Last updated: 22 ก.ค. 2563 | 3214 จำนวนผู้เข้าชม |
Local Story | ความเป็นอื่นในงานเขียนของ จันทร์ รำไร และ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ (ตอนที่ 1)
สงคราม ความรัก ความขัดแย้ง และประชาธิปไตย กับห้วงของความรู้สึกใน 'อื่นใดนอกจากนั้น'
===========
แปลกแยกกับบ้านเก่า
ในป่าท่ามกลางความรกเรื้อ
แดดบ่ายเป็นเงาระอุร้อน
ทางไหนคือทางกลับ ทางไหนคือทางตัน
ส่วนหนึ่งของกวีบท หลงทาง ในเล่ม อื่นใดนอกจากนั้น กวีนิพนธ์ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในนามสำนักพิมพ์สมมติของกวีหนุ่มจากดินแดนทางใต้ จันทร์ รำไร
แม้ไม่อาจชี้ชัดได้ว่างานเล่มนี้ของ จันทร์ รำไร เป็นงานเขียนจากพื้นที่ชนบทเล่มแรกของสมมติ (เพราะส่วนตัวก็ยังอ่านงานวรรณกรรมไทยของสำนักพิมพ์ไม่ครบทุกเล่ม) แต่แน่ชัดได้ว่า จันทร์ รำไร ไม่ใช่นักเขียนจากภาคใต้คนแรกที่บอกเล่าถึงความเป็นคนพื้นถิ่นในงานเขียนของตัวเองด้วยท่วงทำนองของบทกวี เรื่องสั้น นิยาย
ที่โดดเด่น และแทบจะเป็นขุนเขายะเยือกให้กับผู้ที่เดินตาม คือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ผู้แทบจะเป็นหมุดหมายของนักเขียนใต้หลายคนอยากจะปีนข้ามมาตลอดตั้งแต่นักเขียนผู้นี้ลาลับกลับไปสู่หุบเขาฝนโปรย
จันทร์ รำไร เป็นหนึ่งในนั้นด้วยไหม ?
ในฐานะนักอ่าน อาจจะตั้งคำถามนั้นได้ แต่เมื่อพิจารณางานสองเล่มก่อนมาถึงเล่มล่าสุดที่ตีพิมพ์ในนามของสมมติ ไม่ว่าจะเป็นกวีนิพนธ์ อื่นใดนอกจากนั้น และ ฟ้าบางแห่งร่ำลาเมฆฝนไปเนิ่นนาน ในนามจริง จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ คงต้องขอสารภาพยังไม่เห็นร่องรอยที่ชี้ชัดไปถึงความทะเยอทะยานเช่นว่า หากแต่ชิ้นงานทั้งสองของนักเขียนร่างสันทัดผู้นี้มีความพยายามอย่างแน่นอนประการหนึ่ง คือ การบอกเล่าความเป็นอื่นในพื้นถิ่นของตัวเอง
อย่างน้อยก็เท่าที่รู้สึก
ยกตัวอย่างจากบทกวี หลงทาง ที่นำมาเกริ่นข้างต้น ในงานรวมบทกวี อื่นใดนอกจากนั้น ภายใต้นามปากกา จันทร์ รำไร จรรยานำเสนอห้วงภาวะทางความคิด ความรู้สึกที่มีต่อเมืองที่ตนสังกัด ภาวะแวดล้อมที่พาตัวเองเข้าไป กระทั่งข้อสังเกตต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ร้อยเรียงออกมาเป็นบทกวีด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่ง และบางบทค่อนในทางเปลี่ยวเหงา ซึ่งสะท้อนภาวะแปลกแยกต่อเมือง และ/หรืออาจจะถึงต่อผู้คนรอบตัว
แม้ในเรื่องราวของสงครามความขัดแย้งที่เราได้แต่รำพึงในใจว่าเป็นสงครามของใคร เช่นในบท สงคราม
กระสุนปืนเกิดมาในนามมนุษย์
สงครามมิได้เกิดมาแต่เพียงลำพัง
เด็กเด็กไม่เคยตั้งคำถามต่อบาดแผล
ทั้งความตายก็ไม่เคยกระซิบเสียงบอกกล่าว
การบอกลาใครสักคนก็เช่นกัน
เพียงน้ำตาในดวงตาซึ่งเหือดแห้ง
มนุษย์ล้วนหลงลืมความลับของพระเจ้า
สงครามเองก็หลงลืมความเป็นมนุษย์
หรือแม้กระทั่งตั้งคำถามต่อระบอบการปกครอง นิยามความหมายของคำว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ เช่นในบท เข็มนาฬิกา
จังหวะเคลื่อนที่หยุดนิ่ง
บางขณะในความทรงจำของมวลชน
แม้แต่นาฬิกาก็มิยอมกระดิกเข็ม
สองสี่เจ็ดห้าล่วงผ่านมานานกาล
นาฬิกายังมิยอมกระดิกเข็ม
อำนาจของเราอยู่ในมืออันว่างเปล่า
จุดด่างดำบนฝ่ามือคล้ายหลุมศพ
ประชาธิปไตยแขวนอยู่บนเข็มนาฬิกาโบราณ
เรียกว่าเสน่ห์ได้ไหม ? อาจใช้คำว่านั้นไม่ได้เสียทีเดียวนัก แต่งานเขียนของจรรยามีลักษณะของความเป็นคนเมืองในความเป็นคนใต้ที่บ่มให้ภาษาของเขามีความพิเศษที่แตกต่างออกไปจากงานของนักเขียนจากภาคใต้คนอื่นๆ ซึ่งไม่ได้หมายถึงดีหรือแย่กว่า เพียงแต่ว่าแตกต่าง
แตกต่างในน้ำเสียงเล่า
แตกต่างในลักษณะภาษา
แตกต่างในบางมุมมอง
ซึ่งมีตั้งแต่มุมของความบริสุทธิ์เฉกสายตาของเด็กน้อย เช่นในบท แมลงภู่
โอ...แมลงภู่ตัวน้อย
เพียงไชชอนกิ่งไม้ผุผุสร้างรวงรัง
ผลุบหายไปในรูสีดำอันใหม่หมาด
มิทันสังเกตเห็นโคนกิ่งที่ปริร้าว
เพียงลมฝนกระหน่ำ กิ่งผุผุก็หักโค่น
จบสิ้นความฝันสุดท้ายในเศษซากอันผุพัง !
หรือแม้แต่มุมของผู้ร้าวรานผ่านชีวิต ในบท บาดแผล
ตรงรอยลึกของบาดแผล
ฉันพยายามปกปิดจากสายตาผู้คน
แต่การมีชีวิตอยู่คือการแสดงในฉากสมมติ
บาดแผลจึงมักได้รับการกลบเกลื่อนจากมายาคติ...
จากบางส่วนของ บาดแผล เมื่อเราเปิดผ่านบทแต่ละบทใน อื่นใดนอกจากนั้น ไปทีละบท ข้อสังเกตที่พบว่ามีร่วมกันของกวีนิพนธ์เล่มนี้ อยู่ที่ชุดคำของคำว่า บ้าน บ้านเก่า การกลับไป ความทรงจำ ซึ่งล้วนแล้วแต่บ่งบอกสภาวะของการตั้งคำถามในที่หลักที่ยืน ณ ปัจจุบันของตัวกวีนาม จันทร์ รำไร กระนั้น ในบางผู้อ่านอาจรู้สึกได้ว่าช่างคล้ายคลึงกับเสี้ยวส่วนชีวิตตัวเองนับแต่เด็กจวบจนเติบโต ล้วนไม่เพียงแต่ด้วยบาดแผล แต่ยังเต็มไปด้วยความทรงจำตลอดเส้นทางชีวิต ผ่านการโยกย้าย ผ่านความรู้สึกแปลกแยก ผ่านการตั้งคำถามในตัวตน ในการงาน ในความรัก
ซึ่งชุดคำเหล่าจะปรากฏอยู่ในหลายบท เช่น ส่วนเกิน
...หลับตาเพื่อลบทิ้งความทรงจำเก่าเก็บจากอดีต
กลับคืนโลกใบเก่าด้วยการลืมตาขึ้นช้าช้า...
บท กลับบ้าน
เหมือนยินเสียงนั้นแผ่วลมมา
คลับคล้ายเสียงแม่ผิวปากเรียกลม
กระด้งโยกขึ้นลง มวลแกลบปลิวไปในสายลมอ่อน
มือของแม่ช่างอ่อนโยน เสียงผิวปากของแม่อัศจรรย์
นานมาแล้ว แม่ทิ้งผืนนาแห่งสุดท้ายในสายลมร้อนระอุ
เปลวแดดซึ่งแผดเผาซังข้าว
โอ้หนอ มือแม่ยังคงอ่อนโยนเมื่อพบหน้าลูก
แต่ไม่มีเสียงผิวปากเรียกลมอีกต่อไปแล้ว...
บท บทกวีของความเงียบ
บทกวีของเธอหายไป
หลงเหลือเพียงสิ่งที่เรียกว่าถ้อยคำ
ฉันเข้าใจ และเพิ่งจะเข้าใจ
เราต่างเขียน และอ่านบทกวี
เมื่อเธอเงียบ บทกวีก็เงียบตาม
บท เมล็ดพันธุ์
หากชาวสวนจะรดน้ำต้นไม้
จำเป็นเพียงใดที่เขาจะต้องรอคอยฤดูฝน
และหากแสงอาทิตย์จะแผดเผาพืชพันธุ์
จริงหรือไม่
ที่ชาวสวนย่อมล่วงรู้ความลับของฤดูกาล
เราต่างตกหลุมรักกันและกัน
สองเงาซ้อนทับอยู่ในเงาของสิ่งที่เรียกว่ารัก
หากความพลัดพรากเกิดจากแสงสว่างที่ส่องไปถึงด้านมืด
ความจริงจะขลาดกลัวต่อความลวงหรือไม่
เมล็ดพันธุ์จะงอกงามเติบโต
เพียงเพราะมันเข้าถึงกฎของธรรมชาติด้วยตัวมันเอง...
กระทั่ง แม้แต่ในบท หลงทาง ที่ยกมาเปิดนำบทความนี้
คุณลักษณะที่ทำให้น้ำเสียงภาษาของ จันทร์ รำไร แตกต่างออกไปจากกวีและนักเขียนใต้คนอื่น ไม่ได้มีแต่เพียงการตั้งคำถามถึงภาวะแปลกแยกของตัวเอง แน่นอนเมื่อคุณมาจากดินแดนของความขัดแย้งอันยาวนานต่อเนื่องหลายปีอย่างไม่มีทีท่าจะสงบลงได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในจุดไหนของเมืองนั้น ไม่ว่าคุณจะจัดวางตัวเองในภาวะใด คุณย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่ปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ ได้ และ จันทร์ รำไร (รวมถึง จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ ซึ่งจะกล่าวถึงในรวมเรื่องสั้น ฟ้าบางแห่งร่ำลาเมฆฝนไปเนิ่นนาน ต่อไป) ก็ถ่ายทอดความขัดแย้งนี้ลงในกวีนิพนธ์เล่มนี้หลายต่อหลายบทเช่นกัน นอกจากบท สงคราม ที่ยกมากล่าวถึงแล้ว
สงคราม ความรัก ความขัดแย้ง บ้าน การกลับไปสู่ความทรงจำ การเติบโต และประชาธิปไตย ล้วนเป็นห้วงของความรู้สึกที่ปรากฏใน อื่นใดนอกจากนั้น เสมือนเป็นการตั้งคำถามโดยปริยายถึงบางสิ่งที่อยู่พ้นออกไปจากขอบฟ้า เงาเมฆ และคลื่นลมทะเล อันเป็นภาพจำของผู้คนที่มีต่อภาคใต้ กระทั่งนักเขียนใต้ โดยมีขุนเขายะเยือกที่ชื่อกนกพงศ์ตั้งตระหง่านราวกับต้องการจะบอกว่าภายใต้เขาลูกนี้ งานเขียนใดนอกจากนี้ล้วนแล้วไม่ใช่ ซึ่งทำให้งานเขียนของนักเขียนใต้ อย่างน้อยก็ในกรอบของการอ่านเท่าที่ผ่านตา ล้วนแล้วแต่อยู่ใต้ร่มเงาของกนกพงศ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ไม่ว่าจะด้วยกลวิธีเชิงสัจนิยมมหัศจรรย์ผสมกับเรื่องเล่าในเชิงตำนาน ความแปลกประหลาดของป่าดงดิบ และปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดน
ทว่าใน อื่นใดนอกจากนั้น แทบไม่พบคุณลักษณะที่ชี้ชัดลงไปถึงความ Local ดังว่า จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามที จันทร์ รำไร พาผู้อ่านออกไปจากความคุ้นชินเหล่านั้น พาไปสู่การตั้งคำถามที่ในท้ายที่สุดแล้วย้อนกลับมาพินิจพิจารณาแง่มุมต่างๆ ในชีวิต ทั้งในเชิงส่วนตัวและในเชิงการเมือง ซึ่งการพินิจพิจารณาแง่มุมต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงเงื่อนไขในเชิงประสบการณ์ส่วนตัว ความเป็น Local ของแต่ละพื้นถิ่นที่แตกต่างออกไป แหละแน่นอน นั่นทำให้ท้ายที่สุดแล้ว วนกลับมายังตัวงานแต่ละบทใน อื่นใดนอกจากนั้น เองว่ายังมีสิ่งอื่นสิ่งใดที่อยู่พ้นไปจากขอบเขตความเข้าใจ ความรับรู้ที่เรามีอีกไหม?
ณ ที่ซึ่ง ฟ้าบางแห่งร่ำลาเมฆฝนไปเนิ่นนาน
-- ประพฤติ เขียน --
==========
อ่าน ตอนที่ 2
คลิก Local Story | ความเป็นอื่นในงานเขียนของ จันทร์ รำไร และ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์
==========
สนใจสั่งซื้อชุดงานของ จันทร์ รำไร และ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ ในราคาพิเศษ