Last updated: 3 เม.ย 2567 | 3725 จำนวนผู้เข้าชม |
“จงหลับหลังตรากตรำงานหนัก, จงเทียบหลังผ่านทะเลมากด้วยพายุ, จงพักหลังสงบศึกสงคราม, มรณกรรมหลังวิถีของชีวิตนั้นแล, ท่านได้บรรลุแล้วโดยสิ้น”
บทกวีข้างต้นถูกสลักบนป้ายหลุมฝังศพของ โจเซฟ คอนราด นักประพันธ์เลื่องชื่อในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้จากโลกนี้ไปในวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ.1924 หรือก็คือเมื่อ 95 ปีก่อน ซึ่งเป็นบทกวีของ เอ็ดมุนด์ สเปนเซอร์ (Edmund Spenser)
นับเป็นข้อความที่เหมาะสมอย่างยิ่ง...เพราะตลอดชีวิตของคอนราด เขาต้องเร่ร่อนรอนแรมผจญฝ่ามรสุมชีวิตตราบสิ้นอายุขัย
เป็นการเดินทางอันยาวไกล ทั้งบนผืนแผ่นดินที่มนุษย์เหยียบย่ำ และใต้มหาสมุทรอันมืดดำภายในจิตใจมนุษย์ โดยเขาได้บันทึกและสำแดงออกมาในรูปแบบนวนิยาย
ครั้งหนึ่งคอนราดเคยกล่าวว่า “นักเขียนที่ไม่ใส่ใจหรือเห็นใจในข้อบกพร่องของเพื่อนมนุษย์ ย่อมไม่มีผู้ใดเชื่อว่าเขาคือนักเขียน”
ดังนั้นสำหรับเขาแล้ว นวนิยายไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องแต่งที่นำประสบการณ์มาประกอบสร้างอย่างดาดๆ หากแต่ยังหลอมรวมเอาชีวิตส่วนตัวของผู้ประพันธ์ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงไว้ด้วย
นวนิยายจึงทำหน้าที่นำพาผู้อ่านไปสู่การรับรู้อดีตอันขมขื่น -- รู้สึกถึงความเจ็บปวดในจิตใจผู้อื่นจากรอยแผลแห่งวันวาน ...ซึ่งบางครั้งแม้แต่เราเองก็ไม่รู้ตัวว่าได้ฝากมันไว้แก่ใครบ้าง จากภาวะเช่นนั้นคงทำให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นมนุษย์บางประการที่ทุกคนล้วนมีเหมือนกันไม่มากก็น้อย
ดังที่ คอนราดเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ในเชิงประวัติศาสตร์นิยม (historicism) และประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiography) ไว้ว่า:
"นวนิยายก็คือประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ หรือไม่ก็สูญ. แต่มันยังเป็นมากกว่านั้น; มันตั้งอยู่บนฐานที่มั่นคงกว่า อันขึ้นอยู่กับความเป็นจริงของรูปแบบและสังเกตการณ์ของปรากฏการณ์ทางสังคม ในขณะที่ประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับเอกสารจำนวนมาก รวมถึงการอ่าน [เอกสารเหล่านั้น] ทั้งที่ตีพิมพ์ [เป็นรูปเล่ม] และที่เขียนด้วยลายมือ..."
ต่อกรณีดังกล่าว...คงไม่มีนวนิยายเรื่องใดของคอนราดที่จะเหมาะสมไปกว่า Heart of Darkness หรือ หฤทัยแห่งอันธการ นวนิยายอันเลื่องชื่อที่สุดของนักประพันธ์ผู้นี้ นี่คือนวนิยายที่เขียนขึ้นโดยผสมผสานสุนทรียศาสตร์ทางวรรณกรรมเข้ากับชีวประวัติของผู้เขียน, ประวัติศาสตร์, และค่านิยมของสังคมสมัยนั้นไว้ด้วยกัน
เพราะเมื่อตัวละครได้เดินทางลึกเข้าไปในผืนป่าที่มืดทึบ ล่องไปตามลำน้ำอันมืดสนิท และพบเจอกับชนพื้นเมืองผิวดำกว่าท้องฟ้ายามราตรี ผู้อ่านก็จะได้คืบคลานไปพบกับความมืดดำที่มนุษย์ซุกซ่อนไว้ในเบื้องลึกที่สุดของจิตใจ และไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า เมื่อเราได้อ่านถ้อยคำเหล่านั้น ความมืดดำน่ารังเกียจอาจจะแทรกผ่านปลายนิ้วติดออกมาก็เป็นได้
หรือที่น่าสะพรึงกว่านั้นคือ...ความมืดดำเหล่านั้นอาจอยู่ในจิตใจเรามาตั้งแต่แรกแล้ว...
คำถามสำคัญคือ เรากล้าหาญพอที่จะเผชิญหน้ากับมันดังที่คอนราดทำหรือไม่?
ความยิ่งใหญ่ของคอนราด ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการทั่วโลกว่าเป็นนักเขียนวรรณกรรมสมัยใหม่รุ่นบุกเบิก ผู้มีอิทธิพลต่อนักเขียนวรรณกรรมรุ่นต่อ ๆ มา เช่น
ในบั้นปลาย คอนราดเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว...เขาอำลาไปด้วยเหตุทางกายภาพ
แต่ใครต่อใครที่ยังมีชีวิตอาจจะต้องพบกับภาวะเยี่ยงนั้น ใช่...มันคือภาวะที่เกิดจากภายในเมื่อต้องขุดคุ้ยลงไปในหัวใจของตนเองและในหัวใจของเพื่อนร่วมโลก
บางที...อาจเป็นความมืดดำในจิตใจของมนุษย์ที่ได้กัดกร่อนกลืนกินหัวใจคอนราด รวมถึงหัวใจของเรา?
อาจใช่...อาจไม่ใช่...
ถ้าเราไม่อนุญาตให้ตัวเองค้นหา เหตุอันใดเราจะได้คำตอบ
==========
คลิกสั่งซื้อ หฤทัยแห่งอันธการ (Heart of Darkness)
17 ก.ค. 2563
22 ธ.ค. 2567