On This Day | โธมัส ฮาร์ดี้ (Thomas Hardy)

Last updated: 24 ส.ค. 2567  |  1852 จำนวนผู้เข้าชม  | 

On This Day | โธมัส ฮาร์ดี้ (Thomas Hardy)

“...ความสุขนั้นเป็นเพียงบทตอนชั่วครู่ชั่วยาม
ในนาฏกรรมแห่งความเจ็บปวดอันเป็นสามัญ...”

 

On This Day : Thomas Hardy วันที่ 11 มกราคม ค.ศ.1928 โธมัส ฮาร์ดี้ (1840-1928) นักเขียนวรรณกรรมชั้นเอกชาวอังกฤษ เสียชีวิตลงที่ Dorchester, England

โธมัส ฮาร์ดี้ นักเขียนและกวีชาวอังกฤษ ผู้เขียนวรรณกรรมชั้นเอกหลายเรื่อง เช่น The Mayor of Casterbridge (1886), Tess of the d’Urbervilles (1891) และ Jude the Obscure (1895) งานเขียนของฮาร์ดี้มักแสดงโศกนาฏกรรมของชะตาชีวิตมนุษย์ และมีการใช้ฉากในเวสเสกซ์ (Wessex) ซึ่งเป็นมณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ

โดยอุปนิสัย ฮาร์ดี้เป็นนักอ่านตัวยง เขามักตื่นขึ้นมาอ่านบทกวีก่อนออกไปทำงานทุกเช้าตั้งแต่ตีห้าถึงแปดโมง ฮาร์ดี้เริ่มเขียนบทกวีส่งไปตามนิตยสารเมื่อเขาอายุ 25 ปี แต่ไม่ได้ตีพิมพ์ และในอีก 2 ปีต่อมาเมื่ออายุ 27 ปี ฮาร์ดี้เขียนนิยายเรื่องแรกชื่อ The Poor Man and the Lady (1867) เพื่อส่งขอพิจารณาตีพิมพ์ แต่ถูกสำนักพิมพ์สามแห่งปฏิเสธจนเขาทำลายต้นฉบับทิ้ง อย่างไรก็ตาม จอร์จ เมเรดิท (George Meredith: 1828 - 1909) กวีและนักเขียนชาวอังกฤษได้ให้กำลังใจฮาร์ดี้ให้เขียนหนังสือต่อไป

ฮาร์ดี้เขียนนิยายเรื่อง Desperate Remedies (1871) และ Under the Greenwood Tree (1872) ซึ่งพิมพ์เป็นเล่มโดยไม่ลงชื่อผู้เขียน ฮาร์ดี้ต้องจ่ายเงินให้สำนักพิมพ์เพื่อให้ Desperate Remedies ได้ตีพิมพ์ แต่หนังสือขายไม่ดีจนขาดทุน ทว่านิยายเรื่องต่อๆ มาของฮาร์ดี้ล้วนแต่ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารก่อนพิมพ์รวมเล่มทั้งสิ้น เมื่ออายุ 33 ปีเขาพิมพ์ A Pair of Blue Eyes (1879) ในชื่อของตัวเองลงในนิตยสาร Tinsley นิยายเรื่องต่อมา Far from the Madding Crowd (1874) เป็นเรื่องแรกที่ใช้เวสเสกซ์เป็นฉาก เรื่องนี้นับได้ว่าประสบความสำเร็จ

ฮาร์ดี้เขียนในสิ่งที่เขารู้จักดี เขียนถึงสภาพแวดล้อม พื้นที่และตัวละครที่เป็นผู้คนจากชนชั้นแรงงานในชนบท ตัวละครในนิยายของเขามักมีปมเรื่องชนชั้นและประสบชะตากรรมที่โหดร้ายในนามของมนุษย์ ฮาร์ดี้มักแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่มีอิสระแต่ถูกกำหนดชะตามาแล้วล่วงหน้า นิยายของเขาจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวที่เจ็บปวดแต่ติดตรึงใจ หลายคนบอกว่าเขามองโลกในแง่ร้าย และเห็นว่าชีวิตมีแต่เพียงโศกนาฏกรรม ซึ่งฮาร์ดี้ตอบกลับว่า “สุขนาฏกรรมทุกเรื่องคือโศกนาฏกรรม ถ้าเราดูมันให้ลึกซึ้งพอ”

กล่าวสำหรับ The Mayor of Casterbridge และ Tess of the d’ Urbervilles นิยายเรื่องดังที่เล่าเรื่องของตัวเอกหญิงซึ่งประสบชะตากรรมเลวร้ายจนถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงว่าขัดต่อศีลธรรมสมัยวิคตอเรียน ความอื้อฉาวนี้ทำให้นิยายเรื่องนี้ขายดีและมีฉบับแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา

แต่แล้วในนิยายลำดับต่อมา Jude the Obscure ก็ถูกวิจารณ์หนักกว่าเดิม กล่าวคือ Jude the Obscure เล่าชีวิตตั้งแต่วัยเด็กของ จูด ฟาวลีย์ (Jude Fawley) ซึ่งอยู่กินกับลูกพี่ลูกน้องของตัวเองโดยไม่แต่งงานและมีบุตรด้วยกัน โดยทั้งคู่ต่างเคยผ่านการหย่าร้างมาก่อน นักวิจารณ์เรียกนิยายเรื่องนี้ว่า ‘Jude the Obscene’ - จูดผู้อนาจาร และ ‘Hardy the Degenerate’ - ฮาร์ดี้ผู้ตํ่าช้า

หลังจาก Jude the Obscure ฮาร์ดี้ประกาศเลิกเขียนนิยาย หันมาเขียนแต่บทกวี ซึ่งเป็นงานที่เขาอยากเขียนเสมอมา ฮาร์ดี้พิมพ์รวมบทกวี Wessex Poems and Other Verses (1898) ที่เขาวาดรูปประกอบเอง รวมทั้งเขียนบทละครเป็นกลอนเปล่าเกี่ยวกับสงครามสมัยนโปเลียน The Dynasts (1904) และยังมีบทกวีอื่นๆ อีกจำนวนมากตลอดสามสิบปีสุดท้ายของชีวิต

โดยตลอดช่วงสามสิบปีสุดท้ายของชีวิต ฮาร์ดี้หันมาเขียนแต่บทกวี เขาได้ชื่อว่าเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 และมีอิทธิพลต่อกวีอังกฤษสมัยใหม่ ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียน เช่น เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf: 1882 - 1941) ดี.เอช. ลอว์เรนซ์ (D.H. Lawrence: 1885 - 1930) และ เอช. จี. เวลส์ (H.G. Wells: 1866 - 1946)

ในวาระสุดท้ายของชีวิต ฮาร์ดี้ป่วยเป็นเยื่อหุ้มปอดอักเสบ และเสียชีวิตที่บ้านในวันที่ 11 มกราคม 1928 ขณะอายุ 88 ปี ความยิ่งใหญ่ในฐานะนักเขียนและกวีของฮาร์ดี้ ทำให้ แม็กซ์ เกต และสถานที่เกิด ของฮาร์ดี้ได้รับการอนุรักษ์และเปิดให้ประชาชนเข้าชม รวมทั้งมีพิพิธภัณฑ์ดอร์เซ็ตเคาน์ตี้ในดอร์เชสเตอร์ที่จัดแสดงห้องเขียนหนังสือของฮาร์ดี้ ซึ่งนำเฟอร์นิเจอร์และข้าวของมาจากบ้านของฮาร์ดี้

สำนักพิมพ์สมมติ มีโอกาสได้จัดพิมพ์รวมเรื่องสั้งของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่นาม โธมัส ฮาร์ดี้ ในชื่อเล่ม หญิงสาวผู้ฝันถึงกวีและเรื่องสั้นอื่นๆ โดยในเล่มประกอบด้วย 3 เรื่องสั้นอ่านสนุกและคมคาย ประจักษ์ชัดในเนื้อแท้ตัวอักษรของ โธมัส ฮาร์ดี้ ได้แก่ 

  • ชั่วเวลาคั่น (A Mere Interlude: 1885)
  • แขนนาง (The Withered Arm: 1888)
  • หญิงสาวผู้ฝันถึงกวี (An Imaginative Woman: 1894)

คลิกอ่านและสั่งซื้อ

หญิงสาวผู้ฝันถึงกวี และเรื่องสั้นอื่นๆ
(An Imaginative Woman and Other Stories)

โธมัส ฮาร์ดี้ (Thomas Hardy) : เขียน
ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล : แปล
สุธิดา วิมุตติโกศล : บทกล่าวตาม
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการ
ปฐมพงศ์ น้ำใจดี : ออกแบบปก

พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม 2555
ความหนา : 176 หน้า
ISBN 978-616-7196-20-6
=====



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้