Last updated: 18 มี.ค. 2566 | 9665 จำนวนผู้เข้าชม |
รู้หรือไม่?! การอ่านเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้คนอ่านมีความสุขและสุขภาพดีขึ้นได้โดยง่าย แม้จะเป็นการลงทุนที่น้อยกว่าความบันเทิงหรือการพักผ่อนหย่อนใจอื่นๆ ทว่าผลที่ได้รับกลับมากมายมหาศาล
และเมื่อการอ่านเป็นตัวช่วยสร้าง 'ภาวะทางอารมณ์' ที่ดีตามข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ การอ่านและหนังสือ จะถูกนำไปใช้เป็นวิธีการหนึ่งทางการแพทย์เพื่อช่วยรักษาและบำบัดสภาพจิตใจของผู้ป่วยอีกด้วย
'บรรณบำบัด' หรือการบำบัดจิตด้วยหนังสือ (Bibliotherapy)
บรรณบำบัดคืออะไร? คือการรักษาทางจิตวิทยาโดยใช้หนังสือหรือเอกสารต่างๆ มาเป็นสื่อในการเสริมสร้างจินตนาการและความคิดของผู้ป่วยที่ทนทุกข์จากการเจ็บป่วยทางจิตใจ หรือมีความบกพร่องในสภาวะทางอารมณ์ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจและยอมรับปัญหาหรือสภาวะของตนเองได้ดีขึ้น
====
ประวัติศาสตร์อันยาวนานของศาสตร์แห่งการบำบัดด้วยหนังสือ
แม้คำว่า ‘Bibliotherapy’ จะถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1916 โดย Samuel Crothers นักเขียนชาวอเมริกัน แต่ประวัติศาสตร์ของการบำบัดด้วยหนังสือได้เริ่มต้นมาเนิ่นนานนับตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ
โดยชาวกรีกมีความเชื่อว่า ห้องสมุดหรือห้องหนังสือของพวกเขาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังในการบำบัดรักษาโรคภัยต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำจารึกที่ประตูห้องสมุด Thebes ว่า “the house of healing for the soul”
ต่อมาในศตวรรษที่ 19 นายแพทย์ Benjamin Rush และ Minson Galt II ได้เริ่มนำบรรณบำบัดมาใช้ในเวชศาสตร์ฟื้นฟูและการรักษาปัญหาสุขภาพจิต และในระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง ศาสตร์แห่งการบำบัดด้วยหนังสือก็ได้ถูกนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของทหารที่เข้าร่วมสงครามอีกด้วย
====
เศร้า เหงา เครียด...อ่านหนังสือช่วยได้
ปัจจุบันการบำบัดจิตด้วยการอ่านในทางการแพทย์มีอยู่หลายแบบ ทั้งการจ่ายยาเป็น ‘รายชื่อหนังสือที่ควรอ่าน’ ให้ผู้ป่วย หรือการเล่าเรื่องจากหนังสือให้ผู้ป่วยฟัง และอันที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ผู้ป่วยเท่านั้นที่สามารถรับ Bibliotherapy แต่ใครก็ตามที่อาจพบเจอกับปัญหาในชีวิต มีภาวะตึงเครียด ไม่มีความสุข ทั้งจากการทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวหรืออะไรก็ตามแต่ ... ก็สามารถอ่านหนังสือเพื่อบรรเทาความทุกข์จากปัญหาเหล่านั้นได้เช่นกัน!
School of Life (London) ได้เริ่มนำแนวคิดของการบำบัดจิตด้วยหนังสือมาใช้ในทางจิตวิทยา โดยจัดคอร์สการบำบัดด้วยการอ่านเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบกับภาวะอ่อนไหวทางอารมณ์จากปัญหาต่าง ๆ หรือต้องเผชิญกับมรสุมชีวิต โดยมี นักบรรณบำบัด (Bibliotherapist) เป็นผู้ให้คำปรึกษา พูดคุย ซักถาม และเป็นผู้จ่ายยาเป็น ‘หนังสือ’ ที่มีเนื้อหาเหมาะกับอาการและสภาพปัญหาของผู้ที่เข้ามารักษา
ตัวอย่างของผู้ที่เข้ารับการรักษาในคอร์สนี้ เช่น ว่าที่คุณพ่อที่กังวลกับการมีลูกคนแรก ก็ได้รับการจ่ายยาเป็นวรรณกรรมสองเล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพ่อที่รับหน้าที่เลี้ยงดูลูก ได้แก่ Room Temperature เขียนโดย Nicholson Baker และวรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิกของ Harper Lee อย่าง To kill a Mockingbird ซึ่งทำให้เขาได้สะท้อนภาพตัวเองผ่านการกระทำต่างๆ ของตัวละครในวรรณกรรม และเรียนรู้ความผิดพลาดจากเรื่องราวในหนังสือ
====
พอจะกล่าวได้ว่า การอ่านให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด หากวันไหนรู้สึกไม่สบายใจ มีปัญหาหนักอก เบื่อหน่ายกับสิ่งรอบตัว (เช่น การเมืองไทยช่วงนี้) สำนักพิมพ์สมมติอยากชวนให้หยิบหนังสือสักเล่มขึ้นมาอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น ความเรียง หรือบทกวี กระทั่งหนังสือรวมบทความวิชาการ ทั้งนี้ก็เพื่อปลีกเร้นจากภาวะความวุ่นวายทั้งหมด
ไม่แน่ว่าคุณอาจได้เพื่อนคนใหม่ที่คอยเคียงข้าง พาคุณไปสัมผัสทั้งอารมณ์สุขและเศร้าในเนื้อหานั้นๆ อย่างที่นักอ่านหลายคนบอกกันว่า หนังสือคือเพื่อนที่ดีที่สุด (Books are the best kinds of friends.)
====
ค้นหาหนังสือที่จะมาเยียวยาคุณได้ที่ Our Showroom