Last updated: 5 ก.ย. 2564 | 1601 จำนวนผู้เข้าชม |
- 1 -
ในโลกนี้ยังมีดินแดนบางดินแดนที่ลุ่มหลงมัวเมาในความมืดบอดจนเป็นที่โจษจันไปทั่วโลกแห่งการมองเห็น ดินแดนนั้นไม่ได้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และดวงตาของผู้คนทั้งหลายก็หาได้บอดไม่ ทว่าผู้คนเหล่านั้น, แม้ไม่ใช่ทุกคน, กลับมองไม่เห็นความเป็นมาและความเป็นไปภายในดินแดนตนเองที่คนทั่วโลก--ที่สนใจจะมอง--มองเห็น
- 2 -
พจนานุกรมจากดินแดนแห่งการมองเห็นแจกแจงความหมายที่กว้างไกลกว่าลักษณะทางชีวภาพของ ‘blindness’ ไว้ว่า คือความไม่สามารถหรือไม่ยินดีที่จะไตร่ตรอง พินิจพิเคราะห์ หรือทำความเข้าใจ การไม่ดำรงอยู่บนฐานของสติปัญญา ความเป็นเหตุเป็นผล และข้อเท็จจริง การไม่สงสัย ไม่ตั้งคำถาม ไม่วิพากษ์วิจารณ์ การไร้ซึ่งสำนึกและดุลยพินิจอันดี
- 3 -
ในที่ราบแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื้อตาบอดได้แฝงฝังอยู่ในดีเอ็นเอทางวัฒนธรรม--เกิดโรคระบาดความมืดบอดของมวลมหาประชาชน--ไม่ยอมเปิดใจเรียนรู้ทำความเข้าใจคนนอกกลุ่ม ที่พยายามอธิบายโลกที่แตกต่างจากโลกของพวกเขา และพยายามบอกเล่าถึงสิ่งที่พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อน โดยไม่ปรากฏการสงสัยเกี่ยวกับความจริงของสิ่งที่เชื่อมาตลอดแม้แต่น้อย
- 4 -
วิธีเดียวที่คนแปลกหน้าผู้มีนัยน์ตาจะอยู่ร่วมกับพวกเขาได้คือต้องทำให้เขา ‘ไม่มีตา’ เพื่อจะได้ช่วยเปลี่ยนสถานภาพจาก ‘คนป่ามีตาที่น่าสมเพช’ เป็น ‘พลเมืองตาบอดที่น่านับถือ’ ที่คิดเหมือนกัน พูดเหมือนกัน เชื่อเหมือนกัน และประพฤติปฏิบัติเหมือนกัน
- 5 -
ในดินแดนที่การมองเห็นบางสิ่งบางอย่างเป็นเรื่องต้องห้ามและการตาบอดเป็นความภาคภูมิใจของชนเผ่าที่ไม่ตระหนักว่าตนเองตาบอด การมีนัยน์ตาต่างสายพันธุ์กันของคนในสังคมคือสภาวะแห่งความปั่นป่วนและวิปริตของการมองไม่เห็น, การห้ามมิให้มอง, การปฏิเสธที่จะมองและไม่ยอมรับสิ่งที่เห็น, การมองเห็นแต่แสร้งทำเสมือนมองไม่เห็น และการไม่สามารถพูดถึงสิ่งที่เห็น
- 6 -
ก็ไม่มีอะไรน่าแปลกใจที่ดินแดนแห่งคนตาบอดจะปราศจากคอนเซ็ปต์ว่าด้วย ‘แสงสว่าง’ ‘การมองเห็น’ และ ‘ตาบอด’ เพราะในดินแดนแห่งการแบ่งชั้นวรรณะก็ไม่มีคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับความ ‘เสมอภาค’ และแน่นอน, เราอาจจินตนาการถึงดินแดนแห่งคนหูหนวกที่ไม่มีคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับ ‘เสียง’ และ‘ดนตรี’ ฉะนั้นการมองเห็น (หรืออะไรอื่น) ที่ถือเป็นคุณลักษณะตามธรรมชาติและคุณค่ามาตรฐานปกติในวัฒนธรรมหนึ่งอาจถูกจัดเป็นความวิปริตและเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของเผ่าพันธุ์ในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง และเมื่อถูกพิพากษาเป็น ‘เชื้อร้าย’ เสียแล้วก็ย่อมต้องถูกกำจัดถอนรากถอนโคน
- ส่งท้าย -
กระบวนการที่นำไปสู่การ ‘ตาสว่าง’ หรือ ‘disillusioned’ จากความลวงที่ตนเองหลงเข้าใจผิดมาตลอดจะต้องผ่านช่วงเวลาแห่งความสับสน ความเจ็บปวด และการปรับวิธีคิดจิตใจต่อ ‘ความรู้ใหม่’ ผู้ที่ไม่ยอมสลัดโซ่ตรวนทั้งที่มีโอกาสคือผู้ที่ได้เห็นแสงสว่างวาบจนตาพร่า แล้วบังเกิดโทสะโกรธเคืองแสงสว่างที่ทิ่มแทงทำร้ายนัยน์ตา หันหลังคืนสู่ถ้ำอันมืดมิด กลับไปจ้องมองเงาบนผนังถ้ำที่ให้ความสบายตาตามที่คุ้นชินดังเดิม!!!
อ่านทั้งหมดได้ใน บทกล่าวตาม ของ ดินแดนคนตาบอด โดย มุกหอม วงษ์เทศ
17 ก.ค. 2563
17 มิ.ย. 2563
22 ธ.ค. 2567