ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 1 | กฤตพล วิภาวีกุล

Last updated: 11 ส.ค. 2567  |  3236 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 1 | กฤตพล วิภาวีกุล

ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 1


คำกล่าวว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” และ “กฎหมายมักเข้าข้างคนรวยและผู้มีอำนาจ” เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในสังคมไทย และยิ่งถูกตอกย้ำหนักขึ้นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ความคิดเรื่อง 'คนไม่เท่ากัน' ถูกพูดผ่านสื่อสาธารณะได้อย่างเปิดเผยโดยไม่ต้องเหนียมอายกันอีกต่อไป ในทางตรงข้าม การแสดงออกถึงอำนาจอวดอภิสิทธิ์ก็กลับทำกันอย่างโจ่งแจ้ง และการทำร้ายผู้เห็นต่างก็กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ปรากฏการณ์เหล่านี้มีแต่จะเกิดบ่อยครั้งขึ้นจนประชาชนทั่วไปต่างพากันตั้งคำถามว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้บังคับใช้กฎหมายมีจุดยืนแบบใดกัน นำไปสู่วิกฤตศรัทธาต่อระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลาถึงกับต้องเรียกร้องให้ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” ด้วยชีวิตของเขา เรากำลังอยู่ในสังคมแบบใดกัน? ทำไมระบบกฎหมายไทยถึงเอื้อต่อความอยุติธรรมและฉ้อฉล ปล่อยให้มีการใช้กฎหมายกดขี่ข่มเหงประชาชน เอาเปรียบคนจนและอ่อนแอ แต่ไม่สามารถกำจัดความร่ำรวยและอำนาจ ซ้ำร้ายยังปกป้องและลบล้างความผิดให้กลุ่มผู้มีอำนาจได้โดยปราศจากความละอายเช่นนี้


บทความนี้พยายามอธิบายว่าเหตุใดระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการของไทยจึงมีแนวโน้มกดขี่ประชาชนและเอนเอียงไปทางฝ่ายผู้มีอำนาจดังที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นสามส่วนคือ

1) การปกครองโดยกฎหมายหรือนิติอธรรม
2) ตุลาการผู้ยืนอยู่เหนือประชาชน
3) กำเนิดของตุลาการภิวัตน์

ประเด็นเหล่านี้เป็นการสรุปข้อเสนอจากหนังสือ นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม และงานเสวนา “เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2559 



1) การปกครองโดยกฎหมายหรือ ‘นิติอธรรม’

‘นิติอธรรม’ เป็นคำที่ ธงชัย วินิจจะกูล ประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายลักษณะของระบบกฎหมายไทยที่เป็น ‘การปกครองโดยกฎหมาย’ (The Rule by Law) ซึ่งมีความเป็น ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม’ ล้อกับคำว่า ‘นิติธรรม’ ซึ่งเป็นคำที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในกฎหมายไทยร่วมสมัย ‘นิติรัฐ’ (Legal State) หมายถึง รัฐที่ปกครองด้วย ‘กฎหมาย’ ไม่ใช่ปกครองด้วย ‘อํานาจบารมี’ กล่าวคือ ถือกฎหมายเป็นใหญ่ หรือมี ‘การปกครองของกฎหมาย’  (The Rule of Law) ซึ่งมักแปลเป็นภาษาไทยว่า ‘นิติธรรม’

แต่เดิมหลักนิติธรรมกำเนิดขึ้นในประเทศอังกฤษราวศตวรรษที่ 13 โดยมุ่งไปที่การจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง ไม่ให้ใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่มีการลงโทษย้อนหลัง หลักการสำคัญของนิติธรรมประกอบด้วย หลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา หลักความเสมอภาคทุกชนชั้น และสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะต้องได้รับการรับรอง แต่ธงชัยชี้ให้เห็นว่าระบบกฎหมายไทยในปัจจุบันยังคงสืบต่อจารีตทางพุทธและคติธรรมราชาเรื่อยมา แม้จะผ่านการปฏิรูปให้เป็นสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่ระบบกฎหมายไทยก็ไม่ใช่ ‘การปกครองของกฎหมาย’ ( The Rule of Law) ตามบรรทัดฐานของนิติรัฐที่พึงจะเป็น หากแต่เป็น ‘การปกครองด้วยกฎหมาย’ (The Rule by Law) โดยชนชั้นนำในสังคมไทย ที่พยายามรักษาเครื่องมือปกครองที่เรียกว่ากฎหมายเอาไว้มาโดยตลอด

กฎหมายไทยได้ปฏิรูปตัวเองจากกฎหมายจารีตเดิมกลายเป็นกฎหมายสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับการเลิกทาส ซึ่งที่จริงเป้าหมายหลักคือการแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่นั่นมิได้หมายความว่ากฎหมายสมัยใหม่ของไทยสอดคล้องตามหลักนิติธรรมแบบตะวันตก และการเลิกทาสก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสมอภาคในชนทุกชั้นอย่างแท้จริง กฎหมายไทยหลังการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังคงให้อภิสิทธิ์ละเว้นไม่ลงโทษชนชั้นเจ้าทั้งหมด โดยข้ออ้างที่ว่าธรรมเนียมของไทยมีหลายอย่างที่ไม่สามารถนำระบบแบบตะวันตกเข้ามาใช้ได้ทั้งหมด ต้องมีการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมและจารีตแบบไทย “จะเอาอย่างคนอื่นหมดไม่ได้” ความไม่เสมอภาคทางกฎหมายจึงยังปรากฏอยู่ทั่วไปในระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทย ความคิดในลักษณะนี้ส่งผลให้กฎหมายสมัยใหม่ของไทยเน้นที่หน้าที่ไม่ใช่สิทธิ เน้นที่ชั้นของบุคคลไม่ใช่ความเสมอภาค กฎหมายไทยจึงมีไว้เพื่อควบคุมความประพฤติให้คนรู้จักตำแหน่งแห่งที่และหน้าที่ในสังคม หาใช่การคุ้มครองประชาชนหรือรับรองเสรีภาพ หากกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว จุดหมายสูงสุดของกฎหมายไทยไม่ใช่เพื่อดำรงความยุติธรรม แต่เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยในระบบระเบียบสังคมที่คนรู้จักสถานะชนชั้นหรือที่ต่ำสูงของตน การเลิกทาสจึงไม่เท่ากับความเสมอภาค ตราบเท่าที่อุดมการณ์แห่งกฎหมายยังให้อภิสิทธิ์แก่ผู้มีอำนาจคอยกำกับควบคุมประชาชนอยู่ ระบบกฎหมายไทยจึงไม่สมควรเรียกว่า ‘การปกครองของกฎหมาย’ หากแต่เป็น ‘การปกครองด้วยกฎหมาย’ หรือที่ธงชัยเรียกว่า ‘นิติอธรรม’ ซึ่งตรงข้ามกับ ‘นิติธรรม’

ธงชัยเสนอว่า การปกครองด้วยกฎหมายตามหลักนิติธรรมแบบไทย หรือ ‘ราชนิติธรรม’ เป็นผลจากการผสมผสานความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมือง (Legal Positivism) กับสำนักกฎหมายธรรมชาติ (School of Natural Law) ราชนิติธรรมเป็นการปรับแนวคิดของนิติธรรมจากต่างประเทศให้เข้ากับรากเหง้าและบริบทของสังคมไทย ซึ่งโดยผลลัพธ์แล้วมีความหมายแตกต่างหรือแทบจะตรงข้ามกับหลักนิติธรรมหรือ ‘การปกครองของกฎหมาย’ ของต่างประเทศ สำนักกฎหมายบ้านเมืองเห็นว่าต้องแยกกฎหมายออกจากความยุติธรรม ธรรมะและศีลธรรม และให้ถือว่ากฎหมายในตัวเองคือความยุติธรรม ซึ่งแนวคิดแบบนี้มักถูกวิจารณ์ว่ามีแนวโน้มไปในทางอำนาจนิยม

ในอีกด้านหนึ่ง นักกฎหมายสำนักธรรมชาตินิยมเห็นว่าความยุติธรรมนั้นไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับแนวคิด หลักการและบริบท ปรีดี เกษมทรัพย์ เสนอว่ากฎหมายต้องผูกพันกับความยุติธรรม และกฎหมายในโลกตะวันออกรวมทั้งของไทยไม่แยกขาดธรรมะและศาสนาออกจากกฎหมาย แหล่งที่มาของความยุติธรรมมาจากขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา ซึ่งปรีดีเรียกว่า ‘ธรรมนิยม’ งานเขียน “ธรรมสารวินิจฉัยว่าด้วยความยุติธรรมเป็นอย่างไร” ของ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าความคิดแบบไทยเชื่อมโยงความยุติธรรมแบบกฎหมายและธรรมะเข้าด้วยกัน แล้วอธิบายว่า ‘ยุติธรรม’ หมายถึง ‘ถูกต้องตามธรรม’ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นำเสนอนิติศาสตร์แนวพุทธ โดยมีประเด็นพื้นฐานคือกฎหมายต้องอิงธรรมะ แม้ท่านจะอธิบายความหมายของความยุติธรรมกับธรรมะแทบจะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ท่านเน้นว่ากฎหมายที่มีธรรมะไม่ใช่เรื่องเข้าใจได้ง่าย ต้องอาศัยบุคคลผู้มีปัญญาพิเศษหยั่งรู้ความจริงแห่งเหตุปัจจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้ความคิดแบบพุทธจึงพยายามมองหาคนดีผู้มีบารมีสูงส่งมาเป็นผู้อำนวยการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม คนมีบารมีสูงส่งตามปรัชญาการเมืองแบบพุทธโดยปกติหมายถึงคนมีอำนาจสูง เพราะอำนาจไม่ฉ้อฉลแต่สะท้อนถึงระดับของบารมี และคนมีบารมีสูงที่สุดตามหลักพุทธก็คือ พระมหากษัตริย์

นักนิติศาสตร์สำนักธรรมชาตินิยมของไทยหันเข้าหาพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำมาเป็นพื้นฐานของนิติธรรมแบบไทย เพื่อให้ความหมายของความยุติธรรมแบบไทย และทำให้หลัก ‘ธรรมราชา’ เป็นหลักของกฎหมายและความยุติธรรมเหนือรัฐธรรมนูญ ‘พุทธ+กษัตริย์’ จึงกลายเป็นแหล่งที่มาของอำนาจตามหลักจารีตและขนบธรรมเนียมในหลักนิติธรรมไทย ธานินทร์ กรัยวิเชียร เสนอว่า หากกฎหมายขัดแย้งกับความยุติธรรมแล้ว เราควรถือความยุติธรรมเป็นสำคัญ ความยุติธรรมสำคัญกว่าและมาก่อนกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมายสากลที่ว่าเหนือกฎหมายยังมีกฎธรรมชาติ (Natural Law) ทั้งยังสอดคล้องกับปรัชญากฎหมายตามแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ถือธรรมะหรือความยุติธรรมเป็นใหญ่เหนือกฎหมาย ดังจะกล่าวต่อไปในส่วนที่ 3

หลัง พ.ศ. 2500 มีความพยายามขนานใหญ่ที่จะสร้างพระมหากษัตริย์ให้เป็นหลักสูงสุดของกฎหมายและเป็นแหล่งที่มาสูงสุดของความยุติธรรม ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของไทยซึ่งเหนือกว่ารัฐธรรมนูญปกติ ด้วยการโหมกระแสธรรมราชและสร้างประวัติศาสตร์ราชานิยมที่สนับสนุนแนวคิดนี้ โดยเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของพระมหากษัตริย์ผู้มีบารมีและได้รับความจงรักภักดีอย่างสูงจากประชาชน จนสามารถเข้าแทรกแซงวิกฤตการณ์ทางการเมืองและยุติการนองเลือดให้เป็นที่ประจักษ์ได้หลายต่อหลายครั้ง ที่สุดแล้วฝ่ายกษัตริย์นิยมได้เสนอแนวคิดที่ต่างจากเดิม แทนที่จะยืนยันว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองสกปรก กลับกลายเป็นพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเหมาะสมจึงจะช่วยรักษาประชาธิปไตยไว้ได้ ผลลัพธ์ล่าสุดของนิติศาสตร์ไทยดังที่กล่าวมานี้ (นิติรัฐอภิสิทธิชนและราชนิติธรรม) บวกกับ ‘สภาวะยกเว้น’ ก็คือระบอบ คสช. ซึ่งผูกขาดความชอบธรรมในการปกครองประเทศด้วยข้ออ้างสำคัญคือ รักษาความมั่นคงของชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์

รัฐไทยมักใช้เหตุผลเรื่อง ‘ความมั่นคงของชาติ’ ในฐานะผู้คุ้มครองประเทศในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยอ้างเสมอว่าต้องปกป้องส่วนร่วมซึ่งเหนือสิทธิส่วนบุคคล ความมั่นคงของชาติจึงกลายเป็นแหล่งที่มาของอำนาจและอภิสิทธิ์ของรัฐ และในปัจจุบันก็มีมากเสียจนกองทัพมีอำนาจยิ่งใหญ่กว่ารัฐบาลพลเมืองทุกชุดที่เคยมีมา ยิ่งไปกว่านั้น ความมั่นคงของชาติยังเป็นเหตุให้รัฐและทหารสามารถงดใช้ระบบกฎหมายตามปกติหรือเกิดสถานการณ์พิเศษ หรือ ‘สภาวะยกเว้น’ ซึ่งมอบอำนาจให้แก่คณะรัฐประหารเพื่อยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามปกติ สภาวะยกเว้นในทางรูปธรรมได้แก่ การปกครองด้วยภาวะฉุกเฉิน รัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือกฎหมายพิเศษสำหรับภาวะไม่ปกติ และรัฐก็ไม่เคยรับผิดชอบต่อการกระทำที่ในภาวะปกติถือว่าผิดกฎหมาย สภาวะยกเว้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งมักหยิบยกความมั่นคงของชาติมาเป็นเหตุผล ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ให้เหตุผลของสภาวะยกเว้นของไทยไว้ว่า


“ยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์ขั้นร้ายแรงถึงขนาดที่กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองให้อยู่ในความสงบได้จนกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ... เช่นนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร เราจะถือสิ่งใดมาก่อนกันระหว่างการยึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัดกับความมั่นคงของชาติ บุคคลผู้ประสงค์ร้ายต่อประเทศชาติได้อ้างหลักสิทธิเสรีภาพมารับรองการกระทำต่างๆ ของตน พวกเขามุ่งมั่นใช้สิทธิเสรีภาพที่ตนมีในระบอบประชาธิปไตย... มาทำลายระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนทำลายประเทศชาติในที่สุด การอ้างสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีด้วยการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านฝ่ายตรงข้ามกับตน อาศัยคนหมู่มากชุมนุมกันเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการโดยไม่คำนึงว่าสิ่งนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองตามที่ตนเรียกร้องก็สร้างกระแสและปลุกระดมประชาชนให้เกิดการจราจลและความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออ้างสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโจมตีผู้อื่น จนอาจถึงขั้นก้าวล่วงจ้วงจาบสถาบันเบื้องสูง อันเป็นที่เคารพรักและศรัทธาอย่างสูงสุดของปวงชนชาวไทย ...เมื่อถึงยามนั้นแล้วเราคงต้องเลือกความมั่นคงของประเทศไว้อยู่เหนือสิ่งอื่นใด


“การเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญคือการเป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของชาตินั่นเอง ในกรณีจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศชาติและความอยู่รอดของบ้านเมือง ก็สมควรให้มีข้อยกเว้นหลักนิติธรรมได้ ยอมให้ผู้ใช้อำนาจรัฐมีอำนาจที่จะเข้ามาจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการของประชาชนได้...”

ดังนั้น เราจึงได้เห็นว่าการรัฐประหารที่สำเร็จทั้งหมดหลัง พ.ศ.​ 2490 เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญขึ้นทั้งหมดนำประเทศไปสู่ระบอบทหารที่ปกครองด้วยกฎอัยการศึก กฎหมายความมั่นคง หรือรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยที่สถาบันตุลาการไทยก็ให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหาร ถือว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเริ่มจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 เป็นต้นมา ศาลมักดูเพียงว่ารัฐประหารของคณะรัฐประหารได้นิรโทษกรรมการทำรัฐประหารไว้หรือไม่ และมีพระราชโองการของพระมหากษัตริย์รับรองฐานะของคณะรัฐประหารหรือไม่

มาตรา 112 เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า กฎหมายอาญาลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเป็นกฎหมายใน ‘สภาวะยกเว้นอย่างถาวร’ ที่อยู่ในกฎหมายปกติ เพราะให้อภิสิทธิ์แก่รัฐละเมิดสิทธิของบุคคลได้ในภาวะปกติ เช่น พรากสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหา โดยให้ถือว่าผู้ต้องหามีความผิดไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ ยอมให้พิจารณาคดีเป็นความลับ และใครก็สามารถฟ้องร้องให้เจ้าหน้าที่ทราบ ทั้งที่คุณสมบัติแบบโบราณเหล่านี้ถูกปฏิรูปลบล้างหายไปแล้วในกฎหมายปกติหมวดอื่นๆ กล่าวได้ว่า รัฐไทยให้ความสำคัญแก่ความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงของชาติในความหมายแบบดั้งเดิมนั่นคือ ความมั่นคงของพระมหากษัตริย์ในความหมายกว้าง

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงมิใช่นิติรัฐที่มีระบบกฎหมายตามหลักนิติรัฐ เพราะระบบกฎหมายมิเพียงไม่จำกัดอำนาจของรัฐเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่กลับให้อภิสิทธิ์แก่รัฐสำหรับละเมิดเสรีภาพของประชาชน แถมยังปลอดความผิดให้แก่ผู้ใช้อำนาจด้วย รัฐจึงเคยชินและปฏิบัติกับประชาชนราวกับทหารใต้บังคับบัญชา โดยอาศัยเครื่องมือสำคัญคือการควบคุมข่าวสาร ด้วยการเซ็นเซอร์และออกคำสั่งให้ปฏิบัติตามหรือห้ามปฏิบัติ และอภิสิทธิ์ที่ใช้จนเคยตัวเช่นนี้จะดำรงอยู่ได้เพราะกฎหมายไม่จำกัดอำนาจและปล่อยให้ใช้อำนาจที่ละเมิดประชาชนได้ตามความต้องของรัฐ ความผิดปกติเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าระบบกฎหมายมิได้เป็นไปตามหลัก ‘การปกครองของกฎหมาย’ หรือหลักนิติธรรมแบบตะวันตก หากแต่เป็นหลักนิติธรรมแบบไทยหรือ ‘ราชนิติธรรม’ ในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ทว่าความไม่เสมอภาคที่ปรากฏในระบบกฎหมายแบบราชนิติธรรมนี้จะสำแดงอำนาจออกมาได้ ยังต้องการองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ผู้บังคับใช้กฎหมายที่พร้อมรับรองอภิสิทธิ์ให้แก่ผู้อำนาจ มากกว่ายืนยันตามหลักนิติธรรมและตัวบทกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน


. . ,

อ่านต่อ ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 2

อ่านต่อ ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 3

อ่านต่อ ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 4 บทสรุป

============

สำหรับนักอ่านที่สนใจงานวิชาการทั้งด้านการเมือง รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา

ขอแนะนำชุดหนังสือที่น่าสนใจ

// Set มายาคติในการเมืองไทย //
// Set ถอดมายาคติการเมือง //
// Set นักคิดทางการเมืองคนสำคัญ //
// Set รื้อ-สร้าง และท้าทายทางความคิด //
// Set เล่มหนาตาสว่าง //
// Set การเมือง ปรัชญา และศิลปะฝรั่งเศส //
// Set วรรณกรรมวิจารณ์ ราคาสุดพิเศษ + กระเป๋าผ้า //
// Set 3 เล่ม ไชยันต์ รัชชกูล //
==============================


บทความที่คุณน่าจะชอบ

คณะราษฎร 2475 | โหลดฟรี 10 บทความ /

รัฐประหารไทย | รวม 10 บทความสุดเข้ม /
สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | โหลดฟรี 10 บทความ / 
ปรัชญาตะวันออก | โหลดฟรี 13 บทความ /
ราชาชาตินิยม | โหลดฟรี 10 บทความ /
20 หนังสือ อ่านเบิกเนตร /
ธงชัย  วินิจจะกูล | อุตสาหกรรมแห่งความจงรักภักดี /
สัญลักษณ์คณะราษฎรที่หายไป...เราจะจดจำไว้ /
ธงชัย  วินิจจะกูล | อำนาจของสาธารณชน จากบทกล่าวตามในหนังสือ 1984 /
/ 10 หนังสือสำหรับคน 'อยู่ไม่เป็น' /

==================

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้