Last updated: 20 ต.ค. 2563 | 2511 จำนวนผู้เข้าชม |
กว่าจะรู้ว่ามีคนบริสุทธิ์ถูกสังหารกลางเมืองนับร้อย บ้างหัวกระจุย บ้างเป็นเด็ก ฉันก็ล่วงเข้าวัยกลางคนเสียแล้ว วัยที่ว่ากันว่ามีวุฒิภาวะผ่านโลกอาบน้ำร้อนมาก่อนคนอีกรุ่น
กว่าจะซาบซึ้งถึงความเจ็บปวดของคนเป็นแม่ยามสูญเสียลูก ก็ต้องได้นั่งเก้าอี้ข้างๆ ฟังการสัมภาษณ์ ‘พะเยาว์ อัคฮาด’ มารดาของกมนเกด ‘พยาบาลอาสา’ ที่ถูกซุ่มยิงพรุนร่างจากรางรถไฟฟ้า
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 ตอนยื่นคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ฉันเคยสนใจปัญหาบ้านเมือง ถึงขนาดเลือกคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์เป็นอันดับสามและสี่ แน่นอนว่าคะแนนผ่านเกณฑ์ แต่สุดท้ายกลับพบตัวเองอยู่ในคณะอักษรศาสตร์ ด้วยเหตุผลประการเดียวคือ เครื่องแบบทางความคิดของระบบราชการ อาชีพในอนาคตที่อาจต้องเผชิญ
วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลาพลบค่ำ ขณะกำลังเปิดโปรดักชั่นซ้อมละครเพื่อสอบวิชากำกับการแสดง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยขี่รถจักรยานยนต์มาบอกว่า “รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวเพิ่มมาถึงนครปฐมแล้ว พวกน้องต้องรีบกลับเข้าหอก่อนสองทุ่ม” แน่นอน ฉันหัวเสียพอควร เพราะกำลังสนุกกับงานของตัว ปิดประตูตายเรื่องการเมืองไปแล้ว เนื่องจากรู้สึกเบื่อหน่ายการทะเลาะเบาะแว้ง แถมต้องวางแผนซ้อมละครใหม่ (ปกติซ้อมเย็นถึงค่ำ)
ไม่เคยร่วมชุมนุมใดๆ ไม่สนว่าใครจะมาบริหารประเทศ แย่เหมือนกันทั้งนั้น นักการเมืองเข้ามาเพราะมีผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง ฉันรีบเก็บของ บอกลาทีมงาน แวะซื้อข้าวกลับไปกินที่หอ อาบน้ำแล้วหลับไป ไม่ติดตามข่าวสารใดอีก อ้อ...จะเคอร์ฟิวกี่วันกี่เดือนก็ให้ประกาศมา ฉันเป็นนักศึกษา ไม่มีผลกระทบมาก ทางบ้านก็สั่งห้ามเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หลายเดือนแล้ว กังวลเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่มีม็อบ
กว่าจะรู้ว่ามีคนบริสุทธิ์ถูกสังหารกลางเมืองนับร้อย (สรุปในชั้นศาลแล้วว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ) ก็ผ่านไปหลายปีทีเดียว เช่นเดียวกับกว่าจะซาบซึ้งถึงความเจ็บปวดของคนเป็นแม่ยามสูญเสียลูก หลังเรียนจบ ฉันกลับมาสนใจเหตุบ้านการเมืองอีกครั้ง เพราะได้เข้าค่ายนักเขียนสารคดีและทำงานสื่อ แม้เป็นสายบันเทิง แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการติดตามประเด็นทางสังคมการเมือง
สำนึกเสียใจจึงเกิดขึ้น เมื่อได้พบความจริงว่าปัญหาเดิมกลับมาอีกแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐกระทำกับประชาชน ทำไมเหตุการณ์เช่นนี้จึงวนเวียนไม่รู้จักจบสิ้นเสียที... นับจากนั้นฉันบอกตัวเองว่า จงอย่าละเลยเรื่องการเมืองเด็ดขาด นี่คือสิ่งที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้คน ฉัน คุณ เราทุกคน หากการเมืองดี สิทธิขั้นพื้นฐานดีพอและเพียงพอ สำหรับทุกคนในฐานะประชาชนผู้เสีย ‘ภาษี’ ใครกันจะอยากตากหน้าออกมาเรียกร้องเพื่อให้โดนกระสุนจริงปราบปราม เสียเลือดเนื้อ บทเรียนแสนเศร้าเหล่านี้ควรต้องยุติ
แม้ปฏิทินถูกทิ้งลงถังขยะครั้งแล้วครั้งเล่า ประเทศไทยก็ยังคงอยู่ภายใต้การนำของคณะรัฐประหาร ส่งไม้ต่อสืบทอดอำนาจผ่านกติกาเลือกตั้งที่ผ่านการปรุงแต่งเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองแปลงร่างของพวกเขา ยุบพรรคที่เป็นความหวังของบรรดาพลเมืองที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง ‘ครั้งแรก’ ในชีวิต กระทั่งผู้ใหญ่ที่ลงคะแนนกันมาทั้งชีวิตก็ตาม ไม่เคารพเสียงประชาชนที่ลงคะแนนเลือกพรรคนั้นจำนวนหลายล้านเสียง
ในประเทศเจริญแล้วอันปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่เหล่าอนุรักษนิยมทั้งหลายชอบส่งลูกๆ หลานๆ ไปเรียน การยุบพรรคเกิดขึ้นได้ยากมาก หากไม่ขัดกับหลักการปกครองของประเทศจริงๆ
พูดอย่างถึงที่สุด หากกติกาถูกเขียนโดยผู้มีอำนาจมากเช่นนี้เพียงฝ่ายเดียว เลือกอย่างไรก็คงพ่ายแพ้ (กรุณางดยกตัวอย่างพรรคที่คุณเกลียด พวกเขาไม่ได้มาจากการรัฐประหาร แต่ผ่านหีบเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก) เป็นเรื่องผิดตรงไหนที่พวกเขาจะออกมาเรียกร้อง ตั้งคำถาม และรอฟังคำตอบบางประการจากผู้ใหญ่ที่พร่ำพูดอยู่เสมอว่าพวกตนเป็นคนดี ไม่โกงกิน
หลากเสียงดูเบา ก่นด่า ลดทอนคุณค่า กับการออกมาเรียกร้องบนท้องถนน เพียงเพราะพวกเขาเกิดทีหลัง ไม่ทันเห็นประเทศไทยในยุคทอง ซึ่งตัวฉันตั้งแต่ลืมตาดูโลกก็ยังไม่สามารถรู้สึกได้ถึงความ ‘ทอง’ ของยุคสมัยใดทั้งสิ้น ต่างจังหวัดบ้านฉันในหลายตำบลหลายอำเภอไม่เจริญอย่างไร ก็ไม่เจริญอยู่อย่างนั้น โรงเรียนขยายโอกาสยังสภาพเดียวกับเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ถนนดินแดงยังไม่หมด หมู่บ้านที่น้ำไฟเข้าไม่ถึงก็ยังมี
กระทั่งใจกลางมหานครดุจเทพสร้างเองก็ตามเถอะ ฉันเฝ้าถามตัวเองอยู่เสมอว่าเป็นเพราะเหตุอันใดกัน? หลายเสียงพร้อมสนับสนุน ออกไปร่วมชุมนุม แน่นอนฉันเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ไม่ใช่เพียงคิดตรงกันในหลายประเด็น แต่เห็นแล้วว่าข้อเสนอของพวกเขามีเหตุผลเพียงพอ เด็กๆ นิสิตนักศึกษาสามารถเชื่อมโยงต้นตอของปัญหาได้ ไฉนเลยเราซึ่งเป็นผู้มาก่อนและเห็นเช่นนั้นมานาน จะทำตัวเป็นผู้ถ่วงความเจริญในอนาคตของพวกเขา ขณะที่อายุขัยเราก็หดสั้นลงทุกวินาที
ไม่ว่าในฐานะประชาชนหรือคนทำงานแวดวงหนังสือหนังหาที่เชื่อกันว่าเป็นปัญญาชน
บทสรุปง่ายๆ คือหากไม่แก้ไขต้นเหตุ ปัญหาล้านแปดย่อมคลี่คลายไม่ได้ ในเมื่อคนได้เปรียบทางชนชั้นจำนวนหนึ่ง มีโอกาสกอบโกยผ่านความเห็นชอบและนโยบายต่างๆ ของรัฐ พวกเขาจึงตะโกนขึ้นฟ้าดังๆ ถึงความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดีสามารถกระจายลงมาสู่ประชาชนอีกหลายสิบล้านคนอย่างทั่วถึง บนนัยสำคัญว่าต้องเปลี่ยนแปลงภายใต้ความเห็นชอบของประชาชนซึ่งเป็น ‘เจ้าของ’ ประเทศร่วมกัน
คุณในวัยสี่สิบ - ห้าสิบ - หกสิบ – เจ็ดสิบ บางท่านอาจไม่ผิดก็ได้ที่บอกว่าพอใจแล้วกับคุณภาพชีวิตที่รัฐจัดให้ แล้วคนอื่นล่ะ? คนรุ่นลูกรุ่นหลานของคุณที่เขาไม่พอใจล่ะ เขาผิดตรงไหน? เป็นพฤติกรรมความคิดที่ก้าวร้าวหรือ ที่มองเห็นว่าคุณภาพที่ว่าดีนั้น ยังดีได้อีก ทั้งสำหรับเขา ครอบครัวเขา เพื่อนร่วมชาติของเขา และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องทำให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
แต่ต้นเหตุของการไม่พัฒนาคือโครงสร้างการบริหารที่ถูกฉุดรั้งไว้ครั้งแล้วครั้งเล่าจากความพยายามของกลุ่มผู้มีอำนาจและอาวุธมิใช่หรือ? ทำไมเราจึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นเพื่อคุณภาพพื้นฐานชีวิตให้ยั่งยืน ทำไมการเรียกร้องด้วยมือเปล่าจึงกลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจในสายตาของผู้ใหญ่บางคน
หากไม่เห็นด้วย ก็ขอให้คุณอธิบายต่อตัวเองให้ได้ก่อนว่าเหตุผลของคุณมีน้ำหนักเพียงพอจริงหรือ?
ดีกว่าต่อว่ากันด้วยถ้อยคำอันไม่น่ารัก แสดงความเป็นผู้ใหญ่ไร้เหตุผลออกมาให้พวกเขาเห็น เพราะสิ่งที่เด็กหลายคนพยายามสื่อสาร สามารถอธิบายได้ชัดเจน ลึกซึ้งจนคนวัยอย่างฉันยังต้องละอาย มีประเด็นน่ารับฟังและต้องนำมาใคร่ครวญมากทีเดียว กระทั่งหนังสือหลายๆ เล่มที่พวกเขาอ่านเพื่อแกะข้อมูลมาสนับสนุนหลักยืนให้หนักแน่น ฉันยังไม่เคยอ่านเลยด้วยซ้ำ ทั้งหนังสือและโลกออนไลน์นำพวกเขาสู่ขอบเขตความรู้อันกว้างใหญ่ไพศาล
ลดละอารมณ์หรือการนั่งมโนประวัติศาสตร์หอมหวานจากชั้นเรียนประถม
พวกเขาฝันถึงประเทศไทยในอีก 30-40 ปีข้างหน้า ประเทศที่คนส่วนใหญ่จะได้มีชีวิตที่ดีเสมอหน้า ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลงมากเท่าไรยิ่งสวย แม้จะอยู่ในฝั่งฝ่ายที่เรียกได้ว่าสนับสนุนพวกเขา ฉันยังต้องหยุดคิดทบทวนอย่างช้าๆ ว่าความรู้ที่ได้รับมาทั้งชีวิต อาจเป็นเพียง operating system ที่ยังไม่ได้ update บางครั้งถึงขั้นต้องยอมรับว่ากำลังตามเทรนด์ของโลกไม่ทันแล้ว
สิ่งที่คนเมื่อสามสิบปีก่อนต้องการ อาจไม่ใช่สิ่งที่คนในยุคปัจจุบันต้องการอีกต่อไป
และไม่ว่าจะชอบหรือไม่
เราย่อมต้องอนุญาตให้พวกเขามีโอกาสเลือกอนาคตของตนเอง
*****
ประวัติและผลงาน
สิริกัญญา กาญจนประกร
อดีตเด็กละครทับแก้ว สู่ผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ‘เม่นวรรณกรรม’ และบรรณาธิการเล่มนวนิยาย ‘ความโดดเดี่ยวทั้งมวลที่ไม่มีใครสังเกตเห็น’ ของ ‘นิวัต พุทธประสาท’ และ’ดอกลิลลี่ในสวนเอเดน’ ของ ‘เกศณี’ รวมถึงเป็นบรรณาธิการงานแปลของ ‘แฮร์มานน์ เฮสเซอ’ เล่ม ‘หมาป่าผู้โดดเดี่ยว’ STEPPENWOLF สำนวนแปลโดย ปิยภาณี เฮ็นท์ซ
เคยออกรวมเรื่องสั้นร่วมกับมิตรสหายในปก ‘ความจริงเนรมิต’ และปรากฏเรื่องสั้นในนิตยสารทำมือ ‘โคจร’ ปัจจุบัน รับงานจากเม่นวรรณกรรมเป็นหลัก รวมถึงงานพิสูจน์อักษรจากหลายสำนักพิมพ์ และกำลังสร้างแบรนด์ไอศกรีมปราศจากน้ำตาลชื่อ ‘Flavorful’ เพื่อผู้อ่าน-คนรักสุขภาพ ติดตามได้เร็วๆ นี้