วไปกลับลดน้อยถอยลง มากกว่านั้น พลังดังกล่าวยังส่งให้สถาบันที่เกี่ยวกับบทกวีประสบความสำเร็จ หลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับการเขียนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด นิตยสารและสำนักพิมพ์เฉพาะทาง กิจกรรมการฝึกอาชีพ และการอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ของวัฒนธรรมวรรณกรรมของอเมริกา ทั้งหมดได้ทำให้วรรณกรรมค่อยๆ สาบสูญไปจากการรับรู้ของสังคม
- - เจ้าชาย เจ้าชาย เจ้าชายผู้อยู่แต่ในโลกของเขา (Its Own World) - -
- - ใครสาปเจ้าสูญหายไร้เยื่อใย (How Poetry Diminished) - -
อ่านต่อฉบับเต็ม Can Poetry Matter?
ใน วารสารหนังสือใต้ดิน (Underground Buleteen) เล่มที่ 4
คลิกสั่งซื้อครบ Set วารสารหนังสือใต้ดิน ในราคาสุดพิเศษ
อ่าน 12 บทกวีแนะนำ สำหรับผู้มีถ้อยคำเป็นอาวุธ