Last updated: 26 พ.ย. 2564 | 2297 จำนวนผู้เข้าชม |
บันทึกจากรายการ คิดระหว่างบรรทัด | ThinkingRadio | FM 96.5
วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2564
พูดคุยกับ นิธิ นิธิวีรกุล เจ้าของผลงาน อาณาเขต | นวนิยายที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2564
โดย วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, พัชรี รักษาวงศ์ และ อริสรา ประดิษฐสุวรรณ
..,
อาณาเขต โดย นิธิ นิธิวีรกุล
วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม : “ทำงานทุกวันไหมคะหรือวันอาทิตย์นี่เว้นไว้สำหรับการพัก”
นิธิ นิธิวีรกุล : “ใช่ครับ ส่วนใหญ่วันเสาร์-อาทิตย์จะเว้นไว้สำหรับการพักมากกว่า”
วิไลรัตน์ : “มันก็ต้องมีการพักบ้าง คุณนิธิเขียนหนังสือเป็นงานประจำไหมคะหรือทำงานอย่างอื่นด้วย”
นิธิ : “ตอนนี้คือเป็นนักเขียนอิสระอยู่ครับ”
วิไลรัตน์ : “เป็นนักเขียนอิสระ ก็เขียนหนังสือเป็นหลักเนอะ”
นิธิ : “ก็มีทำงานอื่นเสริมๆ เข้ามาด้วย แล้วแต่ใครจะว่าจ้างมา”
อริสรา ประดิษฐสุวรรณ : “ทุกอย่างเป็นอิสระนะคะ”
นิธิ : “ใช่”
วิไลรัตน์ : “ก็นั่นแหละ มันเลยต้องมีการเว้นเวลา มีการพัก บางคนน่ะคือสมมติว่าเขียนหนังสือตลอด จันทร์-ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ นี่มันเหมือนไม่ได้พักเลยนะ ก็อาจจะมีปัญหาบ้าง แต่ว่าเรามาคุยกันถึงนิยายเรื่องนี้ดีกว่า ที่คุณโบว์เขาพูดมาหลังไมค์ว่านิยายเล่มนี้ต้องใช้ความตั้งใจอ่าน มีสมาธิเลยล่ะ แต่จริงๆ เราก็เห็นด้วยว่าทุกนิยายต้องมีสมาธิในการอ่าน แต่ว่าเล่มนี้... หรือว่าประมาณแบบอ่านไปเสิร์ชไป มันต้องมีจังหวะที่ต้องดื่มด่ำไปกับมัน เดี๋ยวเราถามตั้งแต่เริ่มเรื่องนี้เลยดีกว่าว่า อาณาเขต เนี่ย คุณนิธิตั้งใจจะเขียนนิยายที่ว่าด้วยเรื่องอะไร หรือว่าทำไมถึงเขียนว่า...”
อริสรา : “การพยายามทำให้เป็นนิยายเรื่องหนึ่ง ทำไมต้องมีคำขยายความคำนี้”
นิธิ : “อันนี้คืออยากจะเท้าความ ย้อนกลับไปยังที่สักครู่ทางผู้ดำเนินรายการได้เอ่ยอ้างถึงการ ดังนั้นจึงสิ้นสลาย คือนิยายอาณาเขตมันเป็นนิยายที่ต่อเนื่องจากดังนั้นจึงสิ้นสลาย ใช้กระบวนการความคิดที่มีความร้อยเรียงระหว่างสองเล่มนี้กันอยู่ คือในเรื่องอาณาเขตมันเป็นเรื่องของนักอยากเขียนคนหนึ่งที่อยากจะเป็นเหมือนนักเขียนสักคน ซึ่งเผอิญว่านักเขียนสักคนในเรื่องคือนิธิ นิธิวีรกุล คือตัวผมเอง ทีนี้นักอยากเขียนคนนี้ผมให้ชื่อว่า อัณณ์ คณัสนันท์ ก็ใช้จังหวะเวลาที่นิธิมีบ้านสองหลัง คือระหว่างบ้านที่เป็นทาวน์เฮ้าส์กับคอนโด แล้วนิธิได้ย้ายออกไปอยู่คอนโดทิ้งบ้านไว้ เขาก็เลยเข้ามาอยู่ในบ้านของนิธิ และในช่วงเวลาที่เขาเข้ามาอยู่ในบ้านของนิธิเขาก็จำลองตัวเองจากความคิดเพื่อจะเปลี่ยนกายตัวเองเป็นเหมือนนิธิ ทั้งความคิดทั้งวิธีการเขียน
“ช่วงเวลาเดียวกันนั้นมันก็บังเอิญเกิดเหตุโรคระบาดกาฬโรคขึ้นในหมู่บ้านของเขา ในหมู่บ้านของนิธิ แล้วก็มีตัวละครคนนี้คือตัว อัณณ์ คณัสนันท์ เป็นคนเดียวที่รอดชีวิต ก็เลยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาสำรวจดู จะมาหาผู้ติดเชื้อแล้วก็มาพบอัณณ์ ก็เลยนำไปสู่การสืบสวน นำไปสู่การโยงใยเรื่องราวถึงที่มาที่ไปว่าอัณณ์เป็นใคร ทำไมถึงมาอยู่ที่นี่ ทำไมถึงมาสวมรอยเป็นนิธิ ตัวเจ้าหน้าที่ก็ต้องไปถามตัวนิธิด้วย ซึ่งเนื้อเรื่องอาณาเขตมันก็จะ โดยรวมมันจะพูดถึงเรื่อง โดยตัวเนื้อเรื่องมันนะครับ ในระหว่างที่เนื้อเรื่องดำเนินไปมันก็จะมีสอดแทรกการตั้งคำถามถึงเรื่องตัวตนของตัวอัณณ์ ตัวตนของนิธิ ตัวตนของความเป็นเรา อาณาเขตของความเป็นมนุษย์ อาณาเขตของสังคม อาณาเขตของประเทศ แล้วด้วยความที่ตัวอัณณ์เขาอยากจะเป็นเหมือนนิธิ เขาจึงพยายามตัวเรื่อง ตัวเรื่องเนี่ยก็คือการพยายามทำเป็นนิยายเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะไปล้อกับดังนั้นจึงสิ้นสลาย ที่อัณณ์ได้อ่าน คือการให้เป็นนิยายโรแมนติค”
วิไลรัตน์ : “อ๋อ มันคือชุดเดียวกัน”
นิธิ : “ใช่ มันคือชุดเดียวกัน คือตัวอัณณ์เนี่ยเขาอยากจะสร้างนิยายออกมาเพื่อที่ให้มันเหมือนเป็นตัวตนของนิธิ เขาก็เลยอยากจะทำนิยายเรื่องนี้โดยใช้ชุดความคิดหรือตัวคำที่เหมือนหยิบยืมมาจากดังนั้นจึงสิ้นสลาย คือการพยายามเหมือนกัน แต่เป็นแค่นักอยากเขียน เขายังไม่ใช่นักเขียน เขาจึงใช้คำว่า การพยายามทำให้เป็นนิยายเรื่องหนึ่ง”
วิไลรัตน์ : “เขาเรียกว่าอะไรนะ มันมีเรื่องราว มีเรื่องเล่าเบื้องหลังของมัน ที่คนเขียนเขาตั้งใจเอาไว้แล้ว แต่ประเด็นคือมันต้องอ่าน ดังนั้นจึงสิ้นสลาย ก่อนถึงจะมาอ่านอันนี้ไหมคะคุณนิธิ”
นิธิ : “จริงๆ มันไม่จำเป็นนะครับ เพราะมันแยกขาดจากกัน ถ้าเกิดผู้อ่านซื้ออาณาเขตไปอ่านแล้วรู้สึกว่าอยากจะกลับไปเปิดตามรอย อันนี้ก็ได้ เพราะจริงๆ เนื้อเรื่องมันแยกออกจากกันคนละชุด แต่ว่ามันจะมีการใส่ Hint หรือการใส่ตัวบทที่หยิบยืมมาจากใน ดังนั้นจึงสิ้นสลาย อยู่ ฉะนั้นถ้าคุณผู้อ่านที่ได้อ่าน ดังนั้นจึงสิ้นสลาย มาก่อนเนี่ย มันก็จะทำความเข้าใจหรือเก็ทได้มากกว่า แต่มันไม่ได้หมายความว่าคุณต้องไปอ่านก่อน”
อริสรา : “อาจจะปอ่านตามย้อนหลังก็ได้เพราะพอเรารู้ว่ามันมีบางส่วนมาจาก ดังนั้นจึงสิ้นสลาย เนี่ย เดี๋ยวค่อยไปอ่านตามก็ได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องอ่านมาก่อน”
นิธิ : “ใช่ครับใช่”
วิไลรัตน์ : “จริงๆ เนี่ย สองเล่มนี้คุณนิธิแบบวางพล็อตมาตั้งแต่แรกเลยไหมคะว่าจะเขียนแบบนี้ จะเป็นซีรีส์แบบนี้ ดังนั้นจึงสิ้นสลายแล้วก็อาณาเขต หรือว่าเขียนๆ ไปอยู่แล้วเอ๊ะ มันมีประเด็นอะไรที่สามารถขยายออกมาเป็น เอ่อ...ถามตรงนี้ก่อน”
นิธิ : “จริงๆ ไม่ได้คิดตั้งแต่แรกว่าจะเขียนเป็นเนื้อเรื่องต่อเนื่องกันนะครับ ตอนแรกที่ผมเขียนดังนั้น(จึงสิ้นสลาย)มันก็คือจบไป แล้วผมก็มาเขียนประพฤติการณ์ต่อ ทีนี้ว่าตอนประพฤติการณ์มันมีความคิดความคิดหนึ่ง ซึ่งมันอยู่ในหัวผมมาตั้งนานแล้วสักพัก และเป็นสิบปีแล้ว คือเรื่องความคิดว่าด้วยเรื่องอาชญากรรมโดยรัฐ ซึ่งอาชญากรรมโดยรัฐเนี่ย ผมจะตั้งคำถามอยู่ตรงแค่คำว่าอาชญากรรมแล้วผมก็ไปลงความคิดกับตัวเองที่เริ่มต้นอาชีพการเขียน ผมเริ่มต้นจากการเขียนนิยายสืบสวนมาก่อน ผมเขียนหนังสือในหลากหลายนามปากกามาก่อน ชื่อใช้ชื่อจริง แล้วนิยายในหลากหลายนามปากกานั้นน่ะผมจะเขียนเป็นแนวสืบสวน แล้วผมก็เลยเอาความคิดสองก้อนนี้ระหว่างคำว่า อาชญากรรมโดยรัฐ กับ ความคิดแนวสืบสวน เนี่ย เอามาผูกโยงเอามาผสมรวมกันเป็นอาณาเขต แต่ทีนี้ผมดำเนินเนื้อเรื่องมายังไง ในส่วนของอาณาเขตเนี่ยมันก็มีความบังเอิญอยู่ตรงที่ว่า มันมีเช้าวันหนึ่งซึ่งผมก็จะตื่นเวลาประมาณนี้แหละครับ จากชั้นสองมาที่บ้านผมก็จะเห็น มีนกตัวหนึ่งตกลงมาอยู่ในรั้วบ้าน”
อริสรา : “อันนี้คือเรื่องจริง คือสิ่งที่เราเห็นจริงๆ ใช่ไหมคะ”
นิธิ : “เรื่องจริงครับ”
วิไลรัตน์ : “คือนกตกลงมาในรั้วบ้าน อย่างไรคะ”
นิธิ : “คือเขาจะทำรังอยู่บนชั้นตรงหน้าต่างชั้นสองของบ้านนี่แหละครับ ก็คือเขาก็จะตกลงมาตาย ผมก็แบบ เฮ้ย ถ้าจำไม่ผิดช่วงนั้นน่ะมันเป็นช่วงที่หลังจากเรื่องของไข้หวัดนก ผมก็จะผวา ซึ่งพอมันเป็นก้อนความคิดนี้ ผมก็เลยคิดว่าถ้าเกิดสมมติว่านกตัวนี้มันเป็นตัวแพร่เชื้อล่ะ สมมติว่าเกิดเราเป็นคนไปจับเราติดเชื้อ หรือสมมติว่ามีบางคนไปจับ หรือสัตว์ไปกินแล้วสัตว์นั้นไปกัดคนในครอบครัวแล้วก็เริ่มแพร่เชื้อล่ะ พอผมตั้งความคิดนั้นขึ้นมาปุ๊บเนี่ย ผมก็เลยเอาก้อนความคิดที่เล่าไปเมื่อสักครู่นี้คือเรื่องอาชญากรรมโดยรัฐกับนิยายแนวสืบสวนที่ชอบ เอามาประกอบ แล้วก็ออกมาเป็นอาณาเขต โดยก็ใส่ตัวละครที่ว่าเข้าไป ตัวละครที่นักอยากเขียนบังเอิญเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มันเกิดเหตุโรคระบาดแล้วตัวเองก็เป็นคนเดียวที่เหลือรอด
“แล้วตัวโครงสร้างของอาณาเขตผมก็ใช้วิธีแบบเดียวกับกระบวนการสืบสวนสอบสวน คือเริ่มตั้งแต่การมีพยานก่อน มีพยาน มีผู้สืบสวน มีเหยื่อ มีตัวอาชญากร ซึ่งในโครงสร้างของเรื่องมันก็จะเป็นอย่างนี้ มันก็จะเปิดเรื่องด้วยการพยาน ก็คือตัวคณัสนันท์เป็นคนเล่าผ่านบันทึกที่เขาเข้าไปอยู่ในบ้านของนิธิ ซึ่งมันก็จะซับซ้อนไปเพราะว่าอัณณ์ เป็นคนที่...คือถ้าพูดกันจริงๆคือเป็นคนมีปัญหาทางจิต เขาก็จะมีปัญหาทางจิต เขาก็จะคุยกับตัวเอง ในเสียงคุยของตัวเองที่เขาคุยกับตัวเองเนี่ยมันก็จะมีเสียงหลากหลาย ตั้งแต่ ฉัน กู มึง ผม อะไรอย่างนี้ ตัวละครของเขามันก็จะแตกสลาย มันก็เลยจะเป็นการตั้งคำถามว่า แล้วตัวอัณณ์ คณัสนันท์ ที่แท้จริงของในตัวเนื้อเรื่องเขาคือใคร แล้วผู้สืบสวนของกระทรวงสาธารณสุขลงไปสืบสวนเขาแล้วเนี่ย เขากลับจะไม่พบข้อมูลใดๆที่ชี้ว่าตัวอัณณ์มีตัวตนอยู่จริงๆเลย ใบหน้านี้พอเขาไปสืบสวนค้นๆ ลงไปเรื่อยๆ กลับพบว่าตัวอัณณ์แท้ที่จริงกลับกลายเป็นนามปากกาที่นิธิเคยใช้มาก่อนอีกต่างหาก แล้วอัณณ์ที่เขาพบเจอที่บ้านนิธิเนี่ย เป็นใครกันแน่”
วิไลรัตน์ : “อ้าว ซ้อนไปมา”
อริสรา : “มันสนุกตรงนี้แหละ”
นิธิ : “ก็นั่นแหละ”
วิไลรัตน์ : “อันนี้คือการวางพล็อตที่แบบ เหมือนยากไหมคะคุณนิธิ เออถามเลยเพราะว่าอาทิตย์ที่แล้วเราเรียนเรื่องการเขียนนิยาย ยังค้างคากันอยู่ในใจ อยากจะคุยกับคนที่สนุกกับการเขียนนิยาย”
อริสรา : “ใช่ กำลังจะบอกอย่างนี้พี่ตุ๊ก ว่าพอเราเรียนของตรงนั้นไป เรื่องของสรรพนามในการใช้เล่าเรื่อง แล้วก็ได้มาอ่านงานของคุณนิธิ รู้สึกว่า เฮ้ย มันเหมือนแบบเราเพิ่งเรียนไปเอง แล้วก็มาได้เจอคนที่ใช้สรรพนามแบบสลับไปสลับมา แล้วจริงๆแล้วคือคนเดียวกันนี่แหละ อย่างที่โบว์บอกว่ามันต้องใช้สมาธิในการอ่านจริงๆพี่ตุ๊ก เพราะว่าอัณณ์คุยอยู่คนเดียวแต่อัณณ์เนี่ยมีสรรพนามที่คุยด้วยเยอะมาก ดังนี้คุณนิธิมันยากมันง่ายยังไงในการใช้สรรพนามในการเล่าเรื่องน่ะค่ะ”
วิไลรัตน์ : “รวมทั้งวางพล็อตทั้งหมดทั้งหลายด้วยนะคะ”
นิธิ : “คือในส่วนของการใช้สรรพนาม ในส่วนตัวผมเองผมไม่ได้มองว่ามันยาก คือผมจะคุยแบบนี้บ่อยๆแต่ว่ามันไม่แตกแขนงหลากหลายมาเป็นหลายสรรพนามแบบอัณณ์ใช้แค่นั้นเอง ในการทวนถามคำถามตัวเองว่าเหมือนอย่าง พอเห็นนกตกลงมาตาย ผมก็ตั้งคำถามถ้าเกิดมันมีเรื่องอย่างนี้ล่ะ แล้วเสียงก็จะบอกว่าเออๆ ลองดูดิ ลองเขียนดูดิ อะไรทำนองนี้ ก็คือจะดูเป็นแค่ผู้ถามกับผู้ตอบแค่นั้น หนึ่งกับสอง แต่ว่าของอัณณ์น่ะผมจะเพิ่มความซับซ้อนขึ้นไป ผมก็คือตั้งคำถามว่าถ้าอัณณ์เป็นคนที่มีบุคลิกแตกแยกล่ะ”
วิไลรัตน์ : “ก็จะเป็นพวก Split personality** อะไรอย่างนี้นะคะ”
นิธิ : “ใช่ ก็คือไปสอดคล้องกับตัวธีมของเรื่องอีกธีมหนึ่ง ธีมของเรื่องนอกจากอาชญากรรมโดยรัฐแล้วเนี่ยก็คือเป็นเรื่องของตัวตน เพราะว่าตัวอาณาเขตมันจะตั้งคำถามว่าการเปลี่ยนกายไปเป็นคนอื่น เราไม่สามารถทำได้เมื่อเราอยู่ในร่างกายของตัวเราเอง เหมือนอัณณ์เนี่ย ถ้าเขาอยากจะเป็นนิธิเขาก็อยากจะฆ่านิธิก่อนใช่ไหม เพราะมันจะมีสองคนไม่ได้ แต่ทีนี้ถ้าเขาจะฆ่านิธิมันจะเหลือตัวเขา แต่คนที่รู้จักนิธิเนี่ยเขาก็จะบอกว่า เฮ้ย มันไม่ใช่อะ หน้าตาคุณไม่เหมือน คุณไม่ใช่ เพราะฉะนั้นการจะเปลี่ยนกายไปเป็นคนอื่นได้ เขาก็ต้องเปลี่ยนไปทั้งรูปร่างภายนอก รูปร่างภายใน ซึ่งมันทำไม่ได้แน่นอน มันก็เหลือแค่ว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองในโลกสมมติ ในงานเขียนยังไงแค่นั้น
“พอมันเป็นอย่างนั้นปุ๊บ ผมก็เลยตั้งคำถามว่า แล้วถ้าอย่างนั้นตัวอัณณ์มันก็จะเริ่มมีการพูดคุย มีเสียงตอบโต้ ถ้าคนที่ได้อ่านในส่วนบันทึกของอัณณ์ ช่วงแรกจะเห็นว่าอัณณ์สร้างตัวตนอีกตัวตนหนึ่งขึ้นมา นอกจากที่เขาพูดคุยกับตัวเองแล้วยังมีสร้างตัวตนสมมติขึ้นมา ตัวตนที่ไม่มีใบหน้า เพื่อจะพูดคุย เพื่อที่จะทำให้เขาไม่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว คืออัณณ์เขาจะเป็นคนโดดเดี่ยว ในแง่หนึ่งนะครับเขาจะเป็นคนที่เกิดมาในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า พ่อแม่เขาไม่เคยเห็นหน้า”
วิไลรัตน์ : “เหมือนกับมีที่มาของตัวละครที่จะ มีเหตุผลอะไรแบบนี้”
นิธิ : “ใช่ พอผมตั้งตุ๊กตาตัวละครนี้ไว้แล้ว มันจะค่อยๆแตกแขนงออกเป็นเส้นเรื่องราวแต่ละเส้น เริ่มจากนก ถ้ามีนกตกลงมาตายตัวหนึ่งในบ้าน”
วิไลรัตน์ : “เริ่มจากเรื่องแค่นี้เองนะ”
อริสรา : “จริง แค่มองเห็นนกตายอยู่หน้าบ้าน ตรงรั้วบ้านก็ทำให้เกิดเป็นพล็อตเรื่องขึ้นมา”
วิไลรัตน์ : “กำลังจะถามคุณนิธิ เพราะเวลามันเหลือน้อยมากสำหรับเบรกนี้ ถามเผื่อไปยังนิยายนอกเหนือจากอาณาเขต เรื่องต่างๆ ที่คุณนิธิคิดเนี่ย ในช่วงสักประมาณปีสองปีนี้ก็ได้ค่ะ ไม่ต้องไปไกลมาก คือวิธีคิดในการสร้างเรื่องมันขึ้นมา แล้วก็ประเด็นที่มักจะหยิบมาใช้ หรือว่าเอามาเล่าเรื่องในนิยายเนี่ยมันเป็นเรื่องประมาณไหน คือทั้งวิธีคิดและประเด็นที่หยิบยกมาคือสนใจอะไรเป็นพิเศษ หรืออยากให้คุณนิธิไปตอบในช่วงหน้า”
อริสรา : “อันนี้แบบว่าทิ้งไว้ให้คิดก่อน เดี๋ยวช่วงหน้ามาตอบ ขออนุญาตพักสักครู่ เดี๋ยวกลับมาคุยกันต่อนะคะ”
..,
อริสรา : “กลับเข้ามาในช่วงที่สองของรายการคิดระหว่างบรรทัดค่ะ กลับมาคุยกันต่อกับโบว์ พี่ตุ๊ก แล้วก็คุณนิธิ นิธิวีรกุล เป็นเจ้าของผลงานอาณาเขต การพยายามทำให้เป็นนิยายเรื่องหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นนวนิยายที่เข้ารอบสุดท้ายของซีไรต์ในปีนี้ค่ะ ปี 64 คุยกันต่อค่ะพี่ตุ๊ก เมื่อสักครู่เราทิ้งท้ายกันไว้”
วิไลรัตน์ : “คำถามยาวมาก เบรกที่แล้วที่เราคุยกันเรื่องของการคิดประเด็นว่าจะหยิบอะไรมาเล่า มาเรื่องประเด็นดีกว่าว่าคุณนิธิสนใจในประเด็นไหน อะไร ในช่วงสองสามปีนี้ก็ได้ค่ะ แล้วมันปรากฏอยู่ในนิยายอะไร”
นิธิ : “ถ้าถามว่าสนใจประเด็นไหนเป็นหลักเนี่ย ส่วนใหญ่แล้วสนใจประเด็นทางการเมืองที่จะเอามาใช้เป็นหลัก แต่เวลาผมจะเขียนนิยายหรือเขียนงานขึ้นมาสักชิ้น ผมจะไม่ค่อยเอาประเด็นการเมืองมานำก่อนเขียนก่อนคิด ผมจะเอาประเด็นที่อยากจะเล่ามาก่อน อย่างเช่นใน ดังนั้นจึงสิ้นสลาย ผมจะตั้งคำถามว่าคนๆ หนึ่งฆ่าตัวตาย สาเหตุที่ทำให้เขาฆ่าตัวตายมันมีสาเหตุอะไรบ้าง ในดังนั้น(จึงสิ้นสลาย)ตัวชอบ อนุจารีก็คือไปเข้าร่วมการชุมนุมแล้วก็ผิดหวังเมื่อรัฐประหาร 57 ในอาณาเขตเมื่อนกตกลงมาตายตัวหนึ่ง นกมันแทนสัญลักษณ์อะไรได้บ้าง หรืออย่างในประพฤติการณ์เนื้อเรื่องก็จะพูดถึงการส่งต่อความทรงจำเมื่อร่างกายๆ หนึ่งแตกดับไปแล้ว ความทรงจำนั้นจะยังอยู่ไหม ความทรงจำนั้นจะสามารถกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ได้ไหม
“หลักจากนั้นผมจึงจะค่อยเอาประเด็นที่อยากจะสื่อสารที่อยากจะ เหมือนเป็นพล็อตหลัก พล็อตรองสอดแทรกลงไป ซึ่งพล็อตรองส่วนมากแล้วจะเป็นพล็อตทางการเมืองในช่วงเวลานั้น หรือพล็อตประเด็นทางการเมืองที่มันยังตกค้างอยู่ในความทรงจำ ตกค้างอยู่ในความรู้สึก ผมขออนุญาตเล่าย้อนนิดนึงว่าเรื่องแรกที่ผมเขียนในเชิงวรรณกรรมซีเรียสนะครับ ผมจะใช้คำว่าวรรณกรรมซีเรียสแทนแล้วกัน ผมเขียนเรื่องสั้น ‘มืดและเงียบ’ ลงในนิตยสาร ฅ. เมื่อปี 2553 ในตอนนั้นน่ะมันจะมีความทรงจำที่ตกค้างตั้งแต่สมัยผมอยู่ ป.6 คือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 แล้วคนในบ้านผมที่เป็นอากู๋เล็กเขาไปเข้าร่วม แล้วเขาก็กลับมาโดยสภาพที่เสื้อผ้าของเขา เขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขากลับมาถึงบ้านประมาณเที่ยงคืนแล้วทุกคนในบ้านก็รอเขา เพราะรู้ว่ามีการปราบปรามกันเกิดขึ้น กลับมาในสภาพที่เสื้อเขาโชกไปด้วยเลือด แต่เขาบอกว่ามันไม่ใช่เลือดเขาเป็นเลือดของคนอื่น ผมก็จะจดจำความรู้สึกนี้ไว้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเราถึงเป็นแบบนี้ได้ในบ้านเมืองเรา แล้วผมก็จดจำได้ว่าในช่วงเวลานั้นในตอนนั้นน่ะ ด้วยความเป็นเด็กอายุ 11 ผมไม่ได้สนใจอะไรในทางประเด็นทางการเมือง ไม่ได้สนใจว่ามันมีรถทหารมาวิ่งในถนนแถวบ้าน ผมสนใจแค่ว่า เฮ้ย ถนนมันโล่ง เราออกไปเดินเล่นกันเถอะ ถนนเป็นของเราแล้ว ถนนเป็นของเด็กๆ
“ผมก็เลยเอาสองเรื่องนี้มาสร้าง ก็คือเด็กที่ออกไปปั่นจักรยานกับพี่ชายแล้วระหว่างปั่นจักรยานเด็กก็จะตั้งคำถามกับพี่ชายตัวเองว่า อากู๋เล็กที่เขาไปเนี่ยเขาจะได้กลับมาไหม เขาหายไปจากบ้านเนี่ยคนที่บ้านเป็นห่วงแล้วเรื่องก็จะจบลงตรงที่กู๋เล็กกลับมา เหมือนเหตุการณ์จริงในความทรงจำของผม แต่กู๋เล็กไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว พอมันเป็นอย่างนี้พอผมก็จะเขียนเรื่องสั้นแนวซีเรียสด้วยการปักหลักความคิดด้วยความทรงจำเรื่องนี้ปุ๊บเนี่ย มันไม่เหมือนเป็นการตีกรอบบทการเขียนชิ้นอื่นๆ ของผมต่อๆ มาในผลงานชิ้นอื่นๆ จนกระทั่งอาณาเขตด้วยว่า ผมจะหยิบเอาระหว่างความเป็นตัวตน ความเป็นความทรงจำ กับ ประเด็นทางสังคม ประเด็นทางการเมือง มาควบรวมอยู่ด้วยกันเสมอๆ ”
วิไลรัตน์ : “อันนี้คือเรื่องที่สนใจ”
อริสรา : “เป็นเรื่องวิธี วิธีในการหยิบเอาเรื่องที่สนใจมาควบรวมกัน”
วิไลรัตน์ : “แต่ว่าอย่างนี้นะ คืออย่างเล่มที่พูดว่าเป็น พยายามที่จะให้เป็นนวนิยายรวมที่คุณนิธิเขียน หรืออาจจะเป็น gimmick ในการนำเสนอ ในการเขียนงาน รวมทั้งแบบที่เราเห็นร้านหนังสืออะไรก็ตามที่อยากจะนำเสนอ ก็จะหยิบประโยคที่อยู่ในหนังสือขึ้นมา ซึ่งประโยคที่กระจัดกระจายเหล่านั้นเนี่ย มันเป็นประโยคที่ทำให้เชื่อว่ามันเป็นหนังสือที่แนวนิยายเกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์เหมือนกันนะคุณโบว์ พี่ยังดูไม่ออกเลยว่า เฮ้ย มันจะเป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอะไร ความเรื่องจริงจังเกี่ยวกับการเมืองอะไรแบบนี้ คือรู้สึกว่ามันมีความสวยงามของภาษาที่เล่าอยู่ตรงนั้น ก็เลยอยากถามเรื่องนี้ค่ะว่า ภาษาที่มันดีงาม โรแมนติก อะไรแบบนี้แล้วเอามาเล่าเป็นเรื่องที่มันจริงจัง มันทำได้ยังไงแล้วมันยากแค่ไหน”
อริสรา : “มันทำให้เข้ากันได้อย่างไร”
วิไลรัตน์ : “หรือว่ามันต้องใช้ภาษานี้แหละ ถึงจะเล่าเรื่องจริงจังได้”
นิธิ : “อันนี้คือพูดถึง ดังนั้นจึงสิ้นสลาย ใช่ไหมครับ”
วิไลรัตน์ : “ทั้งสองเล่มเลยนะเอาจริงๆ อาณาเขต เนี่ย ตามที่ไปอ่านตามร้านหนังสือเนี่ยเขายังไม่ได้พูดถึงประเด็นขนาดนั้นอย่างที่เรารู้”
อริสรา : “ประเด็นหนักๆ”
วิไลรัตน์ : “อืม สมมติว่าหยิบอะไรมาปุ๊บ เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันเป็นนิยายเรื่องความรู้สึก ความรัก ความสัมพันธ์อะไรมากกว่า แต่จริงๆแล้วมีเรื่องที่น่าสนใจมากกว่านั้นอีก”
นิธิ : “ผมคิดว่าโดยภาษาเนี่ย ผมขอออกตัวนิดนึงว่าผมไม่ได้เป็นคนเขียนเก่งขนาดนั้น ไม่ได้คิดว่าจะสร้างภาษาที่มีความโดดเด่นจนลายเซ็นได้เหมือนอย่างอาปุ๊ รงค์ วงษ์สวรรค์ หรืออย่างวีรพร นิติประภา ซึ่งเขาก็คือจะภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ที่คนอ่านเห็นปุ๊บก็คือจะรู้ว่าเป็นภาษาของนักเขียนคนนี้ แต่ไม่ได้เก่งขนาดนั้น ผมคิดภาษาที่ผมออกมาจากความที่มันจะดูโรแมนติก เพราะว่าโดยตัวเรื่องมัน โดยจริงๆ แล้วเรื่องมันคือเรื่องความรัก แต่ว่ามันเป็นความรักของคนที่ผิดหวัง เป็นความรักของคนที่แอบรักผู้หญิงที่เขาก็ไม่รัก แล้วพอตัวเองมีคนมารักก็ดันไม่รักเขาอีก ก็เหมือนเป็นความรัก ก็เหมือนกับเวลาเรามองบ้านเมือง มองการเมือง ก็เหมือนอยากเห็นประเทศมันดี อยากเห็นบ้านเมืองมันดี บ้านเมืองที่เรารักมันดีแต่มันก็ผิดหวังอยู่ร่ำไป มันกลายเป็นว่าในส่วนของดังนั้น(จึงสิ้นสลาย)อะ ภาษามันก็เลยจะดูโรแมนติก ดูสวย ดูค่อนข้างจะขัดแย้งกับตัวเนื้อเรื่อง แต่จริงๆแล้วโดยตัวดังนั้นจึงสิ้นสลายเนี่ย มันเป็นเรื่องความรัก
“ผมเคยคุยกับพี่วิภาส (วิภาส ศรีทอง) ที่เขาเคยได้ซีไรต์จากเรื่อง คนแคระ พี่วิภาสเขาก็บอกว่าคุณหลอกคนอ่าน คือคุณเล่น พยายามทำให้เป็นนิยายโรแมนติกอะไรแบบนี้ เหมือนแกบอกคนอ่านว่ามันคือเรื่องรักแต่จริงๆ เข้าไปในเรื่องมันไม่ใช่เรื่องรักเลย มันคือเรื่องการเมืองที่ไล่เลียงมาตั้งแต่ปี 2490 รัฐประหาร 2490 ไล่มาจนถึงรัฐประหาร 2557 แต่มันคือชีวิตของคนคนหนึ่ง คือชีวิตของชอบ อนุจารี มันคือชีวิตที่แตกสลายจากความรัก จากความผิดหวัง ซึ่งถ้าใครที่ได้อ่านดังนั้นจึงสิ้นสลายแล้วจับดีๆ จะเห็นได้ว่าชอบ อนุจารี ไม่ได้เป็นคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองมาแต่แรก แต่เพราะอยากจะเท่ อยากจะโชว์สาว อยากจะให้สาวมาชอบเขาแต่เผอิญว่าสาวก็ไม่ได้ชอบเขาอยู่เหมือนเดิม ก็เป็นแค่คนๆ หนึ่งที่สิ้นสลายจากความรู้สึกที่มีใดๆ ก็แล้วแต่ จนสุดท้ายแล้วเขาก็จมอยู่กับความโดดเดี่ยวแล้วก็ทนไม่ไหว มันก็เป็นแค่นี้ หมายถึงอันนี้ผมกำลังพูดถึงวิธีในการเขียนนะครับ ซึ่งทำให้ภาษามันออกมาโดยอัตโนมัติของมันเองมากกว่า ด้วยหลักการคิดเดียวกันมันเลยจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในอาณาเขตในตัวบทบันทึกแรกของอัณณ์ คณัสนันท์มันถึงซับซ้อน มันถึงเต็มไปด้วยเสียงเล่ามากมาย ในระหว่างบรรทัดในหนึ่งพารากราฟราวกับเห็นว่าขึ้นต้นด้วยผม พูดๆ ไปเขา พูดๆ ไปกู แล้วตกลงมันคนเดียวกันไหมที่มันคุยกันเนี่ย ผมแค่กำลังจะบอกว่าผมไม่ได้คิดภาษาขึ้นมาก่อน แต่คิดเรื่องตัวละครมันจะนำผมไปสู่ภาษานั้นๆ ที่มันเหมาะกับตัวนิยายนั้นๆ เอง”
อริสรา : “เหมือนกับเราคิดคาแรคเตอร์ขึ้นมาก่อนใช่ไหมคะ”
นิธิ : “ใช่”
วิไลรัตน์ : “แล้วก็เลือกภาษาให้เข้าปากเขา หมายถึงว่าเลือกภาษาในการเล่าเรื่องนั้น อธิบายเรื่องนั้น ถ้าไม่นับว่าเข้าไปอ่านแล้ว เฮ้ย มันเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งเลยอะไรอย่างนี้นะ มันเป็นกลวิธีในการเล่าเรื่องนั่นแหละ ที่จะนำไปสู่ประเด็นที่เราต้องการนำเสนอ แต่ทีนี้เราก็เลยรู้สึกว่า เฮ้ย หนังสือจากงานของคุณนิธิมันสนุก ตรงนี้ไงคุณโบว์ มันได้แบบ กว่าเราจะผ่านเลเยอร์ภาษา ภาษามันดีหรืออะไรก็แล้วแต่ พาเราไปในเรื่องที่หนักไง ไม่งั้นถ้าภาษาหนักไปอีกมันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเล่มอาณาเขตคุณโบว์ก็บอกเนอะว่าเรื่องของภาษามันก็เป็นการนำไปสู่เรื่องที่เราต้องค่อยๆ ตั้งใจอ่าน เราอ่านๆ ไปเราก็รู้สึกว่ามันจะนำไปสู้เรื่องอะไร มันจะเฉลยอะไร อะไรอย่างนี้”
อริสรา : “ใช่ มันเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนในอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกันนะคะ ตอนแรกอ่านๆ ไปก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นสืบสวนสอบสวนแต่พออ่านไปเรื่อยๆ แล้วมันเข้าในธีมสืบสวนไปได้เรื่อยๆ เหมือนกัน ในการตามหาตัวอัณณ์นี่แหละว่าตกลงแล้วอัณณ์เป็นใคร มาสวมอยู่ในชื่อของอีกคนได้ยังไงอะไรอย่างนี้ มันทำให้เราได้คิดตามไปด้วย ก็เป็นนิยายสืบสวนที่โบว์ว่าน่าสนใจอีกหนึ่งเล่ม”
วิไลรัตน์ : “จริงๆ คุณนิธิเขาเริ่มมาจากการเขียนนิยายสืบสวนสอบสวน อันนี้ต้องกลับมาถามถึงตรงนี้เหมือนกันว่าเสน่ห์ของมันน่ะ หมายถึงว่าทุกวันนี้ยังเขียนมันอยู่ไหมในนามปากกาอะไร หรือว่ายังไง”
นิธิ : “ไม่ได้เขียนแล้วครับ ”
วิไลรัตน์ : “แต่มันยังเหลือความสนุกของมันใช่ไหม เวลาไปเล่าเรื่องอื่นๆมันก็จะมีกลิ่นนี้ใช่ไหม ”
นิธิ : “ใช่ครับ ผมมีเพื่อนนักเขียนคนหนึ่งคือคุณสันติสุข กาญจนประกร ซึ่งเขาก็เขียนนิยายเรื่องซิมโฟนียังบรรเลง เขามักจะตั้งคำถามหรือถามว่าเวลาผมเขียนงาน ผมจะมีวิธีการเขียนที่เหมือนเปิดเรื่องให้มันดูเหมือนกระแทกคนอ่านก่อนแล้วค่อยๆ เข้ามาในตัวเรื่องเหมือนอย่างดังนั้น(จึงสิ้นสลาย)ก็คือเปิดเรื่องด้วยการตายของชอบ อนุจารีในโรงแรมซอมซ่อ บนถนนสามเสน เราก็ตั้งคำถามว่าทำไมคนๆ นี้ถึงไปฆ่าตัวตายในโรงแรม เช่นกันกับในอาณาเขต ดังนั้นใช่ครับ ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ผมจะไม่ได้เขียนนิยายแนวสืบสวนในหลากหลายนามปากกาแล้ว แต่ผมหยิบยืมเอาวิธี กลวิธีของนิยายสืบสวนสอบสวน เอามาใช้ในนิยายซีเรียสหรือเรื่องสั้นแนวซีเรียสเสมอ หรืออาจจะเรียกได้ว่ากลายเป็นตัวตนผมไปแล้วด้วยซ้ำในการเขียน”
อริสรา : “กลายเป็นลายเซ็นของเราไปแล้ว คือถ้าอ่านก็จะรู้ว่านี่แหละของคุณนิธิแน่ๆ เพราะแนวแบบนี้ไม่ได้มีหลายคนแน่ๆ”
นิธิ : “ใช่ครับ เพราะผมจะไม่ได้จะแบบว่า ผมไม่ได้จะเขียนนิยายสืบสวนตามขนบ การจะเขียนนิยายสืบสวนจริงจังสักเรื่องนั้นผมจะคิดถึงนิยายสืบสวนของเมืองนอก อย่างเช่น สมัญญาแห่งดอกกุหลาบของคุณอุมแบร์โต เอโก หรืองานของ พอล ออสเตอร์ ไตรภาคนิวยอร์ก สืบสวนในเชิงปรัชญาทั้งคู่เหมือนกัน ซึ่งแนวความคิดนี้ผมก็กลับไปคิดกลับไปค้นในนิยาย อย่างเช่น ฟรานซ์ คาฟคา คนก็จะคิดแต่ว่ามันเป็นเรื่องแปลกประหลาดของชายคนหนึ่งที่ตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตัวเองเป็นแมลง”
วิไลรัตน์ : “เมตามอร์โฟซิสเนี่ย”
นิธิ : “คือว่าตรงนี้ก็มีความเป็นนิยายสืบสวนนะในความคิดของผมนะ ก็เหมือนกับแบบว่าเราอาจจะมีดสักมีด มีดตกอยู่ข้างตัวแล้วเปื้อนเลือด เราก็จะมีคำถามว่ามันมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง ซึ่งวิธีการแบบนี้ผมคิดว่ามันเป็นวิธีการที่เอาไปใช้กับประเด็นในการเขียนนิยาย ประเด็นอื่นๆ ในเรื่องอื่นๆ ได้จะแทบทุกเรื่องในความคิดผมนะครับ มันเหมือนว่าเราตั้งคำถามว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครเป็นคนทำให้เกิด เหตุผลที่เขาทำมันคืออะไร พอผมคิดแบบนี้มันจะเข้ารูปเข้ารอยของขนบนิยายสืบสวน มันก็คือจะเป็นเหมือนนิยายสืบสวนในแบบของผมไปแล้ว เพียงแต่ว่ามันจะไม่ได้ดำเนินวิธี ไม่ได้มีเนื้อเรื่องแบบนิยายสืบสวนแบบที่เราคุ้นๆกันแค่นั้นเอง”
วิไลรัตน์ : “ตรงนี้แหละที่มันยากเนอะ สำหรับคนเขียนเพราะว่า... ไม่รู้มันยากสำหรับคนเขียนหรือเปล่าเผลอคิดแทนไปแล้วคุณโบว์ ขนบที่เราคุ้นเคยกันมันก็จะมีการวางแผนพลิกไปพลิกมา แต่ที่คุณนิธิพยายามจะบอกว่าคุณนิธิเขียนในสิ่งที่ไม่ใช่ขนบอะไรอย่างนี้ มันคืออะไรนะคะ แล้วมันสนุกยังไงในการทำอย่างนั้น”
นิธิ : “จริงๆ ในความคิดผมอาจจะ ผมไม่ได้เป็นนักวิชาการทางด้านนี้มาก่อน ซึ่งผมออกตัวแบบนี้ถ้าพูดผิดก็ขออภัย”
วิไลรัตน์ : “สบายๆ ค่ะ เอาแบบว่าข้อสังเขปของเรา”
นิธิ : “ข้อสังเขปของผม ผมจะชอบอ่านนิยายสืบสวน จะมีนิยายสืบสวนในบ้านเยอะ แล้วผมก็จะชอบเขียนนิยายสืบสวนมาก่อน ผมจะเห็นโครงสร้างของนิยายสืบสวนที่จะเป็นอย่างที่ผมได้พูดไป ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ซึ่งมันจะเป็นวิธีแบบเดียวกับที่เราเรียนด้านทักษะทางด้านสื่อสารมวลชน เป็นแบบเดียวกันเลย ซึ่งผมก็มานั่งสงสัย แล้ววิธีการสื่อสารมวลชนมันก็เป็นวิธีการสื่อสารมวลชนมันก็มีการเขียนแทรกอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งพอเป็นอย่างนี้แล้วผมว่าโครงสร้างของนิยายสืบสวนหรือว่าโครงสร้างสื่อสารในการเล่าเรื่องนิยายมันแทบไม่แตกต่างกันเลย ฉะนั้นสิ่งที่ผมทำจริงๆ มันไม่ใช่การแหวกจากขนบนะแต่มันเป็นการคิดทำให้ขนบนั้นที่เราคุ้นเคย เอาโครงสร้างนั้นน่ะ เหมือนเอายูนิฟอร์มแบบนั้นไปใส่ในเรื่องอื่นๆ ผมลองเอาชุดความคิดนี้ไปใส่ในเรื่องของความรักที่มีคนฆ่าตัวตายดู ก็ออกมาเป็นดังนั้นจึงสิ้นสลาย ผมเอาความคิดนี้ไปใส่ในเรื่องของคนที่อยากเป็นอีกคนหนึ่งแล้วมีนกตกลงมาตายหน้าบ้านก็กลายมาเป็นอาณาเขต”
วิไลรัตน์ : “เออสนุกนะวิธีทำ”
อริสรา : “ใช่ๆ น่าสนใจ”
นิธิ: “มันไม่ได้ดำเนินเนื้อเรื่องเหมือนอย่างที่เราคุ้นเคยกันแค่นั้นเอง จริงๆ แล้วตัวเรื่องมันไม่ได้ดำเนินในแบบสืบสวนอย่างที่เราคุ้นเคยมากกว่า มันจึงเป็นการแหวกขนบแบบใหม่ซะทีเดียวอะไรแบบนี้ เพราะผมก็ไม่ได้เก่งขนาดนั้น นี่ผมก็พูดไปตรงๆ ”
วิไลรัตน์ : “มันก็จะมีรสชาติอีกแบบหนึ่งค่ะคุณโบว์ พูดง่ายๆ คือเป็นคุณโบว์เนี่ยคนชอบอ่านนิยายสืบสวนสอบสวนแต่ว่าพอมาอ่านอันนี้ ที่ทำให้คุณโบว์ติดตามมาได้จนมาขนาดนี้ ก็เป็นเรื่องของกลวิธี แล้วก็ภาษา คือเป็นความโดดเด่นของกลวิธีการเล่าแล้วก็ภาษาที่จะนำพาไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราพูดในคลาสกันอยู่เรื่อยๆกับการเขียน ทีนี้มาพูดถึงอาณาเขตเล่มนี้คุณนิธิ รู้สึกตื่นเต้นกับนิยายเล่มนี้ไหมคะ ทิ้งท้าย”
นิธิ : “ถามว่าตื่นเต้นไหม ก็ค่อนข้างเกินคาดหวังดีกว่า ผมเขียน อาณาเขต พูดทันทีตั้งแต่กระบวนการการเขียน ผมจะคาดเดาว่ามันจะมีคนวิจารณ์ยังไงบ้าง มีการวิพากษ์วิจารณ์คนในวงการเขียน วิพากษ์วิจารณ์นักวิชาการ ผ่านตัวบทผ่านอะไรพวกนี้ ซึ่งตัวผมก็จะคิดแต่ว่าด้วยโครงสร้างของเรื่อง ด้วยกลวิธีของเรื่อง ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเป็นความทะเยอทะยานของตัวผมเอง และเท่าที่ผมให้คนรอบตัวอ่านก่อนที่จะส่งให้สำนักพิมพ์ตีพิมพ์เนี่ย ส่วนใหญ่จะบอกตรงกันว่ามันอ่านยาก อ่านยากกว่าดังนั้น(จึงสิ้นสลาย) อ่านยากกว่านิยายเล่มมอื่นๆ ของผม ก็เลยค่อนข้างเกินคาดหวัง ตอนแรกผมคิดว่าจะไม่ได้เข้าแม้กระทั่ง Longlist ด้วยซ้ำแต่ก็เข้ามาถึง Shortlist ”
อริสรา : “เกินความคาดหมายไปเลย”
วิไลรัตน์ : “คือมาไกลนะ จากตอนแรกที่คนเขียนเองก็คิดว่ามันยาก สำนักพิมพ์ก็พิมพ์นะ มันก็ต้องมีอะไรแหละ”
อริสรา : “มีอะไรซ่อนอยู่ในนั้น”
วิไลรัตน์ : “จาก Longlist มา Shortlist ก็ลุ้น คนเขียนก็ลุ้น มันมาได้ไกลขนาดนี้มันก็น่าจับตา และเราก็หยิบยกเรื่องนี้มาพูดเพราะเรารู้สึกว่ามันก็คงจะมีแนวคิดอื่นๆ ที่มันน่าตื่นเต้น หรือมันแปลกไปจากสิ่งที่เราเคยอ่านนะ”
อริสรา : “จริง แต่ว่าโบว์ไม่แปลกใจนะที่มันเข้ารอบมา โบว์ว่าถ้าใครได้อ่านแล้วโบว์รู้สึกว่ามันใช่ในทางซีไรต์ เพราะว่าในการอ่านหนังสือหลายๆเล่มที่มันเข้ารอบซีไรต์ก็จะประมาณนี้ มันจะประมาณนี้แหละ มันจะมีความยากอยู่ในตัว มันไม่ได้เป็นการตีความแบบตรงๆ ตามตัวอักษร แต่ว่ามันมีอะไรซ่อนอยู่ อย่างที่รายการเราบอก อย่างที่ให้คิดระหว่างบรรทัด เยอะเหมือนกันในเล่มอาณาเขต อ่านๆ ไปแล้วอยากให้อ่าน อยากให้ไปสัมผัสดูว่าทั้งภาษา ทั้งสิ่งที่คุณนิธิแทรกเข้ามาในแต่ละบรรทัดที่บอกไป มันมีอะไรซ่อนอยู่จริงๆ อยากให้ได้อ่าน”
วิไลรัตน์ : “นี่แหละก็เป็นสิ่งที่เราพยายามให้คุณผู้ฟัง ฟังแล้วก็เลือกหยิบนิยายที่มันแตกต่างจากเดิม รูปแบบใหม่ๆ อ่านอะไรที่มันหลากหลายขึ้น เพราะประเด็นที่นำเสนอในนิยายมันก็ควรจะแบบ ประเด็นที่มันน่าสนใจหรือว่าเข้มข้น โดยเฉพาะกับวิธีคิดทางการเมืองอะไรต่างๆ ถ้าได้เจอภาษาที่มันสนุกด้วย มีกลวิธีที่ดี เล่าเรื่องที่สนุกด้วยมันก็จะทำให้เพลินนะคุณโบว์”
อริสรา : “จริงเพราะว่ามันมีประเด็นหลายประเด็นที่คุณนิธิเองอยากจะนำเสนอ แล้วก็เป็นประเด็นที่โบว์เชื่อว่าหลายคนสัมผัสได้แล้วเจอได้ในเรื่องจริงๆ ณ ปัจจุบันด้วยซ้ำไป ทั้งเรื่องของความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้าน เรื่องของความสัมพันธ์ในภาพใหญ่ๆอะไรอย่างนี้ ข้าราชการ การเมืองอะไรอย่างนี้คือมันเยอะ อยากให้ไปอ่านกันจริงๆค่ะ คุณนิธิมีงานอะไรที่กำลังจะออกอีกบ้างไหมคะ”
นิธิ : “น่าจะยังครับในเร็วๆ นี้ น่าจะอีกนานแต่ว่าพอมีก้อนความคิดที่อยากจะเขียนอยู่ ซึ่งมันค่อนข้างจะเป็นภาพนิยายที่ค่อนข้างจะใหญ่ น่าจะใช้เวลาพอสมควรในการเขียนนะครับ”
อริสรา : “ก็ต้องติดตาม”
วิไลรัตน์ : “แต่ละเล่มก็ต้องใช้เวลาเยอะไหมคะ อย่างอาณาเขตนี่นานไหม”
นิธิ : “อาณาเขตตอนเขียนมันไม่ได้นานครับ แต่ว่ามันจะนานในช่วงแก้”
อริสรา : “ทำให้มันสมบูรณ์”
วิไลรัตน์ : “เสียงคุณนิธิขาดหายไป แต่เราจะพูดแทนว่าคนเขียนจะเขียนมาสักเรื่องอะคุณโบว์ ไหนจะคิด เขียน หรือแก้ กว่าจะออกมาเป็นหนังสือสักหนึ่งเล่มเนี่ยคนบอกว่าไม่อ่านเพราะอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าได้ลองอ่าน ได้อยู่กับการงานที่เขาได้ทุ่มเท มันไม่ใช่งานง่าย แล้วการเล่าเรื่อง กลวิธีต่างๆ มันน่าสนใจ น่าหยิบไปคิดหรือแม้แต่เอาไปต่อยอดสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะคนที่ทำงานเขียนด้วยกัน”
อริสรา : “ใครที่เรียนกับเราคราวที่แล้วอยากแนะนำให้อ่านเล่มนี้ มันเหมือนได้ตอบโจทย์ในสิ่งที่เราถามกัน คำถามในวันที่เราอบรมกัน แล้วนี่มันเหมือนเป็นตัวอย่าง”
วิไลรัตน์ : “ถ้ามีโอกาสเราก็อยากคุยกับนักเขียนอีกหลายๆท่านที่เข้ารอบต่างๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับอันนี้หรืออะไรนะ มันเป็นสิ่งที่คัดเลือกมาแล้วจากคณะกรรมการจำนวนหนึ่งที่พิจารณางานมาแล้ว ก็จะมีเกณฑ์บางอย่างที่มันก็มาตรฐานที่อยากจะหยิบขึ้นมาคุยกันอะไรแบบนี้”
อริสรา : “วันนี้ขอบคุณมากๆ นะคะคุณนิธิ”
นิธิ : “ขอบคุณครับ”
..,
ฟังแบบเต็มๆ ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=EuAciqFOzts
-- คำประกาศจากคณะกรรมการซีไรต์ --
==================
คลิกสั่งซื้อ อาณาเขต
แนะนำหนังสือเข้ารอบ Long List รางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write) ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2564
เสียงพายุเหมันตฤดู และการเริงรำครั้งสุดท้าย - สุขพงศ์ คหวงศ์อนันต์
============
บทความที่คุณน่าจะชอบ
นวนิยายซีไรต์ เข้ารอบสุดท้าย | หลงลบลืมสูญ
รวมเรื่องสั้นซีไรต์ เข้ารอบสุดท้าย | รยางค์และเงื้อมเงา
หนังสือกวีนิพนธ์เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ | ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้
นวนิยายซีไรต์ เข้ารอบสุดท้าย | อาณาเขต
============
ชุดหนังสือแนะนำ ราคาพิเศษ
Set S.E.A. Write หนังสือรางวัล
Set รวมงานเขียนของ นิธิ นิธิวีรกุล
==================