Last updated: 13 ก.พ. 2565 | 2907 จำนวนผู้เข้าชม |
คงไม่ต้องกล่าวอะไรกันอีกแล้ว สำหรับความน่าสนใจและชื่อเสียงของนักปราชญ์ระดับโลกนาม เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ มัน ‘เป็นนวนิยาย’
แถมยังเป็นนวนิยายที่ ‘ทรงพลัง’ อีกด้วย
...
ถ้าหากนักปรัชญาชื่อดังสักคนต้องการเขียนนวนิยายขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง เนื้อหาทางความคิดก็ต้องเป็นสิ่งแรกที่ถูกเน้นไว้ก่อนใครเพื่อน และนวนิยาย ซาฮาโตโพล์ค (Zahatopolk) เรื่องนี้ของรัสเซลล์ก็เช่นเดียวกัน มันได้ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน มีพลังและเฆี่ยนตีจิตสำนึกทางศีลธรรม (อันเกี่ยวกับปรัชญาพื้นฐานแห่งการมีชีวิตอยู่ร่วมกันทางสังคม) ของมนุษย์ได้ดีเหลือเกิน
มันปอกเปลือกความเป็น ‘สัตว์สังคม’ ที่ต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกับระบบและโครงสร้างอันตายซากของมนุษย์อย่างไม่ปรานีปราศรัย เช่นเดียวกับดอสโตเยฟสกีที่ทำเช่นนี้กับจิตวิญญาณส่วนลึกของความดีงามและความเลวร้ายในตัวมนุษย์ ด้วยผลงานจำนวนมากของเขา และกระหน่ำหัวค้อนตอกย้ำให้หนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยผลงานขนาดยักษ์อย่าง พี่น้องคารามาซอฟ อันสะท้านสะเทือนไปทั่วโลกเล่มนั้น
เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ กระหน่ำหัวค้อนของเขาลงบ้าง แม้ไม่อาจเทียบชั้นทางด้านวรรณกรรม แต่หัวค้อนของรัสเซลล์ก็กระหน่ำได้หนักหน่วงไม่น้อยไปกว่ากันเลย
เริ่มต้นด้วยการสร้างสมมติสังคมในอนาคตขึ้นมาสังคมหนึ่ง รัสเซลล์วาดภาพโครงสร้างทางสังคมให้มีลัทธิความเชื่ออันน่าขบขัน วัฒนธรรมประเพณีที่ไม่น่าจะมีมนุษย์คนไหนทนยอมรับได้ กฎหมายไร้สาระและศาสนาก็มียาพิษ (เชื้อรามรณะ) เป็นศรัทธาและอำนาจ ทั้งๆ ที่ทั้งหมดนี้ใครก็รู้อยู่แล้วว่ามันไม่น่าเป็นไปได้ แต่ในทันทีที่ตัวละครปรากฏขึ้นมา มีบทบาทสมจริง มีอารมณ์ความรู้สึก และถูกสร้างให้มีชีวิตขึ้นมา สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ทั้งหลายเหล่านี้ก็ได้เป็นไปจนหมดสิ้น อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นจริงขึ้นมาในโลกของนวนิยาย มีผลกระทบต่อมนุษย์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในโลกแห่งนั้น และแม้จะมีตัวละครที่ไม่เห็นด้วย แต่ตัวละครส่วนที่เหลือก็พร้อมปกป้องรักษา สยบยอมและเอาชีวิตเข้ารับใช้อย่างเต็มใจยินดี แถมยังเป็นพฤติกรรมที่มีเหตุมีผลเชิงปรัชญาอันเกิดจากข้อเท็จจริงที่มองเห็นอยู่ จนไม่อาจบอกได้ว่ามันเป็นสิ่งหลอกลวงมารองรับเสียด้วยซ้ำ
“...เธอไม่รู้หรือว่าความจริงของหลักการหนึ่งๆ วางอยู่ที่อรรถประโยชน์ทางสังคมและความลึกล้ำทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่อยู่ที่ความเที่ยงตรงอย่างสามานย์ที่ทาบวัดได้ด้วยไม้บรรทัดในมือของคนโง่...”
“เธอไม่เห็นหรือว่าในเมื่อความจริงเป็นเรื่องอรรถประโยชน์ทางสังคม หลักการทางศาสนาของเราจึงเป็นความจริง”
คงไม่มีใครจะปิดปากความสงสัยในใจของตัวเองที่คอยร้องถามแต่ไม่เคยได้รับคำตอบซึ่งนับวันจะดังอย่างแผ่วเบาลงทุกทีๆ นี้ได้ เมื่อได้อ่านพบตัวละครที่มีความรู้สึกนึกคิดใกล้เคียงกับความเป็นจริง หรือเหมือนกับความรู้สึกนึกคิดของตัวเรา (ที่มองว่าสภาพสังคมแบบนั้นมันมีอยู่แต่ในนิยายโกหกเท่านั้น) กำลังตกอยู่ท่ามกลางสังคมซึ่งทุกคนที่อยู่รอบข้างมองไม่เห็นเลยว่า สิ่งที่กำลังเป็นอยู่นั้นน่าตลกและไร้สาระบ้าบออย่างไรบ้าง มันทำให้เราอดย้อนกลับมามองดูสภาพความเป็นจริงในสังคมจริงๆ ที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้บ้างไม่ได้ บางทีเราอาจนึกสงสัยว่าตัวเองงมงายอยู่กับข้อเท็จจริงทางสังคมซึ่งอาจมีแต่สิ่งไร้สาระที่น่าตลก โดยที่ทุกคนต่างก็ยึดถือมันอย่างเป็นจริงเป็นจัง มีความคิดเชิงปรัชญามารองรับและพร้อมจะปกป้องรักษา พร้อมจะสละพลีชีวิตเข้ารับใช้อย่างเต็มใจยินดี เช่นเดียวกับประชาชนในยุคซาฮาโตโพล์คหรือเปล่า
เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง เราก็อาจนึกสงสัยว่าสังคมที่เรากำลังมีชีวิตอยู่ร่วมกับมันนี้ มีโครงสร้างที่เหมาะสมแล้วหรือยัง ถ้าเหมาะสมแล้วก็แล้วไป แต่ถ้ายัง เราก็คงต้องถามตัวเองกันต่อไปละว่า เราเป็นคนประเภทไหนกันแน่ หรือว่าเราไม่สนใจรับรู้หรือต้องการจะตรวจสอบความเป็นจริงทางสังคมเลยแม้แต่น้อย เราเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งที่ดิ้นรนเอาตัวรอดในสังคมไปวันๆ เท่านั้นเอง
ความคิดเหล่านี้จะเข้ามากระทบจิตสำนึกในใจของเรา ไม่มากก็น้อยที่เราต้องรู้สึกสะดุ้งสะเทือน อันที่จริงจะว่าไปแล้ว ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่มักจะถูกมองข้ามไป หรือไม่เช่นนั้นก็รู้สึกว่ามันเป็นอันตรายมากเกินไปที่ใครสักคนจะมาทำให้คนทั้งหมดซึ่งมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขมาเนิ่นนานแล้ว ต้องเกิดปั่นป่วนสับสนเพราะมีคนมาแตะต้องความมั่นคงปลอดภัยที่มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เหล่านั้นของเขา
คำนำ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก
โดยสำนักพิมพ์ประสาส์น
พฤษภาคม 2533
จากเล่ม ซาฮาโตโพล์ค (Zahatopolk)
•••
คลิกสั่งซื้อ ซาฮาโตโพล์ค (Zahatopolk)