4 เหตุการณ์สะเทือนโลกในปี 1968

Last updated: 30 พ.ค. 2563  |  8320 จำนวนผู้เข้าชม  | 

4 เหตุการณ์สะเทือนโลกในปี 1968

4 Events in 1968 that Changed the World

ทบทวนเหตุการณ์สำคัญใน 'ปีแห่งการปฏิวัติ' เมื่อ ค.ศ.1968 ที่เหล่านักวิชาการให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาพัฒนาการความคิดหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสิทธิมนุษยชน

แรงสั่นสะเทือนของการต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนั้นมีทั้งการประท้วงต่อต้านสงคราม การต่อสู้ระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายทุนนิยมเสรี รวมถึงการรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต่างๆ

และในปีนี้...ถึงวาระครบรอบ 52 ปีของหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ในปี ค.ศ.1968 เราจึงรวบรวม 'ประกายไฟของสิทธิและเสรีภาพ' ในปีแห่งการปฏิวัติ เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของการต่อสู้ทางการเมืองผ่าน '4 เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงโลก' และเป็นเหตุการณ์ที่ 'ยกระดับคุณค่าของความเป็นมนุษย์' ไปในจุดที่ไม่อาจหวนคืน
============



1. The Paris Student Revolt 

โดยทั่วไปแล้ว ปี ค.ศ.1968 มักเป็นที่รู้จักกันจากการประท้วงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1968 ณ กรุงปารีส ของนิสิตนักศึกษาฝ่ายสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ และอนาธิปไตย

กลุ่มนักศึกษาได้ประท้วงเพื่อเรียกร้องในหลายประเด็น ตั้งแต่สิทธิที่จะไปมาหาสู่กันระหว่างหอพักชาย-หญิง การต่อต้านทุนนิยมและบริโภคนิยม การประท้วงสงครามเวียดนามและการรุกรานแอลจีเรีย ไปจนถึงการประท้วงลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก

ในภายหลังได้มีการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มนักศึกษากับกลุ่มกรรมกรด้วยการประท้วงหยุดงานจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากรัฐบาลของ ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) สั่งปราบปรามการประท้วงด้วยกำลังตำรวจ ทำให้การประท้วงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนผู้นำทางการเมืองเกรงกลัวว่าจะมีสงครามกลางเมืองหรือการปฏิวัติเกิดขึ้น ถึงขนาดที่ประธานาธิบดี ชาร์ล เดอ โกล ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเป็นเวลาหลายชั่วโมง

เหตุการณ์ May 1968 ยังส่งผลกระทบต่อการเมืองของฝรั่งเศสไปจนถึงศตวรรษที่ 21 อีกด้วย การประท้วงปี ค.ศ.1968 จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทางด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรรมของประเทศฝรั่งเศส
============



2. Prague Spring

การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี ค.ศ.1968 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในฝรั่งเศสเท่านั้น ความเคลื่อนไหวที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองระดับโลกยังเกิดขึ้นทั้งในยุโรปตะวันออกและสหรัฐอเมริกา

โดยในยุโรปตะวันออก จุดศูนย์กลางความเคลื่อนไหวจะอยู่ที่วิกฤตการณ์ Prague Spring ที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวะเกีย ซึ่งเกิดจากการที่ อเล็กซานเดอร์ ดุบเชค (Alexander Dubček) พยายามปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นแบบเสรีนิยมและปฏิรูปการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยมากขึ้น

ทางฝ่ายโซเวียตจึงพยายามเข้าแทรกแซงการปฏิรูปดังกล่าว แต่สุดท้ายหลังจากการต่อรองที่ล้มเหลวระหว่างสองฝ่าย ทางฝ่ายโซเวียตจึงตัดสินใจส่งกองกำลังทหารเข้ายึดเชโกสโลวะเกียในที่สุด

ผลกระทบที่หลงเหลือภายหลังเหตุการณ์ Prague Spring คือการแบ่งแยกเชโกสโลวะเกียออกเป็นสาธารณรัฐเช็กและประเทศสโลวาเกียจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าความพยายามในการปฏิรูปเชโกสโลวะเกียของดุบเชคจะล้มเหลว


แต่ความสำเร็จของการต่อต้านฝ่ายโซเวียตแบบอสิงหาจากฝ่ายผู้ประท้วงชาวเช็กก็ได้กลายมาเป็นแบบแผนสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเสรีนิยม ภายหลังการล่มสลายของโซเวียตในปี ค.ศ.1989 ในที่สุด
============



3. The Assassination of Martin Luther King Jr. and Black Movements

ทางด้านสหรัฐอเมริกา นอกจากการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามแล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญคือเรื่องของสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของคนผิวสี ซึ่งมีแกนนำหลักคือ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) ผู้เป็นตัวแทนของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา

การประท้วงในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปี ค.ศ.1968 ประกอบด้วยการเรียกร้องในหลายด้าน เช่น การประท้วงเพื่อสวัสดิการสาธารณะสำหรับคนผิวสีซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก โรซา ปาร์คส์ (Rosa Parks) หญิงผิวสีผู้ถูกลงโทษเนื่องจากปฏิเสธที่จะสละที่นั่งบนรถโดยสารให้คนผิวขาวในปี ค.ศ.1955

อย่างไรก็ตาม ในปี 1968 ความเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพในสหรัฐอเมริกาก็ต้องประสบกับวิกฤติครั้งใหญ่ เมื่อ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 4 เมษายน และตามมาด้วยการลอบสังหารผู้ลงสมัครประธานาธิบดีหัวก้าวหน้า โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี้ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายม ซ้ำรอยกับที่เคยเกิดขึ้นกับ จอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy)
============



4. The Olympics Black Power Salute

ถึงแม้ความฝันของการปฏิวัติสังคมอเมริกาจะต้องจบลงด้วยการลอบสังหารบุคคลสำคัญ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ และ จอห์น เอฟ เคนเนดี (เช่นเดียวกับที่ความฝันของคอมมิวนิสต์จบลงด้วยความตายของนักปฏิวัติสังคมนิยม เช เกวารา (Che Guevara) ในปีก่อนหน้า)

แต่ ปี ค.ศ.1968 ก็ยังมี 'สัญญาณแห่งความหวัง' เพราะนอกจากสหรัฐอเมริกาจะยุติการทิ้งระเบิดที่เวียดนามในเดือนธันวาคมแล้ว ยังมีการแสดงพลังของคนผิวสีในกีฬาโอลิมปิคที่ประเทศเม็กซิโกช่วงเดือนตุลาคมอีกด้วย


ในการแข่งขันวิ่งระยะไกล นักกรีฑาชายผิวสีจากอเมริกา ทอมมี สมิธ (Tommie Smith) และ จอห์น คาร์ลอส (John Carlos) ได้รับเหรียญทองและทองแดงตามลำดับ ในพิธีรับเหรียญ ทั้งสองเข้าร่วมพิธีโดยไม่สวมรองเท้า แต่สวมถุงเท้าสีดำเพื่อแสดงถึงความยากไร้ของคนผิวสี

พร้อมทำท่า 'Black Power Salute' โดยชูกำปั้นที่สวมถุงมือสีดำระหว่างเพลงชาติอเมริกา ทั้งสองได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิคนผิวสี และเป็นการย้ำเตือนว่าความตายของ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ไม่ได้สูญเปล่า
============

ทั้ง 4 เหตุการณ์ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างเหตุการณ์ซึ่งทำให้ ปี ค.ศ.1968 ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนรอบโลกที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแวดวงของนักวิชาการเท่านั้น เพราะยังมีรายละเอียดและแง่มุมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกนับไม่ถ้วน

ท้ายที่สุดแล้ว ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่ควรถูกมองในฐานะเหตุการณ์ของแต่ละประเทศที่แยกจากกัน แต่ควรได้รับการพิจารณาในฐานะการเมืองระดับโลกที่ข้องเกี่ยวและส่งผลกระทบต่อกัน


สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจรายละเอียดเบื้องลึกเกี่ยวกับการปฏิวัติและการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง ค.ศ.1968 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ ‘1968 เชิงอรรถการปฏิวัติ’ ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ซึ่งว่าด้วยเรื่องของพัฒนาการทางการเมืองก่อนหน้า ปี ค.ศ.1968



อัดแน่นด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทของนักคิดชาวฝรั่งเศสและความคิดเห็นของนักวิชาการที่มีต่อ 'ปีแห่งการปฏิวัติ' นี้ รวมไปถึงอิทธิพลของปี ค.ศ.1968 ที่มีต่อความคิดทางสังคมวัฒนธรรมในยุคถัดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน


1968 เชิงอรรถการปฏิวัติ

ธเนศ วงศ์ยานนาวา : เขียน
ความหนา : 144 หน้า
ราคาปก 150 บาท
ISBN 978-616-7196-41-1
============

สนใจหนังสือยก set แบบเต็มอิ่ม -- เราจัดมาให้คุณแล้ว (คลิกชื่อ SET เพื่อสั่งซื้อ)

1. Set 8 เล่ม รวมงานธเนศ วงศ์ยานนาวา
2. Set 8 เล่ม รื้อ-สร้าง และท้าทายทางความคิด
3. Set 8 เล่ม บทสรุปทางความคิดของนักคิดระดับโลก
4. Set 3 เล่ม เรียนรู้การเมืองไทย


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้