Last updated: 26 ม.ค. 2565 | 2560 จำนวนผู้เข้าชม |
บางส่วนจากบทความ การเดินทางจากจักรวาลสู่เม็ดทราย ของ ประกาย ปรัชญา
ใน วารสารหนังสือใต้ดิน (Underground Buleteen) เล่มที่ 4
สัมภาษณ์โดย เขี้ยว คาบจันทร์
..,
1. จุดเริ่มต้นที่ทำให้เดินออกจากเส้นทางของ “เพื่อชีวิต'
ช่วงนั้นโลกหนังสือเขาจะตั้งคำถามกับวรรณกรรมเพื่อชีวิตสูงมาก เข้มข้นมาก แล้วเริ่มจะมีปัญญาชนทยอยออกจากป่าซึ่งก็ทำให้เราคลอนแคลนไป การตั้งคำถามต่อ พคท. หรือกระทั่งทฤษฎีมาร์กซิสมันก็เริ่มมาแล้ว เต๋าเซนก็เริ่มมาเหมือนกัน ขณะเดียวกันการอ่านก็ทำให้เราไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ทางความคิด พื้นที่ใหม่ๆ ของการตั้งคำถาม ช่วงนั้นงานผมจะลดน้อยลง จนกระทั่งมาเป็นบทกวีในรวมเล่ม สวนดอกเมฆ มันเริ่มจะมาพูดถึงภาวะปัจเจกมากขึ้น พูดถึงความคลุมเคลือบางอย่าง มันคือช่วงเปลี่ยนผ่านอีกช่วงหนึ่ง
จากที่ผมพบว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตคือหนทางที่ถูกต้อง สวนดอกเมฆก็เหมือนกับการฉุกคิดว่ามันอาจไม่ใช่ หรือแม้มันใช่ก็คงไม่ใช่ทั้งหมดของโลกนี้ มันยังมีสงครามในตัวตนของมนุษย์ด้วย มันมีสภาวการณ์อลหม่านมโหฬารอยู่ในตัวคนคนหนึ่งด้วย เป็นรัก โลภ โกรธ หลง หรืออะไรก็ตาม มันเป็นผลมาจาการที่เราเริ่มสงสัยคุณค่าดั้งเดิม คือแทบจะไปอยู่อีกด้านหนึ่งของความเชื่อดั้งเดิม ผมก็จะเป็นพวกอภิปรัชญา พวกเชื่อในปัจเจกบุคคล พวกที่เชื่อว่าความรักแก้ปัญหา ไม่ใช่ลัทธิหรือกระบวนการความคิดใดๆ เป็นช่วงที่ลุ่มหลงบทกวีของฐากูร สังเกตกลอนเปล่าในสวนดอกเมฆ จะมีอิทธิพลการเขียนในท่วงทำนองแบบฐากูรเยอะมาก ในแง่ของการเสพวรรณกรรมหรือบทกวีผมเปลี่ยนไป ถือได้ว่าออกห่างมาจากบทกวีเพื่อชีวิต ปรัชญาของกฤษณมูรติมีอิทธิพลต่อผม เรียกว่ามันเหมือนกับการสั่นสะเทือนชีวิตมากกว่า เพราะผมว่าผมก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะว่าผมไม่เชื่อแล้วไง เราไม่เชื่อสิ่งไหนมันก็โรยราไปเอง
ผมเชื่อว่าด้านในนั้นเป็นจริงกว่า เพราะเหตุว่ามันไม่ถูกผูกเงื่อนอยู่กับกระแสกับสถานการณ์ พรรคคอมมิวนิสต์อาจมาประเดี๋ยวประด๋าว กระแสสังคมนิยมในยุโรปก็ล่มสลายกันเห็นๆ ในขณะเดียวกันผมพบว่าด้านในของคน คุณภาพจิตใจ คุณภาพของอารมณ์ความรู้สึกและกระทั่งความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ในระนาบที่มันมากขึ้น มันจะจริงแท้กว่า มันยั่งยืนกว่า และท้ายสุดมันจะส่งผลต่อการอยู่ร่วม เพราะผมมองว่าสังคมคือความสัมพันธ์ ถ้าเราเป็นผู้ให้ความสัมพันธ์ที่ดีมันไม่เพียงแก้ไข แต่มันยังหยั่งรากบางอย่างที่จะทำให้เกิดความสร้างสรรค์งอกงามในความสัมพันธ์ซึ่งก็คือสังคม ในขณะที่การต่อสู้ทุกรูปแบบผมมองว่ามันก็มีผลประโยชน์ของฝักฝ่าย ยังมีการแสวงหาอำนาจเหมือนกับสังคมของจีนถูกปฏิวัติโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต่อด้านอำนาจรัฐเก่า แต่ต่อมาก็มีกลุ่มที่มาต่อด้านอำนาจรัฐซ้อนเข้าไป แล้วเขาก็ถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง ผมมองว่ามันเป็นวัฏจักรที่ท้ายที่สุดมันจะเคลื่อนอยู่อย่างนี้ แล้วมันไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
2. จากนั้นก็หันมาสนใจปรากฏการณ์เล็กๆ ?
3. จริงๆ แล้วเลิกให้ความสนใจกับเรื่องใหญ่หรือเลือกที่จะไม่เขียนถึง แต่ยังคงให้ความสนใจกับเรื่องใหญ่อยู่ ?
ครามฟ้า! ถลาแตะมิติคราม
ปะเหลาะตามเกาะครามเที่ยว
เขียวใบ! ไถลแผละระดะเขียว
จิตกรำเสาะสำราญ
เร่งเข็น มิเห็น ณ ระยะฟ้า
เถอะจ้ะช้า... พยาบาล
ช่างหมอจะรอ จะอวสาน
สติพัง และทั้งเพ
บนเตียงเข็น - กลางสายระโยงระยาง
ปัจจุบัน
4. หมายความว่าทุกวันนี้หมดความสนใจโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่อยู่ข้างนอก
5. ทุกวันนี้เขียนบทกวีเพราะอะไร
เพราะเห็นว่ากวีนิพนธ์ เป็นความงามสูงสุดประการหนึ่งของมนุษย์ ความงามซึ่งรวมถึงการแก้ไขปัญหาในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบด้วย เพราะผมเชื่อในอำนาจกล่อมเกลาของบทกวี เชื่อว่ามันมีอำนาจที่ดีงาม ผมเองไม่เพียงเขียน ผมอ่าน ผมเสพ เพราะฉะนั้นผมมีชีวิตอยู่กับกวีนิพนธ์ไม่เพียงในฐานะคนสร้างงาน แต่ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งซึ่งได้มองเห็น ซึ่งได้เคารพต่อคุณค่าความงามสูงสุดประการนี้
6. ถ้าสมมติเราค้นพบอีกครั้งว่า บทกวีของเราไม่มีใครอ่านอีกแล้ว ยังจะเขียนอยู่ไหม
แน่นอน ผมเขียน เพราะเข้าใจแล้วว่าโลกภายนอกคืออะไร คือเราเข้าใจหลังจากที่เราเคยคิดว่าเราเข้าใจไง เมื่อก่อนเราตีความมันไปต่างๆ นานา เป็นทฤษฎีในความคิดของเรา เราก็คิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่หลังจากที่เราก้าวเข้าไปในปริมณฑลของความสับสนอลหม่านของสิ่งต่างๆ ที่โดยแท้มันไม่ใช่อย่างที่เราคิดทั้งหมด มันเป็นอะไรที่น่าตะลึงมาก แต่ก็นั่นแหละ มันก็ดีที่เราได้ออกไปสักครั้งหนึ่ง เมื่อเราถอยห่างออกมา แน่นอนมันไม่ใช่ทฤษฎีแล้ว
7. คุณค่าที่เราบอกกับตัวเอง ที่ทำให้เราเขียนบทกวีมันอยู่ตรงไหน
ประการแรกเลย สำหรับผมนะ ผมเองแหละ ผมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งเลือกแล้วซึ่งวิถีบางอย่าง สอง เพื่อผู้อ่านซึ่งโชคดีที่ผมยังมีโดยที่ไม่มีจุดขายไม่มีเหตุปัจจัยใดๆ เลยที่จะนำไปเสนอกับกระแส เขาติดตามเนื้องานของเรา และแน่นอนมันเป็นเหตุผลจากเนื้องานบทกวีของเราประการเดียว เป็นบทกวีของเราซึ่งมันควรค่าแก่ความใส่ใจของเขา ประการที่สาม ก็คือในฐานะที่เป็นผู้สร้างงานกวีนิพนธ์ ผมยังยืนยันว่าโลกนี้จำต้องมีกวีนิพนธ์อยู่ เพราะกวีนิพนธ์เป็นภาวะความงามสูงสุดประการหนึ่งของมนุษย์
8. อะไรที่ทำให้คิดว่ามนุษย์ควรจะมีบทกวี
เรามักพูดกันว่ากวีนิพนธ์ตายแล้ว เราไม่เคยมองมุมกลับว่า "คนก็ตายไปจากกวีนิพนธ์" ในฐานะที่เป็นคนเสพกวีนิพนธ์ ผมพบว่ามันสวยงาม มันทรงคุณค่ายิ่งแล้วสำหรับดวงชีวิตดวงหนึ่ง ผมยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง บทกวีมีอำนาจมหาศาลต่อผมและถ้าจะมีอำนาจรูปแบบใดต่อคนอื่นๆ ผมคิดว่ามันก็คงไม่ห่างไกลกันนักในการเข้าถึงภาวะความงามสูงสุดประการหนึ่งเหมือนกัน ผมคิดว่าชีวิตเราไม่ได้อยู่เพียงอาหารซึ่งกรอกลงไปในท้อง แต่เรามีสุนทรียะด้วย เรามีความอิ่มเอิบ เรามีความแช่มชื่น เรามีสภาวะใดๆ ก็ตามที่เป็นความปีติยินดี หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นสภาวะที่ปวดร้าวอย่างสูงสุด เป็นความทุกข์ทนหม่นไหม้อย่างที่สุดก็ได้ แต่โดยแท้แล้วผมมองว่านี่คือสภาวะอันเป็นพิเศษของมนุษย์ซึ่งกวีนิพนธ์สามารถเสนอสิ่งนี้แก่เราได้
9. ถ้ามีใครสักคนพูดว่าโลกนี้ไม่จำเป็นต้องมีบทกวีก็ได้
ทันทีที่เขาพูดคำว่าโลกนี้ไม่จำเป็นต้องมีบทกวี มันก็ไม่ได้มีสำหรับเขาอยู่แล้ว มันมีความหมายตรงตามนั้นจริงๆ เลย คือโลกไม่มีบทกวีแล้วสำหรับเขา มันก็อาจจะไม่มีกับทุกคนก็ได้ แต่ในสถานการณ์ที่เป็นจริง ผมพบว่า มันยังคงมีกวีนิพนธ์สำหรับโลกของคนบางคนอยู่
อ่านต่อฉบับเต็ม การเดินทางจากจักรวาลสู่เม็ดทราย ของ ประกาย ปรัชญา สัมภาษณ์โดย เขี้ยว คาบจันทร์
ใน วารสารหนังสือใต้ดิน (Underground Buleteen) เล่มที่ 4
คลิกสั่งซื้อครบ Set วารสารหนังสือใต้ดิน ในราคาสุดพิเศษ
อ่าน 12 บทกวีแนะนำ สำหรับผู้มีถ้อยคำเป็นอาวุธ