Last updated: 24 ธ.ค. 2563 | 4751 จำนวนผู้เข้าชม |
ในการแปล 1984 ฉบับภาษาไทยเพื่อปรากฏเป็นครั้งแรกในสังคมไทย ผู้แปลเริ่มลงมือทำงานชิ้นนี้เมื่อกลางปี พ.ศ. 2520 ในสมัยของรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งปกครองประเทศโดยใช้จอโทรทัศน์ปลุกใจให้คำขวัญเพื่อความอยู่รอดของชาติ ยุคซึ่งบรรยากาศแห่งความหวาดระแวง การใส่ร้ายป้ายสีจับผิด ความไม่วางใจซึ่งกันและกัน ปรากฏครอบคลุมอยู่ทั่วไปดังเช่นที่เกิดขึ้นใน ‘โอชันเนีย’ ยุค ค.ศ.1984 นัยของโลกการเมืองที่ จอร์จ ออร์เวลล์ จินตนาการขึ้นเมื่อปี 1984 จึงสอดคล้องใกล้เคียงกับโลกการเมืองของไทยสมัย พ.ศ. 2520 เป็นอย่างยิ่ง นี่คือแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้คิดแปลงานชิ้นนี้เป็นภาษาไทย นอกเหนือจากเหตุผลในแง่ของคุณค่าที่นวนิยายมีอยู่ในตัวของมันเอง
โดยเหตุที่ตั้งใจจะให้ 1984 ภาคภาษาไทยมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ประกอบกับงานทางด้านอื่นรุมเร้าเข้ามา งานแปลชิ้นนี้จึงถูกเก็บไว้เพื่อนำออกตรวจแก้ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งสำเร็จลงในอีกสี่ปีต่อมา หากมองสภาพการเมืองไทยซึ่งสอดคล้องใกล้เคียงกับสิ่งที่นวนิยายพูดถึงเมื่อห้าปีที่แล้ว เราจะพบว่าความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นมากมายหลายด้าน ทั้งในระดับนโยบายหรือโฉมหน้าของรัฐ ระดับกลุ่มการเมืองต่างๆ ไปจนถึงความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองของผู้คนแต่ละประเภท แต่ปรากฏว่าถึงอย่างไร 1984 ก็ยังสอดคล้องกับเหตุการณ์ร่วมสมัยในความเห็นของผู้แปลเข้าจนได้ไม่ว่าจะเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่เพื่อ ‘รับใช้’ การเมืองปัจจุบัน โดยไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ความจริง’ หรือการกระทำอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่งดูเหมือนจะดำรงอยู่ในโลกการเมืองหลายๆ ค่าย
นี่อาจทำให้พูดได้ว่า เป็นความสามารถของผู้เขียนที่มีสายตามองเห็นแง่มุมครอบคลุมธรรมชาติของสังคมการเมืองในแบบต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบปกครองที่อยู่ภายใต้เสื้อคลุมอันมีชื่อสวยหรูขนาดไหนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ‘หนังสือ’ ของโกลด์สไตน์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐโอชันเนีย ผู้เขียนบ่งชี้ธรรมชาติของผู้ปกครองได้อย่างน่าเย้ยหยัน ขณะเดียวกัน ก็ตระหนักในความเป็นไปได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นแล้วโดยเราไม่รู้ตัว กล่าวคือ การปกครองที่จะทำให้ประชาชนสยบอยู่ใต้อำนาจจนสิ้นเชิง ไม่มีหนทางเป็นกบฏแม้ในความคิดหรือความรู้สึก การหาวิธีใช้พลังงานของมนุษย์ไปในทางสูญเปล่า และขัดต่อการพัฒนาความคิดจิตใจของมนุษย์เป็นที่สุด เช่น สร้างภาวะสงครามเพื่อจะใช้แรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ แทนที่จะนำแรงงานนั้นไปสร้างสรรค์สิ่งอื่นเพื่อความสุขของมนุษย์ซึ่งเป็นผลได้ทั้งในแง่จิตวิทยา สังคม และเศรษฐศาสตร์ นั่นคือความรู้สึกว่าตนมีศัตรูภายนอกร่วมกัน ทำให้พลเมืองตกอยู่ในความหวาดกลัว และพร้อมที่จะทำตามผู้นำเพื่อความอยู่รอดจากภัย-พิบัติ ขณะเดียวกัน การใช้แรงงานทุ่มเทไปในการผลิตปัจจัยเพื่อการทำลายล้าง ย่อมทำให้ปัจจัยครองชีพขาดแคลน ฉะนั้นพลเมืองจึงไม่อาจคำนึงถึงเรื่องอื่นใดนอกเหนือไปจากกิจกรรมหากินหาใช้เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดไปวันๆ ไม่ว่าจะต้องแก่งแย่ง หลอกลวง ตลบตะแลงซึ่งกันและกันขนาดไหนก็ตาม
ที่น่าเยาะหยันยิ่งกว่านั้น ‘หนังสือ’ ระบุไว้ว่า วิวัฒนาการไปสู่ยุค ค.ศ.1984 ก็คือการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งแทนที่จะถูกนำมาใช้เพื่อความก้าวหน้าของมนุษย์ดังเช่นในยุคก่อนๆ กลับถูกนำมาใช้เพื่อเป็นปฏิปักษ์กับมนุษย์ โดยไปไกลยิ่งกว่าการใช้วิทยาศาสตร์ทำลายมนุษย์ในทางกายภาพ เช่นกรณีของระเบิดปรมาณู หรือการคิดค้นอาวุธสงครามในรูปแบบดังที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน หากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของ 1984 ถูกนำมาใช้ในเงื่อนไขอันน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า นั่นคือการที่ ‘ท้องไร่ท้องนาถูกไถด้วยแรงม้า ในขณะที่หนังสือทั้งหลายถูกเขียนด้วยเครื่องจักร’
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องนับว่าจินตนาการของออร์เวลล์เฉียบแหลมคมคายยิ่งนัก ไม่เพียงแต่สิ่งที่เขาเขียนถึงจะเป็นการขุดคุ้ยธรรมชาติของผู้ปกครองออกมาวางแผ่ต่อหน้าเราในทางทฤษฎีเท่านั้นหากในทางปฏิบัติ หลายสิ่งที่ออร์เวลล์เขียนไว้ได้ปรากฏเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลลวงของรัฐซึ่งพัฒนาไปหลายซับหลายซ้อนจนคาดไม่ถึง ไม่มีใครแน่ใจได้เลยว่าอะไรเกิดขึ้นจริงหรือไม่ สิ่งที่ ‘พวกเขา’ บอก วินสตัน สมิธ เกี่ยวกับจูเลีย ชู้รักของเขานั้น เป็นความจริงหรือไม่ หล่อนทรยศต่อเขาหรือว่าหล่อนประสบชะตากรรมอย่างอื่น
เมื่ออ่านนวนิยายเล่มนี้ ผู้อ่านจะสงสัยต่อทุกสิ่ง สงสัยว่ามันเป็นอย่างที่มันถูกทำให้ปรากฏ หรืออย่างที่มันถูกบอกว่าเป็น หรือไม่ใช่เลย มันจะทำให้เราในฐานะผู้อ่าน พยายามคิดไปหลายทางต่อเรื่องเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้แปลหวังว่าคงช่วยให้เราหลุดพ้นจากสภาพ ‘ผู้รับที่เฉื่อยชา’ ไปได้บ้างไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม การแปลนวนิยายเรื่องนี้หาได้หมายความว่า ผู้แปลคล้อยตามสิ่งที่ออร์เวลล์เขียนโดยปราศจากเงื่อนไข แม้จะเห็นด้วยในประเด็นสำคัญๆ อันเป็นแก่นความคิดของนวนิยายเรื่องนี้ ได้แก่ การวิพากษ์วิจารณ์ความวิปริตของสังคมการเมือง ที่เป็นผลเนื่องมาจากการพยายามรักษาอำนาจชนิดถาวรของผู้ปกครองซึ่งดูเหมือนเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้ายทั้งปวงที่เกิดขึ้นภายในรัฐ และวิพากษ์วิจารณ์ธรรมชาติของมนุษย์ ทั้งผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าอย่างโอไบรอัน ซึ่งตกอยู่ในความเย้ายวนของอำนาจ ปวารณาตัวยอมเป็นเครื่องมือทุกอย่างให้แก่รัฐ กระทั่งยอมตกเป็นเหยื่อแห่งการ ‘คิดสองชั้น’ ด้วยตัวเอง โดยมิไยต้องกล่าวถึงการฉ้อฉลหลอกล่อวางกับดักคนอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็เยาะหยันธรรมชาติของ ‘เหยื่อ’ อย่างวินสตัน ซึ่งแม้จะคิดกบฏต่อระบบที่ดำรงอยู่ มีความหวังถึงสังคมที่ดีกว่า และกล้าที่จะผูกพันตัวเองเข้ากับขบวนการเพื่อทำลายล้างสิ่งที่ตนเห็นว่าเลวร้าย แต่ก็อ่อนแอและขาดความเข้มแข็งทางจริยธรรม ทำให้ตกอยู่ในทางสองแพร่งระหว่างจุดมุ่งหมายที่กำหนด และวิถีทางที่เลือกกระทำ ออร์เวลล์แสดงให้เห็นว่าสังคมอันเลวร้ายสามารถหล่อหลอมให้คนเลือกเอาการทำความชั่วร้าย เช่น การก่อวินาศกรรมที่อาจทำอันตรายเด็กๆ การฆาตกรรม การแพร่เชื้อกามโรคโดยจงใจ การโกหกหลอกลวง -- เป็นมรรควิธีในการบรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่ดีกว่า ซึ่งในนวนิยายเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าในบั้นปลาย มันหลีกเลี่ยงความล้มเหลวไปไม่พ้น ไม่ใช่ด้วยเหตุที่ว่ากรรมวิธีเหล่านี้ไร้ประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากความขลาดกลัวของผู้เลือกใช้วิธีการเหล่านี้ต่างหาก
แต่ก็มีบางประเด็นที่ผู้แปลเห็นต่างออกไป ความคิดเรื่องอำนาจ ซึ่งออร์เวลล์เสนอว่า ในสังคมเลวร้ายที่สุดนั้น ผู้มีอำนาจพยายามรักษาอำนาจไว้เพื่อตัวอำนาจเอง หาได้มีวัตถุประสงค์ยิ่งไปกว่านี้ไม่ นี่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันผู้อ่านก็อาจตั้งคำถามขึ้นได้ว่า ผู้มีอำนาจในรัฐที่มิได้กระทำการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนั้น แยกตัวเองออกจากความมั่งคั่งและ/หรือเกียรติยศได้อย่างไร ผู้ที่ไขว่คว้าหาอำนาจไม่ได้กระทำไปเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งและ/หรือเกียรติยศ หรือไม่ก็พยายามรักษาความมั่งคั่งและ/หรือเกียรติยศไว้หรอกหรือ
‘อำนาจเพื่ออำนาจ’ เป็นเพียงเครื่องเล่นของคนบ้าหรือพวกจิตวิปลาส และเป็นไปได้ก็แต่ในสังคมที่บ้าคลั่งเท่านั้น เป็นไปได้ว่าผู้เขียนเพียงแต่แสดงภาพสุดโต่งของสิ่งที่สังคมจักต้องเป็นไป ประหนึ่งดังคำเตือนให้สังวรว่า สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในขีดขั้นหนึ่งของสังคมปัจจุบัน และหากขืนปล่อยให้การณ์เป็นไปเช่นนี้ มันก็จะพัฒนาไปจนเต็มรูปของมัน
นอกจากนั้น ดูเหมือนออร์เวลล์จะไม่มีคำตอบชนิดพร้อมสรรพไว้ให้ผู้อ่านสำหรับปัญหาที่อาจถามกันขึ้นได้ว่า พลเมืองในสังคมที่ไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิงนี้ มีทางเลือกอะไรบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของมรรคกับผล ผู้มีอำนาจมีสิทธิแต่ฝ่ายเดียวหรือที่สามารถใช้กลยุทธ์ทุกประการเพื่อคงสภาพดั้งเดิมของสังคมไว้ ในขณะที่ผู้ต้องการความเปลี่ยนแปลงไม่สามารถใช้กลยุทธ์อย่างเดียวกันหรือที่มี ‘ประสิทธิภาพ’ มากกว่า แม้ในนัยที่อาจโหดเหี้ยม ไร้ศีลธรรม หรือชั่วร้ายยิ่งกว่า - เพื่อที่จะตอบโต้ ในจุดนี้เราต้องแยกแยะระหว่างการกระทำที่มีประสิทธิภาพเพื่อบรรลุผล ซึ่งหากเป็นไปได้ มาตรการนั้นๆ ย่อมถือว่าถูกต้องโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อไม่สามารถนำไปสู่ผล การกระทำอันนั้นกลับถือว่าผิดพลาด กับการกระทำที่ถือว่า ‘ถูกต้อง’ โดยที่ยังไม่ประจักษ์ว่าจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายหรือไม่ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่มีวันเป็นไปเช่นนั้นได้ และในประเด็นหลังนี้เองที่ยังคงเป็นปัญหาให้ถกเถียงกันไม่รู้จบว่า สิ่งที่ถือว่าถูกต้องโดยมรรควิธีนั้นคืออะไร
จอร์จ ออร์เวลล์ ดูจะยิ่งสงบสุ้มเสียงกับประเด็นหลังนี้ยิ่งกว่าเรื่องอื่นใด หลังจากที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างถึงแก่นตลอดมา เขาเพียงแต่เปรยว่า ‘หากความหวังยังมี มันอยู่ที่กรรมาชีพ’ แต่กรรมาชีพในนวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าฝูงชนที่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้อยู่รอดไปวันๆ เท่านั้น ไม่ได้ปรากฏร่องรอยอะไรให้เห็นแม้แต่น้อยว่าใครจะฝากความหวังอะไรไว้ได้ อาจเป็นไปได้ว่า สิ่งที่ผู้เขียนหวังไว้เป็นเพียงแสดงให้เห็นด้านกลับของความสิ้นหวังต่อชนชั้นที่ไม่ใช่กรรมาชีพเท่านั้น อย่างเช่นคนอย่างวินสตัน ซึ่งเป็นข้าราชการในแผนกบันทึก อันเป็นตัวจักรกลน้อยๆ ของระบบรัฐการ หรือจูเลีย ซึ่งเป็นพนักงานในแผนกวรรณกรรมเริงรมย์ ผู้เป็นปฏิปักษ์และต่อต้านระบบด้วยการเสแสร้ง ‘ทำแต้ม’ตามครรลองทุกอย่าง แต่ก็ล้มเหลว สำหรับทั้งสองกรณี ในที่สุด...ถ้าเช่นนั้นแล้ว ข่าวสารสุดท้ายที่ออร์เวลล์พยายามจะบอกคืออะไรเล่า ความหวังที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน อยู่ในมือใครกันแน่
เมื่อเริ่มลงมือแปลงานชิ้นนี้ในปี พ.ศ. 2520 มิตรสหายหลายคนแสดงอาการไม่สนับสนุนให้ผู้แปลเผยแพร่นวนิยายเรื่องนี้ออกเป็นภาษาไทย ด้วยพวกเขามีความเห็นว่า 1984 เป็นนวนิยายที่แสดงความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อทั้งระบบการปกครองและ/หรือการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมที่มีความเสมอภาค แต่ผู้แปลก็ยังยืนยันที่จะทำงานชิ้นนี้ แม้ค่อนข้างจะเห็นด้วยว่าออร์เวลล์มองโลกในแง่ร้าย แต่ข่าวสารส่วนใหญ่ที่ออร์เวลล์ส่งมาถึงเราก็มองได้ทั้งในแง่ทำให้ใจของผู้มีความหวังในโลกที่ดีกว่าถดถอยและในแง่ที่เป็นการเตือนถึงความผิดพลาดอันอาจเกิดขึ้นได้ผู้แปลถือว่าตนไม่มีหน้าที่ผูกขาดการชี้ถูกชี้ผิดแก่ผู้อ่าน แม้จะเห็นด้วยว่าการปล่อยสิ่งโฆษณาชวนเชื่อผิดๆ มีอิทธิพลเข้าครอบงำผู้รับสารนั้นๆ สามารถนำมาซึ่งอันตราย แต่เมื่อชั่งน้ำหนักงานของออร์เวลล์ชิ้นนี้ ผู้แปลถือว่ามีคุณค่าต่อการพัฒนาความคิดและสติปัญญาในแง่ที่ผู้อ่านจะได้ไตร่ตรองประเด็นปัญหาที่ผู้เขียนท้าทายเอาไว้ อาทิเช่น “คนเราไม่สถาปนาระบบเผด็จการขึ้นมาเพื่อพิทักษ์การปฏิวัติหรอก เขาทำปฏิวัติเพื่อสถาปนาระบอบเผด็จการต่างหาก” ฯลฯ
ในฐานะผู้ที่ทำหน้าที่สื่อกลางระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน ผู้แปลไม่ได้หวังว่าผู้อ่านจะเชื่อทุกสิ่งที่ออร์เวลล์เสนอ หากปรารถนาจะเห็นการคิดที่แตกแขนงออกไปได้หลายทาง เพื่อว่าบทสนทนาซึ่งเกิดในยุคสมัยของเราจะไม่ถูกผูกขาดโดยความคิดใดความคิดหนึ่งได้อย่างง่ายๆ โดยปราศจากการถกเถียงอย่างถี่ถ้วน ลึกซึ้ง และเอาจริงเอาจัง
รัศมี เผ่าเหลืองทอง
อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์
นิวเฮเวน, มกราคม 2525
..,
จาก คำนำผู้แปล 1984 ฉบับภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525
..,
คลิกสั่งซื้อ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ฉบับครบรอบ 72 ปี
ครบชุดการออกแบบ - 4 ปก