วรพจน์ พันธุ์พงศ์ | สมมติเอานะ ว่าฝันเป็นจริง

Last updated: 23 มิ.ย. 2565  |  5192 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ | สมมติเอานะ ว่าฝันเป็นจริง

เปิดรับสมาชิกตลอดชีพรุ่นสาม ราคา 44,000 บาท

ผู้อ่านสามารถออกแบบงวดผ่อนชำระเองได้ (ระยะเวลาไม่เกิน 10 เดือน) ได้รับหนังสือเมื่อชำระครบ

รายละเอียดคลิก คำประกาศความรู้สึกและจินตนาการใหม่ในการทำสำนักพิมพ์



#รับจำนวนจำกัดเหมือนเดิม
#ปรับราคาขึ้นตามปฏิจจสมุปบาท
#มีระบบผ่อนเหมือนสมาชิกสองรุ่นแรก
#ได้รับหนังสือทุกเล่มที่มีอยู่และจากนี้ตลอดไป
#มีสิทธิพิเศษอื่นอีกหลายอย่างที่มากกว่าเดิม
====================

ราวสักปีเศษๆ มาแล้ว เพื่อนเจ้าของสื่อแห่งหนึ่งส่งข้อความมาขอต้นฉบับ บอกว่ามีพื้นที่ให้หนึ่งหน้า เปิดกว้างทัศนะตามแต่ใจ เพียงขอให้มีแง่มุมทางธุรกิจสักนิด ค่าที่ ‘หัว’ หนังสือของเธอจั่วไว้แบบนั้น

ผมผู้ไม่ประสีประสากลเกมธุรกิจนั่งคิดอยู่นาน ก่อนตัดสินใจเลือกเขียนเรื่องนี้ส่งให้ ตั้งชื่อว่า ‘ผูกขาด’ มีความดังนี้
.
มี.. ยังมีอยู่พอสมควร ธุรกิจที่ผูกขาด แม้ในโลกปัจจุบันที่ควรผลักดันทุกสิ่งทุกอย่างสู่คำว่า ‘เสรี’ ไม่ว่าความหมายในทางการเมืองหรือธุรกิจ การผูกขาดคือสิ่งที่ควรสูญพันธุ์ไปนานแล้ว มันน่ารังเกียจ มันป่าเถื่อน ใจร้าย ทำลายเพื่อนมนุษย์

โลกแปลว่าความหลากหลาย โลกแปลว่าต้องมีทางเลือก ชีวิตที่ดีคือการเลือกได้ ใช่--ชีวิตแปลว่าอิสรภาพ


ผมคิดแบบนี้ ผมเขียนแบบนี้ แต่กับบางเรื่องก็เป็นผมอีกนั่นเองที่มีวัตรปฏิบัติแบบผูกขาด 
อาจไม่ใช่ผมหรอก น่าจะเป็นเพราะเขามากกว่า

จ๊อกเป็นผู้ชายผอมๆ สูงราวสักร้อยเจ็ดสิบ ชอบกินเบียร์ ติดบุหรี่ แต่งตัวเรียบง่ายสามัญตามยูนิฟอร์มโรงงาน ไว้ผมยุ่งและยาวเกินบุคลิกคนเป็นเจ้าของธุรกิจ


ผมรู้จักเขาจากการเอาหนังสือไปพิมพ์ เมื่อราวสัก 6-7 ปีที่ผ่านมา ที่จริง ‘บางลำพู’ เคยพิมพ์กับเจ้าอื่นมาก่อน พิมพ์เล่มเดียวและเลิก เพราะส่งของไม่ครบ ต้องไล่ทวงถาม ถึงได้ของตามข้อตกลง


เรื่องราคา โรงพิมพ์ของจ๊อกแพงกว่าเจ้าก่อน ฟังว่าสำนักพิมพ์อื่นๆ ก็มองเห็นประเด็นนี้ หลายคนรับรู้ว่าค่าพิมพ์ที่จ๊อกวางบิลมาไม่ได้เย้ายวนหอมหวาน แต่ก็เหมือนผม เมื่อผ่านการร่วมงานกับจ๊อก เมื่อเราเอาหนังสือไปให้เขาพิมพ์ เจ้าอื่นก็เป็นอดีตและจะไม่มีอนาคตกับใครอีก


พิมพ์กับจ๊อกแล้วเราไปพิมพ์ที่อื่นไม่ได้ เปลี่ยนใจไม่ได้


เขามีปืนหรือ นั่นสินะ --เขาขับรถถังมาปิดล้อมฉีกทึ้งอิสรภาพของผมหรือ... 
เปล่าเลย เขียนหนังสือเสร็จ ผมโทรฯ หาเขา (ข้ามขั้นตอนการดีลกับเซลส์ไปดื้อๆ) แจ้งวันเวลา ระบุสเป็ก จำนวนหน้า แทบไม่ถามราคาเลยด้วยซ้ำ เขาว่าเท่าไรก็เท่านั้น

“พี่ว่างเมื่อไร ไว้กินเบียร์กัน” บางทีเขาพูดแบบนี้ หลังตกลงธุรกิจเรียบร้อยซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่เกินสองนาทีหรอก


ไม่ใช่ปืนและรถถัง แล้วถามว่าเบียร์ใช่ไหมที่เป็นบันไดสู่การผูกขาด 
อาจจะใช่ แต่มันเป็นเหตุผลที่เบาบางเกินไป และถ้าใครเอาเบียร์เป็นตัวตั้งในการทำธุรกิจก็น่าจะหาเวลาไปพบแพทย์โดยเร็ว

สติสัมปชัญญะของคุณกำลังมีปัญหา วิจารณญาณชำรุด


ผมกินเบียร์กับจ๊อกจริง แต่รู้จักกันมาเกินห้าปี น่าจะเคยกินราวสักสี่ห้าครั้ง เอาว่าปีปีหนึ่งเกิดการนัดแนะพบปะในวงสุราหนึ่งครั้ง


ครับ.. เบาบาง ห่างเหิน และไม่ใช่เหตุผล


แล้วอะไรทำให้ร่วมงานกับเขาแล้ว เราเปลี่ยนใจไม่ได้ นอกใจไม่ได้


แน่นอน, คุณภาพงานคือจุดแข็ง เมื่อทำงานเราก็ต้องใส่ใจที่ชิ้นงาน จ๊อกเป็นลูกชายเจ้าของโรงพิมพ์ เขาเป็นเจเนอเรชั่นที่สองที่เข้ามาสานต่อภูมิปัญญาจากคนรุ่นพ่อ ประสบการณ์และความเป็นมืออาชีพเหลือเฟือ ข้อนี้เราไม่ต้องกังวล


ผมเชื่อว่าเจ้าอื่น หรือที่อื่นๆ ก็มีความสามารถการผลิตไม่ด้อยกว่า กระทั่งเงื่อนไขราคาอาจถูกกว่า 
ถ้ามองเพียงคุณภาพและราคา เราอาจโยกย้าย เปลี่ยนใจไปจูงมือคนอื่นได้ ในบางค่ำคืนที่อาจเพ้อฝันและมองเห็นดาวดวงใหม่

ถามต่อ--ว่านอกจากคุณภาพและราคา มีสิ่งอื่นอีกหรือที่มนุษย์พึงคำนึง เมื่อทำธุรกิจ? 
ผมเพิ่งมาคิดในภายหลัง ถามตัวเองว่าทำไมถึงอยากร่วมงานกับจ๊อกไปเรื่อยๆ คำตอบมีสองสามประการ คือ

หนึ่ง, เขาเป็นคนคุยตรงๆ ง่ายๆ ตัดสินใจรวดเร็ว ไม่มีลูกเล่นซับซ้อน

สอง, กล้าได้กล้าเสีย ในวงเล็บว่า ‘ได้’ นี่ผมว่าก็ไม่เท่าไร แต่เรื่อง ‘เสีย’ เขากล้าหยิบยื่น นำเสนอ วัดใจ วัดดวง คิดเอาเองว่ากับนิสัยเช่นนี้ หลายครั้งของการดีลธุรกิจ คำว่า ‘เสีย’ นั้นคือความสูญเสีย ความเสียหาย ได้ไม่คุ้มลงทุน แต่เขาไม่เข็ด ไม่เปลี่ยน ธรรมชาติเขาเป็นคนกล้าแลก พร้อมลอง พร้อมเผชิญภูเขาและขวากหนามใหม่ๆ


สาม, เขาเป็นคนทำธุรกิจที่เสพศิลปะ เสพและซื้อ เลยเถิดกระทั่งมีไอเดียยกงานศิลปะที่สะสมไปติดตั้งในโรงงาน ให้พนักงานได้ร่วมสัมผัสชื่นชม จ๊อกอ่านหนังสือ รักวรรณกรรม รู้ข่าวสารความเป็นไปของบ้านเมืองพอๆ กับอาจารย์มหาวิทยาลัย


ที่น่าสนใจ ประเด็นไหนที่สำคัญแหลมคม เขากล้ายืนยันความคิดและร่วมอุดมการณ์ อาจไม่ได้หาญกล้าท้าทายแสดงตัวอยู่แถวหน้า แต่มองไปเมื่อไรก็เห็น อย่างสั้นๆ ผมชอบที่เขามีใจ ให้ใจ และมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราให้ค่า

โลกนี้มีการผูกขาดอยู่สองชนิด อย่างแรก ผู้อื่นเป็นคนผูก อย่างหลัง เราจงใจผูกมัดมันขึ้นมาด้วยมือตัวเอง

อย่างแรก คือความบัดซบเลวทรามในโลกสมัยใหม่
อย่างหลัง คือเพชรพลอย หรืออย่างน้อยก็เป็นดอกไม้ที่ประดับประดาสองข้างทางเดินชีวิต


ก็นั่นแหละ ตามนั้น วันเวลาผ่านไปผมยังมองจ๊อกเหมือนเดิม
.
ต้องกล่าวชัดๆ กล่าวอย่างซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ว่าผมไม่ได้เป็นแฟนสำนักพิมพ์สมมติ ไม่ค่อยรับรู้ และจนถึงนาทีนี้ก็ยังไล่เรียง ลำดับความไม่ถูก ระบุรายละเอียดไม่ได้ว่าสมมติทำอะไรมาบ้าง พิมพ์หนังสือมาแล้วกี่ปก

เพียงเห็นระยะไกลๆ รับรู้ว่าตั้งใจทำงาน มีบุคลิก มีจุดยืน และมีรสนิยม (ที่โดดเด่น กระเด้งมาเข้าตาผมมากที่สุดคือ 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ แปลโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงษ์ โดยเฉพาะบทกล่าวตามของ ธงชัย วินิจจะกูล ถือว่าได้เรื่อง ได้รส มีความงดงามครบถ้วน)

ทุกครั้งที่มองสมมติ ผมเห็นผู้ชายสองคนคือ จ๊อก กับ ต้อง

แน่นอนว่ามีทีมงานโอบอุ้ม เคียงข้าง สนับสนุน แต่ ‘แบรนด์’ หรือ ‘กระดูกสันหลัง’ ของสมมติคือคนหนุ่มสองคนนี้

‘จ๊อก’ ชัยพร อินทุวิศาลกุล

‘ต้อง’ ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล


ถ้าจำไม่ผิด ผมเห็นชื่อต้องก่อน เขาเขียนแนะนำ/วิจารณ์หนังสือของผมเล่มหนึ่ง ครับ--ไม่มีโทรศัพท์และเครื่องปรับอากาศ ในช่วงราวปี 2006 เข้าใจว่าช่วงนั้นผู้ชายทั้งคู่เข้าไปทำงานให้ underground buleteen ของ วาด รวี


เป็นสำนักวิชานี้อีกเช่นกัน--ผมคิดเอาเอง ว่ามีส่วนเพาะสร้างสปิริต ส่งเสริมความคิด ความรู้ ความกล้าหาญในเลือดให้เปล่งประกาย


ใจพวกเขามีแน่ๆ ไฟพวกเขามีแน่ๆ และพอไปร่วมหอลงเตาเผาหมื่นฟาเรนไฮต์กับสายแข็งแห่งวงวรรณกรรมไทย ก็ยิ่งทำให้ฮึกเหิม เชื่อมั่น เป็นคนหนุ่มที่รักษาความฝันและวิญญาณขบถไว้ได้โดยไม่หดฝ่อ


งานทำต้นฉบับ งานทำสำนักพิมพ์เป็นเรื่องรสนิยม เรื่องความเป็นส่วนตัว กระทั่งอาจใช้คำหยาบๆ ว่าเป็นงานที่ต้องใช้ระบอบเผด็จการพอสมควร ในภาพกว้างๆ เราจึงเห็นว่าแต่ละสำนักพิมพ์มีบรรณาธิการเพียงหนึ่ง หัวเรือใหญ่คนเดียว ปลอกแขนของกัปตันทีมมีอันเดียว สำหรับจอมทัพ


แต่สมมติมีสอง


จ๊อกคงไม่ลงไปวิ่งเท่าต้อง แต่ยืนมองใกล้ชิด วางกลยุทธ์ และรบนอกสนาม


สองแรง แบ่งเกมกันเล่น แยกหน้าที่และประสานจุดแข็ง ขุดเอาความถนัดมายำรวมกัน


ถ้าเป็นนักทำหนัง ผมอยากถ่ายซีนผู้ชายสองคนนี้นั่งคุยกัน แค่คิดเล่นๆ ก็มองเห็นเป็นภาพชัด --ควันบุหรี่เป็นตัวละครที่สาม ขวดเบียร์ระเกะระกะ ขณะคนหนึ่งพูด อีกคนเพ่ง รอจังหวะโต้ตอบ หักล้าง ขยายความ วรรณกรรมต่างๆ นานาพวยพุ่งขึ้นมามีชีวิต นักคิด นักเขียน นักธุรกิจ ถูกยกมาวิพาษ์วิจารณ์ ถอดบทเรียน แยกแยะ วิเคราะห์ หัวเราะเต็มเสียง บ่อยครั้งเย้ยหยัน เสียดสี สบถคำต่อคำ

เถียงไม่ลดราวาศอก เมื่อเห็นต่าง

สงบนิ่งฟัง ให้กำลังใจ และเสนอไอเดียเพิ่มเสริม เมื่อเห็นคล้อย

สำหรับผม ต้องเป็นท้องน้ำ เรียบ ลึก ส่วนจ๊อกคือไฟที่ไม่ต้องการเชื้อเพลิง เขาจุดตัวเองได้แม้แหวกว่ายฝ่าคลื่นลมอยู่กลางทะเล


ในน้ำมีเปลวไฟคุกรุ่นกะพริบพราย และในไฟ มีน้ำหล่อเลี้ยง ไม่เคยแห้งขอด 
ด้วยประสบการณ์ตรง ผมคงจะลืมคืนหนึ่งคืนนั้นยาก

ณ เทอร์เรซโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังวงสุราเลิก จ๊อกในอารมณ์สีอำพันลุกขึ้นจากโต๊ะ เดินนำหน้า มุ่งไปทางถนนพระอาทิตย์ โดยไม่ทันที่ใครจะคาดคิด เขาปรี่เข้าไปเตะกระถางต้นไม้ล้นครืน และโดยทันทีทันควัน ต้องโยนร่างท้วมๆ ของเขาพุ่งเข้าคว้ากระถางตั้งดังเดิม 

ส่ายหน้า และหัวเราะเบาๆ ขณะที่นักเตะเดินดูดบุหรี่เฉย

ให้มันได้อย่างนี้สิ--นาทีนั้นผมตระหนักในความหมายของเพื่อน รอด แบบนี้ผมว่ายังไงก็รอด เรียงหน้าเข้ามาเถอะปัญหา เขาคงเกิดมาเพื่อกันและกันโดยแท้


นักบอลที่เล่นเข้าขากันหาไม่ยาก นักการเมืองก็พอมองเห็น (เช่น คู่ธนาธร ปิยบุตร) แต่ในวงการหนังสือ ผมว่าคนหนุ่มคู่นี้น่าสนใจ วัยพวกเขากำลังหนุ่ม ใจพวกเขาโตเต็มหนุ่ม เป็นรถยนต์ก็เครื่องแรง น้ำมันเต็มถัง คนขับรู้เส้นทางว่ากำลังจะไปไหน


ขับขี่มาเป็นสิบปี หุบเหว หลุมหล่ม โค้งชัน ฝนตกถนนลื่น ระวังสัตว์ริมทาง ฯลฯ ไม่ต้องใช้ป้ายกำกับ อธิบาย


คนเป็นอย่างไร สำนักพิมพ์ก็เป็นอย่างนั้น


อดีต ผมไม่ใช่แฟนสมมติ ปัจจุบันก็อาจยังนับไม่ได้ ผมรู้จักแต่คนทำ รู้จักและ respect


ในกลุ่มก๊วนคนทำหนังสือรุ่นใหม่ๆ ผมสนใจงานของสมมติ และอยู่ในระหว่างการย้อนไปค้นคว้าศึกษา สิบปีไม่น้อยหรอก สำหรับการยืนหยัดทำงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่สิบปีก็ยังไม่มาก ยิ่งกับเวลาในโลกวรรณกรรมซึ่งต้องการบทพิสูจน์ยาวนาน นี่อาจเป็นเพียงการตั้งหลักปักธง แสดงฐานที่มั่น เป็นจุดเริ่มต้นที่มี ‘ใบหน้าเฉพาะ’ ชัดเจนแล้ว


รอก็แต่การตอกย้ำ


เหลือก็แต่ทีเด็ดทีขาด ซึ่งไม่มีอะไรน่ากังวลเลย 
ดาบของพวกเขาไม่ได้ขึ้นสนิมอยู่ในฝัก สมมติท่องยุทธจักรอยู่ทุกค่ำเช้า แพ้บ้าง ชนะบ้าง ว่ากันไปตามสัจจะโลก

ผิดบ้าง ถูกบ้าง โลกียชนวนเวียนอยู่ในสนามแห่งความจริง

มองจ๊อก มองต้อง มองสมมติ สิ่งที่ผมคิดฝันถึงมิใช่พวกเขา หากเป็นเรื่องของสังคม เรื่องของคนหนุ่มสาวกลุ่มอื่นๆ เมืองไทยมีผู้คนชนิดนี้น้อยเกินไป ว่าที่จริงสำนักพิมพ์และผู้ผลิตหนังสือบ้านเรามีจำนวนมาก แต่กลับยังน้อย เมื่อมองเรื่องรสนิยม คุณภาพชิ้นงาน จุดยืน ความกล้าหาญ ยังไม่ต้องพูดถึงความหลากหลาย...


สมมติเอานะ ถ้าฝันเป็นจริง (สำนวน เสก โลโซ) ไม่ต้องเหนือกว่าก็ได้ เอาแค่พอๆ กับหยาดเหงื่อแรงงานและความซื่อสัตย์จริงใจที่สมมติทำงานอยู่ --งาน crafts, งานวรรณกรรม ‘ไม่สำเร็จรูป’ ซึ่งส่งเสริม สนับสนุน เปิดพื้นที่ให้เกิดการตั้งคำถาม กระตุ้น ปลดปล่อย ปลุกเร้า ให้ผีดิบและคนนอนหลับตื่นขึ้นมามีอารมณ์ความรู้สึก ผมเชื่อมั่นว่าถ้ามีคนหนุ่มสาวแบบนี้มากขึ้นๆ รถถังอยู่ไม่ได้หรอก รัฐประหารเกิดขึ้นอีกไม่ได้หรอก

อิสรภาพยังอยู่ไกล เสรีภาพยังอีกไกล
หากเราจะพากันเดินไปหามัน ทีละก้าว ทีละก้าว
ด้วยตีนของคนจริงๆ ไม่ต้องสมมติ.

===============================================

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้