หนังสือกวีนิพนธ์เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ | ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้

Last updated: 30 ก.ย. 2567  |  8640 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หนังสือกวีนิพนธ์เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ | ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้

ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้ โดย ชญรัตน์ ชญารัตน์

กวีนิพนธ์เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์

บทกวีไร้ฉันทลักษณ์เล่มนี้ มีความน่าสนใจอย่างยิ่งอีกเล่มหนึ่ง ผู้เขียน (ชญรัตน์ ชญารัตน์) บอกเล่าความรู้สึก นึกคิด และมุมมองทัศนะของตน ที่มีต่อเรื่องราวต่างๆ ในสังคม ที่ผู้คนส่วนใหญ่มีชีวิตท่ามกลางความอึดอัดขัดแย้ง ปัญหาและความทุกข์ยากที่เกิดจากการกระทำของตนเองหรือที่ถูกกระทำจากค่านิยมและมาตรฐานของสังคม หรือที่ถูกผู้มีอำนาจสร้างขึ้น ทั้งสังคมใกล้ตน หรือสังคมอื่นที่ไกลออกไป

เรื่องราวเหล่านั้นมักอิงอยู่กับปัญหา เรื่องหนักๆ หรือเป็นประเด็นความขัดแย้ง ที่แก้ได้ยาก มีทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้านกันทั้งสองฝ่าย

ผู้เขียนมีลีลาการเขียนที่เคร่งเครียด จริงจัง ตีตรงประเด็น กระแทกตรงที่ปัญหาอย่างไม่อ่อนข้อ แฝงอยู่ในลีลาการเขียนที่เยาะหยันและประชดประชัน

ความโดดเด่นของบทกวีเล่มนี้ จึงอยู่ที่ความสามารถของผู้เขียนซึ่งเขียนเรื่องหนักๆ ใช้ถ้อยคำที่จริงจังผสานกับจินตนาการอันเพริศพราย

ผู้อ่านจึงอาจรู้สึกเครียด หม่นมัว ในการอ่านครั้งแรกพร้อมๆ กับความสวยงามหวานหวิว ตื่นตะลึงไปกับอารมณ์และจินตนาการที่มากมาย เหลือเชื่อ ล้นกรอบความเคยชิน และการอ่านครั้งต่อไป ความคิดและอารมณ์อาจแตกต่างจากครั้งแรก เห็นคล้อยตาม รักบทกวีนั้นๆ ขณะที่บางคนอาจเห็นแย้ง โกรธ เกลียด ทัศนะของผู้เขียน

การอ่านบทกวีเล่มนี้ จึงอ่านได้หลายรอบ และจะไม่รู้สึกเสียดายเวลา ตรงกันข้าม ผู้อ่านจะเพลิดเพลินไปกับจินตนาการแห่งถ้อยคำ และความนึกคิดใหม่ๆ ที่แปลกหรือแตกต่างจากความรู้สึกนึกคิดเดิม

-- คำประกาศจากคณะกรรมการซีไรต์ --





==================


บทแนะนำ โดย ‘กัลปพฤกษ์’ 


ผลงานกวีนิพนธ์เล่มแรกของกวีหนุ่ม ชญรัตน์  ชญารัตน์ ที่สะท้อนห้วงความคิดของคนหนุ่มผู้ไม่พอใจต่อสภาพชีวิต สังคม การเมือง และผู้คนในยุคปัจจุบัน กึกก้องไปด้วยน้ำเสียงแห่งความเกรี้ยวกราดและอัดอั้น สลับกับการกล่าวถึงคนใกล้ชิดและหญิงคนรัก ด้วยท่าที หนักแน่น ครุ่นคิด ขึงขัง เอาจริงเอาจังในทุก ๆ วรรควลี 

กวีระบายความรู้สึกต่าง ๆ จากห้วงภายในผ่านบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่มีทั้ง บทกวีแคนโต้ กลอนเปล่า กลอนอิสระ กวีนิพนธ์ร้อยแก้ว ไปจนถึงนิทานกวีนิพนธ์  ด้วยถ้อยคำที่กระแทกกระทั้น ใช้กระบวนสัญลักษณ์เป็นอาวุธในการกล่าวโจมตีผู้มีอำนาจจากความไม่ชอบธรรมทั้งหลาย ให้ภาพอันหดหู่ชวนสิ้นหวังของสังคมรอบตัวเราในยุคปัจจุบันที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็ดูจะไร้แสงสว่างส่องชี้ทางออก ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในบท “ความทรงจำในคืนวันอันปกติ” ที่กล่าวถึงการปฏิวัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 …ความทรงจำในคืนวันอันแสนปกติ
รถถังเพ่นพ่านตะกุยผิวถนนเหวอหวะ
ท่านนายพลประกาศตนเป็นนายกรัฐมนตรี
คำรามกร้าวกลบเสียงประชาชนนับล้านล้าน
ฉีกรัฐธรรมนูญปลิวว่อนดุจห่าฝน
รุ่งสางอาทิตย์ส่องแสงสะท้อนภาพเดิมสู่นัยน์ตา
คืนวันอันปกติสุขผ่านพ้นไปอีกเช่นเดิม
ความทรงจำประทับฝังแน่น
รอคอยการปฏิวัติครั้งหน้าด้วยหัวใจอันเป็นปกติสุข

ความโดดเด่นของบทกวีใน ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้ คือ ชญรัตน์  ชญารัตน์ ใช้วิธีและน้ำเสียงการบอกเล่าอันหลากหลายในการถ่ายทอดความคิดอ่านของเขาเอง มีทั้งการเล่าสถานการณ์จากมุมมองของบุรุษที่สาม การใช้สรรพนามแทนตนเองในหลายนัยยะทั้ง ผม ฉัน ข้า ข้าพเจ้า ไปจนถึงการถ่ายทอดด้วยบทพูดเดี่ยว monologue หรือบทสนทนาระหว่างตัวละคร แต่ที่สำคัญคือ ชญรัตน์  ชญารัตน์  สามารถเฟ้นสรรถ้อยคำเพื่อระบายความคิดอ่านของเขาออกมาได้อย่างจริงใจ ทุกถ้อยคำตัดพ้อ บริภาษ ล้วนแสดงว่าสถานการณ์ได้ผ่านพ้นเลยจุดที่เขาจะทนต่อไปไหว จึงต้องระเบิดความไม่พอใจผ่านการแสดงทรรศนะอันทรงพลัง ดังเช่นในบท “อารยชนผู้ชอบตะเบ็งเสียงอย่างรื่นรมย์” ที่ประชดประชันผู้ประกาศตนว่าเป็น ‘คนดี’ ทั้งหลายได้อย่างแสบสัน

เพียงเพื่อจะบอกว่าคุณเป็นคนดี
คุณไม่จำเป็นต้องตะเบ็งเสียงกรอกใส่หูผม
ผมรู้แล้ว,
จริงจริงนะ  ผมรู้แล้วคุณเป็นคนดี
แต่บางครั้งคุณควรจะให้เกียรติแก้วหูผมบ้าง
มันรู้ว่าคุณเป็นคนดี
ก่อนที่สมองจะสั่งการให้ผมรู้ว่าคุณเป็นคนดีเสียอีก

ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้ จึงเป็นงานกวีนิพนธ์ที่แสดงภาพแทนน้ำเสียงของกวีรุ่นใหม่ผู้ไม่พอใจต่อสภาพบ้านเมืองในยุคปัจจุบัน  ถึงแม้เนื้อหาออกจะหนักหน่วง หม่นมืด เลือกข้าง และชวนให้หดหู่สิ้นหวังถึงเพียงไหน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือเสียงที่คนรุ่นใหม่บางกลุ่มกำลังรู้สึกอยู่จริงๆ  พวกเขาจึงต้องออกมาตัดพ้อต่อคนรุ่นก่อนๆ ว่า เหตุใดจึงยอมปล่อยให้พวกเขาเติบโตมาในสังคมที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้

- -  โดย ‘กัลปพฤกษ์’ 
==================


คลิกสั่งซื้อ ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้ (In the Century of Collapse)


==================

หนังสือแนะนำ จุดตัดบนฟากฟ้า (An Intersection in the Sky) โดย มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม

บทกวีอีกหนึ่งเล่มที่เข้ารอบ Long List ซีไรต์ 

รวมบทกวีสังเกตการณ์ และเสียงสะท้อนจากด้านในที่ผุพัง



==================

สนใจเป็น SET หนังสือที่รวมทั้ง 2 เล่มนี้

คลิกสั่งซื้อในราคาสุดพิเศษ Set S.E.A. Write หนังสือรางวัล



==================

หนังสือเล่มอื่นๆ ที่ได้รับรางวัลหรือเข้ารอบจากเวทีต่างๆ (คลิกที่รูปหรือชื่อเล่มเพื่อสั่งซื้อ)

1. หลงลบลืมสูญ นวนิยาย โดย วิภาส ศรีทอง

หนึ่งใน Short List รางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยาย




2. ดังนั้นจึงสิ้นสลาย นวนิยาย โดย นิธิ นิธิวีรกุล

หนึ่งใน Long List รางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยาย




3. อาจเป็นเพราะเหตุนั้น รวมเรื่องสั้น โดย นิธิ นิธิวีรกุล

รองชนะเลิศอันดับ 2 เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 14




4. เรย์นัลโด อิเลโต้: มวลชนคนชั้นล่าง ประวัติศาสตร์แห่งชาติ และความรู้แบบอาณานิคม งานวิชาการ โดย ทวีศักดิ์ เผือกสม

รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสารคดี การประกวดหนังสือดีเด่น จาก สพฐ.




5. อนุสาวรีย์ นวนิยาย โดย วิภาส ศรีทอง

หนึ่งใน Long List รางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยาย



6. กวีพูด: รวมสิบเรื่องสั้นของฟ้า โดย ฟ้า พูลวรลักษณ์

รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือรวมเรื่องสั้น การประกวดหนังสือดีเด่น จาก สพฐ.



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้