Last updated: 24 ม.ค. 2565 | 1733 จำนวนผู้เข้าชม |
บันทึกรายการ Shine A Light แสงส่องวรรณกรรม โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
วันที่ 27 ธันวาคม 2564 ดำเนินรายการโดย ชัยจักร ทวยุทธานนท์
ชัยจักร ทวยุทธานนท์ : "Shine A Light podcast แสงส่องวรรณกรรม โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในบรรยากาศที่วารสาร นิตยสารต่างๆ ล้มหายตายจาก ปิดตัวกันไป แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ยังมีเวทีประกวดต่าง ๆ สำหรับผู้ที่เป็นสายประกวดเวทีต่าง ๆ ก็จะทราบแต่ละเวทีว่ามีการแข่งขันกันที่ไหนบ้าง"
ชัยจักร : "หนึ่งในนักเขียนที่เปิดตัวขึ้นมา เกิดขึ้นมาในยุคที่คาบเกี่ยวระหว่างนิตยสาร วารสารยังมีลมหายใจ และข้ามมาถึงช่วงที่เป็นการประกวดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกวดเวทีใหญ่ เวทีเล็ก ต่างๆ นานา นักเขียนเหล่านี้ก็เป็นนักเขียนที่เติบโตมาในภาวะคาบเกี่ยวแบบนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ คุณชาคริต คำพิลานนท์ พูดถึงชื่อนี้ ก็คงคุ้นเคยชื่อกันทีเดียวว่า เป็นนักเขียนที่มีฝีไม้ลายมือดีมาก มีวิธีการเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์
ผลงานหนังสือรวมเล่มของเขาเมื่อปี 2563 ในชื่อเรื่องว่า ในปีที่ยี่สิบเจ็ดกับเรื่องสั้นอื่นๆ ซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สมมติ เป็นสิ่งที่ยืนยันความสามารถของเขาได้เป็นอย่างดี และอีกอย่างคือการประกวดการเขียนเรื่องสั้นและบทกวีบรรณาธร ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย บอกได้เลยว่า ชาคริตเข้าทั้งสองรอบ รอบที่สามกำลังพิจารณาอยู่ แต่หากไปดูรายชื่อก็จะพบชื่อชาคริตอยู่เพียงรายชื่อเดียว เพราะอีกชื่อเป็นนามปากกา วันนี้เราจะมาคุยกับชาคริต พิลานนท์ ว่าเขานั้นมีประสบการณ์อย่างไร เขาเริ่มต้นอย่างไร การเขียนงานชิ้นต่าง ๆ มีเทคนิควิธีการสร้างสตอรี่และการเล่าเรื่องอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังสือรวมเรื่องสั้นของเขา เรามาคุยกับชาคริตที่กำลังอยู่ในสายตอนนี้"
ชัยจักร ทวยุทธานนท์ : "สวัสดีครับ"
ชาคริต คำพิลานนท์ : "สวัสดีครับ"
ชัยจักร : "ขอบคุณชาคริตที่ให้เกียรติกับรายการเรา เป็นอย่างไรบ้างตอนนี้"
ชาคริต : "ก็ยังทำงานประจำอยู่ แล้วก็เพิ่งจะย้ายมาอยู่พังงาสองปี เงียบดี เหมาะกับการเขียน"
ชัยจักร : "ฝนฟ้าอยู่ดีอยู่ใช่ไหม หรือเพลาๆ ลงไปแล้วตอนนี้"
ชาคริต : "ที่นี่ก็ฝนตกตลอด ตกอยู่ตลอดช่วงเกือบทั้งปี เป็นเมืองที่อยู่ในหุบเขาก็เลยมีความชื้นสูง"
ชัยจักร : "อากาศต้องดีมากแน่ๆ เลย"
ชาคริต : "ใช่ อากาศดีมาก"
ชัยจักร : "น่าอิจฉา ส่วนพวกผมก็ดมฝุ่นกันไปในกรุงเทพฯ เหมือนอย่างที่เกริ่นไว้ในตอนแรกว่า ชาคริตนั้นเติบโตขึ้นมาในช่วงคาบเกี่ยว เป็นช่วงคาบเกี่ยวจริงๆ เป็นช่วงที่ระหว่างวารสาร นิตยสารยังมีลมหายใจ แผ่วๆ แล้ว แต่ก็ยังมีลมหายใจอยู่ ขอให้ชาคริตช่วยเหล่าให้ฟังนิดนึงว่าช่วงเวลาตรงนั้นก็ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมามันเป็นอย่างไรบ้าง"
ชาคริต : "ผมคิดว่าผมโชคดีที่เข้าสู่การเขียนหนังสือตอนที่ยังเป็นช่วงท้ายๆ ของสื่อสิ่งพิมพ์ ยังทันช่วงที่มีเรื่องสั้นลงตีพิมพ์แล้วดีใจ ความรู้สึกถามว่าต่างกันไหมกับเมื่อชิ้นงานเผยแพร่ทางออนไลน์มากขึ้น ผมว่าก็ไม่ต่างกัน แต่ว่ามีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เราได้จับต้นฉบับเป็นหนังสือ เป็นวารสารจริงๆ ก็อาจจะเก็บแล้วมีคุณค่าบางอย่าง ผมมีความรู้สึกคิดว่างานตีพิมพ์ที่ไหนสักที่ ได้เผยแพร่ออกไปก็มีความรู้สึกดีใจไม่ต่างกัน"
ชัยจักร : "อยากจะถามว่า เมื่อก่อนการส่งเรื่องส่งอะไรเข้าไป นี่เป็นอย่างไร ช่วยเล่าให้ฟังได้ไหม เพราะนักเขียนรุ่นใหม่ๆ เขาอาจจะไม่มีอารมณ์ตรงนั้น ไม่รู้บรรยากาศตรงนั้น"
ชาคริต : "ก็ส่งตามปกติของแต่ละที่ ทางอีเมล ทำต้นฉบับไป ตอนนั้นผมก็ยังทำต้นฉบับไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไร ย่อหน้าหรืออะไรต่างๆ บางทีก็ยังเด็กในตอนนั้น เรื่องที่ผ่าน บางครั้งด็ยังรู้สึกไม่ได้ทำต้นฉบับให้เรียบร้อยเท่าไรก็มีเยอะเหมือนกัน"
ชัยจักร : "ก็ถือว่าเป็นการสร้างตัวขึ้นมา ต้องบอกว่าหลายปีนะกว่าจะเป็น ชาคริต คำพิลานนท์ ที่เป็นที่รู้จักกัน ทีนี้ อยากจะถามตรงๆ จากใจจริง ในการส่งประกวดบรรณาธร มีการเลือกเฟ้นเนื้อหา การเล่าเรื่องอย่างไรบ้าง"
ชาคริต : "เรื่องที่ส่งไปก็เป็นงานชุดหลังที่ผมเริ่มเขียนใหม่ หลังจากที่รวมเรื่องสั้นเล่มแรกตีพิมพ์ออกไปแล้ว ผมก็เริ่มทำงานในอีกรูปแบบหนึ่ง ค่อนข้างที่จะอ่านง่ายขึ้น เล่มในปีที่ยี่สิบเจ็ดมันเต็มไปด้วยงานที่เป็นกระแสสำนึก งานค่อนข้างส่วนตัว วิธีเล่าก็ค่อนข้างส่วนตัว หลายๆ อย่าง มันเฉพาะตัวผม งานชุดหลังๆ หลังจากที่เริ่มส่งบรรณาธร จะเป็นภาพรวมของเล่มใหม่ที่อ่านง่ายขึ้น โตขึ้นด้วย มีความรับผิดชอบอะไรหลาย ๆ อย่างเพิ่มมากขึ้น มุมมองก็อาจจะเปลี่ยนไป อาจจะต่างกับในปีที่ยี่สิบเจ็ดค่อนข้างเยอะอยู่เหมือนกัน"
ชัยจักร : "สิ่งนี้ออกมาจากปากของนักเขียนเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เดี๋ยวเราจะกลับไปคุยกันเรื่องหนังสือในปีที่ยี่สิบเจ็ด แต่ว่าตอนนี้บอกไว้ก่อน ท่านที่ยังไม่ได้อ่านนะไม่ได้อ่านเรื่องสั้นของชาคริต ในรอบที่หนึ่งเป็นชื่อของ ชาคริต คำพิลานนท์ ส่วนในรอบที่สองจะเป็นชื่ออะไร ผู้ฟังลองเดาดู ซึ่งเดาได้ไม่ยากเพราะไม่มีกี่คนที่ใช้นามปากกา ลองไปดูว่าเขาเขียนออกมาอย่างไร แล้วถ้ามีโอกาสจริงๆ ผมอยากจะชวนให้คุณผู้ฟังกลับไปอ่านหนังสือในปีที่ยี่สิบเจ็ดและเรื่องสั้นอื่นๆ ของสำนักพิมพ์สมมติ
เรากำลังจะเข้าสู่การพูดคุยหนังสือเล่มนี้ว่า ชาคริตเนี่ยเขียนแล้วก็รวบรวมขึ้นมาจากหลายๆ ที่ใช่ไหมที่ส่งไปลงใช่ไหม แล้วอันนี้ถามจริงๆ จากใจจริงเลยนะว่าในจำนวนเรื่องทั้งหมดที่มีอยู่ในหนังสือเล่มนี้เนี่ยชอบหรือประทับใจกับเรื่องไหนมากที่สุด"
ชาคริต : "จริงๆ ในเล่มผมก็ต้องบอกว่าผมชอบทุกเรื่อง เพราะว่าทั้ง 9 เรื่อง ก็คือคัดมาจาก 30 กว่าเรื่อง ตั้งแต่เรื่องที่ผมเริ่มต้นเขียน ตั้งแต่ปี 2557 - 2562 ต้นฉบับในช่วงเวลาเหล่านั้นคัดมา 9 เรื่อง มันก็เป็นเรื่องที่ผมชอบที่สุด แต่ว่าก็ต้องเลือกสักเรื่องหนึ่ง ก็คงจะเลือก เรื่องกวาง มันเป็นงานที่ผมใช้เล่าภาวะของการทำงานเขียนเรื่องสั้น ในช่วงเวลานั้น ซึ่งผมหมกมุ่นมากกับการทำต้นฉบับ และผมจำลองมันว่าการเขียนเรื่องสั้นคือการชำแหละกวางตัวหนึ่ง เหมือนกับเราเป็นควาญที่ไปเจอกวางที่แตกฝูงออกมา และเราเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่งดงามมาก ก็คือเป็นสิ่งที่เราจะเขียน ทีนี้เราก็เหมือนนักเขียนทั่วไป เราก็อยากจะครอบครองเรื่องเล่านั้น เราก็เลยฆ่ามัน
แต่ทันทีที่มันตาย เราก็พบว่ามันเปลี่ยนไปแล้ว เราก็เลยได้แต่ชำแหละกวางตัวนั้น เพื่อหาความเป็นมาของมัน เพื่อให้เรื่องเล่าที่เราเห็นในครั้งแรก นี่คือโดยรวมของกวาง จึงเป็นเรื่องที่ผมประทับใจเพราะว่ามันครอบคลุมภาวการณ์ทำงานในช่วงเวลานั้น ผมแน่ใจได้เลยว่าไม่สามารถไปอยู่ในภาวะแบบนั้นได้อีก ทั้งวัยของผม และความรับผิดชอบต่างๆ ที่มันเปลี่ยนไป"
ชัยจักร : "ก็ถือว่าเป็นมุมมองที่ดี อย่างที่ชาคริตบอกกับเราเมื่อสักครู่ เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เขาไม่สามารถกลับไปเป็นชาคริตคนที่กำลังหมกมุ่น กำลังสนใจอย่างยิ่งกับเรื่องสั้นเหล่านั้นได้อีกแล้ว แน่นอนว่าชีวิตมนุษย์ก็ต้องเติบโตขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่ง ในเวลาที่กำลังสนุกกับสิ่งที่อยู่ต่อหน้า มันเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ใช่ไหม ชาคริต"
ชาคริต : "ใช่ อาจจะเป็นความสุขที่เต็มไปด้วยความทรมาน แต่ก็เป็นความสุข"
ชัยจักร : "ไม่แปลกเลย ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีด้วย น่าสนใจมาก อยากจะถามนิดหนึ่งกว่าเล่มปีที่ยี่สิบเจ็ดจะออกมา การทำงานกับบรรณาธิการเป็นอย่างไรบ้าง"
ชาคริต : "ผมคุยกับทางสำนักพิมพ์น้อยมาก เพราะว่าส่งไปกว่าต้นฉบับจะเป็นเล่ม จริงๆ ก็ใช้เวลา 3 ปี เพราะว่ากว่าจะผ่านกระบวนการทำงานต่างๆ เพราะทางสำนักพิมพ์สมมติเขาจะมีหนังสือที่เขาวางแพลนไว้แล้วว่าช่วงไหนจะตีพิมพ์เล่มไหน ถ้าลงรายละเอียดก็คือผมส่งต้นฉบับไปตอนแรกประมาณ 10 เรื่อง เป็นเรื่องที่มีทั้งงานช่วงแรก หัดเขียน สัจนิยมทั่วไป ส่วนงานอีกครึ่งหนึ่งก็เป็นงานที่เริ่มจับความถนัดตนเองได้แล้วคือการเล่าแบบกระแสสำนึก ต้นฉบับที่ส่งไปก็จะมีทั้ง 2 ส่วน
เจ้าของสำนักพิมพ์คือพี่ต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล บอกว่าถ้าผมจะทำต้นฉบับรวมเล่มเรื่องสั้นเล่มแรกออกมาจริงๆ ผมควรจะให้ชัดไปเลยว่าผมจะทำงานอย่างไรแน่ แต่พี่ต้องก็สนับสนุนว่าถ้าผมแน่ใจว่าจะทำงานแบบยุคหลัง พี่ต้องจะเห็นด้วยมาก เพราะมันเริ่มเป็นตัวผม งานเขียนแบบกระแสสำนึก ต้นฉบับอีกครึ่งที่เป็นงานหัดเขียนก็คือทิ้งไปหมดเลย ผมเลยต้องทำต้นฉบับใหม่ไปเสริม ก็เลยต้องใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 3 ปี กว่าจะออกมาเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรก"
ชัยจักร : "ที่บอกว่าเขียนไว้ 30 กว่าเรื่อง คือออกมาจากตรงนี้เองใช่ไหม"
ชาคริต : "ใช่ งานยุคหลังก็เป็นงานแบบกระแสสำนึกไปเลยทั้งเล่ม"
ชัยจักร : "บรรณาธิการก็ทำงานหนักมากเลยนะ"
ชาคริต : "ผมส่งไปแค่ 10 เรื่อง มันก็มี 5 เรื่องที่มันยังไม่ได้ เลยต้องใช้เวลาอีก 1 - 2 ปี"
ชัยจักร : "แต่งานที่ออกมาก็ดีนะ แล้วตอนที่ชาคริตเขียนส่งตามเวทีประกวดต่างๆ ได้มองพวกงานออนไลน์ไว้บ้างไหม หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานออนไลน์มาก"
ชาคริต : "งานออนไลน์นี่หมายถึงว่าหมายถึงวรรณกรรมทั่วไป?"
ชัยจักร : "E-book งานเขียนที่เป็นแนว E-book อะไรอย่างนั้น"
ชาคริต : "ผมไม่ได้ศึกษาทางนั้นเลย ผมเป็นคนที่แบบว่าเขียนอย่างเดียวจริงๆ ผมจัดการเรื่องอื่นไม่ได้เลย"
ชัยจักร : "มันกินเวลานะ ใช้ทักษะคนละอย่างนะ บางทีมันก็ยุ่งยาก"
ชาคริต : "ผมจะใช้เป็นเทคนิคมากกว่า ก็คือสมมติว่าผมว่าทำเรื่องสั้นอยู่เรื่องหนึ่ง ผมจะบันทึกลงใส่โทรศัพท์ อัดเสียงตัวเองเอาไว้ ผมไม่ค่อยมีเวลามาก ผมก็จะฟังที่ผมบันทึกไว้ เพื่อเติมต่อสิ่งที่จะเขียน มันเป็นเทคนิคที่ผมใช้บ่อย เพราะว่าผมต้องบริหารเวลาการทำงานด้วย ก็จะนอนฟัง พอนอนฟังมันก็เหมือนกับว่าเราได้ปล่อยสมองให้ได้จินตนาการต่อเต็มที่ ให้โน้ตไว้แล้วค่อยมาเขียนเพิ่มเติม"
ชัยจักร : "เป็นวิธีที่น่าสนใจ ผมไม่เคยทำอย่างนี้ได้เลย ผมต้องเห็นมันบนกระดาษ และจะเพิ่มเติมหรือขีดทิ้งก็ทีหลัง แต่ก็ถือว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจ เหมาะกับคนที่มีเวลาน้อย น่าสนใจๆ"
ชาคริต : "เรื่องสั้นผมมันเป็นการบรรยายส่วนมาก มันก็เลยสอดคล้องที่จะบันทึกเสียง แต่ถ้ามันเป็นบทสนทนาอย่างนี้ บางทีมันเป็นเสียงหญิง เรามาฟังดูก็แปลกๆ"
ชัยจักร : "เราก็ฟังได้คนเดียว"
ชาคริต : "ใช่ๆ"
ชัยจักร : "มันก็น่าสนใจในแง่เทคนิคของนักเขียนที่จะช่วยให้ทำงานภายใต้เวลาที่จำกัด เป็นเรื่องที่ดี"
ชาคริต : "ผมคิดว่าเรื่องสั้นมันก็สนุกตรงนี้ ด้วยความที่ว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องเล่าแบบยาวๆ มันก็ง่ายต่อการที่เราจะลองทำวิธีใหม่ๆ ผมก็รู้สึกว่ามันเข้ากับสิ่งที่ผมอยากจะเล่าหลายๆ อย่าง อย่างเรื่องที่กวางที่เล่าไปเมื่อตอนแรก ผมก็เอาเพลง Death metal เป็นเพลงหนักกะโหลก เป็นเพลงที่มีเนื้อหาโจมตีศาสนาของสายยุโรป ตะวันออก ผมไม่ได้ชอบเพลงพวกนี้ แค่สงสัยว่าคนที่เป็นนักแต่งเพลงเขาต้องหมกมุ่นมากๆ เพราะเขาต้องเขียนเรื่องเดิมๆ ทำเรื่องเดิมๆ เนี่ยผมก็เขียนเรื่องสั้น ผมก็อยู่ในภาวะที่หมกมุ่นคล้ายๆ กับพวกนักแต่งเพลงพวกนี้ ผมเลยเอาพวกภาพกราฟฟิกของปกอัลบั้ม มาจำลองแล้วคิดไอเดียว่าเราจะเล่าเรื่องกวางจากจินตนาการความเป็นนอร์เวย์ สวีเดน เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยดนตรี ป่าสน อะไรอย่างนี้ ก็คือเรื่องสั้นอย่างที่พยายามจะอธิบาย อิสระที่เราจะนำไอเดียต่างๆ มาประกอบมันแล้วก็เล่ามัน จริงๆ แล้วถ้ามีเวลาผมเคยเล่าไว้ใน soundcloud เป็นการเบื้องหลังการคิดเรื่องสั้นในปีที่ยี่สิบเจ็ดทั้งเล่ม"
ชัยจักร : "ยาวไหม"
ชาคริต : "ชั่วโมงหนึ่ง จะอธิบายทีละเรื่องเลยว่ามันเริ่มมาอย่างไร ตอนนั้นผมทำสนุกๆ เหมือนการบันทึกไว้"
ชัยจักร : "ชาคริตได้เล่าที่มาที่ไปของเรื่องสั้นทั้ง 9 เรื่อง ที่อยู๋ในเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า ในปีที่ยี่สิบเจ็ดและเรื่องสั้นอื่นๆ เอาไว้ ซึ่งบันทึกเอาไว้บน soundclound ซึ่งเขาเล่าเอาไว้ทีละเรื่องเกี่ยวกับที่มาที่ไป คุณผู้ฟังลองไปหาฟังดู คุณชาคริตลองเล่ารายละเอียดให้ฟังนิดหนึ่งได้ไหม"
ชาคริต : "ตอนนั้นก็พอหนังสือตีพิมพ์ออกมาได้ประมาณ 1 ปี ผมก็เริ่มรู้สึกว่า เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็จะจำไม่ได้ว่าเบื้องหลังของการทำเรื่องสั้นแต่ละเรื่องมันเป็นมาอย่างไร ได้ไอเดียมาจากไหน และเริ่มต้นมายังไง และทำยังไงออกมา ใช้เวลาอย่างไร ผมเลยคิดว่าไปบันทึกไว้ใน soundcloud เพราะว่ายังไงมันก็จะอยู่อย่างนั้นตลอด แล้วเมื่อวันไหนที่ผมคิดอะไรไม่ค่อยออก ผมค่อยกลับไปฟังสิ่งที่ตัวเองเคยพูดและคิดไว้ ซึ่งผมก็ไม่เชื่อตัวเองเหมือนกันว่าจะพูดคนเดียวได้เป็นชั่วโมง โดยไม่มีใครโต้ตอบอะไร แต่ก็เป็นการบันทึกที่ดีมาก"
ชัยจักร : "ต้องลองไปฟังดู เราคุยนี่เวลาจะมีจำกัดหรือว่าประเด็นต่างๆ ที่แตกออกไป ทำให้เรื่องนี้อาจจะพูดได้น้อยหน่อย แต่ไม่เป็นไร ตอนนี้เราได้รู้แล้ว ผมไม่ทราบว่านักเขียนท่านอื่นทำแบบนี้หรือเปล่า แต่ว่าแนวทางของคุณชาคริตเป็นเรื่องที่ดี เล่าที่มาที่ไป เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นเรื่องสั้นชุดนี้ พอเล่าลงไปแต่ละเรื่องว่าเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เรื่องนั้นมีที่มาและแรงบันดาลใจอย่างไร เป็นเรื่องที่ดี หลายคนอาจจะเลือกการเขียนการบันทึก แต่ว่าชาคริตเลือกจะบันทึกด้วยเสียง แล้วก็เป็นอย่างที่เขาบอกจริงๆ ในชั่วโมงหนึ่งเป็นไปได้อย่างไร น่าอัศจรรย์มาก ต้องลองไปฟัง คราวนี้อยากจะชวนคุยถึงแนวทางหรือมุมมองสถานการณ์งานเขียนของบ้านเราทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง"
ชาคริต : "ผมอาจจะพูดไม่ได้ เพราะว่าผมไม่ได้อยู่ในวงการนักเขียน ไม่ได้รู้จักพบปะหรือเคยเข้าร่วมอะไรเลย ผมแทบจะไม่ค่อยรู้ความเป็นไปของวงการวรรณกรรมไทย แต่เท่าที่ผมอ่านบ้างคืออ่านทางสื่อออนไลน์ เฟสบุ้ค คือผมก็ไม่รู้สถานการณ์วรรณกรรมไทยเป็นยังไง ผมก็ทำงานเขียนแล้วก็เขียนโดยลำพัง ค่อนข้างทำงานด้วยตนเองแทบจะไม่ได้คุยกับใคร แต่ผมคิดว่าวงการหนังสืออย่างไรคนก็ยังอ่านหนังสือ ผมไม่ได้คิดว่าคนอ่านหนังสือน้อยลง เพื่อนนักเขียนหรือนักเขียนที่เขาเคยให้ทัศนะเรื่องนี้ เขาว่าคนอื่นคนอ่านหนังสือน้อยลง ผมคิดว่าไม่ คนแค่เปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองอ่านไปสู่สิ่งที่เขาสนใจกับ Trend ของโลก"
ชัยจักร : "ใช่ๆ"
ชาคริต : "ล่าสุดผมเพิ่งเห็นหนังสือแนะนำเรื่องของการเล่น Cryto ขายหมด 5000 เล่ม ภายในไม่ถึง 1 วัน คนแค่เริ่มสนใจสนใจใหม่ๆ วรรรณกรรมอาจจะเป็นสิ่งที่ถูกจัดลำดับออกไป ไม่ใช่สิ่งบันเทิง สิ่งที่เขาอยากจะรู้ อันดับแรกๆของคนทั่วไป บางทีอาจจะมีสิ่งอื่นที่คนเขาสนใจมากกว่าแค่นั้นเอง แต่ผมคิดว่าหนังสือก็ยังเป็นสิ่งที่คนสนใจอยู่ดี ไม่ได้อ่านน้อยลง แค่เปลี่ยนเรื่องที่อ่านเท่านั้นเอง วรรณกรรมอาจจะต้องมีถอยออกมา แต่ผมก็ยังคงสนใจวรรณกรรมเหมือนเดิม เห็นว่าคนที่สนใจวรรณกรรมกรรมอยู่แล้ว เขาก็ยังสนใจวรรณกรรมเหมือนเดิม สนใจมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป"
ชัยจักร : "ถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นแนวทางที่ดีของวรรณกรรม ซึ่งแน่นอนว่าในบางเรื่องเราก็ต้องมองลำดับความสำคัญ มองให้มันสอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคม คุณผู้ฟังคงทราบดี มีโอกาสเราคงได้คุยกับชาคริตเรื่องนี้มากขึ้น ย้อมกลับมาถามนิดหนึ่ง นอกจากเล่มแรกที่ตีพิมพ์ออกไปเมื่อปี 2563 แล้ว ตอนนี้มีแนวคิดจะรวมเล่มไหม หรือได้คุยกับทางสำนักพิมพ์บ้างไหม"
ชาคริต : "ผมก็ยังไม่ได้คุยกับทางสำนักพิมพ์อะไรเลย แต่ก็มีแผนคร่าวๆ ว่าอาจจะสักสองปีข้างหน้า ต้นฉบับที่มีอยู่และจะมีเพิ่มขึ้นน่าจะทำให้ผมพอใจระดับหนึ่ง พอที่จะเสนอสำนักพิมพ์ใหม่อีกครั้ง ก็เป็นแค่แผนคร่าวๆ เท่านั้น ไม่ได้วางชัดมาก เพราะหลายๆ อย่าง อย่างการทำงานก็กินเวลาเราเยอะเหมือนกัน แต่ก็พยายามคิดวางแผนอยู่ ประมาณนั้น"
ชัยจักร : "เราก็ยังไม่ทิ้ง ยังมีความมุ่งมั่นในการเขียนหนังสืออยู่ แล้วตอนนี้ชาคริตเดินทางมาถึงช่วงท้ายของรายการแล้ว อยากจะขอให้ชาคริตฝากอะไรถึงเพื่อนๆ นักเขียนด้วยกันนิดหนึ่ง หรือจะฝากถึงวงการนักเขียนโดยรวมก็ได้"
ชาคริต : "อันนี้เป็นเรื่องใหญ่เลย ผมไม่รู้จะฝากอะไรถึงเพื่อนนักเขียนด้วยกัน รุ่นๆ เดียวกันเขาก็เก่งกัน หลายๆ คนผมก็ได้ตามอ่านงานเขาอยู่ตลอด ได้แต่ขอให้เขาทำงานด้วยความรัก ความสนุกที่จะทำต่อไป สิ่งที่ผมอยากจะฝากมากกว่าคือคนอ่าน อยากจะขอบคุณคนอ่านที่เสียเวลาอ่านหนังสือ 1 เล่ม เพราะเวลาที่เสียไปของคนอ่าน เป็นเวลาที่มีค่าเสมอ อย่างผมตอนนี้ก็ได้แค่ขอบคุณมากๆ เท่านั้นเอง ขอบคุณมากครับ
ชัยจักร : นี่คือนักเขียนอีกคนหนึ่งที่เรียกว่าเป็นนักเขียนที่เป็นคนรุ่นใหม่ กำลังมีผลงานที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องให้กำลังใจกัน และนี่ก็เป็น ชาคริต คำพิลานนท์ ที่ให้เกียรติมาคุยกับเราในวันนี้ ถึงจะเวลาสั้นๆ แต่เราเชื่อว่าประเด็นที่เขาพูดจะมีพลัง วันนี้ก็ต้องขอบคุณ คุณชาคริต คำพิลานนท์ ที่ให้เกียรติกับรายการของเรา ไว้โอกาสหน้าเราคงมีโอกาสได้พูดคุยกันอีก และขอเป็นกำลังใจให้เขียนงาน พัฒนางาน สร้างงานเขียนดีๆ ต่อไปในอนาคตอีก เราจะรออ่านต่อไป เป็นกำลังใจให้"
ชาคริต : "ขอบคุณมากครับ"
ชัยจักร : "ขอบคุณครับ สวัสดีครับ"
. . ,
หมายเหตุ
ในรายการนี้นักเขียนได้เอ่ยถึงการเล่าเบื้องหลังเรื่องสั้นแต่ละเรื่องบน soundcloud ซึ่งสามารถเข้าไปฟังได้ที่ https://soundcloud.com/chakriz-kampilanon/ep1-mp3?utm_source=clipboard&utm_medium=text&utm_campaign=social_sharing
ฟังบทสนทนาแบบเต็มๆ ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=KV4YBMQ3e70
==================
คลิกสั่งซื้อ ในปีที่ยี่สิบเจ็ด และเรื่องสั้นอื่นๆ - ชาคริต คำพิลานนท์
==================
บทความอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ