ระบอบการปกครองที่ส่งผลกระทบต่อกษัตริย์ไทย

Last updated: 21 มี.ค. 2566  |  1030 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ระบอบการปกครองที่ส่งผลกระทบต่อกษัตริย์ไทย

การสถาปนาพระราชอำนาจนำผ่านการดำเนินโครงการพระราชดำริในยุคแรก เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขจำกัดจากปัจจัยทางด้านการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่าง ‘พระเจ้าอยู่หัว’ กับ ‘รัฐบาล’ ซึ่งนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ทั้งนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช (Absolute Monarchy) มาสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ใน พ.ศ.2475

การเปลี่ยนแปลงข้างต้นไม่เพียงส่งผลต่อบทบาทและพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังส่งผลต่อการสถาปนาพระราชอำนาจนำผ่านการดำเนินกิจกรรมด้านโครงการพระราชดำริอีกด้วย

การดำเนินโครงการพระราชดำริในยุคแรกมีลักษณะเฉพาะสำคัญ คือ กิจกรรมของโครงการจำกัดพื้นที่อยู่บริเวณภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และประจวบคีรีขันธ์ โดยมีกิจกรรมหลักด้านสาธารณสุขและการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในลักษณะสังคมสงเคราะห์

มีการระดมทุนผ่านสื่อมวลชนของพระองค์ ได้แก่ การผลิตภาพยนตร์ส่วนพระองค์และสถานีวิทยุส่วนพระองค์ อ.ส. พระราชวังดุสิต การปฏิบัติพระราชกรณียกิจในโครงการพระราชดำริควบคู่ไปกับการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพสกนิกรกลุ่มต่างๆ ผ่านกิจกรรมในโครงการพระราชดำริ

การดำเนินงานโครงการพระราชดำริค่อนข้างจำกัดและไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โครงการส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น ‘โครงการตามพระราชประสงค์’ ซึ่งทรงศึกษาและทดลองปฏิบัติเป็นการส่วนพระองค์ ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เองดำเนินงานทดลอง หน่วยงานที่รับสนองพระราชดำริ ได้แก่ สำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนพระองค์ โดยมีหน่วยงานราชการเพียงบางหน่วยร่วมสนองพระราชดำริ

การปฏิบัติพระราชกรณียกิจในโครงการพระราชดำริยุคก่อกำเนิดเริ่มในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ 2 (8 เมษายน 2491 ถึง 16 กันยายน 2500)
งานเขียนที่ศึกษาโครงการพระราชดำริจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่าปัจจัยทางการเมืองเป็นข้อจำกัดสำคัญที่สุด

งานศึกษาชิ้นสำคัญที่ชี้ประเด็นดังกล่าว ได้แก่ บทบาทของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการสนับสนุนการรักษาความมั่นคงของชาติในพื้นที่ชนบทของประเทศ ของ สุเมธ ตันติเวชกุล
...

โดยงานของสุเมธชี้ว่า โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีบทบาทสำคัญในด้านการสนับสนุนการรักษาความมั่นคงในเขตชนบทของประเทศ
...

ขณะที่นักประวัติศาสตร์การเมืองจำนวนหนึ่งได้ชี้ให้เห็นข้อจำกัดในการดำเนินพระราชกรณียกิจในช่วง จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยให้คำอธิบายปัจจัยทางด้านความจำกัดอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

งานชิ้นสำคัญที่สุดในจำนวนนี้ ได้แก่ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ของ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ โดยภาพรวมงานของทักษ์มุ่งศึกษาลักษณะของระบบการเมืองในสมัย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วง พ.ศ.2500 ถึง 2506 ซึ่งเขาเรียกยุคสมัยนี้ว่าเป็น ‘ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ’

มีลักษณะสำคัญคือเป็นระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารที่ผู้นำมีบทบาทเสมือนพ่อขุนหรือบิดาปกครองบุตรที่สฤษดิ์ดูแลบ้านเมืองและอุปถัมภ์ประชาชนเหมือนลูกในครอบครัว ภายใต้อำนาจเผด็จการซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่สฤษดิ์

ปัญหาการแสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองของสถาบันทางการเมืองต่างๆ ในการเมืองสมัยใหม่ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

กล่าวคือ อำนาจอธิปไตยและกติกาของความสัมพันธ์ทางการเมืองได้เคลื่อนย้ายจากการอ้างความชอบธรรมที่ศักดิ์สิทธิ์โดยอัตโนมัติในการปกครอง สู่การได้รับฉันทมติในการใช้อำนาจจากประชาชน ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการดำรงอยู่ของสถาบันต่างๆ อาทิ รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร ทหาร รวมทั้งสถาบันกษัตริย์

จุดเปลี่ยนสำคัญดังกล่าวได้นำมาสู่การแสวงหาความชอบธรรมจากประชาชนของสถาบันทางการเมืองต่างๆ
..,

บางส่วนจาก บทที่ 1
ในเล่ม โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ : เขียน

สั่งซื้อหนังสือ คลิก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้