Last updated: 30 พ.ค. 2563 | 2057 จำนวนผู้เข้าชม |
'เอเรวอน' โลกสมมติที่เป็นจริงของซามูเอล บัตเลอร์
====
ซามูเอล บัตเลอร์ นักเขียนชาวอังกฤษที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 หรือที่เรียกกันว่า 'ยุควิคตอเรียน'
แม้ในยุคนั้น ชื่อของบัตเลอร์จะถูกโจมตีโดยนักวิจารณ์ร่วมสมัยว่าเป็น ‘นักเขียนหัวขบถ’ ที่ ‘ดีแต่เขียนเรื่องไร้สาระ’ และ ‘มีความรู้ความเข้าใจแบบผิดๆ’
ทว่าหลังจากสิ้นลมหายใจ ผลงานของเขากลับเป็นที่กล่าวขานในวงการวรรณกรรม จากนักเขียนที่ประสบแต่ความล้มเหลวขณะมีชีวิต กลับถูกยกย่องว่าเป็นนักคิดหัวก้าวหน้าที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลเกินยุคสมัย
ในทีนี้ยังรวมไปถึงนวนิยายเล่มสำคัญของเขา ‘เอเรวอน (Erewhon)’ ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบของนวนิยายเชิงเสียดสี และเป็นรากฐานของวรรณกรรมแนวดิสโทเปียในเวลาต่อมา
====
เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน คือ ‘งานเสียดสี (satire)’ ที่สะท้อนภาพความเคร่งครัดทางศีลธรรมอันย้อนแย้งในยุควิคตอเรียน ซึ่งเป็นยุคที่ศีลธรรมกับบทบาทคำสอนทางศาสนาไม่อาจแยกออกจากกันได้โดยสิ้นเชิง
ยิ่งไปกว่านั้น ศีลธรรมที่ว่านี้ยังกลายเป็นเกณฑ์ของการลงโทษในสังคมอีกด้วย
สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ เรื่องราวในดินแดนไร้แห่งหนที่เสียดสีและจิกกัดความเชื่อทางสังคมหรือศาสนาได้อย่างเจ็บแสบนั้น มาจากปลายปากกาของ ซามูเอล บัตเลอร์ ผู้ที่เติบโตมาในครอบครัวบาทหลวง และถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวด
เป็นไปได้ว่าความทุกข์จากการถูกกดขี่ตลอดช่วงวัยเยาว์ ทำให้บัตเลอร์ปฏิเสธที่จะสืบทอดการเป็นบาทหลวงอย่างที่ครอบครัวคาดหวัง
และเมื่อเติบโตขึ้น เขาก็ได้ค้นพบว่าการเป็นคริสต์ศาสนิกชนหรือไม่เป็นนั้น ไม่ได้ส่งผลต่อความแตกต่างทางจริยธรรมอย่างที่เขาเคยได้รับการปลูกฝังมา
ซึ่งการค้นพบนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อความเชื่อของบัตเลอร์ และมีอิทธิพลอย่างมากต่องานเขียนของเขา
====
กล่าวสำหรับ เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน (หรือในชื่อเต็ม Erewhon; or, Over the Range) เริ่มเรื่องอย่างนวนิยายผจญภัยทั่วไป คือมีตัวเอกเป็นผู้เดินทางข้ามภูเขาไปพบดินแดนลึกลับที่มีชื่อว่า ‘เอเรวอน’
เอเรวอนเป็นดินแดนที่รุ่มรวยด้วยอารยธรรมอันสูงส่งและความดีงามในจิตใจของผู้คน เพราะกฎหมายกับศีลธรรมได้กลายเป็นสิ่งเดียวกันและยังถูกบังคับใช้ในสังคมอย่างเคร่งครัด
เอเรวอนดูจะเป็น ‘ยูโทเปียหรือดินแดนในอุดมคติ’ ที่ทุกคนใฝ่หา ทว่าเมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไป ตัวละครก็ได้พบกับความลักลั่นของผู้คนในเมือง ‘ความถูกต้องทางศีลธรรม’ ในความเชื่อของชาวเอเรวอนดูจะวิปริตไปด้วยทรรศนะที่ผิดเพี้ยนอย่างยากที่จะแก้ไข
ผู้ป่วยในเอเรวอนถูกปฏิบัติไม่ต่างกับอาชญากรคนหนึ่ง การเจ็บป่วยถือเป็นอาชญากรรมในดินแดนแห่งนี้ การบังคับใช้ศีลธรรมอย่างเข้มงวดกลับนำไปสู่การกระทำที่ไร้มนุษยธรรม กระนั้นชาวเอเรวอนก็ยังคงสมาทานค่านิยมเหล่านั้นไว้ด้วยความศรัทธา
====
แม้เรื่องราวในโลกสมมติของบัตเลอร์จะถูกโจมตีอย่างรุนแรงสังคมในยุคนั้น แต่ด้วยความยึดมั่นในความคิดและจุดยืนของตน
ประกอบกับความกล้าหาญที่จะตั้งคำถามต่อกรอบประเพณีของสังคมในยุคนั้น ทำให้ เอเรวอน ผลงานชิ้นเอกของบัตเลอร์ ถูกยกให้เป็นวรรณกรรมเสียดสีระดับขึ้นหิ้งจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าท้ายที่สุดแล้ว “เอเรวอนก็คือโลกสมมติที่เป็นเรื่องจริง”
คลิกสั่งซื้อเอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน