Last updated: 23 มิ.ย. 2565 | 4233 จำนวนผู้เข้าชม |
เปิดรับสมาชิกตลอดชีพรุ่นสาม ราคา 44,000 บาท
ผู้อ่านสามารถออกแบบงวดผ่อนชำระเองได้ (ระยะเวลาไม่เกิน 10 เดือน) ได้รับหนังสือเมื่อชำระครบ
รายละเอียดคลิก คำประกาศความรู้สึกและจินตนาการใหม่ในการทำสำนักพิมพ์
#รับจำนวนจำกัด
====================
ต้องขอบคุณสมมติที่เชิญมาเขียนในวาระครบ 10 ปี อันที่จริงทั้ง ชัยพร อินทุวิศาลกุล และ ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ทั้งสองเป็นเพื่อนที่นับถือกันเหมือนพี่น้องและให้เกียรติผมมาโดยตลอด จึงขอตอบแทนด้วยการเขียนอย่างซื่อตรงที่สุดเท่าที่จะทำได้
ผมใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการครุ่นคิดถึงสิ่งที่จะเขียน ในเมื่อสิ่งที่ผมมีก็คือประสบการณ์เกี่ยวกับการทำหนังสือวรรณกรรม และสำนักพิมพ์สมมติเองก็พิมพ์วรรณกรรมไทยในสัดส่วนที่ถือเป็นงานหลักอันหนึ่ง สิ่งที่ควรเขียนที่สุดก็คงไม่พ้นเรื่องการพิมพ์หนังสือวรรณกรรม ผมจึงพยายามสกัดบทเรียนที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดกับคนที่พิมพ์งานวรรณกรรมไทย ซึ่งเป็นแวดวงเล็กๆ
ขนบของงานวรรณกรรมไทยตามที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันนี้มีอายุราว 40 ปี โดยเริ่มต้นขึ้นในต้นทศวรรษ 2520 ที่มีการสถาปนา “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ขึ้นมา จนกระทั่งเป็นแนววรรณกรรมที่นักวรรณกรรมบางส่วนถือว่าเป็น “ประเภท” (genre) ของงานเขียนชนิดหนึ่ง ประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้มีความเป็นมาซับซ้อนซึ่งต้องใช้พื้นที่ในการอธิบายมาก
แต่เฉพาะในข้อเขียนชิ้นนี้ เมื่อผมใช้คำว่า “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ให้หมายความเฉพาะถึง "วรรณกรรมไทย” ไม่เกี่ยวกับวรรณกรรมแปล และเป็นวรรณกรรมไทยที่ผลิตขึ้นในช่วงหลัง 2520 มาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่นับวรรณกรรมที่เขียนขึ้นก่อนหน้านั้น และโดยต้องเป็นงานที่นำเสนอตัวเอง/เป็นที่รับรู้ ต่อสังคมการอ่าน ในฐานะของ “ประเภท” ว่าคือวรรณกรรมสร้างสรรค์
ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ในช่วงชะงักงันหลังวิกฤตเศรษฐกิจ คนทำหนังสือหน้าใหม่จำนวนหนึ่งทยอยปรากฏตัวออกมาจนกล่าวได้ว่าเป็นคลื่นระลอกใหม่ในเวลานั้น แต่การพิมพ์งานวรรณกรรมสร้างสรรค์ยังคงเป็นพื้นที่ของคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งโดยมากเป็นนักเขียน
ทศวรรษ 2540 เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและมีคนทำหนังสือกลุ่มสำคัญเกิดใหม่ตลอดจนถึงปลายทศวรรษ จากความชะงักงันหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ตลาดหนังสือฟื้นกลับมาในเวลาไม่กี่ปี กว้างและหลากหลายขึ้น บรรยากาศเต็มไปด้วยการคิดค้นและทดลองทำหนังสือของคนรุ่นใหม่
แต่ในท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ พื้นที่ของวรรณกรรมสร้างสรรค์หดแคบลง ในขณะที่ข้อเขียนของคอลัมน์นิสต์ที่นำมารวมเล่มดูเหมือนจะได้รับความนิยม นิยายและเรื่องแนวอื่นๆ ก็คึกคักทั้งนิยายรักแนวใหม่ๆ เรื่องสยองขวัญ แฟนตาซี สืบสวนสอบสวน เป็นต้น
คนอ่านหนังสือมากขึ้น ตลาดหนังสือก็ขยายตัวและหลากหลายขึ้น เพียงแต่คนอ่านหนังสือบางประเภทน้อยลง และวรรณกรรมสร้างสรรค์ก็คือหนึ่งในนั้น โดยเฉพาะบทกวีซึ่งคนอ่านน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยเป็นหนังสือยอดนิยมกลายเป็นหนังสือที่ไม่มีความคุ้มค่าที่จะพิมพ์จำหน่ายอีกต่อไป
ผมเริ่มทำสำนักหนังสือใต้ดินในช่วงต้นทศวรรษ 2540 จากนั้นจึงก่อตั้งสำนักพิมพ์ไชน์ ทำร้านหนังสือใต้ดิน และวารสารหนังสือใต้ดิน แม้ว่าร้านหนังสือใต้ดินจะอยู่เพียง 2 ปี แต่มันก็เป็นแหล่งให้ผมได้พบปะกับคนรุ่นใหม่ๆ และในจำนวนคนเหล่านั้นก็มีชัยพรซึ่งต่อมาได้มาช่วยผมทำวารสารหนังสือใต้ดิน และเป็นผู้นำพาให้ปิยะวิทย์มาร่วมทำวารสารหนังสือใต้ดินกับผมด้วย
ณ รอยต่อระหว่างทศวรรษ คือช่วงปี 2549 – 2551 เป็นช่วงที่สำนักพิมพ์ไชน์กำลังจะหยุดชะงัก ผลจากความล้มเหลวของการพิมพ์วรรณกรรมสร้างสรรค์ เริ่มส่งผลสะท้อนกลับมาให้เห็นอย่างชัดเจน ช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่สำนักพิมพ์สมมติก่อเกิดขึ้นมา
ยังไม่เคยมีการสำรวจจริงๆ ว่าช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษ หรือ 10 ปี เป็นช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับวงจรของวงการหนังสืออย่างไร แต่สำหรับแวดวงเล็กๆ ของหนังสือวรรณกรรมสร้างสรรค์ ดูเหมือนว่ามันจะเป็นช่วงเวลาของการเกิดคนทำหนังสือระลอกใหม่
ราว 10 ปีก่อนจะเกิดสมมติ ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นการทำหนังสือของผมก็เกิดขึ้นในสภาพของความรกร้างท่ามกลางหายนะของวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการเกิดขึ้นของสำนักหนังสือใต้ดินในตอนแรกก็คือ เวียง-วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์สามัญชน สังเกตว่าสามัญชนตั้งขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2530 และมีบทบาทโดดเด่นในการพิมพ์งานวรรณกรรมตลอดทศวรรษนั้น นับจากการก่อตั้งสามัญชนมาจนถึงช่วงชะงักงันหลังวิกฤตเศรษฐกิจก็นับช่วงเวลาได้ราว 10 ปีเช่นเดียวกัน
10 ปีที่ผ่านมา ต้องถือว่าสำนักพิมพ์สมมติมีความเอาจริงเอาจังกับการพิมพ์วรรณกรรมสร้างสรรค์ ทั้งในแง่ของความต่อเนื่อง และการนำเสนอผลงานของนักเขียนชื่อใหม่ๆ สมมติยังพิมพ์งานวรรณกรรมแปล และงานกึ่งวิชาการ ผลงานเหล่านั้นมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว แต่ส่วนที่ล้มเหลวอย่างชัดเจนที่สุดก็คือวรรณกรรมสร้างสรรค์
ตามปรกติในการพิมพ์หนังสือโดยทั่วไปแล้วส่วนใหญ่สิ่งที่ผู้พิมพ์คิดถึงเป็นอันดับแรกตั้งแต่ก่อนจะเลือกงานมาพิมพ์ก็คือการขาย แต่นั่นกลับเป็นสิ่งที่คนพิมพ์งานวรรณกรรมสร้างสรรค์มักจะคิดถึงเป็นลำดับสุดท้าย ธรรมชาติของคนพิมพ์งานวรรณกรรมสร้างสรรค์ ส่วนใหญ่มักจะเอาความชอบหรือความคิดเชิงอุดมคติของตนเป็นตัวตั้งและพยายามจะทำให้การขายเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ในภายหลัง
สิ่งนี้เป็นปัญหาอยู่บ้างแต่ยังไม่ถึงกับหนักหนาในสมัย 10 ปีแรกของสามัญชน ซึ่งเป็นเวลาที่ยังคาบเกี่ยวกับช่วงรุ่งเรืองของวรรณกรรมสร้างสรรค์ แต่เป็นปัญหาอย่างชัดเจนในสมัยของผม และสมัยต่อมาในยุคของสมมติโดยปิยะวิทย์ ดูเหมือนว่าเขาจะยังไม่เปลี่ยนวิธีคิด
“วรรณกรรมไทยไม่มีคนอ่าน” เป็นสิ่งที่เลือกมองได้สองมุมในฐานะผู้พิมพ์ คือ หนึ่ง เพราะไม่สามารถทำให้คนหันมาอ่านได้ หรือ สอง เพราะไม่ได้พิมพ์ในสิ่งที่คนต้องการอ่าน และความสำเร็จหรือล้มเหลวของผู้พิมพ์วรรณกรรมสร้างสรรค์ก็มักจะแกว่งไปมาอยู่ระหว่างสองขั้วการตัดสินนี้ ผู้พิมพ์งานวรรณกรรมสร้างสรรค์มีความโน้มเอียงที่จะมองไปในทางของมุมมองที่หนึ่ง ซึ่งทำให้การพิมพ์งานเป็นการพยายามผลักดันเพื่อ แย่งชิง/ได้มา ซึ่งพื้นที่ในการขาย
สำนักพิมพ์สมมติเริ่มต้นด้วยความได้เปรียบหลายประการ ตั้งแต่หุ้นส่วนเป็นคนทำโรงพิมพ์ นอกจากความสามารถในการควบคุมการผลิต มองเห็นและเข้าใจกระบวนการผลิตหลังการจัดทำ art work เป็นอย่างดีแล้ว ยังทำให้สามารถคิดค้นรูปเล่มและเทคนิกการพิมพ์ล้ำหน้าผู้พิมพ์คนอื่นๆ ได้
ในช่วงที่สำนักพิมพ์ไชน์หยุดชะงัก สมมติก็ได้ใช้ “พื้นที่” ของการต่อสู้ที่ถากถางไว้ตั้งแต่สมัยสำนักหนังสือใต้ดินในการเริ่มต้น มีความพร้อมในด้านเงินลงทุน เมื่อเปรียบกับคนทำหนังสืออีกจำนวนมากที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ต้องถือว่าสำนักพิมพ์สมมติเป็นผู้มีโอกาสมากกว่าคนอื่น
กลยุทธ์ในการพิมพ์หนังสือของสมมตินั้นมีความคล้ายคลึงกับสามัญชน ก็คือ ออกแบบปกและรูปเล่มให้สอดคล้องกันจนเป็นเอกลักษณ์ของสำนักพิมพ์ เพื่อที่จะแสดงความแตกต่างและแยกหนังสือออกมาให้ดูเด่น โดยเฉพาะเมื่อวางเรียงกันหลายๆ ปก อันที่จริงในช่วงแรกของสำนักหนังสือใต้ดินผมก็ใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้ วิธีการเช่นนี้ดูเหมือนจะให้ผลที่น่าพอใจในสมัยของสามัญชน ที่หนังสือของสำนักพิมพ์สามารถยึดครองชั้นหนังสือหมวดวรรณกรรมในร้านหนังสือได้อย่างมีนัยสำคัญ
ช่วงกลางทศวรรษ 2530 หากเดินเข้าร้านหนังสือใดที่เป็นแหล่งชุมนุมของนักอ่าน อย่างเช่น ร้านนายอินทร์ท่าพระจันทร์ก็มักจะเห็นหนังสือของสามัญชนเรียงเป็นแผงอยู่บนชั้นหนังสือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งให้สถานะของสำนักพิมพ์โดดเด่น นักเขียนส่วนมากในเวลานั้นก็มองมาที่สามัญชนเป็นอันดับแรกๆ เมื่อต้องการเสนอต้นฉบับ สำนักพิมพ์สมมติใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จในการครองพื้นที่ในร้านหนังสือ
สมมติอาจเป็นสำนักพิมพ์ที่นักเขียนต้องการพิมพ์งานด้วยคล้ายๆ กับสามัญชนในทศวรรษ 2530 แต่นั่นก็เป็นเพราะผู้พิมพ์งานวรรณกรรมสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องจริงจังมีน้อยและอีกหลายปัจจัยที่ไม่ใช่ความสามารถในการครองพื้นที่ เพราะถ้าเป็นเหตุผลนั้นไปพิมพ์งานกับ a day หรือ แซลมอน น่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า
อันที่จริงพื้นที่ที่เคยเป็นของวรรณกรรมสร้างสรรค์ในร้านหนังสือนั้นถูกยึดครองไปแล้วตั้งแต่ในทศวรรษ 2540 เทรนด์การอ่านนั้นเคลื่อนจากวรรณกรรมสร้างสรรค์ไปงานแบบอื่นมาก่อนแล้ว หนังสือที่เป็นที่นิยมตั้งแต่ทศวรรษก่อนก็มักจะเป็นข้อเขียนที่รวมมาจากนิตยสาร ที่เด่นๆ ในตอนนั้นก็คือหนังสือเล่มของ a day และ open เป็นต้น
การอยู่รอดของสำนักพิมพ์สมมติที่อยู่มาได้จนถึงวันนี้ก็คือการพิมพ์ทั้งงานวรรณกรรมและงานกึ่งวิชาการซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ภาพรวมของสำนักพิมพ์มีความสมดุล ไม่บาดเจ็บยับเยินและยังคงมีความแข็งแรงอยู่ได้
ตอนที่สำนักพิมพ์สมมติเริ่มต้น ยุคสมัยได้ผ่านพ้นไปโดยที่พวกเขาไม่รู้ แม้แต่ผมเองก็เพิ่งจะมาสังเกตเอาในภายหลัง วิกฤตการเมืองที่ค่อยๆ เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 ทำให้โหมดการอ่านในทศวรรษ 2550 ทั้งทศวรรษของสังคมไทยเปลี่ยนไป เป็นเรื่องบังเอิญที่ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความโชคดี แต่อีกส่วนหนึ่งต้องกล่าวว่าเป็นเพราะว่าพวกเขาพยายามจะนำเสนอสิ่งที่ถูกข้ามหรือทิ้งไปในอดีตกลับมาอีกครั้ง กระแสการเมืองทำให้หนังสือ ยูโทเปีย และ 1984 กลายเป็นหนังสือขายดีโดยที่ผู้พิมพ์ไม่ได้คาดคิดมาก่อน
ในขณะที่งานวรรณกรรมแปลของศตวรรษก่อนอย่าง 'รวมเรื่องสั้นราโชมอน' ก็ได้รับความนิยมไม่น้อย งานของคนดังนักวิชาการอย่าง ธเนศ วงศ์ยานนาวา ก็ยังมีคนอ่านเหนียวแน่น ตัวอย่างข้างต้นคือความสำเร็จของสมมติ ที่เกิดจากการเปลี่ยนโหมดการอ่านหลังวิกฤตการเมือง ขณะที่ในส่วนของวรรณกรรมสร้างสรรค์ นอกจาก คนแคระ ที่ขายได้เพราะรางวัลซีไรต์แล้ว ไม่ปรากฏงานที่ถือเป็นความสำเร็จสำหรับสำนักพิมพ์
ถ้าหากว่าเวลา 10 ปีจะสามารถทำให้เห็นอะไรเป็นช่วงๆ สำหรับคนทำงานวรรณกรรมไทย มันก็สะท้อนให้เห็นการเกิดขึ้นของคนทำหนังสือรุ่นใหม่ที่ต้องประสบกับความล้มเหลวเป็นระลอก ราวกับตอกย้ำให้เห็นถึงความไร้อนาคตของการพิมพ์งานวรรณกรรมสร้างสรรค์
ผมคิดว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์ อันเป็นขนบของประเภทที่สืบทอดกันมาตั้งแต่หลัง 6 ตุลา ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ อาจจะเป็นจุดดับสูญ ในช่วงเวลานี้เราต้องการนักเขียน และเราต้องการบรรณาธิการ ที่มีความสามารถจะสร้างสิ่งใหม่ และในยุคสมัยที่การนำเสนอมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับรู้นี้
บรรณาธิการมีความสำคัญมาก ไม่น้อยไปกว่าผู้เขียน เราต้องการสายตาที่พิเศษ ฝ่าข้ามหมอกอันมืดมัวไปหาผู้อ่านที่มีตัวตนอยู่จริง และสร้างขนบของวรรณกรรมใหม่ขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องมีงานวรรณกรรมสร้างสรรค์อีก
ที่ผ่านมาเรามีหนังสือให้อ่านมากมาย เรายังมีนิยายใหม่ๆ ให้อ่านหลากหลายแนว มีเรียงความ ข้อเขียนใหม่ๆ ทั้งงานความคิด หรืองานเขียนร่วมสมัยที่จริงจังน้อยลงซึ่งอยู่ในรูปแบบที่ร้านหนังสือมักจะติดป้ายไว้ว่า “สาระบันเทิง” นิยายแฟนตาซี นิยายวิทยาศาสตร์แนวใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีงานวรรณกรรมสร้างสรรค์
ประเด็นคือ บรรณาธิการจะมองเห็นและมีความเข้าใจในภูมิประเทศเหล่านี้ลึกซึ้งแค่ไหน ความเข้าใจและความสามารถของเขาคือสิ่งที่จะนำทางนักเขียนไปสู่พื้นที่ใหม่ซึ่งเปิดกว้างกว่าเดิมและอาจจะรอคอยให้เราเดินไปหามาเนิ่นนานแล้ว จะต้องเดินออกจากกรอบของวรรณกรรมสร้างสรรค์ อย่ามัวอาลัยกับสิ่งที่พังทลาย อย่างเห็นได้ชัดคือ ไม่มีคนอ่านจริงๆ จังๆ มาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่อยู่มาได้ล้วนเป็นการผลักดันของคนรุ่นใหม่ระลอกแล้วระลอกเล่าเพื่อพบกับความล้มเหลว มันคือความสูญเปล่าและฝืนธรรมชาติ
ความผิดพลาดประการสำคัญของการพิมพ์งานวรรณกรรมสร้างสรรค์ของผมในช่วงแรกก็คือการพยายามต่อสู้ด้วยความคิดว่าจะต้องสร้างพื้นที่หรือชิงพื้นที่มาให้ได้ ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและในเชิงรูปธรรมที่เป็นพื้นที่ทางการขาย มันคือความคิดที่ผิด
สิ่งที่ผู้พิมพ์และบรรณาธิการควรจะทำคือการสร้างบทสนทนา ไม่ใช่การชิงพื้นที่ ทุกวันนี้ต่อให้เอาวรรณกรรมสร้างสรรค์ไปวางเต็มชั้นหนังสือที่เด่นที่สุดในทุกร้านหนังสือทั่วประเทศ ก็จะไม่ทำให้ยอดขายกระเตื้องขึ้นมากเท่าไร พื้นที่นั้นแปรเปลี่ยนไปตามความนิยมของคน ในขณะที่พื้นที่เชิงรูปธรรมมีความหมายน้อยลงเพราะเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สิ่งที่ขาดแคลนคือการสนทนาและการพูดคุย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเกิดจากตัวงานด้วย นั่นหมายถึง ตัวงานเองก็ต้องมีสิ่งที่อำนวยให้เกิดบทสนทนา
เรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักคือ การสนทนาไม่ใช่การภาวนาการอ่านที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับวรรณกรรมสร้างสรรค์เมื่อ 40 ปีก่อนคือการอ่านที่เชื่อว่ามี “สัจจะ” บางประการอยู่ในงานวรรณกรรมที่อ่าน และผู้อ่านมีหน้าที่ต้องค้นหามันให้พบ สถานะของนักเขียนจึงเป็นเสมือนกับ ผู้ให้กำเนิด หรือผู้ส่งมอบสัจจะนี้ให้กับผู้อ่าน ท่าทีเช่นนี้ก่อให้เกิดการอ่านที่เป็นการ “สนทนากับตัวเอง” มากกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดและอารมณ์ความรู้สึกระหว่างคนอ่าน
วรรณกรรมสร้างสรรค์จึงคล้ายกับ “คัมภีร์” ที่ผู้อ่านจะต้อง “ท่องบ่น” และมุ่นคิดอยู่กับการสนทนาภายในตัวเอง ซึ่งมีอากัปกิริยาคล้ายคลึงกับการภาวนา การอ่านแบบนี้ไม่ใช่ “ธรรมชาติ” หรือเป็นสภาพทั่วไปของวัฒนธรรมการอ่าน แต่มันถูกทำให้เข้าใจว่าตัวมันเท่านั้นคือวัฒนธรรมการอ่านที่แท้ส่วนการอ่านแบบอื่นเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ขนบแบบนี้เกิดขึ้นพร้อมกันและได้รับการสืบทอดผ่านการเขียน-พิมพ์-อ่านวรรณกรรมสร้างสรรค์ตลอดหลายสิบปี มันทำให้เกิดจารีตของการเขียนวรรณกรรมที่แยกตัวออกจากสังคม
ลักษณะของการค้นหายกย่องวรรณกรรมสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นบนพื้นฐานเดียวกันนี้ ซึ่งก่อให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านแบบบนลงล่างโดยมีผู้เขียนอยู่ในสถานะพิเศษซึ่งมีภารกิจคล้ายคลึงกับนักบวช สภาพดังที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นควบคู่กับ “โรค” โรแมนติกนิยมในหมู่ปัญญาชนที่ระบาดขึ้นหลังการปฏิวัติล้มเหลว และทำให้วรรณกรรมสร้างสรรค์โดยภาพรวมดิ่งลึกและปิดกั้นตัวเองจากสังคม แม้จะคลายลงไปบ้างในช่วงทศวรรษ 2540 แต่ก็ไม่เกิดการเชื่อมต่อวรรณกรรมสร้างสรรค์กับสังคมอีกเลย
จริงๆ แล้วต้องพูดว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์ในลักษณะดังที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ไม่มีฐานการอ่านที่แท้จริงรองรับ ความรุ่งเรืองของการอ่านแบบนี้เป็นปรากฏการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นแค่ช่วงเวลาหนึ่งอันเนื่องมาจากบรรยากาศของสังคมการเมืองหลัง 6 ตุลา ที่ก่อให้เกิดสภาพที่ “เสมือน” ว่าคึกคักไปด้วยการอ่าน
ซึ่งหากสำรวจจริงๆ แล้ว หลังกระแสการเมืองสงบลง หนังสือวรรณกรรมที่ขายไม่ได้นั้นมากกว่าที่ขายได้เป็นสัดส่วนที่มากกว่าเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนให้เห็นสภาพตลาดที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับตลาดของหนังสือประเภทที่ “มีคนอ่าน” จริงๆ ซึ่งยอดขายจะกระจายตัว ไม่ใช่กระจุกอยู่เฉพาะงานที่ได้รับรางวัลหรือของนักเขียนเด่นๆ ที่มีปัจจัยอื่นเกื้อหนุน
ถ้าจำไม่ผิดผมรู้จักปิยะวิทย์ครั้งแรกที่เชียงใหม่ในฐานะนักศึกษารุ่นน้องของ เอกชาติ ใจเพชร จากนั้นด้วยความบังเอิญที่เขาก็เป็นเพื่อนใกล้ชิดกับชัยพร เขาเข้ามาช่วยผมทำวารสารหนังสือใต้ดินโดยทำหน้าที่ช่างภาพ จากนั้นก็เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมทำหนังสือให้พิมพ์บูรพา จนกระทั่งออกไปตั้งสำนักพิมพ์สมมติในที่สุด
ผมเข้าใจเอาเองว่าปิยะวิทย์ในตอนนั้นต้องการเป็นนักเขียนและช่างภาพ เขาไม่ได้เป็นคนที่อ่านวรรณกรรมมาอย่างเข้มข้น นักเขียนที่เขาชอบคือ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อสไตล์งานเขียนและการถ่ายภาพของเขา เวลาผ่านมาไม่นานสำนักพิมพ์สมมติก็วางลงบนบ่าของเขาอย่างสมบูรณ์
กล่าวได้ว่าเขาคือผู้มีบทบาทหลักในการนำพาสำนักพิมพ์มาจนถึงวันนี้ 10 ปีของสมมติจึงเป็นห้วงเวลา 10 ปีที่ปิยะวิทย์ถูกหล่อหลอมด้วยการงานของผู้พิมพ์และบรรณาธิการ
สิ่งหนึ่งที่ผมประหลาดใจไม่น้อยก็คือความมุ่งมั่นในการพิมพ์งานวรรณกรรมสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง และอย่าง – บ้าเลือด ในบางช่วง ทั้งที่ในตอนแรกที่เจอกันนั้นเขาไม่ได้มีแววของความเป็นผู้คลั่งไคล้วรรณกรรม จนถึงวันนี้ ต้องกล่าวว่าปิยะวิทย์คือผู้ที่สืบทอดสปิริตของการทำหนังสือวรรณกรรมสร้างสรรค์ ที่พยายามต่อสู้เพื่อความอยู่รอดมาตลอดทศวรรษ 2540 เขาทำมันต่อมาอีก 10 ปี เพื่อพบกับความล้มเหลว ขายไม่ได้เหมือนเดิม หรืออาจจะแย่ยิ่งกว่าเดิม
ดังที่กล่าวไปแล้ว แนวทางการอ่านของปิยะวิทย์ (หรืออันที่จริงก็คือทั้งชัยพรและปิยะวิทย์) ช่วงแรกมาจาก non fiction มากกว่า การพิมพ์งานวรรณกรรมไทยอาจจะเป็นแรงดลใจหรือความท้าทายในฐานะผู้พิมพ์ของเขา แต่พื้นฐานการอ่านก็ทำให้เขาพิมพ์ทั้งงานวรรณกรรมและ non fiction ควบคู่กันไป
แต่ก็ต้องยอมรับว่าหนังสือวรรณกรรมหลายเล่มที่ผมไม่เคยอ่าน หรืออ่านไปแล้วและลืมไปแล้ว ผมได้อ่านและพบสิ่งที่น่าสนใจเพราะสมมตินำมาพิมพ์ คงมีผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่ยอมรับหรือปฏิเสธงานอย่าง บาร์เทิลบี ของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ แต่มันก็คือหนังสือเล่มแรกของสมมติ – ซึ่งติดอันดับขายไม่ดีของสำนักพิมพ์
หนังสือดีที่ขายไม่ดีเป็นปรากฏการณ์ปรกติที่เกิดขึ้นได้เสมอ และมันเป็นปัญหาของบรรณาธิการที่จะเลือกว่าจะจัดการกับมันอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าเป็นคนละกรณีกับการขายไม่ได้ของวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่ต้องจัดว่าเล่มที่ขายได้นั้นคือข้อยกเว้นแบบพิเศษจริงๆ
จำเป็นต้องชี้ให้เห็นว่าการนำงานแปลจากต่างประเทศมาเปรียบงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ในเรื่องยอดขายเป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัว และเป็นสิ่งหนึ่งที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดต่างๆ อยู่เสมอ เช่น งานวรรณกรรมแปลขายดีกว่างานวรรณกรรมไทย พอพูดคำว่า “วรรณกรรมไทย” แบบไม่แยกประเภทมันก็ไม่จริงไปในทันที มีงานวรรณกรรมไทยที่ขายดีกว่างานแปลตั้งเยอะแยะเต็มไปหมด เพียงแต่มันไม่ใช่ “วรรณกรรมสร้างสรรค์”
ในขณะเดียวกัน วรรณกรรมแปลซึ่งเป็นที่นิยมกันในหมู่ผู้พิมพ์วรรณกรรมสร้างสรรค์ ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องจะขายได้ งานที่ดีแต่ขายไม่ดีก็มีให้เห็นอยู่ตลอด และจริงๆ งานแปล ในทางใดทางหนึ่งมันคือการ “เด็ดยอด” เอามาจากสังคมการอ่านที่อยู่ “ต่างแดน” หรือมาจาก “ที่อื่น” เช่นถ้าเอางานของนักเขียนอังกฤษทุกคนในศตวรรษที่ 20 มาแปลภาษาไทยและพิมพ์ขาย เชื่อว่าส่วนใหญ่จะขายไม่ได้เผลอๆ จะแย่ยิ่งกว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์
แต่งานที่ผู้พิมพ์ “เลือก” มาพิมพ์นั้น เป็นการเลือกที่ผ่านการเชื่อมโยงอะไรบางอย่างมาแล้ว – นั่นแหละคือประเด็น งานต่างประเทศซึ่งสามารถขึ้นมาเป็นที่รู้จักของผู้พิมพ์ไทย หากไม่ใช่งานที่ขึ้นทำเนียบก็ต้องมีประเด็นที่ถูกพูดถึงในแง่หนึ่งมุมใด เป็นงานที่มีอะไรบางอย่างที่นอกจากจะทำให้มันเด่นกว่างานร่วมสมัยอีกมากมาย ยังจะต้องสามารถสะดุดตาผู้พิมพ์ไทยได้ ทั้งที่มีงานอีกจำนวนมากที่ไม่ถูกแปลและแม้แต่ไม่เป็นที่รู้จักของนักอ่านต่างภาษาหรือแม้แต่ภาษาเดียวกัน
เพราะอะไรละจึงเลือกแปลและพิมพ์เล่มนี้? เหตุผลก็คือ เพราะมัน “สนทนา” กับผู้อ่านที่เป็นคนไทย (อย่างน้อยก็ผู้แปลและผู้พิมพ์) ส่วนงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ (ที่ขายไม่ค่อยได้) นั้นมาจากแรงผลักดันที่แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งคือนักเขียน “ใหม่” ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จัก สำนักพิมพ์มีเหตุผลมากมายที่พิมพ์งานของนักเขียนใหม่ และเหตุผลหนึ่งก็คือเป็นการบอกตัวเองว่า “ฉันยังพิมพ์งานวรรณกรรมสร้างสรรค์อยู่นะ” และอีกส่วนคือนักเขียนที่แม้เป็นที่รู้จักแล้วก็ยังไม่มีฐานคนอ่านสักเท่าไรนอกจากเรื่องความชอบแล้ว มันก็คือเหตุผลเดียวกัน “ฉันยังพิมพ์วรรณกรรมสร้างสรรค์อยู่นะ” และรากฐานของเหตุผลแบบนี้ก็ล้วนมาจากการต้องการชิงพื้นที่
หากยังคิดเรื่องการชิงพื้นที่ เราก็จะยังทำอะไรที่ผิดประเด็นไปเรื่อยๆ หลายครั้งที่เราอ้างว่าพิมพ์เพราะว่าเรา “ชอบ” แม้จะขายไม่ได้ แต่ก็มีงานที่เราชอบอีกจำนวนมากที่เราไม่มีวันพิมพ์เพราะรู้ว่ามันขายไม่ได้ บรรณาธิการที่ดีจะต้องผ่านจุดของความชอบและตัดสินใจพิมพ์ด้วยสายตาที่ไกลกว่านี้ ไม่ใช่แค่ด้วยสายตา
ผมคิดว่าเขายังควรจะต้องรู้จักใช้ “หู” ให้ดีเพื่อฟังสิ่งที่ผู้คนกำลังพูดคุยกันและโหยหาต้องการ นอกจากมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นแล้ว บรรณาธิการควรได้ยินในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ยิน เพื่อที่จะรู้ตัวว่าทุกครั้งที่เขานำเสนอหนังสือเล่มใหม่ออกไป เขาต้องการคุยอะไรกับผู้คนในสังคมนี้
จำเป็นจะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการมองวรรณกรรมใหม่ อันดับแรก บรรณาธิการจะต้องรู้จัก “ฟัง” เสียงของต้นฉบับ และต้นฉบับที่ไม่ควรพิมพ์อย่างยิ่งก็คืองานที่ไม่คุยกับใครเลย ซึ่งวรรณกรรมสร้างสรรค์ก็มักจะเต็มไปด้วยงานแบบนี้ ถ้าเห็นว่ามันเป็นงานศิลปะที่น่าสนใจก็จงไปเช่าแกลเลอรี่ให้มันแสดงแทนที่จะนำมันเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นหนังสือ และการพูดคุยคงเริ่มต้นไม่ได้ถ้าเขายังมอง “ไม่เห็น” คนที่เขาจะคุย นั่นก็คือคนอ่าน และไม่ใช่คนอ่านคนไหนก็ได้ แต่เป็นคนอ่านกลุ่มที่เขาอยากคุย และเขาจะหาคนอ่านของเขาพบก็ต้องผ่าน “การอ่าน”
บรรณาธิการไม่ใช่แค่อ่านต้นฉบับ แต่ยังต้องอ่านคนที่จะอ่านต้นฉบับที่เขาต้องการนำเสนอ ในต้นฉบับที่จะพิมพ์นอกจากจะต้องเห็นคนอ่านแล้ว เขายังจะต้องมองเห็นบทสนทนาที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ระหว่างผู้อ่านกับตัวบท แต่คือผู้อ่านกับสังคมที่แวดล้อมเขา กับพื้นภูมิความสนใจของเขา การทำเช่นนั้นได้เขาก็ต้องอ่านในสิ่งที่คนเหล่านั้นอ่าน รู้จักคนอ่านไม่ใช่แค่รู้จำนวนคนที่จะซื้อหนังสือ แต่คือการรู้จักคนที่คุณกำลังจะเดินไปคุยด้วยและรู้ว่าตัวเองจะคุยเรื่องอะไร
บรรณาธิการควรต้องรู้ว่าคนอ่านที่เขาหมายปองมีความสนใจเรื่องอะไร เพราะโลกใบนี้กว้างใหญ่และหัวข้อก็มีเต็มไปหมด บรรณาธิการจึงต้องรู้จักตัวเอง รู้จักต้นฉบับที่ตัวเองต้องการ รู้จักเสียงของต้นฉบับที่ตัวเองจะพิมพ์ รู้จักคนอ่านที่จะได้ยินเสียงนั้น และเหนืออื่นใด รู้จักตำแหน่งแห่งที่ของตัวบทในห้องอันใหญ่โตของสังคมที่เต็มไปด้วยบทสนทนา
ทำยังไงถึงจะเริ่มบทสนทนาได้? อาจจะดูเป็นผู้ชายๆ ไปหน่อย แต่บางทีมันก็เหมือนการจีบผู้หญิง เรามองเห็น สะดุดตา และอยากจะพูดคุย สมมตินั้นโชคดีอยู่แล้วที่เกิดมาเท่ มีโอกาสมากกว่าคนอื่น และมีคนมาเสนอต้นฉบับมากมาย แต่บรรณาธิการที่เต็มไปด้วยต้นฉบับบางทีก็ตาลายแล้วกลายเป็นตาถั่ว อีกทั้งถึงจะดูดีแต่ถ้าพูดคุยกันแล้วไปไม่เป็นสาวเจ้าก็อาจเบื่อหน่ายและตีจาก มันคงน่าเบื่อถ้าจะคุยกับคนที่พูดแต่เรื่องตัวเอง พอๆ กับฟังคนที่พูดแต่เรื่องยากๆ โดยที่คนพูดก็ไม่รู้เรื่อง
สมมติเองก็เพิ่งจะ 10 ปี สำหรับสำนักพิมพ์แล้วก็ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ หนุ่มเกินกว่าจะตายจากความอยากในการพิชิตสิ่งยากๆ เช่น ความสำเร็จของวรรณกรรมดีๆ ที่เร่าร้อนเหมือนผู้หญิงเซ็กซี่ โอ แต่กรุณาอย่าเร่งเร้าจนเกินไป การจีบผู้หญิงสวยนั้นย่อมต้องมีศิลปะ แต่...ผมจะไปรู้เรื่องนี้ดีกว่าคนหนุ่มได้อย่างไรเล่า!
====================
อ่านบทความอื่นของ วาด รวี
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562
29 มี.ค. 2562