Last updated: 30 พ.ค. 2563 | 5606 จำนวนผู้เข้าชม |
บริบทของอิสรภาพ บทที่ 5 : เทียนวรรณ
โดย นิธิ นิธิวีรกุล
.
ว่า, กษัตริย์ขัตติยาทั่วสากล
คิดเห็นคนเหมือนดังแก้วแลแววตา
เพราะฝูงชนพลไพร่สุขใจแล้ว
เหมือนมีแก้วประดับกายอยู่ซ้ายขวา
ถ้าราษฎรร้อนกรกายฝ่ายวิญญาณ์
ไม่มีผาสุกในพระทัยเลย
- เทียนวรรณ
ในภาพยนตร์ซีรี่ส์ Kingdom มีประโยคจับใจที่นำมาใช้เปรียบเปรยถึงภาวะผู้นำในหลากหลายบริบท แต่บริบทสำคัญสุด วางอยู่บนสถานะของความเป็นผู้นำในฐานะกษัตริย์ที่องค์ชายรัชทายาทกล่าวแก่พระมเหสีที่รั้งตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินว่า "ที่ข้าต้องการให้ท่านลงจากตำแหน่งนั้น ไม่ใช่เพราะท่านเป็นกลุ่มแฮวอนโจหรือข้าปรารถนามัน แต่เพราะผู้ครองตำแหน่งนั้นมีสิ่งพึงกระทำ ประชาชนเปรียบอาหารเป็นดั่งสวรรค์ และกษัตริย์เปรียบประชาชนเหล่านั้นเป็นดั่งสวรรค์เช่นกัน ท่านต้องไปเพราะเมินเฉยข้อปฏิบัตินั้น"
หากเทียบนำบทกวีของ ต.ว.ส.วรรณาโภ หรือ เทียนวรรณ นักคิด นักเขียน ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าที่ถูกจับกุมขังคุกเป็นเวลายาวนานกว่า 17 ปีในฐานะนำเสนอแนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเปรียบกับคำพูดขององค์รัชทายาทในภาพยนตร์ซีรี่ส์ที่แม้ว่าจะเป็นเรื่องแต่ง แต่ทั้งตัวบทกลอนและประโยคในภาพยนตร์ล้วนมีความเกี่ยวโยงที่สะท้อนอุดมคติของความเป็นกษัตริย์สมัยโบราณคล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจ ทั้งที่ตัวบทของทั้งสองอยู่คนละสถานที่ อยู่คนละเวลา
กล่าวคือ แม้เรื่องราวใน Kingdom จะเป็นเรื่องราวสมัยโชซอนของเกาหลี (ค.ศ.1392-1910) แต่ตัวบทที่ปรากฏก็เกิดจากคนเขียนบทในยุคปัจจุบัน แต่บทกลอนของเทียนวรรณนั้นถูกเขียนขึ้นเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว หรือหากเอาช่วงเวลาของสมัยโชซอนมาเปรียบ ก็นับเป็นช่วงปลายรัชสมัยแล้ว กระนั้น ตัวบททั้งสองนี้ก็กลับมีแนวคิดที่ใกล้เคียงสะท้อนอยู่ที่สถานะของความเป็นกษัตริย์ที่ดีต้องปกครองให้ประชาชน อาณาราษฎร อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ว่านิยามของความเป็นสุขจะวางอยู่บนการได้มีอาหารกินอิ่มไม่อดอยาก หรือวางอยู่บนเสรีภาพ ไม่ถูกกดขี่จากผู้มีอำนาจในนามของกษัตริย์เองก็ตาม
2385-2411
จากหนังสือ ชีวิตและงานของ เทียนวรรณ และ ก.ศ.ร.กุหลาบ ของ ชัยอนันต์ สมุทวณิช ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 สนพ.บรรณกิจ พ.ศ.2524 บอกให้รู้ถึงที่มาที่ไปของชื่อ เทียนวรรณ ผู้ถือกำเนิดในครอบครัวมีฐานะ ต้นตระกูลคือ ขุนเทียนวิเชียรพงษ์ ขุนนางสมัยอยุธยา มีหน้าที่รักษาป่ามังคุดในบริเวณพื้นที่บางขุนเทียนปัจจุบัน และกลายเป็นที่มาของชื่อ บางขุนเทียน ด้วย
เทียนวรรณ แต่เดิมนั้นมีชื่อแค่ เทียน เพราะคนในครอบครัวว่าหน้าตาละม้ายกับทวดมาก (น่าสงสัยว่าในยุคที่ห่างกันระหว่างสมัยอยุธยามาถึงต้นรัตนโกสินทร์ คนในครอบครัวรู้ได้อย่างไรว่าหน้าตาขุนเทียนวิเชียรพงษ์เป็นแบบไหน) นาม เทียน อยู่กับตัวเด็กชายจนถึงอายุ 25 ในเพศบรรพชิต แต่ด้วยความเป็นคนหน้าตาดี พระเทียนจึงถูกคนในวังไม่ชอบหน้า เมื่อได้รับเชิญให้ไปเทศนาถึงในวัง เหล่าขุนนางที่ไม่ชอบพระเทียนจึงนำความว่าพระเทียนไปผูกสมัครรักใคร่กับสาวชาววัง ซึ่งผิดธรรมเทียม ความไม่พอใจนี้ดำรงอยู่จนถึงตอนพระเทียนย้ายจากวัดประราชประดิษฐ์ที่จำวัดแต่เดิมไปยังวัดบวรนิเวศฯ แล้วสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ได้เปลี่ยนชื่อให้จากเทียนเป็นเทียนวรรณ แต่ถึงแม้เปลี่ยนชื่อ แต่ความอึดอัดคับข้องใจของพระเทียนก็ไม่คลายลง ที่สุดพระเทียนจึงลาสิกขา แล้วลงเรือรอนแรมไปต่างประเทศอยู่หลายปีจึงได้คืนกลับสู่สยาม
รัตนโกสินทร์ศกที่ 101-117
ในการคืนกลับมาสู่บ้านเกิดหลังจากได้เป็นหูเปิดตาในต่างแดนมาแล้วนี้ จากเด็กหนุ่มที่ผ่านการบวชแทบไม่สนใจเรื่องราวทางสังคมและการเมือง ก็เปลี่ยนแปลงการเป็นผู้ที่สนใจในปัญหาต่างๆ ในบ้านเมือง จากความได้เป็นพ่อค้าที่มองเห็นปัญหาของนิสัยชาวสยามในยุคนั้นที่ไม่ยอมลดตัวลงมาทำอาชีพค้าขาย ปล่อยให้พ่อค้าคนกลางนำสินค้าไปขายต่อ โดยที่ตัวผู้ผลิต ซึ่งเป็นชาวสยามกลับได้ผลตอบแทนน้อยกว่ามูลค่าที่ควรได้มากนัก เทียนวรรณจึงก้าวเข้ามาเป็นพ่อค้า และเริ่มแต่งตัวตามสมัยนิยมด้วยการสวมเสื้อแบบตะวันตก เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าราษฎรสามัญชนธรรมดาทั่วก็สามารถตกแต่ง 'เปลือก' ภายนอกให้ดูดี ใช่ว่าจะมีแต่ข้าราชการเท่านั้น ซึ่งความสามารถในด้านการค้าขายนี้เองที่ทำให้เทียนวรรณมีโอกาสรู้จักมักคุ้นกับกลุ่มคนชนชั้นสูง ขณะเดียวกันการติดต่อซื้อขายจากราษฎรทั่วไปก็ทำให้เทียนวรรณมองเห็นปัญหาที่ราษฎรไร้อำนาจ ไร้ฐานันดรศักดิ์ต้องเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบ นำไปสู่การตั้งสำนักงานว่าความขึ้นชื่อว่า "ออฟฟิศอรรศนานุกูล" บริเวณสี่แยกคอกวัว สำนักงานว่าความของเทียนวรรณประสบความสำเร็จเพียงไรนั้นไม่ปรากฏ แต่ที่ปรากฏชัด และนำไปสูการถูกคุมขังเป็นเวลา 17 ปี มีสาเหตุจากการที่เทียนวรรณได้เขียนฎีการ้องทุกข์ให้ราษฎรโดยไม่ได้ขออนุญาตกับกระทรวงวัง เทียนวรรณจึงมีความผิดฐานหมิ่นตราพระราชสีห์ ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้เขียนไว้ใน 'เพื่อนพ้องแห่งวันวารฯ' หน้า 45 ว่า
[...] 'เทียนวรรณ' ในฐานะสามัญชนได้เสนอความคิดเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจให้รัชกาลที่ 5 เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น 'ระบบปาเลียเม้นต์' อีกทั้งต่อมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็มีเจ้านายชั้นสูงและขุนนางข้าราชการกลุ่มหนึ่งได้กราบถวายบังคมทูลความเห็นให้รัชกาลที่ 5 จัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดินในทำนองดังกล่าว ซึ่งกลุ่มเจ้านายชั้นสูงและขุนนางข้าราชการผู้หาญกล้าในยุคนั้นก็อย่างเช่นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กรมพระเนรศวรฤทธิ์ฯ กรมพระสวัสดิ์วัฒนวิดิษฏ์ นายบุศย์ นายนกแก้ว หลวงเดชนายเวร ฯลฯ ซึ่งบางคนเป็นนักเรียนนอกรุ่นแรกที่ไม่พอใจรูปแบบการปกครองของคนรุ่นในสมัยนั้น และผลจากการเรียกร้องดังกล่าวได้ทำให้รัชกาลที่ 5 ต้องปรับปรุงระบบราชการครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2435 แต่ทว่าไพร่สามัญชนเช่น 'เทียนวรรณ' ที่เรียกร้องในเรื่องเดียวกันกลับถูกตัดสินจำคุกในข้อหาเรื่อง 'ปาเลียเม้นต์' อยู่นานถึง 17 ปี […]
ข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างไรนั้น ยังไม่ใช่หน้าที่ของบทความที่จะทำการสะสางว่า เทียนวรรณถูกจำคุกในข้อหาหมิ่นตาพระราชสีห์หรือข้อหานำเสนอแนวคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองกันแน่ เพราะใน "ชีวิตและงานของ เทียนวรรณ และ ก.ศ.ร.กุหลาบ" ชัยอนันต์ได้นำเสนอข้อมูลจากปากคำบอกเล่าของ ดำริห์ โปรเทียรณ์ หลานปู่ของเทียนวรรณที่ว่า สาเหตุที่เทียนวรรณถูกจับขังคุกจริงๆ นั้น เป็นเพราะไปแต่งกลอนถวายรัชกาลที่ 5 แล้วชนะเจ้านายพระองค์อื่นๆ จึงหาเรื่องกลั่นแกล้ง เรื่องจึงมาตกที่การตั้งสำนักงานว่าความที่ไม่ได้ขออนุญาตกระทรวงวัง นำไปสู่การถูกขังลืมเป็นระยะเวลาถึง 17 ปี จนกระทั่งกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ไปตรวจคุกที่คุมขังนักโทษแล้วจึงพบเทียนวรรณถูกขังคุกด้วยความกลั่นแกล้ง ซึ่งหากเมื่อนับช่วงระยะเวลา 17 ปีที่เทียนวรรณอยู่ในคุก ตั้งแต่ปีรัตนโกสินทร์ศกที่ 101 ถึง 117 ซึ่งตรงกับพุทธศักราช 2425 ถึง 2442 ในขณะที่แนวคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือที่จริงแล้วคือแนวคิดในการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทที่ควรเป็นของผู้นำเหมือนเช่นบทกลอนที่ยกมาข้างต้นนั้น ปรากฏอยู่ใน ตุลวิภาคพจนกิจ ซึ่งเริ่มจัดพิมพ์หนึ่งปีหลังเทียนวรรณออกจากคุก คือระหว่าง พ.ศ.2443 ถึง พ.ศ.2449 นั่นหมายความการเปลี่ยนแปลงระบบราชการที่นำไปสู่การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2435 นั้นเทียนวรรณได้ถูกขังคุกไปแล้ว 10 ปี
อีกทั้งข้อเสนอหรือแนวคิดในการปรับปรุงเปลี่ยนระบบสังคมและการเมืองนั้น เทียนวรรณ ได้นำเสนอไว้ใน ตุลวิภาคพจนกิจ เล่มที่ 5 ออกจำหน่ายวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2449 ในเรื่อง "หัวใจของความเป็นเอกราช" และนำเสนอเรื่องการให้มีรัฐสภาไว้หนึ่งปีก่อนหน้านั้นผ่านคำกลอน ดังมีเนื้อหาว่า
“ไพร่เปนพื้นยืนร้องทำนองชอบ
ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นหนึ่งช้าล้าหลังยังมิทำ
จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย
ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก
บำรุงรักษาชาติสอาดศรี
ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี
จงเปนศิวิไลซ์จริงอย่านิ่งนาน
ให้รีบปาลิเมนต์ขึ้นเปนหลัก
จะได้ชักน้อยใจไพร่สมาน
เร่งเปนฟรีปรีดาอย่าช้ากาล
รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย”
กบฏ ร.ศ.130
จากบทความ "เผยบันทึกผู้วางแผน กบฏ ร.ศ.130 เมื่อทหารหนุ่มประชุมลับถามหาอนาคตของประเทศ" ทำให้เห็นว่า คณะนายทหารที่ร่วมกันการกบฏเมื่อ พ.ศ.2455 ในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้นมีแนวคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ต่างจากเทียนวรรณ แต่สิ่งที่แตกต่าง และชัยอนันต์ได้วิเคราะห์ไว้ คือ เทียนวรรณนั้นต้องการให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐสภานั้น ควรเกิดขึ้นด้วยการพระราชทานเจ้ากษัตริย์ ซึ่งเทียนวรรณเชื่อกระทั่งคำนายว่าอย่างไรเสีย การเปลี่ยนแปลงการปกครองจะต้องเกิด แต่จะเกิดแบบไหน และอย่างไร กษัตริย์สามารถเลือกได้ และในช่วงท้ายของชีวิต สามปีก่อนจะเสียชีวิต เทียนวรรณก็ได้เห็นจุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วแปรเปลี่ยนกลายเป็นกบฏจากเหตุการณ์กบฏเหล็ง ศรีจันทร์ หรือกบฏ ร.ศ.130 โดยชื่อเหล็ง ศรีจันทร์นั้นมาจากตัว ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ ผู้เป็นหัวหน้าคณะก่อการ ซึ่งมีความตั้งใจถึงขั้นลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 6 โดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างทหารราบที่ 1 กับทหารมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ตำแหน่งก่อนขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 6 โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขอให้รัชกาลที่ 5 ลงโทษตามธรรมเนียมโบราณด้วยการเฆี่ยนทหารในหน่วยราบที่ 1 แต่กรมราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าประเทศสยามได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันสมัยแล้วไม่ควรนำประเพณีโบราณกลับมาใช้อีก ทว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยืนกราน มิเช่นนั้นจะทรงลาออกจากตำแหน่งรัชทายาท รัชกาลที่ 5 จึงทรงอนุญาตให้มีการลงโทษด้วยการเฆี่ยนทหารราบที่ 1 ซึ่งนำความไม่พอใจต่อทหารทั้งหลาย รวมถึงนักเรียนนายร้อยทหารบก จวบจนถึงพ.ศ.2453 เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 6 แล้วก่อตั้ง 'กองเสือป่า' ขึ้นมา นักเรียนนายร้อยทหารบกรุ่น ร.ศ.129 ที่ยังจดจำเหตุการณ์เมื่อปลายรัชสมัยก่อนและยังรู้สึกว่าเกียรติทหารถูกลบหลู่อยู่ กลับยิ่งรู้สึกมากยิ่งขึ้นต่อการปรากฏของ 'กองเสือป่า' ที่มีสถานะไม่ต่างจากกรมกองทหารต่างๆ ทว่า 'กองเสือป่า' ล้วนถูกเลือกสรรจากหมู่คนใกล้ชิดรัชกาลที่ 6 ซึ่งสถานะและบทบาทของ 'กองเสือป่า' ในสายตาของทหารรุ่น ร.ศ.129 ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อประเทศชาติ มิหนำซ้ำยังสิ้นเปลืองเงินในท้องพระคลัง ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ จึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ แต่ความมาแตกเสียก่อน จากทหารหนึ่งในคณะที่กลัวอาญาแผ่นดิน
ในขณะที่เทียนวรรณอายุ 70 ปี 'ศรีบูรพา' อายุ 7 ขวบ 'สอ เสถบุตร' อายุ 9 ขวบ ด้วยวัยที่ยังเด็กมากของนักเขียนรุ่นหลังทั้งคู่ คงยากที่จะบอกได้ว่าทั้ง 'ศรีบูรพา' และ 'สอ เสถบุตร' คิดและรู้สึกอย่างไรต่อคำว่าเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในขณะที่เทียนวรรณได้ออกตัวไปแล้วผ่านคำกลอนด้วยประโยคที่ว่า ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก เขาคงรู้แล้วว่าแสงสุดท้ายของชีวิตใกล้จะลาดับลงไปทุกขณะ และถ้าหากยึดเอาการตีความตามชัยอนันต์เป็นหลัก ว่าเทียนวรรณปรารถนาให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นจากการพระราชทานของกษัตริย์ด้วยไม่ปรารถนาให้เกิดความรุนแรงเช่นในนานาประเทศตะวันตก คณะผู้ก่อการ ร.ศ.130 คงอาจไม่ได้คิดเช่นเทียนวรรณ เพราะหนึ่งในความมุ่งหมายนั้น คือ การลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 6 แม้ว่าที่สุดแล้ว ความมุ่งหมายนี้ในที่สุดแล้วจะไม่เกิดขึ้นก็ตามที
กระนั้น สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ งานเขียนของเทียนวรรณที่ปรากฏใน ตุลวิภาคพจนกิจ และ ศิริพจนภาค ที่กระจายสู่กลุ่มคนในสังคม ทั้งชนชั้นสูง รวมถึงเชื้อพระราชวงศ์ กระทั่งกษัตริย์ และราษฎรทั่วไปนั้น มากหรือน้อย หรือแม้กระทั่งไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ แต่ทั้งคณะกบฏ ร.ศ.130 (ซึ่งปณิธานของเหล็ง ศรีจันทร์ ได้ถูกส่งต่อไปยังคณะราษฎร) 'ศรีบูรพา' และ สอ เสถบุตร ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลทางความคิดของเทียนวรรณ ในขณะที่ปณิธานทางความคิดของทั้ง 'ศรีบูรพา' และ 'สอ เสถบุตร' ที่แม้จะมีความแตกต่างทางอุดมการณ์ก็ล้วนส่งต่ออุปลักษณ์ของทั้งความเป็นนักเขียน นักประพันธ์ และผู้มีใจรักในประชาธิปไตย ความเป็นธรรมในสังคมมายังบุคคลอย่าง 'นายผี' และ 'จิตร ภูมิศักดิ์' ในที่สุด
ความคิดที่ถูกส่งต่อ อุดมการณ์ที่ถูกถ่ายผ่านตัวอักษร ผ่านหนังสือ ผ่านความทุกข์ยากของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่แม้กาลเวลาจะผ่านไปกี่ปีต่อกี่ปี สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ และแปลกอย่างไม่น่าเชื่อว่าแม้กาลเวลาจะผ่านมานับร้อยปีเช่นนี้แล้ว สิ่งที่เทียนวรรณเขียนไว้ สิ่งที่ 'ศรีบูรพา' นำเสนอไว้ สิ่งที่ 'สอ เสถบุตร' เชื่อมั่น รวมถึงสิ่งที่ 'นายผี' และ 'จิตร ภูมิศักดิ์' เอาชีวิตเข้าแลก ทั้งด้วยอิสรภาพจากการถูกจำคุกที่เหมือนกันของนักประพันธ์ทั้งห้า ทั้งด้วยเอาชีวิตเข้าแลกของนักประพันธ์สองคนสุดท้ายในยุคสมัยหลังจากเทียนวรรณกว่าห้าสิบปี แต่สังคมไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจะเกิดขึ้นแล้วดังที่เทียนวรรณได้เสนอไว้ และวาดหวังให้เป็นจริง
ทว่า...แม้ประชาธิปไตยที่ได้มาในปัจจุบันจะไม่ใช่ประชาธิปไตยจากการพระราชทานดังเช่นที่เทียนวรรณปรารถนา (อีกครั้ง หากยึดเอาตามที่ชัยอนันต์ได้ตีความไว้) และนับวันในปัจจุบัน หลายสิ่งหลายอย่างได้ส่อแนวทางไปยังการหมุนย้อนเวลากลับไปยังยุคสมัยก่อนจะมีประชาธิปไตย ก่อนจะมีการอภิวัฒน์ 2475 ประเทศนี้ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอยู่ แต่จะเป็นจริงได้เพียงใด แต่จะเติมเต็มคำว่าประชาธิปไตยได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีอีกกี่คนถูกคุมขังด้วยข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศชาติสักเท่าไหร่ กระทั่งเพียงความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมือง เราก็ยังเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
ขอให้สิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวที่จะไม่เปลี่ยนแปร สมปณิธานของเทียนวรรณที่ได้เรียกร้องและเชื่อมั่นในระบอบปกครองนี้ตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต.
========================
อ่านบริบทของอิสรภาพ ของนักคิด นักเขียนไทย คนอื่นๆ
บทที่ 1 : บทที่ 1 : ศรีบูรพา | กุหลาบ สายประดิษฐ์
บทที่ 2 : นายผี | อัศนี พลจันทร
บทที่ 4 : ทีปกร | จิตร ภูมิศักดิ์
22 ธ.ค. 2567
17 ก.ค. 2563
17 มิ.ย. 2563