Last updated: 30 พ.ค. 2563 | 3763 จำนวนผู้เข้าชม |
กองบรรณาธิการ สนพ.สมมติมีโอกาสได้กลับไปอ่าน ‘นิตยสารโลกหนังสือ’ ฉบับที่ 12 ปีที่ 1 กันยายน 2521 เพื่อค้นหาข้อมูลมาใช้ประกอบการทำหนังสือ โดยไปพบกับบทความน่าสนใจชื่อ ‘ซันเฟลาเวอร์ นักแปลสตรีคนแรกของเมืองไทย’ จึงได้นำมาเรียบเรียงและเล่าสู่กันฟัง
ในหน้า 106 ของนิตยสารวรรณกรรมสุดคลาสสิคหัวหนึ่งของประเทศไทย ที่ด้านบนสุดของหน้าระบุคอลัมน์ ‘นักแปลไทยในอดีต’ โดยฉบับนี้ได้ ‘ลาวัณย์ โชตามระ’ มาถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘นักแปลสตรียุคแรกของเมืองไทย’
ในบทความเล่าว่า ผู้เขียนบทความ - ลาวัณย์ โชตามระ ได้ค้นพบหนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นสมบัติของตู้หนังสือประจำบ้าน โดย “…หนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือขนาด ๑๖ หน้ายกตามแบบเก่าซึ่งสมัยใหม่เรียกว่า ๘ หน้ายกพิเศษ หนาเกือบ ๒๐ หน้ายก ปกกระดาษอาร์ต พื้นสีส้มอ่อน เป็นภาพเขียนฝีมือ ‘ขุนปฏิภาคพิมพลิขิต’ (เปล่ง ไตรปิ่น) จิตรกรแห่งโรงพิมพ์ทั้งหลาย รูปนั้นเป็นรูปชายร่างสูง ไว้หนวดโง้ง แต่งสากล ผูกโบว์ไท กำลังโอบร่างหญิงซึ่งแต่งกายแบบแหม่ม แต่ทว่าหญิงนั้นแสดงอาการบิดเบือน และทางด้านหลังผู้ชายไว้หนวด มีผู้ชายอีกคนหนึ่งยืนมองอยู่ เหนือภาพชายหญิงทั้งสาม มีตัวอักษรประดิษฐ์เป็นข้อความว่า มรดกชั่วร้ายของตระกูล อันเป็นชื่อหนังสือนั้น ตรงด้านล่างเบื้องซ้ายมีตัวอักษรว่าโดย ‘ซันเฟลาเวอร์’ เขียนอยู่เหนือดอกทานตะวันเล็กๆ ทางด้านขวามือในระดับเดียวกับคำว่า ‘ซันเฟลาเวอร์’ เป็นตัวหนังสือบอกว่า ‘ราคา ๗๕ ส.ต.’…”
‘ซันเฟลาเวอร์’ คือใคร ใครคือ ‘ซันเฟลาเวอร์’ เกี่ยวข้องอย่างไรกับ นักแปลสตรีคนแรกของเมืองไทย
ผู้เขียนบทความเล่าต่อไปว่า ในยุคสมัยนั้น (กว่า 40 ปีก่อนหน้าจะเกิดบทความ) “มีสตรีสาวไทยที่รู้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยดี ขนาดแปลนวนิยายภาษาฝรั่งออกมาเป็นภาษาไทยได้ และมีอรรถรสในภาษาไทยอย่างดีด้วยซ้ำไป ยุคนั้นมีอยู่สามท่าน คือ ศ.ร. ผู้แปลเรื่อง ‘เต็ลมา’ ยูบีเตอร์ ผู้แปลเรื่องต่างๆ ประจำหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ และ ซันเฟลาเวอร์ ผู้แปลเรื่อง ‘มรดกชั่วร้ายของตระกูล’”
ซันเฟลาเวอร์ เป็นนามปากกาของ คุณหญิงจินดารักษ์ (เสมอใจ สวัสดิ-ชูโต) เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2439 เป็นธิดาคนที่สองของพระยาภูบาลบรรเทิง (ประยูร อมาตยกุล) และ คุณหญิงตระกูล ล่ามสตรีคนแรกของเมืองไทย โดยเมื่อมีวัยได้สองปีเศษก็ได้รับพระราชทานว่า ‘เสมอ’ อันหมายถึงความเป็นผู้ที่เกิดในตระกูลที่เสมอกันทั้งทางฝ่ายบิดาและมารดา
สำหรับการแปลในระยะเริ่มแรกของเหล่าสตรีนั้นมี ‘นักแปลผู้หญิง’ อยู่แล้วสองคน คนแรกคือ ยูบีเตอร์ อันเป็นนามปากกาของ ละม่อม สีบุญเรือง และ อีกคนหนึ่งก็คือ ศ.ร. หรือ ศะระ ซึ่งเป็นนามปากกาของ หม่อมเจ้าหญิงศุขศรีสมร เกษมศรี
โดยในบทความ ‘ซันเฟลาเวอร์’ ได้เล่าถึงช่วงเวลาของการแปลหนังสือเล่มแรกว่าการแปลสมัยนั้น “แปลแล้ว คัดสำเนาต้นฉบับไว้แล้ว ทีนี้ก็ถึงตอนจะขายต้นฉบับ ศ.ร. คือท่านหญิงศุขศรีสมร ขายต้นฉบับให้แก่ เดลิเมล์ ก็เลยติดต่อกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘เดลิเมล์’ บ้าง บรรณาธิการในเวลานั้นคือ นายหลุย คีรีวัต การติดต่อก็ไม่ยากเย็นอะไร ยกหูโทรศัพท์ขึ้น ให้พนักงานโทรศัพท์ต่อไปที่โรงพิมพ์เดลิเมล์ ถนนสี่พระยา ขอพูดกับบรรณาธิการ เมื่อบรรณาธิการมารับสายก็บอกความประสงค์ว่าแปลเรื่องไว้เรื่องหนึ่งแล้ว จะขายให้กับทางโรงพิมพ์ จะซื้อหรือไม่ บรรณาธิการซึ่งก็เหมือนกับบรรณาธิการทั้งหลายในการรับเรื่องที่คนยังไม่รู้จัก ก็บอกว่าขออ่านเรื่องดูก่อน คุณเสมอจึงให้คนใช้นำต้นฉบับเรื่อง ‘ไข่มุกซึ่งมีค่า’ ไปส่งที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ พร้อมกับให้เซ็นรับต้นฉบับไว้ด้วย”
และในเวลาต่อจากนั้นอีกไม่นาน งานแปลเล่มที่สองของ ‘ซันเฟลาเวอร์’ ก็ถือกำเนิดในชื่อว่า ‘มรดกชั่วร้ายของตระกูล’ ที่เราได้ยินกันมาก่อนแล้วตั้งแต่เริ่มต้น
กล่าวสำหรับการใช้นามปากกา ‘ซันเฟลาเวอร์’ มีเหตุผลโดยที่ ‘ซันเฟลาเวอร์’ แปลว่า ‘ทานตะวัน’ อันเป็นดอกไม้ที่สู้แดดอยู่เสมอ สอดคล้องกับความหมายของนามว่า ‘เสมอ’ นั้น และอีกประการหนึ่ง ‘ซันเฟลาเวอร์’ เมื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็ขึ้นต้นด้วยตัวเอส (S) โดยพ้องกับชื่อจริงคือ ‘เสมอ’ ที่ก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษด้วยตัว S เท่านั้นเอง
‘ซันเฟลาเวอร์’ หรือ ‘คุณหญิงจินดารักษ์’ หรือ ‘คุณเสมอ’ ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2521 โดยมีผลงานแปลตามที่ปรากฏไว้ในบทความเพียง 2 เรื่องด้วยกันคือ ‘ไข่มุกซึ่งมีค่า’ (The Pearl of Great Price) และ ‘มรดกชั่วร้ายของตระกูล’
เมื่ออ่านมาจนถึงบรรทัดนี้อาจเกิดความสงสัยว่าเหตุใด ผู้เขียนบทความข้างต้นจึงใช้ชื่อบทความว่า ‘ซันเฟลาเวอร์ นักแปลสตรีคนแรกของเมืองไทย’ ทั้งที่ความจริงแล้วก็เห็นมีนักแปลสตรีในยุคก่อนหน้ามาแล้ว ทั้ง ‘ยูบีเตอร์’ และ ‘ศ.ร.’ กองบรรณาธิการสนพ.สมมติพอจะสันนิษฐานได้ว่า ‘นักแปลสตรีคนแรกของเมืองไทย’ ในที่นี้อาจหมายความถึง ‘นักแปลหนังสือเล่ม’ / ‘นักแปลนิยาย’ โดยที่แม้จะมีนักแปล 2 คนมาก่อนหน้า แต่คนหนึ่งแปล ‘เต็ลมา’ ในฐานะของผู้เรียบเรียง และ อีกคนหนึ่งแปลเรื่องหรือบทความเป็นชิ้น มากกว่าที่จะถอดความตามความหมายของการแปลนั่นเอง!
==================
ORDER NOW
ยกชุด 8 เล่มใหม่ล่าสุด!!! จากสำนักพิมพ์สมมติ จับจองเป็นเจ้าของหนังสือสุดสวยทั้ง 8 เล่มนี้ -- ในราคาพิเศษ
8 เล่มครบทุกชุดงาน ครบทุกอรรถรส (คลิกที่ชื่อเล่ม / ชื่อนักเขียน เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
นี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจหนึ่ง ที่เรากล้ารับประกันถึงความคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ของผู้อ่าน
หากหนังสือทุกเล่มที่ผ่านมาของเรา พอจะนำเสนอให้เห็นถึง ความเอาจริงเอาจังต่อวิชาชีพและมาตรฐานการทำหนังสือของสำนักพิมพ์ การสนับสนุนของผู้อ่าน จะทำให้ความตั้งใจของเราไม่สูญเปล่า
สั่งซื้อยกชุดในราคาพิเศษ คลิก https://bit.ly/3alEWMu
สนพ.สมมติขอขอบคุณทุกแรงสนับสนุน