ไอดา อรุณวงศ์ | นิยามของ 'ความเป็นเมีย' และ 'ความเป็นแม่'

Last updated: 11 ส.ค. 2565  |  4781 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไอดา อรุณวงศ์ | นิยามของ 'ความเป็นเมีย' และ 'ความเป็นแม่'

นิยามของ ’ความเป็นเมีย’ และ ‘ความเป็นแม่’ ต่อการเผชิญความโดดเดี่ยวและความท้าทาย

บางส่วนจากบทกล่าวตาม 'ตื่นตรม' โดย ไอดา อรุณวงศ์


ในเล่ม การฟื้นตื่นของเอ็ดน่า (The Awakening)
==========

หญิงผู้เป็นภรรยาคนหนึ่ง วันหนึ่งตัดสินใจปลดตัวเองจากฐานะนั้น และก้าวออกจาก ‘บ้าน’ ไปอยู่ใน ‘ห้อง’ โดยลำพัง หันหลังให้ความสัมพันธ์ที่หนักหน่วงทว่ากลวงเปล่า ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของทว่าปราศจากเสน่หา ความเป็นที่บูชาทว่าปราศจากความรัก

เอ็ดน่า ปองติเยร์ เป็นตัวละครเอกใน การฟื้นตื่นของเอ็ดน่า (The Awakening: 1899) นวนิยายโดย เคท โชแปง (1850 - 1904) ตัวละครที่ถูกบอกเล่าชีวิตของเธอผ่านสรรพนาม ‘นางปองติเยร์’ มาจนถึงต้นบทที่ 7 กว่าจะได้รับการขานนามจริงว่า ‘เอ็ดน่า’ ผู้นี้ เป็นภรรยาสาวของสุภาพบุรุษนักธุรกิจและเป็นมารดาของลูกน้อยสองคน

เมื่อผู้หญิงไม่ยอมประพฤติตนตามครรลองของจารีต ถ้าไม่ถูกมองว่าทำตัวหัวหมอ หรือ over-intellectualized ก็เสียจริต หาไม่แล้วก็เพราะหล่อนมีชู้นั่นแล

แต่พฤติกรรมของเอ็ดน่าก็ชวนให้เกิดข้อกังขาได้จริงๆ กระทั่งในหมู่ผู้เอาใจช่วยให้การปลดปล่อยตัวเองของเธอไปได้ตลอดรอดฝั่งก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้องแอบถอนใจ

ถ้าถามว่าใครเป็นคนแรกที่สามารถ ‘ปลุก’ ให้เอ็ดน่า ‘ตื่น’ ได้ในความหมายตามตัวอักษร เห็นจะไม่พ้นสามีของเธอนี่เอง เขาปลุกเธอขึ้นมาจริงๆ กลางดึกคืนหนึ่งหลังกลับจากหาความสำราญนอกบ้าน เอ็ดน่าเข้านอนและหลับไปนานแล้ว แต่สามีย่อมไม่อาจยอมให้เธอบกพร่องต่อหน้าที่ของผู้รับฟังได้ เธอควรตื่นขึ้นมาฟังเรื่องราวของเขา ไม่ใช่มัวนอนขี้เซาสะลึมสะลือ ครั้นเมื่อเอ็ดน่ายังไม่ตื่นเสียที เขาจึงต้องเพิ่มมาตรการด้วยการเรียกร้องให้เธอตื่นขึ้นมาทำหน้าที่แม่ เขากล่าวโทษให้เธอลุกไปดูลูกชายว่านอนหลับสบายดีหรือเป็นไข้ “ถ้าไม่ใช่หน้าที่ของแม่ที่จะดูแลลูกแล้วเป็นหน้าที่ของใครกัน?”

ได้ผล คราวนี้เอ็ดน่า ‘ตื่น’ จริงๆ และถึงขั้นไม่สามารถกลับไปนอนต่อได้เพราะตาสว่างไปแล้ว เมื่อสามีพอใจและไปนอนหลับ เอ็ดน่ากลับลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ไร้เหตุผลที่ผู้หญิงมักจะทำ คือการนั่งร้องไห้ ร้องอย่างเจียมตัวเกินกว่าจะบอกได้ว่าร้องเพราะอะไร เรารู้แต่เพียงว่า -- มันเป็นความรู้สึกอัดอั้นอันไม่อาจอธิบาย ซึ่งดูจะอุบัติขึ้นในจิตสำนึกส่วนไหนสักแห่งที่เธอไม่คุ้นเคย ทำให้เธอรู้สึกรวดร้าวอย่างบอกไม่ถูกไปทั้งร่าง มันเหมือนเป็นเงาดำ เป็นหมอกมัวที่เข้าคลุมจิตใจในวันแห่งฤดูร้อนของเธอ มันเป็นความรู้สึกที่แปลกและไม่คุ้นเคย เป็นห้วงอารมณ์ เธอไม่ได้มานั่งอยู่ตรงนั้นเพื่อจะตำหนิสามีอยู่ในใจ หรือตัดพ้อใดต่อโชคชะตาที่นำพาให้เธอย่างเข้าสู่เส้นทางอย่างที่เดินมานี้ เธอเพียงแต่มาร้องไห้สะอึกสะอื้นให้กับตัวเอง

เธอแค่ตื่นน้ำตา

บางทีชัยชนะก็ไม่ได้แปลว่าต้องมีตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองเสมอไป เพราะลำพังแค่สลัดตัวเองออกมาจากตำแหน่งแห่งที่ที่คนอื่นวางไว้ให้ คือการไม่ยอมแพ้แล้ว

โรแมนติคไหมเล่า!

“ความขัดแย้งในตัวเอง (paradox) ที่ชัดเจนอยู่ใจกลางของ romanticism คือชุดคุณค่าแบบปัจเจกชนนิยมจะโดดเดี่ยวและลงโทษผู้ที่อาจหาญเข้ามาสู่เส้นทางนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ชุดคุณค่าดังกล่าวกลับนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการยอมรับของสังคม”

นั่นคือสิ่งที่ ลินดา เอส. โบรีน (Lynda S. Boren) เขียนไว้ในบทความ “Romatic Overtures” ซึ่งตีพิมพ์อยู่ใน Awakenings: The Story of Kate Chopin’s Revival ที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยหลุยเซียน่าตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2009 เป็นหนังสือรวมข้อเขียนว่าด้วยประสบการณ์และความทรงจำของบรรดานักวิชาการ (ส่วนใหญ่เป็นคนอเมริกัน) ที่เป็นรุ่นบุกเบิกในการศึกษาเกี่ยวกับผลงานของโชแปง ว่าพวกเขา ‘ค้นพบ’ โชแปงได้อย่างไร และการค้นพบนั้นส่งผลอะไรแก่ความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาบ้าง

การอยู่โดดเดี่ยวของคนที่ไม่ยอมแพ้แม้รู้ว่าไม่มีวันชนะนั้น ไม่ใช่เรื่องเท่และไม่ใช่เรื่องง่าย

และราวกับความโดดเดี่ยวคือสิ่งเดียวที่รับประกันได้ภายหลังการตื่น The Awakening ก็มีชื่อรองว่า A Solitary Soul

เอ็ดน่าได้ตื่นจากแฟนตาซีของการหลอมรวมตัวเองเข้ากับใครอีกคน มาสู่การนิยามตัวตนและพึ่งพิงตัวเอง เมื่อเธอย้ายออกจากบ้านของสามีมาอยู่ในห้องตามลำพัง เธอรู้สึกได้ถึงเสรีภาพที่ง่ายแสนง่ายในขั้นต้นเพียงแค่หลุดพ้นออกมาจากความเป็นเมีย ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารทั้งที่ใส่แค่ชุดคลุมนอน หรือ:

“จากนั้น เอ็ดน่าก็เข้าไปในห้องสมุด เธออ่านอีเมอร์สันจนกระทั่งรู้สึกง่วง เธอเพิ่งรู้ตัวว่าระยะหลังมานี่เธอไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเลย จึงตั้งใจว่าจะกลับมาตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือเพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเองอีก เดี๋ยวนี้เธอมีเวลาเป็นของตัวเองเต็มที่แล้วที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ หลังจากอาบน้ำให้ร่างกายสดชื่นแล้วเอ็ดน่าก็เข้านอน เมื่อเธอซุกตัวลงนอนภายใต้ผ้านวมหนานุ่ม เธอรู้สึกถึงความสุขสงบชนิดที่เธอไม่เคยรู้สึกมาก่อนเลยในชีวิต”

แต่เมื่อเธอถูกกระชากให้ตื่นอีกครั้งจากการที่เธอไม่เพียงได้ตาสว่างว่า ความรักอย่างที่เธอเคยเข้าใจว่าเป็นรักในอุดมคติที่มาปลุกให้เธอ ‘ตื่น’ (“ ‘ฉันรักคุณ’ เธอกระซิบ ‘คุณคนเดียวเท่านั้น ไม่มีใครอีกนอกจากคุณ เมื่อฤดูร้อนที่แล้วคุณเป็นคนปลุกให้ฉันตื่นจากความฝัน ชีวิตฉันหลับใหล่ไร้สาระมาตลอด’ ”) นั้นเป็นเพียงอีกขั้นของภาพฝันลวงตา แต่เธอยังได้ตาสว่างอีกด้วยว่า การตื่นของผู้หญิงไม่ได้รับประกันว่าจะได้บรรลุถึงเสรีภาพเท่าผู้ชาย ต่อให้เธอหันหลังให้กับความเป็นเมียได้ แต่ความเป็นแม่คือแอกใหญ่ที่สังคมไม่อาจยอมให้วาง

ความโดดเดี่ยวที่ตามมาในขั้นของการตาสว่างระดับนั้น จึงเป็นความโดดเดี่ยวของผู้หญิงที่ไม่เพียงแปลกแยกต่อภาพลวงตาของความรัก การแต่งงาน หรือกระทั่งความเป็นแม่ แต่มันเป็นความโดดเดี่ยวอย่างที่เรียกกันว่า โดดเดี่ยวในระดับอัตถิภาวะ

ฟังดูปรัชญาเกินไปไหมสำหรับแม่บ้านคนหนึ่ง?

ส่วนปัญหาในระดับปัจเจกกว่านั้น ถ้าดูแล้วสิ้นหวังว่าจะเป็นความเข้าใจร่วมกันในระดับสังคมได้ ก็ทำเหมือนโชแปง คือให้มันเป็นแค่นิยาย เขียนถึงมันอยู่อย่างลำพังและเงียบเชียบในห้องที่ปิดล็อคไว้อย่างปลอดภัยแน่นหนาของตัวเองต่อไป ให้เป็นเหมือนเรื่องเล่าที่อุปโลกน์ว่าเป็นของสมมติอีกที แล้วก็เพียงแต่หวังว่าเมื่อมีใครอีกสักคนได้มาอ่านแล้วเขาจะสัมผัสถึงความจริงที่อยู่ในนั้นได้ และช่วยให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเกินไปแม้ว่าเขาก็กำลังตื่นทั้งน้ำตาอย่างเดียวดายไม่ต่างกัน

บางทีถึงที่สุดแล้วมันก็คงเหลือภารกิจที่เป็นไปได้อยู่แค่นั้น

แค่ปลอบใจซึ่งกัน
=====

คลิกสั่งซื้อ การฟื้นตื่นของเอ็ดน่า (The Awakening)



=====

หรือคลิกสั่งซื้อ Set ศีลธรรมเอ๋ย...อย่ามาหลอกกันซะให้ยาก
ในราคาสุดประหยัด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้