จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ | ใจความ ‘สมมติ’

Last updated: 23 มิ.ย. 2565  |  3264 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ | ใจความ ‘สมมติ’

เปิดรับสมาชิกตลอดชีพรุ่นสาม ราคา 44,000 บาท

ผู้อ่านสามารถออกแบบงวดผ่อนชำระเองได้ (ระยะเวลาไม่เกิน 10 เดือน) ได้รับหนังสือเมื่อชำระครบ

รายละเอียดคลิก คำประกาศความรู้สึกและจินตนาการใหม่ในการทำสำนักพิมพ์



#รับจำนวนจำกัดเหมือนเดิม
#ปรับราคาขึ้นตามปฏิจจสมุปบาท
#มีระบบผ่อนเหมือนสมาชิกสองรุ่นแรก
#ได้รับหนังสือทุกเล่มที่มีอยู่และจากนี้ตลอดไป
#มีสิทธิพิเศษอื่นอีกหลายอย่างที่มากกว่าเดิม
====================

1.

พูดกันในกลุ่มนักอ่านสายแข็งของประเทศนี้ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงสำนักพิมพ์สมมติ และถ้าพูดในฐานะนักเขียนที่เคยมีงานตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์แห่งนี้มาแล้วสองเล่ม ผมก็อยากเล่าประสบการณ์บางตอนที่ไม่เคยถูกกล่าวถึงในที่สาธารณะ

ผมรู้จักสำนักพิมพ์สมมติจากหนังสือ ‘ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์’ ผลงานของ อุเทน มหามิตร
แต่ภาพของสำนักพิมพ์ฯ ในขณะนั้นก็ยังไม่ชัดเจนเท่ากับเนื้อหาในหนังสือของอุเทน ซึ่งมีความแปลกใหม่ และท้าทายการอ่านอย่างยิ่ง

เรียกว่าความสนใจที่จะเขียนกลอนเปล่าของผมจุดประกายขึ้นเล็กน้อยในตอนนั้น แต่ยังไม่กล้าพอที่จะเขียนมันออกมา เพราะคิดไปว่างานเขียนกลอนเปล่านั้นไม่ง่ายเอาเสียเลย


ต่อมาสำนักพิมพ์สมมติสร้างปรากฏการณ์อะไรบางอย่างแก่ผมด้วยการเปิดตัวหนังสือวรรณกรรมไทยหลายปก ที่มีรูปเล่มกะทัดรัด แปลกตา ด้วยการออกแบบปกสีน้ำตาล ผมตัดสินใจซื้อโดยไม่ลังเล จะด้วยชื่อชั้นของนักเขียน และความเท่ของปกก็ตามแต่ กระทั่งเลยเถิดไปจนถึงงานวิชาการเนื้อหาจี๊ดจ๊าดหลายเล่มของ อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา


นั่นถือเป็นก้าวแรกของการอ่านงานแนววิชาการของผมอย่างจริงจัง


ทั้งหมดกลายเป็นแรงบันดาลใจแรกๆ ให้ผมเริ่มคิดฝันอะไรแบบเกินจริงในขณะนั้นด้วยการรวบรวมต้นฉบับส่งไปยังสำนักพิมพ์สมมติ อยากมีงานเล่มกับสำนักพิมพ์แห่งนี้ เพราะดูเขาจริงจังเสียเหลือเกิน แต่ในความรู้สึกผมเหมือนจะฝันไกลเกินเอื้อม เป็นการคิดเอาเองแบบไม่มีเหตุผลอะไร แต่ผมก็บอกตัวเองว่าจะลองทำอย่างจริงจัง ใช่...ต้องเรียกว่าจริงจังมากๆ ถึงจะกล้าแบบไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้า


ผมเลือกงานกลอนเปล่า และเรื่องสั้นที่คัดขึ้นมาเองโดยไม่อาศัยพี่เลี้ยง ส่งผลงานไปและรอ...


ไม่มีอะไรได้มาแบบง่ายดายอย่างที่ใครต่อใครคิด ปีกว่าหรือสองปีที่ต้นฉบับผมหายไปกับสายลม ผมเปิดอีเมลที่ใช้ส่งต้นฉบับดูหลายหน ไม่แน่ใจว่ามันไปถึงหรือไม่ ความหวังก็แบบหนึ่ง ความสิ้นหวังก็แบบหนึ่ง แต่มันคือเรื่องปกติของนักเขียนในประเทศนี้อยู่แล้ว

ผมไม่เคยทวงถาม เพราะคิดว่ามันคงไม่ผ่าน การเงียบคือไม่ผ่าน เราเข้าใจกันแบบนั้นเป็นเรื่องปกติเช่นกัน


ช่วงปีใหม่ของปีหนึ่ง ที่ผมไม่ได้คิดถึงต้นฉบับนั้นแล้ว แต่เป็นธรรมเนียมส่วนตัวเรื่องการทักทายกับคนที่ผมเคยรู้จักหรือติดต่อร่วมงานด้วย ผมตัดสินใจส่งข้อความสวัสดีปีใหม่ไปยังบรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติ


ไม่นานหลังจากนั้น ข้อความจาก บ.ก.ปิยะวิทย์ก็ตอบกลับมายังผม เป็นคำขอบคุณ และบอกว่า "ต้นฉบับผมไม่ผ่าน แต่มีงานบางชิ้นที่ชอบ น่าสนใจ หากมีต้นฉบับก็ส่งมาใหม่ได้" 


นั่นเป็นข้อความไม่กี่ประโยคที่ทำผมรู้สึกดีใจมากๆ เพราะต้นฉบับผมได้ถูกอ่านแล้ว แม้มันจะไม่ผ่าน แต่มันคือกำลังใจสำคัญที่ทำให้ผมอยากเดินต่อ แน่นอนว่าผมลังเล เกรงใจ และไม่กล้าคิดจะส่งต้นฉบับไปอีก


ผมใช้เวลาทบทวนตัวเอง และตั้งใจทำงานไปตามปกติ กระทั่งปีต่อมา ผมรื้อแก้ต้นฉบับบทกวีใหม่ทั้งหมด และส่งกลับไปใหม่ คำตอบคือต้นฉบับยังไม่ผ่าน แต่บ.ก.บอกว่า มีชิ้นที่ชอบมากขึ้น


ผมเล่าเรื่องนี้เพื่อให้เห็นว่า ขั้นตอนและการตัดสินใจบางอย่างต่อต้นฉบับของบรรณาธิการนั้นมีความอดทนอย่างสูงต่อนักเขียน และหากจะเล่าให้ยืดยาวก็คงต้องบอกว่า ผมใช้เวลาแก้ต้นฉบับอีกนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อให้ได้ต้นฉบับที่ดีที่สุดต่องานเล่มแรกกับสำนักพิมพ์สมมติในชื่อ ‘อื่นใดนอกจากนั้น’




แม้กระทั่งต่อมา ผมจะมีงานรวมเรื่องสั้นชื่อ ‘ฟ้าบางแห่งร่ำลาเมฆฝนไปเนิ่นนาน’ ก็มีเส้นทางเดียวกับงานเล่มแรก คือการแก้ต้นฉบับครั้งแล้วครั้งเล่า คัดแล้วคัดอีกเพื่อให้ได้เรื่องสั้นที่พอใจที่สุด จะเรียกว่ากว่าครึ่งเล่มที่ผมต้องเขียนมันขึ้นมาใหม่เพื่อเติมเต็มให้เนื้อหาครบถ้วนอย่างพอใจที่สุด




กระนั้นผมก็คิดว่าความมุ่งมั่นของผมคงน้อยนิดมากๆ หากเทียบกับความพยายามของสำนักพิมพ์เพื่อให้วรรณกรรมไทยอยู่รอด ท่ามกลางกระแสการอ่านวรรณกรรมที่ลดลงอย่างน่าใจหาย


กล่าวในอีกแง่ สำนักพิมพ์สมมติยังมองเห็นความหวังใหม่ๆ ของนักเขียนไทยอยู่เสมอ


และที่น่าแปลกใจคือมีความเรียงเชิงกวีนิพนธ์ ซึ่งถือเป็นของใหม่ในความรู้สึกผม


‘ในความซ้ำซากของชีวิต’ ผลงานของ สหรัฐ พัฒนกิจวรกุล ที่ทราบมาว่ามีกลุ่มคนอ่านจำนวนหนึ่งติดตามงานของเขาอย่างเหนียวแน่นอยู่เงียบๆ
และยังถือเป็นงานวรรณกรรมไทยที่ขายดีเล่มหนึ่งเลยทีเดียว



อย่างไรก็ตาม การที่สำนักพิมพ์สมมติเปิดโอกาสให้ตัวเองได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นั้น กลับมีทั้งความท้าทาย และความเสี่ยงไปพร้อมๆ กันอย่างเลี่ยงไม่ได้


คุณปิยะวิทย์เคยพูดกับผมสมัยที่เจอกันครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นร้านหนังสือสมมติเพิ่งเริ่มสร้างเสร็จ และอยู่ในช่วงจัดแต่งร้าน

“ทุ่มหมดหน้าตักเอากับมันสักตั้ง หากไปไม่รอดก็กลับมาที่เดิม” ฟังแล้วไม่รู้ว่าควรพูดอะไรต่อดี


ก่อนจากลากันวันนั้น มีประโยคหนึ่งที่พูดขึ้นด้วยน้ำเสียงหนักแน่น จริงจัง และผมยังจำได้แม่น

“หน้าที่ของพวกคุณคือเขียน ไม่ต้องกังวลอะไร”

====================

2.
จะว่าไปแล้ว ผมติดต่อสื่อสารกับสำนักพิมพ์สมมติน้อยมากๆ จะคุยกันมากหน่อยก็ช่วงที่ต้องจัดการกับต้นฉบับเท่านั้น

ระยะห่างที่ผมวางไว้กับสำนักพิมพ์ชัดเจนพอสมควร อย่างน้อยก็เพื่อให้ตัวเองไม่ต้องกังวลเรื่องใดๆ และเพื่อได้ทำหน้าที่ตัวเองอย่างเต็มที่ โดยไม่เข้าไปก้าวล่วงใดๆ ต่อต้นฉบับที่อยู่ระหว่างพิจารณา


แน่นอนว่าต้นฉบับของผมบางชิ้นไม่ผ่าน และผมยอมรับผลของมันด้วยการไม่ถามถึง เพราะเชื่อว่ามันคือสิ่งที่ต้องยอมรับ หน้าที่ของผมคือต้องกลับมาทบทวนต้นฉบับนั้นใหม่ ถ้าไปไม่รอด ก็ทำงานชิ้นใหม่ออกมาเท่านั้นเอง


ผมไม่มีข้อผูกมัดการพิมพ์หนังสือกับสำนักพิมพ์สมมติ ผมมีแต่ความเชื่อใจในตัวเอง ว่าถ้าผมทำงานได้อย่างที่ตัวเองพอใจ ผมก็จะทำหน้าที่ส่งต้นฉบับไปพิจารณา มันคือความเข้าใจกันโดยไม่ต้องพูดให้รู้สึกอึดอัด เพราะความเชื่อใจนั้นมองดูจากสิ่งที่เราทำ และสังเกตได้จากสิ่งที่คนอื่นกระทำต่องานของเขาด้วยเช่นกัน


ตลอดสี่ห้าปีมานี้ เห็นได้ชัดเจนว่าสำนักพิมพ์สมมติได้ทำสิ่งที่แตกต่างได้อย่างหลากหลายและน่าทึ่ง เพราะไม่เพียงแต่การผลิตหนังสือ สำนักพิมพ์ฯ ยังสร้างสรรค์สินค้าที่เป็นอุปกรณ์สำหรับอ่านเขียนอีกด้วย จึงเป็นที่มาของร้าน ‘สมมติ & the Object’

การคิดต่าง และสร้างความหลากหลาย เป็นเหมือนการสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับนักอ่านที่ไม่ใช่เพียงการซื้อหาหนังสือเท่านั้น แต่มันคือการจัดองค์ประกอบที่ครบครันภายใต้วัฒนธรรมการอ่าน ให้มีสไตล์เฉพาะตัว มีความเท่ และมีรสนิยมอะไรทำนองนั้น


นั่นคือสิ่งที่สำนักพิมพ์สมมติทำ, ซึ่งดูเหมือนไม่ได้เป็นไปแบบทดลองทำ เพราะยังทำต่อเนื่อง และยังคงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างน่าตื่นใจตลอดทุกปีอีกด้วย 
นี่ยังไม่นับรวมถึงการทำร้านหนังสือที่มีสไตล์เท่ๆ และการจัดบูธในงานหนังสือระดับชาติที่หากใครเดินผ่านต้องสะดุดตามอง

ทุกสิ่งดูเหมือนสำนักพิมพ์สมมติกำลังพยายามสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา


แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับสำนักพิมพ์ขนาดเล็กทั้งหลายในประเทศนี้คือตัวสินค้า ซึ่งก็คือหนังสือ และความท้าทายนี้เหมือนจะเป็นข้อพิสูจน์อะไรบางอย่างต่อวัฒนธรรมการอ่านที่ค่อนข้างจะอ่อนแอมากๆ ของประเทศนี้

กระนั้นสำนักพิมพ์สมมติดูเหมือนจะมีความหวังอยู่เสมอ และยังคงวางความหวังไว้ที่การเดิมพันแบบทุ่มสุดตัวเสียด้วย


พูดไปเพื่อให้เห็นมิติอะไรบางอย่างจากสิ่งที่พบเห็นและรู้สึก แต่อย่างที่เคยพูดกัน นั่นมิใช่สิ่งที่ผมจะต้องมานั่งกังวลแทนสำนักพิมพ์ เพราะสิ่งสำคัญที่นักเขียนตัวเล็กๆ อย่างผมต้องทำคือการทำงานสม่ำเสมอ และทำให้มีความหลากหลายมากขึ้น


มากกว่านั้นผมควรเป็นลูกค้าชั้นดีของหนังสือทุกเล่ม ที่มิใช่แต่เพียงของสำนักพิมพ์สมมติเท่านั้น เพราะความหลากหลายไม่ควรจำกัดอยู่ในแนวทางเดียวที่ตัวเองชอบ

“เขียนไป อย่าหยุดจรรยา” คุณปิยะวิทย์พูดประโยคนี้กับผม ก่อนล่ำลากันในการพบกันครั้งล่าสุด

====================

3.
ครบรอบสิบปีของสำนักพิมพ์สมมติ เป็นอะไรที่พูดยาก มันยากในแง่ที่ว่าภายใต้วัฒนธรรมการอ่านงานประเภทสายแข็งนั้นมีจำนวนคนอ่านอยู่น้อยนิดจนน่าใจหาย

แต่ผมมีความหวังส่วนตัวว่า นักอ่านจำนวนน้อยนิดนี้จะยังต้องการ และเรียกร้องความสม่ำเสมอของการผลิตงานประเภทนี้อยู่ทุกๆ ปี

สิบปีที่ผ่าน จึงเป็นเหมือนการดิ้นให้หลุดออกจากเปลือกที่ห่อหุ้ม เดินทางไปยังจุดสตาร์ท เพื่อมุ่งไปสู่เส้นทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรค และการหยุดลังเลแม้เพียงเล็กน้อย อาจเป็นสิ่งน่ากลัวกว่าหลายเท่า เพราะมันอาจหมายถึงการสิ้นสุดของหนังสืออีกหลายเล่ม ที่จะไม่มีโอกาสไปถึงผู้อ่านอีกเลย


ทำไมผมถึงรู้สึกแบบนั้น


เพราะผมเห็นว่า สำนักพิมพ์สมมติยังคงมีความกล้าที่จะพิมพ์งานแปลออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่ค่อนข้างอ่านยาก แต่เพราะความยากนี่เอง ที่ผมมองว่ามันคือจุดแข็ง ที่จะรักษากลุ่มคนอ่านจำนวนหนึ่งเอาไว้ คนอ่านจำนวนหนึ่งที่ผมเริ่มเห็นว่าจริงๆ แล้วมันกำลังสร้างนักอ่านรุ่นใหม่ของมันออกไปได้อย่างมั่นคง


หากใครเป็นแฟนนักอ่านของสำนักพิมพ์สมมติ จะเห็นได้ว่า มีงานวรรณกรรมแปลหลายเล่มที่ถูกพิมพ์ซ้ำ เปลี่ยนรูปโฉมปกใหม่ และเท่าที่รู้หนังสือเหล่านั้นมันขายตัวมันเองออกไปเรื่อยๆ เช่น นวนิยายดิสโทเปีย ที่ชื่อ ‘1984’ ของ จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนชาวอังกฤษผู้เลื่องชื่อ หรือเรื่องสั้นชั้นดีของนักเขียนชาวญี่ปุ่น ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ ในงานเล่มที่ชื่อ ‘ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ’ รวมไปถึงงานของ เอช. จี. เวลส์ ในเล่มที่ชื่อ ‘ดินแดนคนตาบอด’ ซึ่งถือว่าเป็นงานที่น่าประหลาดใจในแง่ของเนื้อหาเฉียบแหลม คมคายอีกเล่ม เป็นต้น









นวนิยายเหล่านี้ล้วนมีความเป็นอมตะ ที่แม้จะถูกเขียนมานานหลายสิบปี แต่ยังคงสะท้อนภาพของสังคมยุคสมัยใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง


สิบปีที่ผ่านดูเหมือนว่าสำนักพิมพ์สมมติ ตกอยู่ในสภาพทั้งรับและรุก ภายใต้วัฒนธรรมการอ่านที่ยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง แต่สิบปีที่ผ่านผมกลับเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก แบบทีละก้าว ทั้งในแง่ของธุรกิจหนังสือ และกลุ่มนักอ่านสายแข็งรุ่นใหม่


มองแบบมีความหวัง และพูดในฐานะนักเขียนที่เคยร่วมงานกับสำนักพิมพ์สมมติ

ผมมองเห็นความจริงใจบางอย่างผ่านหนังสือทุกเล่มที่สำนักพิมพ์ทำ และผมมองเห็นกลุ่มนักอ่านจำนวนไม่น้อยที่รอคอยการปรากฏตัวของหนังสือเล่มใหม่ในนามของสำนักพิมพ์นี้


สิบปีที่ผ่านจึงมิใช่ปรากฏการณ์สมมติ


แต่คือใจความสมมติ ที่ยังคงขยายความหมายของมันออกไปเรื่อยๆ ทั้งในดินแดนคนตาบอด และดินแดนอันไกลโพ้นของคนตาดี ที่เราเชื่ออย่างสุดใจว่า พวกเขายังปรารถนาในคุณค่าของสิ่งที่เรียกว่า หนังสือ
====================

ผลงานเล่มล่าสุดของ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์

แบบจำลองของเหตุผล 

ความเรียงว่าด้วยเหตุผลที่ประกอบขึ้นรูปด้วยถ้อยคำแห่งกวีนิพนธ์โดยแท้
(ปกแข็ง // ความหนา 324 หน้า // หุ้มผ้าเนื้อพิเศษ // ปั๊มจมฟอยล์ // เข้าเล่มอย่างประณีต // เย็บกี่ // สันตรง)


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้