Last updated: 15 พ.ย. 2563 | 3470 จำนวนผู้เข้าชม |
หนังสือเล่มนี้ต้องการให้ผู้อ่านได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของการรับรู้และให้ความหมายแก่ ชนบทและความเป็นชนบท ซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาที่ผ่านมา พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าการรับรู้และให้ความหมายแก่ชนบทในช่วงเวลาหนึ่งๆ ไม่ใช่เพียงความรู้ธรรมดา หากแต่เป็น ‘ชุดความรู้’ ที่ผูกพันอยู่กับการปฏิบัติการต่อชนบทของรัฐและผู้คนในสังคมช่วงเวลานั้นๆ
Raymond Williams นักคิดคนสำคัญของโลกเขียนหนังสือชื่อว่า The Country and the City ในปี ค.ศ.1973 ด้วยเหตุที่เขาเป็นคนจากชนบทและเดินทางเข้ามาศึกษาในลอนดอน เขาจึงเริ่มต้นคิดขึ้นจากความสงสัยกังขาว่า ทำไมภาพของชีวิตและความเป็นชนบทที่สอนกันในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จึงแตกต่างไปจากชีวิตจริงในชนบทของเขา เขาจึงได้ค้นคว้าการสร้างภาพชนบทที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาว่าเป็นอย่างไร ที่สำคัญภาพที่ถูกสร้างขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ภาพ หากแต่เป็นกระบวนการของการสร้าง “A myth functioning as a memory, could then be used...” (หน้า 43) เพื่อที่จะลดทอนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่เกิดขึ้นในสังคมอังกฤษขณะนั้น
อาจารย์สามชายได้เรียนรู้ในทำนองเดียวกัน โดยเริ่มต้นใคร่ครวญเกี่ยวกับความแตกต่างของเมืองและชนบทจากประสบการณ์นักเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดนครสวรรค์ ต่อมาเมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีก็ได้เข้าร่วมศึกษากับสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ออกไปอยู่ร่วมกับชาวบ้านในจังหวัดอุตรดิตถ์ เขตติดต่อกับอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก
การรับรู้และให้ความหมายแก่ ‘ชนบทและความเป็นชนบท’ มีความสำคัญอย่างยิ่ง Raymond Williams ได้แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งและแตกต่าง (the contrast) ระหว่างการรับรู้และให้ความหมายชนบทนี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับวิกฤติในสังคม ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่ไม่ได้แตกต่างไปจากความคิดของอาจารย์สามชายและนักวิชาการในสังคมไทยจำนวนไม่น้อย ที่ได้ลงความเห็นร่วมกันอย่างหลากหลายว่าการให้ความหมายแก่ชนบทในลักษณะเดิมนั้น ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมานานกว่าหนึ่งทศวรรษ
อาจารย์สามชายเลือกแนวพินิจในการอธิบายความเปลี่ยนแปลงของการรับรู้และให้ความหมายแก่ ‘ชนบท/ความเป็นชนบท’ ด้วยวิธีคิดและวิธีการทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ การถอยกลับไปสู่การอธิบายการเกิดขึ้นของ ชนบท/ความเป็นชนบท ในอดีตกาล จากนั้นจึงเคลื่อนเข้ามาสู่การทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงชุดความคิดในเรื่องนี้ในแต่ละช่วงเวลาจนถึงปัจจุบัน
การเข้าสู่ปัญหาด้วยวิธีคิดและวิธีการทางประวัติศาสตร์ ทำให้เราเห็นทั้งความเปลี่ยนแปลงและความสืบเนื่อง และความเปลี่ยนแปลงอันไม่สืบเนื่องของชุดความคิดในการอธิบายชนบทชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกัน อาจารย์สามชายก็ทำให้เราเห็นถึงปฏิบัติการทางสังคมการเมืองอันเป็นผลมาจากชุดความคิดในช่วงเวลาหนึ่งๆ
ในบทสุดท้ายของหนังสือ อาจารย์สามชายได้พยายามเปิดพื้นที่ให้แก่การทำความเข้าใจ ‘ชนบทและความเป็นชนบท’ กันใหม่ โดยพยายามหยิบยกแนวคิดหลังสมัยใหม่มาขยาย เพื่อจะดูว่าสามารถทำให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้แจ่มชัดมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราท่านทุกคนควรที่จะต้องตระหนัก และร่วมกันในการถอดรื้อความคิดชุดเดิม ร่วมสร้างชุดความคิดที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงอันไพศาลและลึกซึ้งที่เกิดขึ้นในชนบท
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ควรต้องอ่านกันให้กว้างขวาง ไม่ใช่อ่านเพื่อเชื่อ หากแต่อ่านเพื่อใช้เป็นบันไดทางปัญญาในการเดินทางไปสู่การร่วมกันสร้างความหมายที่เหมาะสมและงดงามให้แก่ ‘ชนบท/เมือง’ ในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
...
บทความจาก คำนิยม โดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
(สั่งซื้อได้แล้ว คลิก บทสำรวจวาทกรรมชนบทและบ้านนอกในความเป็นไทย - รื้อสร้างมายาคติและความขัดแย้งของชนบทกับเมือง ไพร่ ชาวนา คนเสื้อแดง และชนชั้นกลางใหม่ของ สามชาย ศรีสันต์ )
============