Last updated: 15 ส.ค. 2563 | 3182 จำนวนผู้เข้าชม |
Local Story | ความเป็นอื่นในงานเขียนของ จันทร์ รำไร และ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ (ตอนที่ 2)
บทบันทึกร่วมสมัยของชีวิตคนคนหนึ่งผ่านสายตาของความเป็นกวี
===========
...ทุกวันนี้ที่ผมเห็นคือ เราได้แต่จับจ้องอยู่กับความนึกคิดที่ปะติดปะต่อไม่ได้ การรับรู้ที่มากเกินไป การแสดงความเห็นที่มากเกินไป และเราหลงวนอยู่กับข่าวสารที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรองข้อเท็จจริงใดๆ
...ด้วยเหตุนี้ ผมจึงหลงรักทรงจำของตัวเอง...
จากเรื่อง “เราอยู่ระหว่างนั้น : ความโดดเดี่ยวในโลกแห่งปีก”
หากบทกวี อื่นใดนอกจากนั้น เป็นห้วงบันทึกสั้นๆ ของกวีหนุ่มในเมืองที่คล้ายดั่งคนแปลกหน้า รวมเรื่องสั้น ฟ้าบางแห่งร่ำลาเมฆฝนไปเนิ่นนาน ก็เป็นห้วงบันทึกขนาดยาวที่ขยายพรมแดนความคิดของ จันทร์ รำไร มาสู่ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ โดยยังคงคุณลักษณะของการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ ของนักเขียนหนุ่มใต้ที่ไม่พยายามนำเสนอความเป็นท้องถิ่นในชิ้นงานตัวเอง ทว่ากลับปรากฏร่องรอยของความเป็นท้องถิ่นในตัวตนที่แปลกแยกของตัวจรรยาเอง
ความเป็นตัวตนที่แปลกแยกที่ปรากฏให้เห็นผ่านการรังสรรค์ถ้อยคำที่แทบจะเป็นการสลัดกลิ่นอายรูปแบบเดิมๆ ภายใต้เงาของกนกพงศ์ อย่างที่นักเขียนใต้หลายคนมักเป็น (ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด นักเขียนล้วนมีภูเขาของตนเองให้ปีนป่ายทั้งนั้น!) ทำให้อาจสรุปได้อย่างง่ายดายว่า งานเขียนของจรรยาเป็นงานที่มีแต่ความแปลก แตกแยก ต่อทั้งปัญหาส่วนตัว และปัญหาส่วนร่วม
แปลกแยก และ แตกต่าง
ดูจะเป็นคำอธิบายต่องานของ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ ใช่หรือไม่ ?
กล่าวอย่างจำเพาะลงไปเลยว่า ทั้งใช่และไม่ใช่
รวมเรื่องสั้น ฟ้าบางแห่งร่ำลาเมฆฝนไปเนิ่นนาน เป็นชิ้นงานที่บอกเล่าความแปลกแยกของตัวละครในเมืองที่ตนสังกัด ซึ่งแม้จรรยาจะไม่ได้ระบุลงไปอย่างชี้ชัดว่าเป็นเมืองใด (มีหนึ่งเรื่องเท่านั้นที่จรรยาระบุความเป็นท้องถิ่นของภาคใต้ลงไปอย่างชัดเจน) แต่เราสามารถอนุมานได้ว่าเป็นเมืองใดเมืองหนึ่งในภาคใต้
ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
เพราะเรารู้พื้นเพของตัวผู้เขียนที่เป็นคนใต้ ?
เพราะเราตีขลุม ตีกรอบการรับรู้ของตัวเองไปแล้ว ?
หรือเพราะที่สุดแล้ว แม้จะพยายามเลี่ยงหลบเพียงไร เราไม่อาจหลีกพ้นเงาบางประการ?
ในเรื่องสั้น “เรื่องเล่าของนักปฏิวัติสายลมที่หายตัวไปในนิทานเด็ก” จรรยาบอกเล่าเรื่องราวของ ‘ฉัน’ ที่ฝันอยากจะเขียนนิทานสักเรื่อง ในความฝันของ ‘ฉัน’ นั้น ประกอบขึ้นจากความทรงจำที่มีต่อนักปฏิวัติวัยชรา อดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์ผู้บอกกับ ‘ฉัน’ ว่าเหมาะจะเป็นชาวสวน มีความฝันที่อยากจะเขียนนิทาน กักขังตัวเองอยู่ในหุบเขา เรียกขานตัวเองว่านักปฏิวัติสายลม
ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามที เรื่องสั้นชิ้นนี้ไม่อาจอ่านโดยปราศจากเงาร่างของกนกพงศ์คลี่คลุม ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวทั้งในภาคส่วนตัว และในภาคการเขียน ย่อมรู้ได้ไม่ยากว่าจรรยาให้ความเคารพกนกพงศ์ค่อนข้างมากในฐานะนักเขียนรุ่นพี่ เช่นนี้แล้ว เรา-ในฐานะคนอ่าน-สามารถอนุมานได้ไหมว่าภายหลังการจากไปของกนกพงศ์ เรื่องสั้นชิ้นนี้อาจเปรียบได้ดังการหวนคิดถึงนักเขียนคนนั้นแห่งหุบเขาฝนโปรย
ในความเป็นอิสระของตัวบทงานเขียนแล้ว นักอ่านย่อมมีสิทธิ์จะมองเช่นไรได้ทั้งนั้น ผิดถูกเป็นอีกเรื่อง และเราคงไม่มานั่งหาความผิดถูกประหนึ่งมันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตีความผิดไปจากนี้ล้วนโง่งม ไม่ใช่ และไม่ใช่! หรอกนะ
เช่นเดียวกันกับความเห็นในบทความนี้ ซึ่งความพยายามพินิจพิจารณางานเขียนของจรรยาที่พยายามจะไปให้พ้นจากเงาบางประการ ผ่านการเล่าโดยไม่ระบุเจาะจงลงไปให้แน่ชัดว่าเป็นท้องถิ่นภาคใต้ เพื่อสร้างพื้นที่ถากถางให้เรื่องเล่าตัวเองขึ้นใหม่ โดยปราศจากบริบทของความเป็นท้องถิ่นนิยม ทว่าก็มีบางเรื่องที่คล้ายเป็นดั่งสารที่จรรยาต้องการบอกเล่าแทนผู้คนในดินแดนริมทะเล เช่นในเรื่อง “ปาดังเบซาร์” ที่แทรกความรู้สึกของความแปลกแยกในตัวเองผ่านตัวบทเปิดเรื่อง ณ ด่านพรมแดนที่ว่า
...ผมเดินไปเรื่อย ๆ มองซ้ายมองขวาราวกำลังสำรวจหาบางสิ่งที่ยังบอกตัวเองไม่ได้ว่ามันคืออะไร และคิดไปว่าในเวลานี้คุณอยู่ส่วนไหนของมาเลเซีย ประเทศที่ผมมองเห็นจากฝั่งปาดังเบซาร์...
รวมไปถึงบางฉากในเนื้อเรื่องที่นำไปสู่การตั้งคำถาม
...ในบ่ายวันนั้น ผมนั่งอยู่ในร้านกาแฟเล็ก ๆ ไม่มีหนังสือติดมือมานั่งอ่าน ผมมองไปนอกบานกระจก รถเมล์ และสองแถววิ่งไปมาบนถนนสองเลนกับมองนิ่งไปตรงประตูร้านสะดวกซื้อ
สิ่งที่ผมค้นพบไม่ใช่ภาพของเมืองที่คุ้นเคย แต่คือความแปลกหน้าที่แสนจะโรแมนติก...
กระทั่งเป็นการสรุปความรู้สึกที่มีจากเบื้องลึกภายในสู่ภาวะภายนอกที่ปนเปทั้งเรื่องผู้คน ความเปลี่ยนแปลงของเมือง ความรัก ความทรงจำ
...พรมแดนก็เช่นนี้ การก้าวข้ามเป็นสิ่งเดียวที่บอกถึงเชื้อชาติและความแตกต่าง เป็นความแตกต่างที่เต็มไปด้วยคำถามมากมาย ซึ่งผมยังคงค้นหาคำตอบอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้...
ทั้งเรื่องสั้น “เรื่องเล่าของนักปฏิวัติสายลมที่หายตัวไปในนิทานเด็ก” และ “ปาดังเบซาร์” จึงเป็นเหมือนความพยายามที่จะหลีกหนีที่ในที่สุดกลับกลายเป็นใช้ประโยชน์จากแง่มุมของความเป็นเมืองชายแดน เส้นตัดระหว่างพรมแดนที่คุ้นเคย
เส้นตัดของเมืองในภาพฝัน เมืองในภาพจริง
ขณะที่เรื่องสั้น “ต่างก็ร่ายรำอยู่บนทางไร้ชื่อ”, “ตัวละครซ่อนเร้นอยู่ในโลกของผม”, “ต่างหลงเชื่อว่ามันคือเรื่องโกหก” กระทั่ง “ในโมงยามอันลืมเลือน” ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสั้นที่บอกเล่าถึงสภาวะขัดแย้งของความเป็นเมือง ความอัดแน่นคุคั่งจากภายในต่อสภาวะต่างๆ ที่ยากแก่การควบคุม ทั้งในเรื่องความรัก ความทรงจำ ความตาย หรือแม้แต่เสียงดังจากคนงานก่อสร้างชาวพม่าที่อยู่ถัดไป
ทว่าใน “เพลงพลบในค่ำคืนฝน” เรื่องราวยังคงกลับไปสู่บรรยากาศในหุบเขา ตัวละครที่เปรียบดั่งตำนานในพื้นที่ ซึ่งตัดกับฉากชีวิตในเมืองซึ่งเป็นปัจจุบันของตัวละครราวกับขับเคี่ยวระหว่างการยื้อยุดของเมืองและป่า ของชีวิตและความตายในตัวละคร
ของนักเขียนและความทรงจำของนักเขียน
...ฉันเรียกที่นั่นว่าหมู่บ้านเพลงฝน ปู่ของฉันเกิดที่นี่ พ่อของฉันก็มีวัยเด็กอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ ที่แห่งนี้เป็นเสมือนตำนานที่รอการค้นพบ หรืออย่างน้อย มันก็สงบนิ่งอยู่ในภาพอดีตของฉันมาร่วมสี่สิบปี...
ทั้งใน อื่นใดนอกจากนั้น และ ฟ้าบางแห่งร่ำลาเมฆฝนไปเนิ่นนาน ทั้งในฐานะของ จันทร์ รำไร และ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์
กวีนิพนธ์และรวมเรื่องสั้น สองเล่มนี้แทบจะมีเนื้อสารในการส่งต่อจากนักเขียน(และกวี)สู่การรับรู้ของผู้อ่านไม่แตกต่างในแง่มุมของประเด็น ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่มีร่วมกัน นอกเหนือจากเรื่องของความทรงจำ เรื่องของผู้คนที่แปลกแยกในเมืองตัวเอง เรื่องของความตายแล้ว ‘บ้าน’ และการกลับบ้าน ยังเป็นประเด็นร่วมกัน จากในงานเขียนทั้งสองชิ้นนี้
‘บ้าน’ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นภาพฝันของความทรงจำมากกว่าจะเป็นบ้านจริงๆ ของตัวละครที่เดินหน้าเข้ามาในฉากแต่ละฉาก ในบรรทัดแต่ละบรรทัด
‘บ้าน’ ซึ่งชวนให้คิดนอกตัวบทไปได้อีกว่าในความโหยหาซึ่งบ้านนั้น ตัวนักเขียนและความเป็นกวีได้พยายามบอกเรา ผู้ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือนอกพื้นที่ว่า ทั้งหมดที่พวกเขาต้องการคือ ‘บ้าน’ ใช่หรือไม่ ?
ความเป็นอื่นในงานเขียนของ จันทร์ รำไร และ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ จึงวางตัวเองในฐานะเรื่องเล่าที่เรียบนิ่ง ไม่ระบุชี้ชัดลงไปถึงปัญหาที่ทับซ้อนในพื้นที่
ปัญหาที่กดทับทั้งในแง่ตัวตนภายใน และตัวตนภายนอก
ปัญหาที่กดทับทั้งในความเป็นคนใต้ ความเป็นเมืองอันลี้ลับชวนค้นหา
เกลี่ยลงเหลือเพียงน้ำเสียงในถ้อยคำอันเงียบงามคล้ายการเรียงร้อยของบทกวีมากกว่าจะเป็นเรื่องสั้นที่อุดมไปด้วยประเด็นเฉียบคม กระตุ้นเร้าให้หัวร้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับผู้คนในประเทศนี้ เหมือนในรวมเรื่องสั้นของนักเขียนภาคอื่นๆ กระทั่งในหมู่นักเขียนใต้ด้วยกันเอง
จรรยาจะมองตัวเองในฐานะของความเป็นอื่นจากงานเขียนทั้งสองชิ้นนี้ไหม? คงจะไม่ใช่ประเด็นที่ต้องการนำเสนอ และไม่ใช่คำถามเรียกร้องต้องการคำตอบ แค่ลำพังตัวบทได้แสดงให้เป็นความเป็นอื่นที่สุดท้ายแล้ว กลับมาสร้างคำถามในใจคนอ่านให้หวนมองรอบตัวได้ นั่นไม่นับว่าเป็นคุณลักษณะที่พึงมีของนักเขียนและกวีแล้วหรอกหรือ?
ไม่ว่าที่สุดแล้ว คุณจะอ่านงานทั้งสองชิ้นนี้ แล้วมองเห็นแง่มุมของความเป็นท้องถิ่นที่แฝงอยู่ในน้ำเสียงเล่าของตัวผู้เขียน กระทั่งรู้สึกถึงความเป็นอื่นที่ปรากฏอยู่ในตัวชิ้นงาน ทั้งในบทกวีและเรื่องสั้นแต่ละเรื่องหรือไม่ และบางคุณอาจจะตั้งคำถามด้วยซ้ำไปว่าความเป็นท้องถิ่นที่มาพร้อมกับความเป็นอื่นมันสำคัญเพียงไรในการอ่านเรื่องแต่งสักชิ้น สองชิ้น ?
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล และความรู้สึกใด งานเขียนทั้งสองชิ้นนี้ยังคงน่าอ่านค่าที่เป็นบทบันทึกร่วมสมัยของชีวิตคนคนหนึ่งผ่านสายตาของความเป็นกวี และความเป็นนักเขียน ที่ในชีวิตอื่น ในแง่มุมอื่น เขาอาจไม่ได้ดำรงอยู่ในสถานะของ จันทร์ รำไร
ไม่ได้ดำรงอยู่ในสถานะของ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์
ทว่าดำรงอยู่ในสถานะของผู้คนธรรมในเมือง ในประเทศ ที่รัฐพร้อมจะเลือกลืม ลบ พวกเขาออกไปจากความทรงจำที่คงเหลือไว้แต่เพียงความทรงจำที่ทรงคุณค่าแก่การเชิดชู จนไม่มีที่เหลือให้แก่ความทรงจำของผู้คนธรรมดา
ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ หรือในเมืองชนบทสักเมือง
ผู้คนต่างก็แปลกหน้าซึ่งกันและกัน
...ไม่มีอื่นใดนอกจากนั้นปรากฏ มีเพียงความเงียบ และบทเพลงที่เราจดจำได้เพียงท่วงทำนอง คลับคล้ายว่าเคยได้ยินมันแว่วมาจากที่ไหนสักแห่ง
-- ประพฤติ เขียน --
=====
อ่าน ตอนที่ 1
คลิก Local Story | ความเป็นอื่นในงานเขียนของ จันทร์ รำไร และ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์
==========
สนใจสั่งซื้อชุดงานของ จันทร์ รำไร และ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ ในราคาพิเศษ