Last updated: 23 มิ.ย. 2565 | 2790 จำนวนผู้เข้าชม |
คงราวปี 2555 หรือก่อนนั้นเล็กน้อย ที่ผมพบสองหนุ่มเหน้าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชัยพร อินทุวิศาลกุล และ ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล ทั้งสองติดต่อและนัดขอมาพบปะพูดคุยเรื่องการตีพิมพ์งานวิชาการทั้งหลายของผมออกมาเป็นหนังสือเล่ม การวิสาสะครั้งแรกยังความประหลาดใจแก่ผมไม่น้อย และจากนั้น ความสัมพันธ์กับสองหนุ่มก็พัฒนาไปเป็นสัมพันธภาพกับสำนักพิมพ์นามสมมติ
เคียงข้างไปกับการพิมพ์หนังสือได้แก่การมีสำนักพิมพ์หรือแต่ก่อนนี้เรียกว่าโรงพิมพ์ เพราะนักเขียนและเจ้าของโรงพิมพ์มาเจอกันในโรงพิมพ์หรือข้างโรงพิมพ์ หลังจากร่ำสุราและกับแกล้มไปจำนวนหนึ่ง จินตนาการเรื่องต่างๆ ก็ตกผลึกรอเวลาส่งเป็นต้นฉบับไปให้โรงพิมพ์
ประสบการณ์ของผมกับสำนักพิมพ์สมมติแปลกและแตกต่างไปจากของสำนักพิมพ์หรือโรงพิมพ์ทั้งหลายจากอดีตถึงปัจจุบัน คือการที่สำนักพิมพ์แสดงเจตจำนงต้องการงานเขียนของผมไปตีพิมพ์ พร้อมทั้งแนะนำด้วยว่ามีประเภทอะไรบ้าง นี่คืออุดมคติที่ผมพยายามเล่าและถ่ายทอดให้แก่สำนักพิมพ์และโรงพิมพ์เท่าที่รู้จักและคุยกันได้
หลายปีก่อนก็พยายามเสนอแนวคิดทำนองนี้ว่าสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย (เช่นธรรมศาสตร์) ต้องออกไปหาต้นฉบับจากอาจารย์และนักวิชาการอิสระที่มีผลงานเพื่อนำมาตีพิมพ์และเผยแพร่สู่ผู้อ่านและตลาดหนังสือต่อไป เพื่อสร้างความมีชีวิตชีวาและกระตุ้นให้คนอ่านได้รับรู้ว่ามีเรื่องราวและประเด็นอะไรที่ใหม่ๆ หรือตีความต่างออกไปบ้าง ไม่ควรปล่อยให้งานสำนักพิมพ์เดินไปตามยถากรรม คือรอพิมพ์เมื่อมีคนส่งต้นฉบับมาให้และพิจารณาผ่านเกณฑ์ต่างๆ แล้ว ส่วนมากเป็นเกณฑ์แบบระบบราชการ ซึ่งไม่ค่อยมีผลด้านบวกมากนักต่อต้นฉบับและผู้เขียน
ไม่ต้องบอกทุกคนคงรู้ว่าความปรารถนาของผมที่จะเห็นสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยดำเนินงานเหมือนอย่างกับสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์หรือออกซ์ฟอร์ดหรือชิคาโก หรือแม้กับสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ หรืออตาเนโอ (Ataneo de Manila University Press) ของฟิลิปปินส์ก็ไม่มีวันเป็นจริงไปได้
ปัญหาและลักษณะของการพิมพ์ในไทยเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ แล้วสำคัญมาก เพราะมันเป็นเครื่องมือของการสร้างและถ่ายทอดความรู้ให้แพร่หลายไปยังผู้คนจำนวนมากที่ไม่อาจถูกปิดกั้นด้วยฐานะและสถานภาพทางชนชั้นและอื่นๆ อย่างดีอันหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้คงต้องเอาไว้ไปพูดในวาระอื่น สำหรับวาระนี้ความประทับใจและชื่นชมต่อการทำงานของสำนักพิมพ์สมมติเป็นเรื่องที่ผมอยากเล่าให้ฟังก่อน
ข้อที่ประทับใจผมมากคือการที่สำนักพิมพ์สมมติ (ผ่านปิยะวิทย์เป็นหลัก) รู้ว่าผมเขียนอะไรและอยากเป็นคุณูปการของงานเหล่านั้นกระจายออกไปยังผู้อ่านซึ่งส่วนมากไม่อาจเข้าถึงงานของผมได้ จะด้วยระบบการตลาดหรือการผลิตก็ยากจะคาดเดาได้ แต่ผมเห็นด้วยว่างานเขียนและพิมพ์เกือบทั้งหมดของผมคงมีคนอ่านไม่เกินพัน (หรืออาจต่ำกว่า) บางเล่มก็อ่านยาก หลายเล่มไม่ดึงดูดให้อยากอ่าน
เราคุยกันหลายประเด็นและปัญหาของงานวิชาการ ที่ยังต้องการการผลักดันให้ก้าวเดินไปข้างหน้า สำนักพิมพ์สมมติตั้งปณิธานในการทำหน้าที่อันสำคัญยิ่งระหว่างนักเขียนกับนักอ่าน และไม่ทำอย่างเดิมๆ หากแต่ตั้งใจทำอย่างมืออาชีพ
เมื่อได้ทำงานร่วมกันในการผลิตหนังสือเล่มแรกคือ “กบฏวรรณกรรม” ออกมา หลังจากได้รับต้นฉบับทั้งหมดแล้ว สำนักพิมพ์สมมติดำเนินการบรรณาธิการ ตรวจสอบข้อมูล สำนวนภาษา การจัดหน้าย่อหน้าไปถึงตรวจหลักฐานอ้างอิง รวมทั้งไปหาหลักฐานบางอันที่ผมไม่ได้ใส่เข้าไปด้วย
เมื่อเห็นตัวเล่มที่ผลิตออกมาเรียบร้อย ผมตะลึงในความงาม ภาพประกอบและคำโปรยที่ทำให้เนื้อหานั้นๆ เด่นชัดขึ้น มันเป็นหนังสือที่มีชีวิต ผมบอกกับตัวเอง ทุกครั้งที่เปิดอ่านแต่ละหน้า รู้สึกถึงการโลดแล่นของตัวอักษรทั้งหลายมายังโสตประสาท ผมไม่ได้เพียงอ่านหนังสือ หากหนังสือก็อ่านผมด้วย
เล่มที่ท้าทายสำนักพิมพ์และผู้เขียนอย่างยิ่งคือเรื่องแปล “การก่อรูปของเศรษฐกิจก่อนระบบทุนนิยม” เล่มนี้ผมแปลและพิมพ์อัดโรเนียวโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ตั้งแต่ปี 2527 ขายไม่ได้ ทั้งรูปเล่มและสำนวนแปลที่ไม่ราบรื่นและไม่น้อยที่แปลผิดและพลาด
วันหนึ่งปิยะวิทย์ก็เปรยว่าอยากเอามาพิมพ์ใหม่ ขอให้ผมตรวจแก้ต้นฉบับ ผมรับปากแต่ไม่ค่อยกล้าทำมากนักเพราะข้อเขียนของมาร์กซ์เป็นปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธี การแปลให้เป็นภาษาชาวบ้านนั้นไม่ง่ายและไม่ได้สัมผัสความคิดจริงๆ ของมาร์กซ์เอง ปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ลดน้อยถอยลงเมื่อผมตัดสินใจแสดงปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์100 ปี “กำเนิดและอวสานของเศรษฐศาสตร์การเมือง: จากสหรัฐฯ ถึงสยามไทย” ทำให้ผมต้องไปอ่านต้นฉบับปารีสและคำนำวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์ใหม่
คาดไม่ถึงว่าสถานการณ์เศรษฐศาสตร์การเมืองที่เปลี่ยนไปในยุคหลังสมัยใหม่และโลกาภิวัตน์รวมไปถึงการเสื่อมคลายของทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ในโลกตะวันตก มีส่วนทำให้แว่นและสายตาที่ผมใช้ในการอ่านครั้งนี้ต่างไปจากเมื่อก่อนนี้อย่างไม่น่าเชื่อ
กล่าวโดยสรุป คือผมสามารถกลับไปแก้และปรับการแปลงานเล่มนี้ได้ ไม่ยากเหมือนที่คิดไว้ หลังจากนั้นก็ขอให้สำนักพิมพ์สมมติช่วยอ่านและเสนอจุดอ่อนให้ด้วย มีหลายตอนและวรรคที่การแปลมีปัญหา ประโยคบางอันขาดหายไปก็มี ถ้าไม่มีคนนอกมาช่วยอ่านทวนให้ ผมเองคงไม่สามารถเห็นข้อผิดพลาดต่างๆ นี้ได้
การแก้สำนวนภาษาดำเนินไปจนถึงอาทิตย์สุดท้ายที่ต้องเข้าโรงพิมพ์แล้ว เรียกว่าถ้าสำนักพิมพ์ไม่มีจุดยืนอันมั่นคงในการทำงานหนังสืออย่างมืออาชีพ ผมเองก็คงไม่อดทนทรมานอ่านทวนซ้ำไปมาหลายเที่ยว เพราะคิดว่าคงไม่มีความผิดพลาดอะไรอีกแล้ว การตรวจแก้อย่างละเอียดจนถึงนาทีสุดท้ายก็คงไม่เกิดขึ้น
===============================================
เปิดรับสมาชิกตลอดชีพรุ่นสาม ราคา 44,000 บาท
ผู้อ่านสามารถออกแบบงวดผ่อนชำระเองได้ (ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน) ได้รับหนังสือเมื่อชำระครบ
รายละเอียดคลิก คำประกาศความรู้สึกและจินตนาการใหม่ในการทำสำนักพิมพ์
#รับจำนวนจำกัดเหมือนเดิม
#ปรับราคาขึ้นตามปฏิจจสมุปบาท
#มีระบบผ่อนเหมือนสมาชิกสองรุ่นแรก
#ได้รับหนังสือทุกเล่มที่มีอยู่และจากนี้ตลอดไป
#มีสิทธิพิเศษอื่นอีกหลายอย่างที่มากกว่าเดิม
====================
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562