Last updated: 27 ก.ค. 2567 | 2954 จำนวนผู้เข้าชม |
เนื้อเพลง ลา มาร์แซแยส กล่าวถึงศัตรูประชาชน อันได้แก่ “ทรราช” “พวกกดขี่จอมกระหายเลือด” “เจ้า” และ “เจ้าชีวิต” กอปรด้วยเหล่าสมุนอย่าง “ทหารใจโฉด” “คนทรยศ” “พวกที่สมรู้กับนายพลบูเย่” กลุ่มศัตรูประชาชนนั้นเป็นภาพแทนบิดา ประการแรก ศัตรูประชาชนเป็นเจ้าชีวิตของฝ่ายพวกเรา (มือตีนถูกล่าม มีพวกทรราชระยำเป็นเจ้าชีวิต) จึงมีสถานะไม่ต่างจากพ่อซึ่งมีความสำคัญต่อการถือกำเนิดหรือการมีชีวิตของลูก ประการต่อมา พ่อมีความสัมพันธ์กับแม่เช่นไร ศัตรูประชาชนก็มีความสัมพันธ์กับแผ่นดินแม่เช่นนั้น พ่อเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแม่ ทำนองเดียวกัน ศัตรูประชาชนก็คือผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจเหนือมาตุภูมิ ในทางจิตวิเคราะห์ “พวกเจ้า” (ต้นฉบับใช้ว่า rois แปลว่า พวกกษัตริย์) เป็นสัญลักษณ์แทนพ่อ (Freud 1969 : 138)
ศัตรูประชาชนเป็นคนแปลกหน้า ดังสันนิษฐานได้จากถ้อยคำเช่น “เลือดอันมีมลทิน” “กองทหารต่างชาติ” ความเป็น ‘คนนอก’ ที่ผนวกกับศัตรูประชาชน สะท้อนถึงจิตใจของเด็กชายเอดิปัสผู้เห็นพ่อเป็นบุคคลที่สามหรือคนนอกที่มาก่อกวนความสัมพันธ์ระหว่างตนกับแม่
กล่าวได้ว่า ความขัดแย้งระหว่าง ‘ศัตรูประชาชน’ กับฝ่าย ‘พวกเรา’ หมายถึงความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์ระหว่างพ่อกับลูก
ฝ่ายแรกคือผู้ปกครองที่กดขี่ประชาชน ขณะที่ฝ่ายหลังหมายจะจับอาวุธลุกขึ้นสู้ โค่นล้มผู้ปกครอง
หากอ่านด้วยจิตวิเคราะห์ จะได้ความว่า เจ้าผู้กดขี่หมายถึงพ่อที่คุกคามหมายตอนอวัยวะเพศของลูกชาย ส่วนประชาชนผู้ลุกฮือหมายถึงลูกที่มุ่งทำปิตุฆาต
เนื้อเพลงท่อนต่อไปนี้แสดงภาพการตอน
ตรงข้ามกับเรานั่น คือ ธงศึกเปื้อนเลือดที่พวกทรราชชูขึ้น
และท่านได้ยินไหมว่า ตามท้องทุ่ง
พวกทหารใจโฉดกำลังกู่ก้องคำราม
พวกมันจะบุกมาเชือดคอทั้งลูกและเมีย
ทั้งที่พวกเขายังอยู่ในอ้อมอกของท่าน
การที่ “พวกมันจะบุกมาเชือดคอทั้งลูกและเมีย ทั้งที่พวกเขายังอยู่ในอ้อมอกของท่าน” ถือได้ว่า ‘พวกมัน’ ได้หยามความเป็นชายของ ‘พวกเรา’ การปล่อยให้ศัตรูมาทำร้ายคนรักทั้งที่อยู่ในความดูแล เรียกได้ว่าเป็นการเสียเชิงชายอย่างมาก อนึ่ง การคุกคามของฝ่ายศัตรูนั้นมาพร้อมกับ “ธงศึกเปื้อนเลือดที่ทรราชชูขึ้น” ซึ่งดูจะตอบโต้ต่อ ‘ธง’ ของฝ่ายพวกเรา การที่ฝ่ายตรงข้ามหรือพ่อ ‘ชูธง’ ในที่ซึ่ง ‘พวกเรา’ เองก็ปรารถนาจะสำแดงความเป็นชายให้แม่เห็น ต้องถือเป็นการคุกคามหรือข่มความเป็นชายของฝ่ายลูกได้อย่างลึกซึ้งยิ่ง นอกจากนี้ หากถือว่าสำหรับผู้ชาย ลูกและเมียคือสิ่งที่บ่งบอก พิสูจน์ ยืนยันความสามารถทางเพศแบบบุรุษ ตลอดจนอำนาจการสืบพันธุ์แบบเพศผู้ การ ‘เชือด’ คอลูกและเมียก็มีความหมายเท่ากับการ ‘ตอน’
‘ปมตอน’ คือสิ่งที่เด็กชายต้องเผชิญควบคู่ไปกับความรู้สึกเชิงปฏิปักษ์ต่อผู้พ่อ การตอนเป็นอาวุธที่พ่อใช้เพื่อข่มขู่ให้ลูกชายกลัว กระทั่งต้องละทิ้งความปรารถนาในตัวแม่ พ่อจึงกลายเป็นผู้ตั้งตนเป็นกฎเกณฑ์ที่ออกคำสั่งว่า อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรทำได้ อะไรห้ามทำ เพลง ลา มาร์แซแยส ดูจะหมกมุ่นกับการแสดงถึงความคับข้องใจของ ‘พวกเรา’ ที่ต้องอึดอัดกับกฎระเบียบของผู้ปกครอง ซึ่งสื่อโดยชุดคำ “โซ่ตรวนบัดซบ” “วางกฎ” “วางเกณฑ์” “มือตีนถูกล่าม” “ก้มหัวให้มันกดขี่”
เมื่อพ่อขู่จะตอน ลูกชายจึงตอบโต้ด้วยปิตุฆาต การหมายโค่นศัตรูประชาชนเกี่ยวเนื่องกับการต้องการจะกำจัดพ่อ การล้ม ‘พ่อ’ ของรัฐ เท่ากับการทำปิตุฆาต ปมปิตุฆาตมีเหตุมาจากปมรักแม่ อันที่จริง เพราะลูกชายรักแม่มาก จึงต้องเกลียดและอยากทำลายพ่อ ประชาชนต้องการโค่น ‘พ่อ’ ผู้ครอง ‘แผ่นดินแม่’ เพื่อยึดและเป็นใหญ่ในแผ่นดินแม่เสียเอง ชัยชนะของ ‘ลูก’ คือชัยชนะในนามของ “ความรักอันศักดิ์สิทธิ์ต่อมาตุภูมิ” และชัยชนะนั้นลงเอยที่ความตายของผู้เป็นบิดาซึ่งเป็นเพียง “ศัตรูที่กำลังจะสิ้นใจ”
พิริยะดิศ มานิตย์
..,
บางส่วนจากบท 'เอดิปัส' ใน ลา มาร์แซแยส
...
อ่านกันแบบเต็มๆ สั่งซื้อคลิก เรื่องใต้บรรทัด : ว่าด้วยการตีความศิลปะและวรรณกรรมฝรั่งเศสผ่านแนวคิดจิตวิเคราะห์
คลิกสั่งซื้อชุดหนังสือ ราคาพิเศษ!!!
Set วรรณกรรมวิจารณ์
Set การเมือง ปรัชญา และศิลปะฝรั่งเศส
============