Last updated: 10 ก.ย. 2563 | 2481 จำนวนผู้เข้าชม |
[ตอนที่ 5]
ในประวัติศาสตร์อันใกล้ มีเสียงร้องหนึ่งตะโกนแจ้งข่าวการจากไปของนักเขียนที่ว่ากันว่าคือ ‘เพื่อชีวิตคนสุดท้าย’ สิ้นเสียงข่าวร้าย ชายหนุ่มสามสี่คนที่อยู่ตรงนั้นต่างนิ่งเงียบ ไม่มีใครเอ่ยปาก จำได้เลาๆ กับตัวเองว่า เสียงรอบข้างมันดังอู้อี้ๆ ถามว่าสนิทชิดเชื้อกับนักเขียนหนุ่มคนนี้ไหม ก็ตอบอย่างไม่เกรงใจความทรงจำของตัวเองว่า แม้แต่สบตากันแบบซึ่งหน้าก็ไม่เคย มิพักต้องกล่าวถึงการสนทนาแลกเปลี่ยน
หลายปีผ่านไป ข่าวร้ายจากเมืองเหนือก็มาถึง พญาอินทรีผู้ยิ่งใหญ่ในโลกตัวอักษร โผบินไปไกลสุดขอบฟ้าไม่หวนกลับ ความรู้สึกในคราวนี้ก็ไม่ต่างกัน เหมือนสูญเสีย...ไม่ใช่เหมือน มันคือการสูญเสีย จะว่าไป ญาติกันก็ไม่ใช่ สนทนาสบตากันก็นับครั้งได้ แต่เหมือนมีบางอย่างมากระชากให้ความทรงจำมันทำงานและสั่นไหว
ไม่นานนักจากกาลปัจจุบัน ‘เหมืองแร่’ ที่เปิดมายาวนานก็ถึงเวลาปิดถาวร ความรู้สึกของคนหนุ่มคนนั้นก็ไม่ต่างจากครั้งก่อนๆ
ล่าสุด วันหนึ่งของบ่ายคล้อยเดือนสิงหาคม นักเขียนหญิงชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่ได้รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ตัดสินใจเกษียณอายุจากการเขียนหนังสือด้วยวัย 88 ปี ก็แปลก...ต่างชาติ ต่างภาษา คนละสีผิว แต่เกิดความรู้สึกเดียวกันในความสูญเสีย
ว่าก็ว่าเถอะ นักเขียนยังไงก็เป็นนักเขียน ทำหน้าที่ถ่ายทอดบางอย่างแทนพวกเรา เรียกร้องและป่าวตะโกนถึงสาระสำคัญบางอย่างของชีวิตที่เราอาจมองไม่เห็น พวกเขาคัดง้างกับแอกขนาดใหญ่ที่เรียกว่า 'บรรทัดฐานจอมปลอมในสังคม' หรือจะเล่นคำกลับกันว่า 'บรรทัดฐานในสังคมจอมปลอม' พวกเขาทำให้เราเห็นในสิ่งที่เราไม่มอง และพวกเขามองในสิ่งที่เราไม่เห็น
แต่ว่าก็ว่าเถอะ นักเขียนก็เป็นคนธรรมดาเหมือนพวกเรา ใช้อากาศหายใจเดียวกับผู้คนในยุคสมัยนั้นๆ เพียงพวกเขามีถ้อยคำและความคิดอ่านเป็นอาภรณ์สวมใส่ โดยมีความโดดเดี่ยวเป็นมิตรแท้ระหว่างทำงาน
นักเขียนทั้งหลายผลิตงานตามยุคสมัยที่พวกเขาเป็นประจักษ์พยาน ตามแต่ละประเภทงานเขียนที่พวกเขาช่ำชอง และตามแต่สัญชาติที่พวกเขาสังกัด
แม้จะหลากหลายแตกต่าง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ พวกเขาเป็นนักเขียนของพวกเรา พวกเขาเป็นนักเขียนของโลกใบนี้
เมื่อได้ข้อสรุปดังนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องแยกระหว่าง 'นักเขียนไทย' หรือ 'นักเขียนเทศ’ ยิ่งไปกว่านั้น หากพวกเขามี ‘ฉันทามติ’ ต่อตัวเองชัดเจนแล้วว่าจะเป็นนักเขียนของ ‘พวกเรา’ พลังในปัจเจกจะสำแดงให้งานเขียนของพวกเขาเชื่อมโยงกับสาธารณะด้วยความกลมกลืน
ไม่อยากกล่าวโทษโชควาสนาว่าเราทำงานในประเทศที่การอ่านกะพร่องกะแพร่ง คุณค่าของนักเขียนในประเทศนี้จึงถูกละเลยเพิกเฉย แต่ในทางกลับ นักเขียนเองก็ต้องพยายามอย่างสุดตัวเพื่อพิสูจน์ว่าพวกคุณเป็นนักเขียนของคนในประเทศนี้ให้ได้ด้วยเช่นกัน!
แต่เอาเข้าจริง ไม่ต้องถึงกับให้ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมเหลียวมองตีคุณค่าหรอก
ขอเพียงนักเขียนไทยซื่อสัตย์ต่องานเขียนและเป็นนักเขียนที่แท้ของคนอ่าน นั่นก็น่าจะเพียงพอแล้ว?!?