ความสง่างามนั้นเย็นยะเยือก : บทบันทึกหลังอ่าน เอฟิล (EFIL) โดย พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น

Last updated: 23 ธ.ค. 2567  |  141 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความสง่างามนั้นเย็นยะเยือก : บทบันทึกหลังอ่าน เอฟิล (EFIL) โดย พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น

ในความเป็นจริงเราอยู่ท่ามกลางกระแสธารแห่งความหลากหลายและยุ่งเหยิงไม่มีที่สิ้นสุด…ความโหยหาจากภายในจิตถึงความเรียบง่าย คุณลักษณะนิสัยของบรรพบุรุษในสายเลือดชาวตะวันออก นำการตรึกตรอง ชีวิตจากภายในมาเป็นแบบอย่างของชีวิต ไม่ห่างไกลนักจากธรรมชาติและมากกว่านั้นในบางครั้งคราวความรู้สึกถวิลหาการย้อนกลับไปยังธรรมชาติดั้งเดิมซึ่งไร้การปรุงแต่ง...เป็นสิ่งที่เราปรารถนา...

บทกวีน้อยคำ…จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำพาเราหลีกเร้นไปสู่ความสันโดษในปรารถนานั้น ถ้อยคำแห่งความสงบเป็นลำนำขับขานร่ายรำในความเงียบ การเว้นจังหวะของวลีด้วยวิธีการนำเสนอที่เปิดกว้าง ให้ตีความได้หลายแง่มุม ชวนให้เราวิเคราะห์ความหมายที่ซ่อนอยู่ ความหมายโดยรวมของบทกวีเล่มนี้ชวนให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงและสามารถขุดลึกลงไปสู่ความจริงที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจ มุมมอง และประสบการณ์ ซึ่งอาจเป็นความจริงที่ลึกซึ้งกว่าความจริงที่จับต้องได้ด้วยประสาทสัมผัส…ดิ่งลึกลงไปถึงการตีความ…

ความหมายที่ซ่อนอยู่ในบทกวีของอาจารย์รัฐพล เพชรบดี สามารถนำพาเราไปสู่โลกแห่งจินตนาการและความรู้สึก อาจทำให้เข้าใจความหมายของชีวิตและความเป็นมนุษย์ ช่วยให้เราค้นหาความจริงในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ชวนให้เราตระหนักถึงพลังของบทกวีในการสร้างสรรค์ความหมายและความจริงใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำประพันธ์ แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เข้าใจโลกและตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ความใฝ่ใจในภาคอารัมภบทนั้นถูกละเลิกไป เช่น ภาพวาดแนวทาง ‘หนึ่งมุม’ หรือการจำกัดจำนวนฝีแปรงในภาพเขียนหมึกดำของจีนและญี่ปุ่น วิธีการดังกล่าวช่วยทำให้จิตรกรหลีกหนีจากแนวทางแบบประเพณี เราไม่พบกับเส้นมวลหรือการสร้างสมดุลในจุดที่คาดหวัง และด้วยวิธีการนำเสนอที่เปิดกว้างให้ตีความได้หลายแง่มุม สามารถวิเคราะห์ความหมายที่ซ่อนอยู่โดยอิสระ…



ความหมายที่ซ่อนอยู่ในความจริงสัมพัทธ์ ไม่ว่าเราพยายามค้นหาความจริงมากเพียงใด ก็ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้จักและไม่เข้าใจอยู่เสมอ บางบทของบทกวีเล่มนี้ชวนให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงที่แท้จริง ความจริงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา บทกวีเล่มนี้จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราค้นหาความจริงในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นความสุข เศร้า รัก เกลียดชัง หรือความคิดเห็นทางสังคม ชวนให้เราตระหนักถึงพลังของบทกวีในการสร้างสรรค์ความหมายและความจริงใหม่ๆ บทกวีเล่มนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำประพันธ์ แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเข้าใจโลกและตัวเราเองได้ดียิ่งขึ้น...

นานเท่าใดแล้วที่เราไม่พบบทกวีที่มีการตั้งคำถามที่ไม่มีวันสิ้นสุดเกี่ยวกับความหมายของชีวิตและการดำรงอยู่ เรามักแสวงหาคำตอบด้วยคำถามที่ใหญ่กว่าชีวิต เช่น เรามาจากไหน จะไปไหน และความหมายของชีวิตคืออะไร...สุดท้ายก็ไม่พบคำตอบ...บทกวีเล่มนี้เร้นมิติความรู้สึกเบื่อหน่ายและความว่างเปล่าในสังคมปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการแสวงหาความสำเร็จและวัตถุ เปิดโอกาสให้เราได้สะท้อนกลับไปมองชีวิตของตัวเองอีกครั้งว่าเราใช้ชีวิตอยู่เพื่ออะไร และความจริงที่เราแสวงหาคืออะไร...



บทกวีเล่มนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของจินตนาการในการสร้างสรรค์และพัฒนาตนเอง การท้าทายค่านิยมและความคาดหวังของสังคม เป็นสื่อกลางที่ช่วยให้เราสามารถแสดงออกถึงความคิด ความรู้สึก และจินตนาการ ได้อย่างอิสระ ความหมายของความฝันที่จะดำรงชีวิตใต้ทะเลลึกอาจเปรียบเทียบกับการแสวงหาความฝันที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง อาจเป็นการวิพากษ์สังคมที่มักจะจำกัดความเป็นไปได้ของคน เป็นการแสดงออกถึงความฝันที่แปลกใหม่ เป็นการปลดปล่อยตัวเองจากข้อจำกัดทางสังคม...

ด้วยวิธีเฟ้นคำ สกัดเอาเท่าที่จำเป็น เท่ากับเป็นการเพิ่มพื้นที่ว่างให้ตรึกตรองความหมาย วลีน้อยๆ ในถ้อยคำเล็กๆ ปลุกความนึกคิดอันแจ่มชัดเหนือคำอธิบาย สร้างพลังลึกลับลุ่มลึกให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความสงบภายใน ประหนึ่งบทกวี ไฮกุ (俳句, haiku) ของญี่ปุ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นด้วยความเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งและความรู้สึกที่หลากหลายเปี่ยมด้วยการตรึกตรองในแง่มุมต่างๆ ของชีวิต ดังกวี ไซโต เรียวคิว (Saitō Ryokuu: 1868-1904) เคยกล่าวไว้ว่า “ความสง่างามนั้นเย็นยะเยือก” ประหนึ่งการเร้นตนเองออกจากความฟุ่มเฟือยทางภาษา แต่กลับเปิดจินตนาการแก่ผู้อ่านที่เคยชินกับสรรพสำเนียงจอแจ ได้อาบอิ่มในแสงเรืองรองให้รู้สึกเพลิดเพลินในสมาธิ...

“ความรื่นรมย์ในความคิดคำนึง” แน่นอน ผู้ซึ่งอยู่ท่ามกลางแสงไฟ เสียงจอแจ และอาหารจานด่วน ย่อมไม่คุ้นเคยและอาจเปิดใจรับได้ยาก ความน้อยของคำในบทกวี ทำให้จิตรกรอย่างผมที่มีความสนใจการวาดภาพด้วยหมึกดำของจีนและญี่ปุ่น เห็นอุบายของผู้เขียนในเจตนาให้ผู้อ่านหวนสำนึกถึงคมดาบแห่งปัญญา ทว่าสงบ อบอุ่น นุ่มนวลละมุนละไมบนลานประลองของหน้ากระดาษ สำหรับผมคือวัสดุสำหรับใช้ในการขีดเขียนวาดระบายคุณสมบัติที่หลายคนลืมสัมผัสที่โอนอ่อนเหมาะกับมนุษย์ (มากกว่าจอคอมพิวเตอร์) นี้ไปแล้ว ในทางกลับกัน ถ้าความว่างเปล่า กระดาษขาวกลับเป็นพื้นสีดำ (ความมืดสีขาว) ประกายคำแห่งบทกวีเสมือนแสงเทียนระริกไหวในรัตติกาล เป็นสัญญาณบอกถึงแรงลมที่พัดผ่านเข้ามาในห้องเป็นครั้งคราว ดึงลมหายใจและจิตวิญญาณเราให้อยู่ในภวังค์อันล้ำลึกที่ไม่อาจแยกเราออกจากความมืดได้ กรณีเปรียบเปรยแสงสลัวในห้องกับถ้อยคำริบหรี่ เรียงร้อยเป็นจังหวะบางเบา กวัดแกว่งไปมาราวลำธารอักษรเล็กๆ ไหลรินเป็นสายให้ความรู้สึกหนักเบาเมื่อจิตสัมผัส ประหนึ่งค่าน้ำหนักแสงเงาหรือค่าน้ำหนักสีขาว เทา ในภาพวาดหมึกดำ จังหวะความอ่อนแก่ที่จิตรกรวาดระบายต่างเป็นความสุขสุนทรียะอันหาได้ยากแก่ผู้อ่าน คุณลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งจากสวนบทกวีร่วมสมัย...

ท้ายที่สุดในช่วงเวลาการอ่านบทกวีเล่มนี้ พบว่าคือห้วงแห่งการตรึกตรองความลึกล้ำประหนึ่งลำนำอันสงบเงียบที่เกิดจากความหมายของวลีเช่นแสงเทียนริบหรี่ในความมืด กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความคิดคำนึงถึงแก่นสารของสรรพสิ่ง ย้อนกระบวนการสร้างคำถาม ทบทวนความรู้ แล้ววางลง...เพื่อปลุกปัญญาสูงสุดขึ้นมา (ปรัชญา) ทำให้เราพิจารณาความเป็นจริงที่มากกว่าแค่ปรากฏการณ์...เรือตกปลาลำน้อยโดดเดี่ยวอยู่บนระลอกคลื่น ภาพวาดแบบหนึ่งมุมที่เริ่มต้นโดยบะเยน (Ma Yuan: 1160-1225) หนึ่งในศิลปินที่ยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ซ่งตอนใต้นั้น เพียงพอที่จะปลุกจิตของผู้ดูให้รู้สึกถึงความกว้างใหญ่ของทะเล เกิดความสงบและพึงพอใจในเวลาเดียวกัน นั่นคือ ความโดดเดี่ยวที่ผมพยายามกล่าวถึงเมื่อสัมผัสบทกวีของอาจารย์รัฐพล เพชรบดี ด้วยความรู้สึกขอบคุณ ...มีผู้กล่าวถึงเรือตกปลาลำน้อยนี้ไว้ว่า...แม้ดูเหมือนว่าลำเรือจะลอยอยู่อย่างไร้หนทางภายใต้โครงสร้างโบราณที่ไม่มีอุปกรณ์ถ่วงคัดท้ายในคลื่น ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือจะท้าทายสภาพภูมิอากาศ ต่างจากเรือสำราญปัจจุบัน แต่การไร้ความช่วยเหลือนี้เอง ที่เป็นคุณค่าของเรือตกปลาในแง่ที่แตกต่างจากความเป็นที่สุดเกินจะหยั่งที่ห้อมล้อมเรือเอาไว้…

 
พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น
ปัตตานี 
============================

จาก 'บทกล่าวตาม' ในเล่ม
เอฟิล (EFIL)

สารัตถกวีนิพนธ์



รัฐพล เพชรบดี : เขียน
วิภา วัฒนไพบูลย์ : บทเกริ่นนำ
พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น : บทกล่าวตาม
เอกสิทธิ์ เทียมธรรม : บรรณาธิการเล่ม
DESIGN | สมมติ STUDIO | จิรวัฒน์ รอดอิ่ม

พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2567
ความหนา 180 หน้า
ราคาปก 200 บาท
ISBN  978-616-562-073-4

สั่งซื้อหนังสือ คลิก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้