Last updated: 30 พ.ค. 2563 | 7236 จำนวนผู้เข้าชม |
บริบทของอิสรภาพ บทที่ 2 : นายผี
โดย นิธิ นิธิวีรกุล
.
2541
คืนนั้น...
จำได้ว่าผมเหม่อมองโลงศพสีขาวอยู่พักใหญ่ พยายามสะกดกลั้นหยาดน้ำตาที่รินไหล แต่ก็ไม่เป็นผล เรื่องราวหนหลังผลัดเวียนกันมาผุดพรายอยู่ในห้วงนึก และจบลงที่ฉากการพ่ายแพ้ของตัวเองในสงครามปฏิวัติ
มันเป็นคืนแรกที่กระดูก 'นายผี' มาถึงกรุงเทพฯ
อันที่จริงชื่อ 'นายผี' หรือ อัศนี พลจันทร ไม่ใช่ถ้อยคำที่คุ้นชินของผมเท่าใดนัก เพราะเมื่อครั้งที่เราอยู่ร่วมกัน ผมมักจะเรียกว่า 'ลุงไฟ' ตอนนั้นผมอายุยี่สิบปลายๆ ส่วนลุงกำลังอยู่ในวัยหกสิบต้นๆ
- - - - -
ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
2558
ลูก 'นายผี' ทวงสมบัติพ่อคืน กระเป๋าใส่อัฐิ-รูปอยู่กับ 'หงา'
พาดหัวข่าวบนหน้าเว็บไซต์ของ เดลินิวส์ ออนไลน์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2558 ที่มีจำนวนยอดแชร์บนแพลทฟอร์มเฟซบุ๊คจำนวน 366 ครั้ง บนทวิตเตอร์จำนวน 95 ครั้ง และบน Google+ จำนวน 104 ครั้ง อาจจะบ่งบอกความสนใจของผู้คนรุ่นใหม่ต่อเรื่องราวของ 'นายผี' หรือ 'อัศนี พลจันทร' นักเขียน นักแต่งเพลง นักปฏิวัติ ผู้เป็นเจ้าของบทประพันธ์เพลง ‘เดือนเพ็ญ’ ที่ดารา นักร้อง นำไปร้องมากมาย บางคนอาจรู้แค่ว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ถูกขับขานจากอดีตสหายในป่า บางคนอาจไม่ได้รับรู้อะไรเลย นอกจากมองว่าเป็นเพลงที่มีเนื้อหาลึกซึ้งกินใจ
กระทั่งบางคน ทั้งที่รู้และเคยใกล้ชิดกับผู้ที่ครั้งหนึ่งใช้ชื่อในป่าว่า 'สหายไฟ' กลับหากินอยู่แต่กับเดือนเพ็ญของวันเวลาในอดีตจนลืมสิ้นเดือนเพ็ญที่ทอแสงให้เห็นถึงความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนท่ามกลางความมืดภายใต้รัฐบาลเผด็จการ เหมือนเมื่อครั้งกระโน้นในวันเวลาปัจจุบัน โดยไม่เคยสำเหนียก กระทั่งเฉลียวใจแม้สักนิดว่าอุดมการณ์ที่ตนมองว่าสูงส่งนั้นแท้แล้ว คือ การรับใช้เผด็จการทหารที่เคยต่อสู้ร่วมกันมา
ข่าวลูก 'นายผี' ทวงสมบัติที่อยู่กับอดีตสหายรุ่นน้องอย่าง 'หงา คาราวาน' ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่นำเพลง 'เดือนเพ็ญ' มาขับร้องจนโด่งดังจึงเป็นอะไรที่น่าสนใจ แม้ในเนื้อข่าวจะเป็นเพียงปรารถนาที่ต้องการกระเป๋าใส่อัฐิที่ภรรยา ‘นายผี’ ได้มอบให้ ‘หงา’ ในวันเวลาของอดีตเท่านั้น หาได้มีนัยยะที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันต่อทัศนะหรือท่าทีทางการเมืองแต่อย่างใด แต่เพราะเหตุนั้น พาดหัวข่าวนี้จึงเป็นอะไรที่น่าสนใจ ในแง่มุมของมโนทัศน์การรับรู้ที่ผู้คนมีต่อ ‘นายผี’ และ ‘หงา’ เป็นอย่างไรในห้วงปี 2558 และยิ่งเมื่อมองจากปี 2563
ผลงาน ‘นายผี’ อาจเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากงานด้านกวีนิพนธ์ แต่ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้กล่าวไว้ในงานเสวนา 'วรรณกรรมนายผี กับความยุติธรรมของอัศนี พลจันทร์' เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 ว่า...นอกจากงานด้านกวีนิพนธ์ที่โดดเด่น งานวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่งซึ่งนายผีเขียนไว้เยอะ แต่กลับไม่ค่อยได้รับการพูดถึงหรือศึกษาอย่างจริงจังสักเท่าไหร่ คือ งานประเภท ‘เรื่องสั้น’ ภายใต้หลากหลายนามปากกา อาทิ กุลิศ อินทุศักดิ์, อินทรายุธ, อำแดงกล่อม, หง เกลียวกาม เป็นต้น โดยต้นฉบับที่รวบรวมได้ ณ ตอนนี้ มีทั้งสิ้น 54 เรื่อง เขียนขึ้นระหว่างปี 2489-2503 [1]...
การได้รับรู้ว่า 'นายผี' มีผลงานอื่นนอกจากกวีนิพนธ์นั้นเรื่องหนึ่ง และการได้รับรู้ว่า 'นายผี' ยังเขียนเรื่องสั้นไว้มากมายในหลายนามปากกาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทว่า ประเด็นน่าสนใจจริงๆ อยู่ในบริบทของยุคสมัยระหว่างปี พ.ศ.2489 ถึงปี พ.ศ.2503 ต่างหาก คือ หมุดหมายที่อยากจะลองไปสำรวจดูว่าในห้วงปีนั้นๆ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสังคมไทย ก่อนการเข้าป่าของ 'นายผี' ก่อนหายสาบสูญไปและสิ้นชีวิตของ 'สหายไฟ'
2461-2491
จากปีที่ถือกำเนิดในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ในปีนั้น สยามส่งทหารไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ปีนั้นสหภาพโซเวียตย้ายเมืองจากเซนส์ปีเตอร์สเบิร์กไปมอสโก และปีนั้น 'ศรีบูรพา' อายุ 13 ปี กำลังศึกษาในชั้นมัธยมฯ
จากปีเกิดจนถึงปีเริ่มต้นทำงานในฐานะอัยการผู้ช่วยชั้นตรี พ.ศ.2484 สยาม ได้เปลี่ยนชื่อไปแล้วเป็น ประเทศไทย รัฐบาลภายใต้การปกครองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตระเตรียมพร้อมสำหรับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คืบคลานเข้ามาใกล้หลังกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดดินแดนในเอเชียตะวันออกไหลายประเทศ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2484 ถึง 2495 ซึ่งเป็นปีที่ อัศนี พลจันทร ลาออกจากราชการ เขาได้ฝากผลงานด้านกวีนิพนธ์และเรื่องสั้นไว้มากมายอย่างที่ชูศักดิ์ได้กล่าวถึงไว้ และรวมถึงบทบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 'อ่าน' ที่ได้เขียนไว้ว่า
[…] นายผีเขียนงานในระหว่างปี 2484-2504 ซึ่งเป็นช่วงก่อนรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 จนถึงหลังรัฐประหาร 20 ต.ค.2501 เล็กน้อย มองในแง่นี้ งานเขียนของเขาจึงอาจถือเป็นหลักฐานหรือจุดอ้างอิงบางอย่างเดียวกับสถานการณ์ทางสังคมการเมืองในระยะเวลา 20 ปี ดังกล่าวได้ […]
จุดอ้างอิงแรกที่ปรากฏตามบันทึกของ 'อ่าน' คือ งานด้านกวีนิพันธ์ในห้วงหลังของปี 2489 ซึ่งตีพิมพ์ลงใน สยามสมัยรายสัปดาห์ นั้น ทำให้ 'นายผี' เป็นที่รู้จัก ถึงขนาดมีผู้อ่าน ปิยะมิตรวันจันทร์ เรียก 'นายผี' ว่า 'ควาย' บ้าง 'แดง' บ้าง 'กบฏเจ้า' บ้าง [2]
หากใช้นิยามที่ผู้อ่านเมื่อกว่า 70 ปีก่อนมีให้ พูดได้เลย คำว่า 'ควายแดง' 'ล้มเจ้า' ที่ปรากฏอยู่บนแพลทฟอร์มเฟซบุ๊คของการเมืองร่วมสมัยในปัจจุบันนั้นมีมานานแล้ว แม้ความหมายและนัยยะของคำว่า 'แดง' จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย กระทั่งคำว่า 'ควายแดง' ในห้วงขณะปัจจุบัน (มีนาคม พ.ศ.2563) อาจไม่ได้หมายถึงทั้งผู้ที่คิดต่างทางการเมือง หรือมีความคิดโน้มเอียงไปทางฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ สังคมนิยม เหมือนในยุคเก่าก่อนอีกแล้วด้วยซ้ำ
กระนั้น หากมองเพียงบริบทการเมืองในห้วงปี พ.ศ.2489 ถึง พ.ศ.2490 จนถึงรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน ก่อนจะไปถึงจุดที่ทำให้ อัศนี พลจันทร ลาออกจากข้าราชการ พูดได้ไหมว่า ภาวะของความเป็นกบฏที่ผู้อ่านมีให้ 'นายผี' ในฐานะกวีนั้น ปรากฏอยู่ด้วยในเงาร่างของ อัศนี พลจันทร ในฐานะอัยการ
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวถึง 'นายผี' ในฐานะนักกฎหมายผู้มาก่อนกาลเอาไว้ว่า การอภิวัฒน์ 2475 นั้น แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่โครงสร้างของระบบตุลาการไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด และ 'นายผี' ก็พูดถึงประเด็นนี้ไว้ในปี พ.ศ.2491 ภายหลังรัฐประหาร 2490 ซึ่งสำหรับการรับรู้ของผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยต่างรู้กันดีว่า หมุดหมายของปัญหาการเมืองไทยของการเกิดขึ้นมาของระบบทหารอย่างเข้มแข็งนั้นเริ่มต้นจากการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 นี้เอง
'นายผี' ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างตุลาการที่วรเจตน์เองได้ตระหนักว่าตนไม่ได้เป็นผู้มองเห็นเรื่องนี้ก่อน ทว่า 'นายผี' ต่างหาก คือ ผู้ที่เสนอไว้ตั้งแต่อดีต
[…] ตามวิธีการแห่งระบอบประชาธิปไตย ที่แบ่งอำนาจอธิปไตยออกไปเป็นหลายอย่างนั้น อำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่จะพิทักษ์รักษาความปลอดภัยและเสรีภาพของมนุษย์ตามเหตุผล ที่ใดอำนาจตุลาการไม่ศักดิ์สิทธิ์ ที่นั่นย่อมเกิดยุคเข็ญ บ้านเมืองสมควรที่จะจัดการให้ศาลยุติธรรมได้เป็นหลักประกันในความปลอดภัยและเสรีภาพ ตลอดจนเป็นหลักประกันในการวินิจฉัยข้อพิพาทอย่างเป็นธรรมโดยแท้จริง
การจัดการนี้ น่าจะมิได้หมายความเพียงว่า จะจัดการแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยการศาล หรือจัดการอบรมบ่มนิสัยผู้พิพากษาให้พ้นสภาวะกิเลสอันชั่วช้าสามานย์ หรือจากการปลูกฝังความรู้ความคิดในตัวผู้พิพากษาให้เป็นผู้ทรงธรรมะ และทรงความจัดเจนในความรู้ทั้งหลายเท่านั้น หากต้องจัดการปฏิวัติการศาลเสียใหม่
เลนินได้กล่าวว่า ใครจะว่าเราไม่จัดการแก้ไขปรับปรุงศาลก็ช่างเขา แต่เราจะต้องเลิกร้างการศาลยุติธรรมอย่างเก่าเสียให้สิ้นเชิง การจัดการศาลยุติธรรมอย่างใหม่ หรือการปฏิวัติการศาลยุติธรรมนั้น เป็นหลักใหญ่หลักหนึ่งแห่งการปฏิวัติระบอบการปกครอง ซึ่งการปฏิวัติเมื่อปี 2475 ของเรา ยังหาได้ก้าวไปถึงไม่…
แม้วรเจตน์กับ 'นายผี' จะเห็นตรงกันในเรื่องสิ่งที่คณะราษฎรควรทำ แต่ไม่ได้ทำ คือ ปฏิวัติกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ดี แต่สิ่งที่วรเจตน์เห็นต่าง คือ มองว่าระบบตุลาการ ศาล เป็นเพียงกลไกหนึ่งของการแบ่งแยกอำนาจตามหลักนิติรัฐเท่านั้น หาใช่การปฏิวัติในกรอบคอมมิวนิสต์อย่างที่ 'นายผี' ยกเลนินขึ้นมาเป็นตัวอย่าง
2495
“...ถ้าเรามองปัญญาชนไทยตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมา เราอาจจะแบ่งได้เป็น 3 เจเนอร์เรชั่นใหญ่ๆ ผมอธิบายคำว่าเจเนอร์เรชั่นนิดนึง เนื่องจากคนเราไม่ได้เกิดเหมือนเครื่องจักร คือ เกิดแล้วหยุดเกิด แล้วแบ่งเป็นเจเนอร์เรชั่นใช่ไหมครับ คือ มันซ้อนกันอยู่ อย่างเจเนอร์เรชั่นแรก อาจารย์ปรีดี แกอยู่จนมาถึงรุ่นผม หรืออย่างนายผีเองก็อยู่จนมาถึงรุ่นผมเหมือนกัน คนรุ่นผมจำนวนมาก เนื่องจากผมไม่ได้เข้าป่า คนรุ่นผมจำนวนมากเจอนายผี เพราะฉะนั้น ในแง่เจเนอร์เรชั่น ไอเดียมันไม่ได้อยู่ที่ว่ามันซ้อนกันไม่ได้ อะไรไม่ได้ ไอเดียมันอยู่ตรงนี้ครับ คือ คนเราทุกคนเกิดมามันจะบรรลุวุฒิภาวะทางความคิด ทางคาเรคเตอร์ทางใจ โดยทั่วไปมันจะอยู่ที่ประมาณยี่สิบกว่าๆ ถึงสี่สิบ ซึ่งทุกคนจะเป็นแบบนี้หมด มันฟอร์มขึ้นมาจากสภาวะแวดล้อม จากอะไรหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นการแบ่งเจเนอร์เรชั่นจึงแบ่งอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคนที่มันเกิดในปีใกล้ๆ ไม่ห่างกันมาก มันเป็นไปได้ที่มันจะเจอสภาพสังคมไม่ต่างกัน สภาพแวดล้อมอะไรต่างๆ ก็เป็นไปได้ที่มันจะแชร์อะไรหลายๆ อย่างร่วมกัน รุ่นแรกคือรุ่นที่เกิดปี 2430 ถึง 2450 รุ่นถัดมา 2450 ถึง 2470 รุ่นที่สามคือรุ่นที่เกิดในปี 2480 ถึง 2500…คือคนพวกนี้โตขึ้นมาทันเจอคณะราษฎร แต่ไม่เจอคณะราษฎรพอดี เจอจอมพลป.แล้ว ที่สำคัญคือมาเจอใกล้ๆ สงครามโลก อย่างนายผี ’61 ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้น เฟคเตอร์ที่สำคัญมาก คณะราษฎรเริ่มเป็นยุคปลายแล้ว หรืออาจเป็นยุคเสื่อมแล้ว ประเด็นที่สองพวกนี้เจอสงครามโลก แม้อาจไม่เป็นประสบการณ์เหมือนพวกปัญญาชนจำนวนมากในประเทศ ประเด็นที่สาม มันเกิดวิกฤติที่เรียกว่าเป็นวิกฤติต่อเนื่องกัน คือ วิกฤติสวรรคต กับ 8 พ.ย.การกลับฟื้นอำนาจของพวกนิยมเจ้า...”
หาก 'จับวาง สิ่งที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พูดไว้ในงาน 'กวีของนายผี และการเมืองของอัศนี พลจันทร' ในวาระครบรอบชาติกาล 95 ปีของ นายผี อัศนี พลจันทร เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2556 เป็นแกนในการ 'จัดวาง' ความคิดของ 'นายผี' จะเห็นความเหลื่อมซ้อนในสภาวะของการรับรู้ต่อสภาพแวดล้อมของบ้านเมืองตั้งแต่หลังอภิวัฒน์สยาม 2475 สงครามโลกครั้งที่ 2 การสวรรคตของรัชกาลที่ 8 การรัฐประหาร 2490 ที่นำมาสู่การเกิดขึ้นของคณะรัฐบาลทหารอย่างเข้มแข็ง และนำไปสู่การต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้นในภายหลังในห้วงปี พ.ศ.2516 จนถึงจุดแตกหักอย่างรุนแรงในปี พ.ศ.2519
ท่ามกลางบริบทก่อน พ.ศ.2500 ผู้สนใจต่างรับรู้ดีว่ากรณีลาออกจากตำแหน่งอัยการของ อัศนี พลจันทร อาจมีเงื่อนปมมาจากการไล่จับกวาดล้าง ปัญญาชน นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ประชาชน ในคราวกบฏสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ.2495 หลังจากอัศนีพยายามต่อต้านอำนาจไม่เป็นธรรมผ่านบทบาทของข้าราชการอัยการมาตลอดตั้งแต่เริ่มรับราชการในปี พ.ศ.2484
ห้วงเวลา 11 ปีที่อัศนีเฝ้ามอง แลเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ จากผู้มีอำนาจในสังคม ที่แม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แต่ก็อย่างที่สมศักดิ์ได้พูดไว้ อัศนี หรือ 'นายผี' มาทันคณะราษฎรในตอนที่จอมพล ป.ขึ้นมามีอำนาจ ไม่ใช่คณะราษฎรในยุคแรกเริ่ม สภาวการณ์ที่ 'นายผี' รับรู้เกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ จึงไม่อาจปฏิเสธบทบาทของ 'กบฏ' ที่ปรีดีเป็นตั้งแต่ 'กบฏวังหลวง' ในปี พ.ศ. 2492 'กบฏแมนฮัตตัน' ในปี พ.ศ. 2494 จนมาถึง 'กบฏสันติภาพ' ในปี พ.ศ.2495 ก่อนจะจับอาวุธเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในที่สุด
ดังนั้น หากสมมติเรามองแบบนี้ได้ไหม (ขอให้เป็นเพียงภาวะสมมติหนึ่ง) การที่อัศนี พลจันทร ถูกแปะป้ายไม่ต่างจากกลุ่มคนในสังคมไทยส่วนหนึ่งปัจจุบันที่ถูกมองว่า 'ชังชาติ' บ้าง 'ควายแดง' บ้าง การที่ในสถานะของ 'นายผี' ต้องอยู่กับคำครหาในฐานะ 'กบฏเจ้า' มาตลอด มีส่วนในการผลัก 'นายผี' ให้หันเข้าหากองกำลังเดียวในห้วงเวลานั้นที่มีทั้งสรรพกำลังและสรรพอาวุธมากพอที่จะต่อสู้กับกองทัพไทยได้ นั่นคือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
และจากปีนั้น จากกวี นักเขียน ในฐานะ 'กบฏ' ในฐานะ 'นายผี' จึงกลายมาเป็น 'สหายไฟ' ในฐานะกองทัพปลดแอกประชาชนจากอำนาจนำของรัฐที่ อัศนี พลจันทร มองเห็นถึงความไม่เป็นธรรมมาโดยตลอดด้วยสายตาของอัยการคนหนึ่ง ด้วยสายตาของข้าราชการคนหนึ่ง—ในที่สุด
2563
กลับมายังประเด็นเรื่องสมบัติของ 'นายผี' จากกรณีลูกทวงคืนสมบัติจาก 'หงา' ซึ่ง ปาริชาติ พลจันทร หลานสาวของ อัศนี พลจันทร ที่ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเอาไว้นั้น ทำให้แง่มุมหนึ่งที่มีต่อตัวตนของ ‘นายผี’ ในแง่มุมของสมบัติชาติที่เชื่อมโยงระหว่างสมบัติส่วนครอบครัว ประเด็นน่าสนใจสำหรับผู้เขียนเองอยู่ตรง 'ความทรงจำ' ที่สังคมมีต่อ 'นายผี' ผ่านความโด่งดังอย่างไม่อาจปฏิเสธของบทเพลง 'เดือนเพ็ญ' ที่ด้านหนึ่งแม้จะถูกประพันธ์ขึ้นในป่าท่ามกลางบริบทการต่อสู้สมัยคอมมิวนิสต์ ที่มีธงหรือเป้าหมายอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ อย่างน้อยก็ในกรอบความรับรู้ของรัฐไทย และสังคมไทยในช่วงเวลานั้น กลับกลายมาเป็นบทเพลงที่แม้แต่ฝ่ายเจ้าเองยังนำมาขับร้องในภายหลัง ทำให้มุมมองการรับรู้ของสังคมไทยในชั้นหลังต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แทบจะหลงลืม หรือแทบจะไม่ได้ใส่ใจแล้วด้วยซ้ำว่าครั้งหนึ่ง 'นายผี' เคยมีปณิธานต่อความไม่เป็นธรรม การเอารัดเอาเปรียบ หรือแม้แต่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าผ่านบทกวีจนถูกผู้เขียนจดหมายมาต่อว่า เรียกขานในนาม 'กบฏเจ้า'
แต่แล้ว สมญานามต่างๆ ของ 'นายผี' แม้กระทั่งนามปากกาก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากการรับรู้ของสังคมไทย คงเหลือไว้แต่นามอันคุ้นหูที่มาพร้อมบทเพียง 'เดือนเพ็ญ' ในฐานะ อัศนี พลจันทร จนดูเหมือนผู้คนในสังคมพร้อมใจจะเลือกจดจำ 'นายผี' ไว้ในแง่มุมนั้นเพียงแง่มุมเดียว
หากคำกล่าวของเสกสรรค์ที่บอกว่าเขารู้จักมักคุ้น 'นายผี' ในฐานะ 'ลุงไฟ' หรือ 'สหายไฟ' มากกว่าจะรู้จักชื่อ 'นายผี' หรือ 'อัศนี พลจันทร' สังคมไทยก็อาจเป็นเช่นนั้นในแง่มุมกลับกัน และอาจรวมถึงใครต่อใครอีกหลายคน ที่มักเลือกและจดจำเพื่อรำลึกถึงคนคนหนึ่งโดยมีเงื่อนไขของความทรงจำส่วนตัวอย่างไม่อาจปฏิเสธ อยู่ที่ว่าพวกเขาหรือเขาเหล่านั้นจะเลือกรำลึกถึง 'นายผี' ในแง่มุมไหนเท่านั้น
กวีกบฏ?
นักประพันธ์เพลง?
ทหารในกองทัพปลดแอกประชาชน?
เชื่อว่าคุณมีคำตอบในใจ
2541
เรื่องราวจบสิ้นไปนานแล้ว...
ทุกวันนี้ ลาว เวียดนาม เขมร จีน ไทย ไม่มีใครอยากรบกับใคร ทุกคนต่างตั้งหน้าทำมาหากิน ผมเองก็ไม่เคยเสียใจกับการพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและไม่ได้คิดจะหวนกลับไปใช้ชีวิตฝ่ายซ้ายแบบเดิมๆ
เพียงแต่ว่าในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง ผมยังคงมีบางวูบของอารมณ์เป็นดั่งนครที่ถูกยึดครอง
"อันที่จริงป้าเคยชวนลุงมาจากภูเขาเหมือนกัน"
ป้าลม ภริยาคู่ทุกข์คู่ยากของลุงไฟได้เล่าให้ผมฟังหน้าศาลาที่ตั้งกระดูกลุง
"แล้วลุงว่ายังไง" ผมซัก
"ลุงบอกว่าลงไปทำไม...อย่างเราอยู่ได้อีกไม่เกินห้าปีก็ตาย แล้วลุงก็ตายจริงๆ"
"ผมเข้าใจความรู้สึกลุงดี"
ผมเอ่ยกับป้าด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา "ถ้าเป็นลุง ผมก็คงไม่ลงมามอบตัวเหมือนกัน"
ใช่...ถึงวันนี้ผมก็ยังไม่เคยเสียใจกับความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวมทั้งไม่ได้มีความคิดความแค้นกับผู้ใดหลงเหลือแม้แต่น้อย แต่ความเศร้าโศกเบื้องลึกของผมยังคงอยู่ที่การไม่สามารถรู้สึกเป็นผู้ชายเท่าเดิม
นับตั้งแต่วันที่ลงมายอมจำนน
- - - - -
ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
========================
[ ข้อมูลอ้างอิง ]
[1] คัดลอกจาก ‘นายผี’ ในมุมของนักวิจารณ์วรรณกรรมและนักกฎหมาย โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เผยแพร่ใน 101
[2] 100 ปี ‘นายผี’ ตอน 1 นายผีคือใคร : อ่าน เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2560 https://web.facebook.com/notes/%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B9%8C-%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99/100-%E0%B8%9B%E0%B8%B5-%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9C%E0%B8%B5-%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99-1-%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9C%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3/1557792944284282/?_rdc=1&_rdr
[3] จาก หลานนายผีโต้มโนทวง ‘หงา’ คนตุลาหนุนเปิดพิพิธภัณฑ์ เผยแพร่ในเดลินิวส์ ออนไลน์ 14 ตุลาคม 2558 https://www.dailynews.co.th/entertainment/354345
========================
อ่านบริบทของอิสรภาพ ของนักคิด นักเขียนไทย คนอื่นๆ
บทที่ 1 : บทที่ 1 : ศรีบูรพา | กุหลาบ สายประดิษฐ์
บทที่ 2 : นายผี | อัศนี พลจันทร
บทที่ 4 : ทีปกร | จิตร ภูมิศักดิ์
22 ธ.ค. 2567
17 ก.ค. 2563