ทำไมต้องอ่าน 1984

Last updated: 21 ม.ค. 2564  |  11431 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทำไมต้องอ่าน 1984

ถึงนาทีนี้ คงต้องบอกว่าไม่มีวรรณกรรมแปลเล่มไหนจะร้อนแรงน่าติดตามและต้องติดตาม!! ได้เท่ากับ Nineteen Eighty-Four หรือ 1984 ที่ประพันธ์โดย จอร์จ ออร์เวลล์ อีกแล้ว

เพราะหลังจากที่บ้านเมืองของเราผ่านการเลือกตั้งและสรุปผลออกมาทำนองว่า 'เลือกอนาคตใหม่' แต่กลับ 'ได้อนาคตเดิม' นั้น ก็ต้องบอกว่ากลิ่นอายและบรรยากาศของ โอชันเนีย ก็กลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง

กว่า 37 ปีที่ 1984 ถูกแปลเป็นภาษาไทย ผู้อ่านหลายคนได้ผ่านตาแล้วเห็นพ้องต้องกันว่ามัน 'คลับคล้ายคลับคลา' บ้านเมืองของฉันเสียเหลือเกิน สนพ.สมมติจึงขอชวนไปดู นานาทรรศนะโดยสังเขปของผู้อ่าน 1984 ว่าแต่ละคนให้ความคิดเห็นว่าอย่างไรกันบ้าง

"...หนังสือคลาสสิค ใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัยของประเทศนี้..."

"...รีเรทกับประเทศตนเอง..."

"...1984 is classic and precisely reflects now a days society. ..."

"...สัมผัสได้ถึงความตลกร้ายของการเมืองและความเจ็บปวดของการถูกลิดรอนเสรีภาพ..."


ทำไมผู้อ่านจึงบอกแก่เราแบบนั้น นั่นก็เพราะ 1984 คือการชี้ให้เห็นชีวิตอันบัดซบของประชาชนชาวโอชันเนีย ที่ไม่เพียงแต่ต้องเบื้อใบ้ไปกับ 'ความระยำตำบอนของรัฐ' เท่านั้น ชาวโอชันเนียยังถูกบิดเบือนข้อมูล ตัดทอนและลิดรอนสิ่งพื้นฐานที่เรียกกันว่า 'เสรีภาพ'

ชาวเมืองโอชันเนียถูกทำให้ 'เชื่อ' และ 'เชื่อง' ด้วยข้อมูลที่ถูกป้อนและระดมยัดใส่สมองของทุกคนตั้งแต่ยังเด็ก หากใครคิดขบถหรือหรือคิดออกนอกทางของรัฐต้องเจอกับความรุนแรง การไม่เห็นด้วยไม่ถูกอนุญาต การสำรวจตรวจสอบรัฐนับเป็นอาชญากรรม เพราะไม่ว่ารัฐจะเล่นตลกหรือสำแดงเล่ห์กลใดๆ ก็ตามแต่ ชาวโอชันเนียไม่มีสิทธิ์ในการตั้งคำถามหรือแม้แต่ตั้งข้อสงสัยทั้งสิ้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีผู้อ่านท่านหนึ่งบอกแก่เราว่า ไม่ว่ากี่ปี เรื่องแบบนี้ก็หยิบยกมาอ่านได้อย่างไม่เคยล้าสมัย เพราะมันจะวนเวียนเกิดขึ้นในสังคมของเราอยู่เสมอ
==========

"...งานแปลดี เขียนไว้นานแล้วก็ยังไม่เก่า..."

"...เป็นเรื่องดัง และทำปกรูปเล่มออกมาได้สวยดีต่างจากสำนักพิมพ์อื่นๆ..."


ในภาคภาษาไทย สนพ.สมมติ ใช้สำนวนแปลดั้งเดิมของ รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ ซึ่งปรากฏเป็นสำนวนแรกของ 1984 ในนาม สนพ.ก่อไผ่ [ตีพิมพ์ กันยายน 2525]

จากนั้นเรานำ 1984 กลับมาตีพิมพ์อีกครั้งพร้อมกับการปรับปรุงแก้ไขต้นฉบับ นั่นจึงเป็นที่มาของการพิมพ์ครั้งที่สอง ในนาม สนพ.สมมติ [ตีพิมพ์ ตุลาคม 2551] ซึ่งหมายความว่า 1984 ห่างจากไปจากตลาดหนังสือและสังคมไทยร่วม 26 ปี!

เราพิมพ์ต่อเนื่องในปี 2555, 2557 และล่าสุดในปี 2561 โดยทุกครั้งมีการปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ และเพิ่มเติมบทแปลภาคผนวกที่ว่าด้วยหลักการของนิวสปีค (Newspeak) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการครอบงำและจำกัดความคิดของตัวละครในเรื่อง แปลโดย อิศรา โฉมนิทัศน์ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์

และพร้อมกันนั้นก็มีบทกล่าวตามของ ธงชัย วินิจจะกูล ที่ว่าด้วยอำนาจกับการขบถ เพื่อเป็นการเติมเต็มและสร้างบทสนทนาหลังจากการอ่านตัวเรื่อง

ทั้งนี้ นอกจากจะมุ่งมั่นและจริงจังต่อตัวบทวรรณกรรมและเนื้อหาสาระเพิ่มเติมตามข้างต้นแล้ว ทุกๆ การตีพิมพ์ซ้ำ เรายังคิดและออกแบบปกใหม่ทุกครั้ง เพื่อให้มีความสดใหม่อยู่เสมอ เป็นความใหม่ให้ผู้อ่าน และเป็นความสนุกให้นักสะสม
==========

"...อ่านสนุกมาก..."

"...มีใครบ้างล่ะที่จะไม่ชอบเล่มนี้..."

คงไม่เกินเลยไปนักหากจะบอกว่า นอกจากเนื้อหาที่เข้มข้นและทรงพลังมากๆ ของ 1984 สิ่งที่ได้รับอย่างทันทีทันควันคือ ความบันเทิงถึงระดับ ในชีวิตหนึ่งหากเราสถาปนาตัวเองเป็น 'นักอ่าน' แล้วละก็ 1984 ควรต้องผ่านตาอย่างน้อยก็สักครั้ง
==========

"...It's One of Masterpieces. ..."

ไม่มีคำโต้แย้งใดๆ เพราะนี่คือความยิ่งใหญ่ทางวรรณกรรมโดยแท้จริง!!!
==========

สำหรับผู้อ่านที่สนใจวรรณกรรมการเมืองคลาสสิคเล่มนี้
สามารถสั่งซื้อหนังสือ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984)  ฉบับครบรอบ 72 ปี

ครบชุดการออกแบบ - 4 ปก




หรือสนใจเสื้อเป็นของที่ระลึก สามารถสั่งซื้อได้โดยง่าย

คลิก เสื้อ I Read 1984

คลิก เสื้อ Big Brother T-Shirt (Black Edition)







ไม่แน่ว่า วันหนึ่งข้างหน้า เราจะได้ใส่เสื้อเหล่านี้พร้อมกัน!!!

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้