Last updated: 22 ก.ค. 2564 | 3606 จำนวนผู้เข้าชม |
วิธีการของ ส.ศิวรักษ์ แสดงโดยนัยให้เห็นว่า โลกทรรศน์ทางการเมืองของสยามได้แก่โลกทรรศน์ของชนชั้นนำในรัฐนั่นเอง
แนวการมองอุดมคติทางการเมืองของสังคมไทยคือการมองที่สังคมทั้งองค์รวม (หรือในศัพท์สมัยใหม่ว่าทั้งระบบ) แต่เป็น “การมองอย่างยอมรับสภาพ โดยไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่ดีไปกว่าที่เป็นอยู่” ตรงนี้เองที่โลกทรรศน์การเมืองของสุลักษณ์แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากโลกทรรศน์ของสังคมไทยทั่วๆ ไป ทั้งนี้เขายึดหลักและอุดมคติทางการเมืองกระเดียดไปทางแบบของนักปรัชญากรีก ซึ่งมักมองอย่างไม่ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ หากแต่เชื่อว่าจะต้องมีอะไรที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้แน่ๆ
หากมองอย่างรวมๆ ทรรศนะและการวิจารณ์รัฐและการเมืองไทยของสุลักษณ์ก็มีแนวทางหลักที่การวิพากษ์รัฐบาลและชนชั้นนำแห่งอำนาจในทุกยุคทุกสมัยเหมือนๆ กัน (โลภโกรธหลง) จนไม่น่าจะมีประเด็นอะไรให้มาถกเถียงหรือศึกษาได้ ข้อสังเกตนี้ด้านหนึ่งก็ถูก แต่เมื่อลงไปอ่านข้อเขียนวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ผมพบว่ามีประเด็นอันน่าสนใจยิ่งในทรรศนะและความคิดทางการเมืองของ ส.ศิวรักษ์
ที่น่าสนใจคือ ในความคิดนั้นมีการเปลี่ยนแปลงและคลี่คลายความขัดแย้งของตนเองด้วย ข้อนี้เป็นลักษณะเด่นของการเป็นปัญญาชน ซึ่งสุลักษณ์ยึดถือและปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง เขาเรียกร้องอยู่ตลอดเวลาว่า ปัญญาชนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องอยู่กับความจริง ไม่ก้มหัวให้กับอำนาจรัฐอธรรมใดๆ ทั้งสิ้น
จุดยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมดังกล่าวนี้ ปัญญาชน นักวิชาการ และนักคิดอเมริกันปัจจุบันบอกว่าเป็นสิ่งไร้สาระ ทำไม่ได้หรอก หรือหากให้ทำ ก็จะยิ่งแย่กว่าที่พวกนักการเมืองเขาทำกันเอง[1]
สุลักษณ์ในงานเขียนระยะหลังๆ เริ่มมองภาพและเนื้อแท้ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างที่รอบด้านและเป็นพลวัตมากขึ้น อย่างน้อยก็ไม่ใช่รัฐที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจอันเด็ดขาดล้นพ้นเหนืออาณาจักรทั้งหมดอย่างจริงจัง ดังที่เขาเขียนถึงภาพในอดีตของสังคมไทย(ในความคิดคำนึงของเขาเอง) ว่า
“ในอดีตกาล พระราชอาณาจักรสยามปกครองโดย 'ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช' ถึงแม้ว่าจะมีนิยายปรัมปรา เกี่ยวกับความวิจิตรอลังการของตะวันออกเมื่อประมาณสองสามร้อยปีที่แล้วมา ทั้งยังมีเรื่องเล่าทำนองนี้อีกมากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตภายนอกราชสำนักค่อนข้างจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย แม้ไม่มีใครรู้จักหลักแห่งความเสมอภาค แต่ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย และช่องว่างระหว่างคนมีอำนาจกับคนไม่มีอำนาจ ก็มีน้อยมากเพราะว่าอาหารการกินยังคงเรียบง่าย และความอุดมสมบูรณ์กระจายไปถึงทุกคน หยูกยาสำหรับเจ้าฟ้ามหากษัตริย์กับสามัญชนตาสีตาสาก็ไม่แตกต่างกันเลย ผู้คนยังให้ความสนใจต่อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายกันน้อยมาก และที่ไม่แตกต่างกันมากนักก็คือวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นปกครองกับผู้ใต้ปกครองซึ่งใกล้เคียงกัน”
ในความคิดของสุลักษณ์ ระดับของความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์กันระหว่างชนชั้นปกครองศักดินากับราษฎรหรือแม้กระทั่งขุนนางและเชื้อพระวงศ์มีค่อนข้างน้อย หรือแทบไม่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและอำนาจรัฐไทยในอดีตมาถึงปัจจุบัน แม้เขาจะเอ่ยถึงการเปลี่ยนราชบัลลังก์หากกษัตริย์ไม่ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม แต่นั่นก็เป็นความเชื่อที่ตำราโบราณวางหลักให้ไว้ ทั้งยังเป็นโลกทรรศน์การเมืองของชนชั้นปกครองในเมืองหลวงเท่านั้น
หากมองจากโลกทรรศน์ของชาวบ้านและบ้านเมืองไปถึงรัฐเล็กๆ ชายขอบ จะได้คำตอบถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นปฏิปักษ์หรือความแตกต่างช่องว่างที่ไม่ห่างนักระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรอีกแบบหนึ่ง
[1] ดู Mark Lilla, The Reckless Mind:Intellectuals in Politics (New York: New York Review Books, 2001) p. xi.
-- บางตอนจากหนังสือ ความเป็นมาของความคิดการเมืองไทยสยาม ในบทที่ 19 ปรากฏการณ์ปัญญาชนสยามของ ส.ศิวรักษ์
(สั่งซื้อได้แล้ว คลิก ความเป็นมาของความคิดการเมืองไทยสยาม - บทความวิเคราะห์และตีความ ว่าด้วยความคิดของไพร่กระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในระยะก้าวผ่านจากสังคมไทยเดิม มาสู่การเป็นสังคมสมัยใหม่ (On Bourgeoisie) ของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ )
สั่งซื้อยกชุดราคาพิเศษ
คลิกสั่งซื้อ หนังสือชุดประวัติศาสตร์ความคิดในรัฐไทย
============
22 ธ.ค. 2567
17 ก.ค. 2563