Last updated: 11 ส.ค. 2563 | 1901 จำนวนผู้เข้าชม |
โธมัส มันน์ (Thomas Mann) หรือที่เรียกกันว่า เกอเธ่แห่งศตวรรษที่ 20 เสียชีวิตลงด้วยโรคเส้นเลือดอุดตัน วันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1955
"...จงจำไว้ด้วยว่า มันมีพลังบางอย่าง
ซึ่งแข็งแกร่งกว่าเหตุผลและความดีงาม
และมันจะไม่ยอมให้ผู้ใดมาต่อต้าน
อำนาจที่ยิ่งใหญ่ของมันได้ง่ายๆ..."
โธมัส มันน์ นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ.1929 จากผลงาน Buddenbrooks เกิดในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมมากที่สุดช่วงหนึ่ง หรือกล่าวได้ว่า อยู่ในช่วงที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งสำคัญ เยอรมนีเริ่มสร้างชาติจากฝีมือของ อ็อตโต ฟอน บิสมาร์ก (Otto von Bismarck) จากนั้นเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วพบกับความพ่ายแพ้ ต่อเนื่องไปจนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของเยอรมนีล่มสลาย
โธมัส มันน์ เกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1875 ในครอบครัวที่มีฐานะ แต่เขากลับไม่ได้สนใจธุรกิจของทางครอบครัวแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม ทั้งมันน์ และพี่ชายของเขา หลุยส์ ไฮน์ริช มันน์ (Luis Heinrich Mann) กลับชื่นชอบการประพันธ์ และเรียกได้ว่ามีพรสวรรค์ทั้งคู่ เส้นทางการเป็นนักเขียนของมันน์เป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อเรื่องสั้นเรื่องแรก รักลวง (Gefallen) ตีพิมพ์ลงวารสารวรรณกรรม - การเมือง Die Gesellschaft
มันน์ศึกษาทั้งผลงานด้านวรรณกรรมและปรัชญา เช่น บทละครของ เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ผลงานของ ฟอนทาเน่อ (Theodor Fontane), นิทเช่ (Friedrich Nietzsche), โชเปน-ฮาวเออร์ (Arthur Schopenhauer) และฟรอยด์ (Sigmund Freud)
โธมัส มันน์ ย้ายไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ปี ค.ศ.1933 หลังจากที่นาซีขึ้นมามีอำนาจ และเริ่มจัดการกับผู้ที่ต่อต้านโดยใช้แรงกดดันทั้งด้านอาชีพการงานและสร้างภัยคุกคามต่อชีวิต มันน์ถูกถอดถอนใบปริญญา ถูกถอดถอนสัญชาติ อีกทั้งถูกขึ้นชื่ออยู่ในบัญชีดำของตำรวจลับ แม้ว่าความคิดในช่วงแรกของเขาจะจัดว่าอยู่ในแนวอนุรักษนิยม แต่ความจริงที่ปรากฏตรงหน้าไม่เป็นอย่างที่เขาคิดไว้ เขาก็กล้าหาญเพียงพอที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดของตน เพื่อยืนกรานในเรื่องสิทธิเสรีภาพและการปกครองอันชอบธรรม
หลังจากต้องอพยพออกจากเยอรมนี มันน์ได้รับสัญชาติอเมริกันในปี ค.ศ.1940 และอาศัยอยู่ที่เมืองแซนตา มอนิกา (Santa Monica) รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) เมื่อสงครามจบลง เขาเดินทางไปยุโรปโดยตลอด กระทั่งปี ค.ศ.1949 มันน์ได้รับรางวัล Goethe Prizes of Weimar (East Germany) and Frankfurt (West Germany) สุดท้ายชีวิตในบั้นปลายของเขาก็กลับสู่ยุโรปอีกครั้งหนึ่ง มันน์อาศัยอยู่ที่ซูริก (Zurich) และเสียชีวิตลงด้วยโรคเส้นเลือดอุดตันปี ค.ศ.1955
กล่าวสำหรับ นวนิยายขนาดสั้นของ ‘เกอเธ่แห่งศตวรรษที่ 20’ ที่เสียดสี ‘ลัทธิชาตินิยม’ ได้อย่างแยบคาย มาริโอกับนักมายากล (Mario And The Magician) แสดงให้เห็นถึงแนวคิดทางการเมืองที่สำคัญของ โธมัส มันน์ เสน่ห์และคุณค่าของเรื่องสั้นเรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงแค่มุมมองทางการเมือง! แต่ยังครอบคลุมไปถึงบริบทแวดล้อมประวัติศาสตร์สังคมที่สำคัญอีกด้วย
สื่อต่างชาติยกย่องมันน์ไว้มากมาย
"Probably the greatest of modern German novelists"
-- New York Times --
"The greatest German novelist of the 20th century"
-- Spectator --
"A monumental writer"
-- Sunday Telegraph --
"Mann is Germany's outstanding modern classic"
-- Independent --
แม้มันน์จะเคยกล่าวว่า มาริโอกับนักมายากล เป็นเสมือนบทบันทึกระหว่างการพักผ่อนกับครอบครัวก็ตาม แต่หากได้อ่านและพิจารณาความหมายระหว่างบรรทัดอย่างถ่องแท้แล้ว จะพบว่ามันน์ได้แทรกความคิดทางการเมืองว่าด้วยการเสียดสีล้อเลียนลัทธิชาตินิยมฟาสซิสม์อย่างไม่ต้องสงสัย
คำถามสำคัญในผลงานของมันน์เล่มนี้คือ เมื่อ ‘เจตจำนงเสรี’ ถูกลิดรอน เราจะคลายมนตร์สะกดนี้ได้อย่างไร หากความเป็นจริงตรงหน้าเป็นอย่างที่เกิดขึ้นบน ‘เวทีมายากล’ เหล่าผู้ชมก็ปักธงเรียบร้อยแล้วว่า นี่เป็นเพียง ‘ฉากหนึ่ง’ ของการแสดง น้อยคนนักที่จะคิดว่าตนเองถูก ‘สะกดจิต’ จากนักยามากล!
โธมัส มันน์ เขียน มาริโอกับนักมายากล ให้คุณได้เห็นภาพชัดขึ้นว่า การถูกสะกดจิตนั้นเป็นเช่นไร และรสชาติ ‘เจตจำนงเสรี’ นั้นหอมหวานและขมขื่นไปพร้อมกัน! เนื้อหาสาระจากตัวละครที่ชื่อ ‘มาริโอ’ และนักมายากลที่ชื่อ ‘ชิปอลล่า’ จึงยังคงเป็นที่ถกเถียงและท้าทายผู้อ่านตราบทุกวันนี้
คลิกอ่านและสั่งซื้อ
มาริโอกับนักมายากล (Mario and the Magician)
โธมัส มันน์ (Thomas Mann) : เขียน
อารตี แก้วสัมฤทธิ์ : แปล
อธิคม คุณาวุฒิ : บทกล่าวตาม
กิตติพล สรัคคานนท์ : บรรณาธิการ
กิตติพล สรัคคานนท์ : ออกแบบปก
พิมพ์ครั้งแรก : พฤษภาคม 2552
ความหนา : 144 หน้า
ISBN 978-611-7196-03-4