จริงหรือไม่ที่ 'คนผิวขาว' เหนือกว่า สูงส่งกว่า?

Last updated: 7 ส.ค. 2567  |  292 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จริงหรือไม่ที่ 'คนผิวขาว' เหนือกว่า สูงส่งกว่า?

❝ ผู้คนในอาณานิคมเหมือนกับเด็กๆ ที่ยังโตไม่พอที่จะดูแลตนเอง การปกครองแบบอาณานิคมจึงต้องเป็นไปแบบการปกครองพ่อกับลูก การพัฒนากฎหมายให้กับสังคมที่ยังไม่มีกฎหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็น ❞

▪️...เส้นทางอันยาวไกลของเสรีนิยมนั้นเติบโตมาพร้อมกับการเป็นจักรวรรดิที่มีโรมันเป็นต้นแบบ เสรีนิยมก็เช่นเดียวกับเหล่านักคิดยุคแสงสว่าง (Enlightenment) ที่ให้ทั้งแสงสว่างและความมืดแก่จักรวรรดิ เพียงแต่ ‘ความสว่าง’ ปกคลุมดินแดนที่เหล่านักคิดยุคแสงสว่างผิวขาวเห็นว่าคนที่ไม่ใช่ผิวขาวต่ำกว่า ขี้เกียจกว่า กลับเป็น ‘ความมืด’ ของคนที่ไม่ใช่ผิวขาว

▪️ ทั้งนี้ นักปรัชญาผู้เชี่ยวชาญความคิดแห่งยุคแสงสว่างจึงไม่ได้ปกป้องความยิ่งใหญ่และคุณธรรมได้แบบเดิม ความคิดแบบนักคิดแสงสว่างถูกตั้งคำถาม แต่การปกป้องเหล่านักคิดแห่งยุคแสงสว่างก็ยังคงดำรงอยู่เสมอ ข้อถกเถียงว่าคานท์คิดอย่างไรกับอาณานิคมและจักรวรรดิเป็นตัวอย่างที่ดี ขณะที่นักมานุษยวิทยาที่ทำงานเกี่ยวอาณานิคมและจักรวรรดิอย่าง แอนน์ ลอร่า สโตเลร์ (Ann Laura Stoler) ให้ความเห็นว่า E ของ Enlightenment กับ Empire นั้นต่อเนื่องกัน ช่องว่างระหว่างปรัชญาและปฏิบัติการของระบบอาณานิคมจึงดำรงอยู่เสมอ

▪️ ขณะที่เสรีนิยมดำเนินไปพร้อมกับการปลดปล่อยทาสเพื่อให้ทุกคนนั้นสามารถขายแรงงานได้อย่างเสรีในตลาดแรงงาน การปฏิวัติอเมริกา (American Revolution) ทำให้การขับไล่ที่และการกดขี่คนพื้นเมืองดำเนินไปอย่างเข้มข้น ในทำนองเดียวกันกับการยอมรับกลไกรัฐธรรมนูญต่างๆ ที่พิทักษ์ประโยชน์ของปัจเจกชนนิยม (individualism) ของคนผิวขาวผ่านชุดความคิด เช่น สิทธิ และในเวลาต่อมาภายหลัง ‘rule of law’ ฯลฯ ที่จำกัดให้อยู่กับคนผิวขาว

▪️ ความซับซ้อนของเสรีนิยมที่ไม่ใช่แค่อุดมการณ์ที่อยู่แต่ในตัวบทซึ่งมักถูกทำให้ไม่ต้องสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ นอกเหนือไปจากตัวบท (text) จึงถูกตั้งคำถาม เสรีนิยมมีเสรีภาพมากพอที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ระบุเอาไว้หรือไม่?

▪️ ในศตวรรษที่ 19 และ 20 ก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สำนึกความเหนือกว่าของคนผิวขาวภายใต้จารีตยิว-คริสเตียน (Judeo-Christian tradition) ได้รับการตอกย้ำจากวิทยาศาสตร์ว่าคนผิวขาวอยู่ในลำดับชั้นที่สูงสุด ความเหนือกว่าทางเชื้อชาติไม่ได้เป็นแค่อุดมการณ์หรือความเชื่อทางศาสนาอีกต่อไป แต่ความเหนือกว่าของเชื้อชาติสีผิวกลายเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (scientific racism) อันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในโลกตะวันตก

▪️ โดยความเหนือกว่าทางเชื้อชาติมีบทบาทสำคัญในการจัดระเบียบโลกและความรู้ ความเหนือกว่าทางเชื้อชาติที่บ่งบอกวิถีแห่งความก้าวหน้าของโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าผู้นำแองโกล-อเมริกัน (Anglo-American)

▪️ ความเหนือกว่าของคนผิวขาวแสดงออกผ่านสำนึกของการปกครองอาณานิคมแอฟริกาและเอเชียในแบบการปกครองดูแลเด็ก พ่อผิวขาวทำหน้าที่ปกครองลูกๆ คนผิวดำและผิวเหลือง ผู้คนในอาณานิคมเหมือนกับเด็กๆ ที่ยังโตไม่พอที่จะดูแลตนเอง การปกครองแบบอาณานิคมจึงต้องเป็นไปแบบการปกครองพ่อกับลูก การพัฒนากฎหมายให้กับสังคมที่ยังไม่มีกฎหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็น

▪️ แต่จะทำอย่างไรถึงจะทำให้ ‘คนป่าเถื่อน’ เหล่านี้มีกฎหมาย ในเมื่อความเชื่อของผู้คนในอาณานิคมยังเต็มไปด้วยความงมงาย ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ความงมงายได้เปลี่ยนจากการไม่มีพระผู้เป็นเจ้าที่จริงแท้ถูกต้องพระองค์เดียวให้กลายมาเป็นวิทยาศาสตร์

▪️ นับตั้งแต่การเป็น ‘the Chosen’ มาถึงระบบอาณานิคมที่มีบทบาทในฐานะผู้สร้างความเป็นอารยะ (civilizing mission) ตลอดจนการส่งคนออกไปอยู่ในดินแดนอื่นๆ เช่น อังกฤษ เยอรมนี นั้นแสดงถึงความเหนือกว่าของคนผิวขาวเสมอ จากคริสต์ศาสนาในมิติเทววิทยา (theology) มาสู่วิถีแห่งวิทยาศาสตร์ การแยกปรัชญาออกจากศาสนา (secularism) รัฐประชาชาติ (nation-state) ตลาดเสรี ระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบเวสฟาเลี่ยน (Westphalian) องค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ องค์การค้าโลก (WTO) ธนาคารโลก (World Bank) โดยสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นกลไกของการจัดระเบียบการดำเนินชีวิตและความคิดภายใต้การนำของคนผิวขาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกโปรเตสแตนต์ผิวขาวพูดภาษาอังกฤษ

▪️ ตั้งแต่การจัดระเบียบการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศแบบใหม่ (New International Division of Labour) ในทศวรรษที่ 1970 ไล่มาถึงประกาศิตระเบียบโลกเสรีนิยมใหม่ที่ถูกประกาศนามด้วย ‘The End of History’ ‘Washington Consensus’ ‘Market Fundamentalism’ ฯลฯ นั้นยังคงรักษาระเบียบแห่งความไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจ

▪️ ความเข้มข้นของระเบียบโลกเสรีนิยมมีมากยิ่งขึ้นหลังจากการล่มสลายของสังคมนิยม ประโยคที่ว่า ‘การไม่มีทางเลือกอื่นๆ’ (There is no alternative) ได้กลายเป็นคำตอบสำคัญของเสรีนิยมใหม่ซึ่งกำจัดการมีตัวเลือกแบบอื่น (choices) เมื่อไม่มีตัวเลือกก็หมายความว่าจำเป็นจะต้องจัดระเบียบความคิดและวิถีชีวิตเพื่อให้เป็นมนุษย์แบบใหม่ตามแนวทางของเสรีนิยมใหม่...

บางส่วนจากในเล่ม ว่าด้วยการถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคม (On Decolonaility)  
โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา

▪️▪️▪️ คนผิวขาวเหนือกว่า สูงส่งกว่า นั้นเป็นจริงหรือไม่? อ่านต่อได้ภายในเล่มนี้ -- หนังสือเล่มที่ 11 ในชุดงานของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้