Last updated: 15 มิ.ย. 2564 | 2834 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจากที่เคยรวบรวม 10 เล่ม 'เฮ้ย... มันมีหนังสือเล่มนี้ด้วยหรอวะ' ไว้ใน เฮ้ย... มันมีหนังสือเล่มนี้ด้วยหรอวะ (ตอนที่ 1) วันนี้ สนพ.สมมติขอนำเสนอ 'เฮ้ย... มันมีหนังสือเล่มนี้ด้วยหรอวะ (ตอนที่ 2) ซึ่งเป็นตอนจบ โดยได้รวบรวมหนังสือที่เราเชื่อว่า นักอ่านหลายคน 'ไม่รู้จัก' 'ไม่เคยเห็น' ยิ่งกว่านั้นคือไม่เคยรู้ว่า 'มีหนังสือเหล่านี้อยู่ในสารบบ' ทั้งจากการแนะนำของสำนักพิมพ์ หน้าร้าน บนชั้นหนังสือทั้งอิสระและไม่อิสระ ออนไลน์หรือออฟไลน์ เหมือนเช่นเคย
สำหรับเล่มที่เหลือจะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูกันเลย
11. อิสรภาพแห่งความไร้ตัวตน (Stray Birds)
ฉบับแปลเป็นภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562
รวมบทกวีของกวีชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวรรณกรรม ผู้ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น 'Goethe’ และ ‘Shakespeare’ แห่งโลกตะวันออก กวีผู้นั้นคือ รพินทรนาถ ฐากูร
บทประพันธ์ของเขาล้วนทรงคุณค่าและแฝงไปด้วยข้อคิดคำสอนทางปรัชญาอันชาญฉลาดที่ไม่เคยล้าสมัย แม้งานส่วนใหญ่ของเขาจะถูกเขียนขึ้นมาเป็นเวลาร่วมศตวรรษแล้ว ถ้อยคำที่ร้อยเรียงมาได้นำเสนอถึงแก่นแท้ความเป็นจริงในโลกและชีวิตมนุษย์ซึ่งยังคงเป็นจริงมิเคยแปรเปลี่ยน
ความเป็นสากลนี้ทำให้ผลงานของฐากูรได้รับการแปลอย่างแพร่หลายเป็นหลากภาษา อัจฉริยภาพของเขาเป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง
12. การฟื้นตื่นของเอ็ดน่า (The Awakening)
สำนักพิมพ์สมมตินำกลับมาตีพิมพ์และปรับปรุงใหม่เมื่อปี พ.ศ.2555
นี่คือ 'Madame Bovary ฉบับอเมริกัน' นี่คือ ' วรรณกรรมว่าด้วยคำว่า 'แม่' และ 'เมีย' ของนักประพันธ์หญิงที่กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และท้าทายมาตรฐานสังคมของผู้หญิงยุคนั้น!
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เคยกล่าวไว้ว่า "ยังมีโลกอันลึกลับ ละเอียดซับซ้อน เร้าอารมณ์ กระตุ้นจินตนาการและความคิด อันเป็นโลกที่มองผ่านสายตาและจิตสำนึกของนักเขียนสตรี นี่คือโลกอีกโลกหนึ่งที่นักอ่านบ้านเราไม่ค่อยจะได้พบพานมาก่อน"
13. หวนคืนสู่บาบิลอน และเรื่องสั้นอื่นๆ(Babylon Revisited and Other Stories)
รวมเล่มตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2560
หวนคืนสู่บาบิลอนฯ คือ รวมเรื่องสั้นของนักเขียนผู้เปิดโปงพฤติกรรมสังคมอเมริกันในช่วงทศวรรษ 1920 นาม เอฟ. สก็อต ฟิตซ์เจอรัลด์ - หลายคนรู้ว่าฟิตซ์เจอรัลด์เขียน The Great Gatsby แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า Babylon Revisited คือส่วนขยายชัดในงานของฟิตซ์เจอรัลด์ เชื่อเถอะว่า การได้อ่านงานของฟิตซ์เจอรัลด์ในโมงยามที่อากาศมีลมหนาว จะทำให้หัวใจของคุณสะท้านไปมากในแบบที่คุณเองก็คาดไม่ถึง
14. ชั่วใบระริกไหว (The Trembling of a Leaf)
รวมเล่มตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2561
รวมเรื่องสั้นเล่มนี้จะพาคุณเดินทางไปยังหมู่เกาะทะเลใต้ที่เต็มไปด้วยผู้คนต่างค่านิยม ผลงานของ วิลเลียม ซอเมอร์เซ็ท มอห์ม (W. Somerset Maugham) นักเขียนชื่อก้องโลกและมีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่ง
ผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ได้บันทึกชะตากรรมที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดาษดื่น เป็นเพียงสงครามทางวัฒนธรรมซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกดินแดนที่ผู้คนต่างค่านิยมอาศัยร่วมกัน แต่เหตุการณ์สามัญเหล่านี้กลับนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ร้าวรันทดจนยากที่จะลืม!
15. สาระของความว่างเปล่า
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งกับสนพ.สมมติเมื่อปี พ.ศ.2555
หากมองเพียงผิวเผิน หนังสือเล่มนี้เหมือนบทบันทึกธรรมดาเล่มหนึ่งที่เขียนตามรถประจำทาง ห้างสรรพสินค้า ในโรงภาพยนตร์ หรือแม้แต่ในร้านอาหารที่เรียกว่าจังก์ฟู้ด ดูว่างเปล่าในบางประโยค มีสาระในบางถ้อยคำ และมีความหมายในบางบรรทัด แต่ถ้าหากมองอย่างลึกซึ้ง ค่อยๆ พลิกหน้ากระดาษอย่างช้าๆ อ่านทีละบทอย่างมีสมาธิและตั้งใจ หนังสือเล่มนี้ได้ให้สารัตถะทางความคิดอย่างคมคายจากความว่างเปล่าในแต่ละวันที่ผู้เขียนได้เผชิญด้วยสายตาของกวีผู้คร่ำหวอดอยู่กับภาษา ความขบถ อารยะ และวิธีการเล่าเรื่องในแบบเฉพาะตัว นี่คือหนังสือดีที่หลายคนมองข้าม!!!
16. การหมุนตัวอย่างแข็งของฟ้าร้อง พูลวรลักษณ์
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งกับสนพ.สมมติเมื่อปี พ.ศ.2555
งานคอนเซ็ปชวลที่โดดเด่นด้วยแง่มุมแปลกประหลาด มีตรรกะคมคาย ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ความเรียงชิ้นนี้มีความหมายและเผยให้เห็นตรรกะวิธีคิดของ ฟ้า พูลวรลักษณ์ อย่างชัดเจน กระทั่งกล่าวได้ว่ามันเป็นงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของฟ้าอย่างไม่ต้องสงสัย...
คุณค่าและความหมายของงานชิ้นนี้ ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับ ‘การอ่าน’ และ ‘ผู้อ่าน’ เสมอมานับแต่อายุของมัน "ไม่มากและไม่น้อยไปกว่านี้ การหมุนตัว ณ พ.ศ. นี้ เป็นการหมุนตัวอย่างแข็งกร้าวและน่าตื่นตะลึงเป็นอย่างยิ่ง! -- เป็นอีกเล่มที่ชาวสมมติยกให้เป็นเล่ม 'โคตรเท่'
17. เพลงรักคนพเนจร
สนพ.สมมตินำกลับมาพิมพ์อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2556
หนังสือเปลือยหัวใจอันเปลี่ยวเหงาเซาซึมของนักเขียน-นักแปลนามอุโฆษ แดนอรัญ แสงทอง ใครยังไม่เคยอ่านบอกได้คำเดียวว่าพลาด
ครั้งหนึ่ง แดนอรัญ แสงทอง กล่าวไว้ว่า ...งานเขียนชิ้นนี้เป็นเรื่องราวระหว่างแดนอรัญวัยหนุ่มกับเธอผู้หนึ่ง -- ใช่หรือไม่ว่าความรักคือการพเนจรเร่ร่อน เพราะหนทางข้างหน้าไม่มีหลักประกันใดๆ ต่อความมั่นคงของความรักระหว่างฉันกับเธอ หากผู้อ่านยังติดภาพความขึงขังของแดนอรัญจาก เงาสีขาว รับรองได้ว่าผู้อ่านจะต้องตะลึงงันในอารมณ์อันอ่อนไหวของแดนอรัญอย่างแน่นอน
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ใหม่กับสนพ.สมมติเมื่อปี พ.ศ.2556
บทกวีเล่มแรกๆ (และเล็กๆ) ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ แบ่งออกเป็นประเด็นย่อยๆ ที่ล้วนสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมที่มิใช่สิ่งที่สถาปนิกควรคำนึงแต่เพียงอาชีพเดียว อนุสรณ์ได้ปลูกถ่ายคำถามแก่ผู้อ่านต่อสิ่งรอบตัว ที่ว่างบนลานหญ้าหน้าบ้านอาจหมายถึงอิสระเสรีที่รอคอยการเติมเต็มจากสิ่งมีชีวิตอื่น บันไดของสถานที่ทำงาน นั่นใช่เศษเสี้ยวของความพยายามในการผูกสัมพันธ์ระหว่างผู้คนหรือไม่ ร่วมหาคำตอบระหว่างบรรทัดในกวีนิพนธ์ชื่อ เมืองเย็น ส่วนผลลัพธ์ทางความรู้สึกจะอิ่มเอมหรือซึมเซา ย่อมแตกต่างตามแต่ปัจเจกบุคคล
19. หมวกทรงกลมลอยวนรอบกรวยฝน
ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2556
มายากลทางภาษาในรูปของคำ ประโยค และวลีที่ทำให้ผู้ชื่นชอบการไขรหัสล้วนคลั่งไคล้ กล่าวได้ว่า การหลอกล่อให้ 'หลงกล' คือความโปรดปรานของ อุเทน มหามิตร เขาแสดงสดในสถานที่ต่างๆ ออกเดินทางค้นหาผู้ชมขี้สงสัยที่ชื่นชอบการไขรหัส
และ...ในครั้งนี้ อุเทนไม่ได้มาด้วยตนเอง ทว่าเขากลับเสกรูปคำ ประโยค วลี (และบางสิ่งที่นิยามไม่ได้) ให้ปรากฏเบื้องหน้าผู้อ่าน ด้วยมายากลทางภาษาทั้ง 52 วิธี ในรูปแบบของหนังสือที่ชื่อ หมวกทรงกลมลอยวนรอบกรวยฝน ใครกำลังอยากทดลองอ่านอะไรแปลกๆ แหวกแนว ไม่ควรพลาด
20. ดังนั้นจึงสิ้นสลาย
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558
นวนิยาย (พยายามโรแมนติก) ของ นิธิ นิธิวีรกุล เรื่องนี้ นำเสนอเรื่องราวของคนสามรุ่น บอกเล่าที่มาที่ไปซึ่งเป็นความขัดแย้งและสืบเนื่องกันมา จนทำให้ตัวละครหลักที่ชื่อ 'ชอบ อนุจารี' ตัดสินใจกระทำการบางอย่างต่อชีวิตของตัวเอง ประจักษ์พยานทั้งหลายในนวนิยายเรื่องนี้ อาทิ อนุทิน จดหมาย นิยายขนาดสั้น อีเมล และเศษซากของความทรงจำ นับเป็นเครื่องยืนยันที่เหลืออยู่ถึง ‘ภาวะที่รางเลือนอันชัดเจน’ ของคนคนหนึ่ง รวมถึงเป็นการยืนยันของการมีอยู่และการสิ้นสลายไปพร้อมๆ กัน ไม่บ่อยครั้งนัก ที่นักเขียน (หนุ่มร่วมสมัย) จะสามารถนำเสนอเรื่องราวของประวัติศาสตร์ ความทรงจำ การเมือง และความรัก ให้อยู่ในรูปแบบของนวนิยายในระดับที่เรียกว่า 'เอาอยู่' มีทั้ง 'ความลึกซึ้งกินใจ' และ 'ความจริงจังในเชิงวิพากษ์'