Last updated: 29 ส.ค. 2564 | 2950 จำนวนผู้เข้าชม |
-- บทบาทวาทยกรกับความเป็นเผด็จการและชายเป็นใหญ่ --
วงออเคสตรา (orchestra) เปรียบเสมือนสังคมที่ต้องการผู้นำ ซึ่งในที่นี้คือวาทยกร (conductor) ที่คอยกำกับควบคุมทุกส่วนของวงออเคสตรา เสมือนเป็นผู้นำสังคมที่ต้องมีภาพลักษณ์ที่ฉลาด เป็นคนดี ควบคุมทุกอย่างได้อย่างเบ็ดเสร็จ การมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดคนเดียวในวงเช่นนี้ ก็ไม่ต่างกับรัฐที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่มีผู้นำเพียงคนเดียวในสังคม
ผู้ที่ได้รับฉันทานุมัติให้พูดเสียงดังในหอแสดงดนตรีได้มีเพียงวาทยกรเพียงคนเดียวเท่านั้น ดังนั้น วาทยกรจึงเป็นผู้ที่ทรงอำนาจเพียงหนึ่งเดียวในหอแสดงดนตรี ทั้งในส่วนที่ควบคุมนักดนตรีและเสียงเพลงในวง รวมถึงส่วนที่เป็นมารยาททางสังคมด้วย กล่าวคือ เมื่อวาทยกรออกมาหน้าเวที โค้งให้ผู้ชมที่ปรบมือดังสนั่น แล้วเดินขึ้นไปบนแท่นกำกับวงยกมือค้างในท่าเตรียมพร้อม ความเงียบของวาทยกรตอนที่ยกมือค้างอยู่นั่นเอง ที่บังคับให้ทุกคนต้องหยุดปรบมือ เป็นความเงียบที่บังคับให้ผู้ฟังทั้งหมดต้องนั่งนิ่ง กลั้นหายใจ ไม่กล้าแม้แต่จะขยับตัว ความเงียบของวาทยกรนี้จึงทรงอำนาจครอบงำผู้ชมทั้งหอแสดงดนตรีไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
-- ‘ชายเป็นใหญ่’ กดขี่พื้นที่ในการเป็นวาทยกรของผู้หญิง --
จากที่กล่าวมาแล้วว่าบทบาทวาทยกรของวงออเคสตราจะต้องมีลักษณะที่เป็นผู้นำ เพื่อที่จะควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งนักดนตรี เสียงเพลง รวมถึงผู้ชมในหอแสดงดนตรี ด้วยเหตุนี้ บุคลิกและภาพลักษณ์ของวาทยกรจึงต้องเป็นในแบบ ‘ผู้ชาย’ ด้วยเพื่อที่จะต้องจัดการกับนักดนตรีนับร้อยคน ต้องเข้มงวด ดุด่านักดนตรี ตะโกนสั่งอย่างหัวเสียเมื่อไม่ได้ดั่งใจ ดังนั้น ‘ความเป็นชาย’ จึงเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับตำแหน่งวาทยกร
ด้วยภาพลักษณ์ของวาทยกรที่ต้องมี ‘ความเป็นชาย’ ส่งผลให้ผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับในการที่จะเป็นวาทยกร เนื่องจากว่า ผู้หญิงนั้นเป็นเพศที่ถูกสร้างให้มีภาพลักษณ์ที่นุ่มนวล อ่อนโยน จนทำให้เกิดความลังเลใจของผู้บริหารวงดนตรีที่จะจ้างวาทยกรหญิง เพราะมองว่าผู้หญิงนั้นจะไม่สามารถจัดการกับคนจำนวนมากได้อย่างผู้ชาย และกังวลว่านักดนตรีส่วนใหญ่ในวงออเคสตราจะไม่ยอมรับวาทยกรหญิง ด้วยเหตุนี้เอง ผู้หญิงที่ต้องการเป็นวาทยกรจึงต้องปรับปรุงบุคลิกภาพบางส่วนให้มีความเป็นผู้ชายมากขึ้น เช่น วาทยกรหญิงจะต้องสวมเสื้อนอกแบบเดียวกับวาทยกรชาย เลือกที่จะสวมกางเกงแทนกระโปรง ใส่รองเท้าหนัง รวมถึงหลายคนก็มีการตัดผมให้สั้นเหมือนผู้ชายด้วย
‘ความเป็นชาย’ ที่ถูกกำหนดให้เป็นคุณลักษณะของการเป็นวาทยกร ส่งผลให้ผู้หญิงที่ถูกสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นเพศที่อ่อนโยน และมี ‘ความเป็นแม่’ ไม่มีอิสระในการใช้ชีวิต และอิสระในการเป็นวาทยกร ตัวอย่างเช่น นิโคเล็ต เฟรลลอน ที่ต้องกำกับวงในขณะที่กำลังตั้งครรภ์อยู่เป็นเวลา 8 เดือน โดยไม่สามารถหยุดงานได้ด้วยเหตุผลที่กลัวจะถูกมองว่า ‘เป็นผู้หญิง’ ซึ่งเฟรลลอนมองว่าสิ่งนี้ไม่เป็นธรรม เพราะถ้าวาทยกรชายหยุดงาน สังคมก็จะมองแค่ว่าเขาเหนื่อย แต่ถ้าวาทยกรหญิงหยุดงานเพราะ ‘ท้อง’ สังคมกลับชี้มาที่เธอแล้วบอกว่านี่ไง ผู้หญิง!
การเป็นผู้หญิงถูกคาดหวังให้มีตัวตนที่แตกต่างถึงสองบุคลิก คือการที่จะต้องทำงานไปพร้อมๆ กับการเป็นเมียหรือแม่ที่ดี เพราะ ‘ผู้หญิงที่ดี’ จะต้องจัดการกับชีวิตครอบครัวได้ดีพอๆ กับที่ทำงาน ดังนั้น ผู้หญิงที่ดีจึงถูกคาดหวังว่าจะต้องทำงานบ้าน ทำความสะอาดครัว เลี้ยงลูก และเล่นกับลูก ไปพร้อมกับการทำงานเป็นวาทยกรที่ต้องควบคุมวงดนตรีให้มีประสิทธิภาพ
กรอบคิดแบบผู้ชายที่มีลักษณะเป็นทวิลักษณ์ กล่าวคือ มีผู้ครอบครองและผู้ถูกครอบครอง จึงกำหนดให้เพศชายเท่านั้นที่อยู่ในสถานะของผู้ครอบครอง ดนตรีจึงกลายเป็นเรื่องสงครามและการครอบครองที่ผู้หญิงไม่ได้มีบทบาทอยู่ในวงโคจรของอำนาจแต่อย่างใด กรอบคิดแบบ ‘ชายเป็นใหญ่’ จึงเตะถ่วงและสกัดกั้นวาทยกรหญิงให้ติดตรึงอยู่กับที่ และคงต้องแบกรับน้ำหนักจากวาทกรรมซ้ำซากนี้ต่อไปอีกนาน
อติภพ ภัทรเดชไพศาล
..,
บางส่วนจากเล่ม เสียงของความเปลี่ยนแปลง
┈ ┉ ┈
ผลงานวิชาการที่เราตีพิมพ์ทั้งหมด คลิก http://bit.ly/2WF6OcD
- - SET หนังสือแนะนำ - -
1. Set เด็กอาร์ตต้องอ่าน
ชุดงานวิชาการว่าด้วย สถาปัตยกรรม, ศิลปะและนิทรรศการ ไปจนถึงท่วงทำนองของดนตรีและสังคม
คลิก http://bit.ly/2KJ3tSN
2. Set รื้อ-สร้าง และท้าทายทางความคิด
ชุดงานที่ชวนกันมาตั้งคำถามต่อสรรพสิ่งดั้งเดิมทั้งหลายรอบตัว คิด ค้นหา ผ่านตัวบทต่างๆ ในงานวิชาการเหล่านี้ เพื่อเปิดโลกทรรศน์และมุมมองที่กว้างออกไป
คลิก https://bit.ly/2YvCXmq