Last updated: 23 ม.ค. 2567 | 1298 จำนวนผู้เข้าชม |
จ.
จ่าง แซ่ตั้ง
กำเนิด - เกิดเมื่อ พ.ศ.2477 ที่กรุงเทพฯ บิดาเป็นชาวจีนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่เล็กๆ มารดาเป็นคนไทย
นามจริง - นายจ่าง แซ่ตั้ง
การศึกษา - เริ่มเรียนชั้น ก. กา ที่โรงเรียนเทศบาลเทศบาล 2 วัดพิชัยญาติ จนจบแค่ชั้นมูลก็ต้องหนีภัยสงคราม ไม่ได้เรียนต่ออีก แต่ก็ได้ศึกษาด้วยตนเองตลอดมา
ประวัติงาน - เริ่มทำงานเขียนภาพประเภทแอบสแตร็ค หรือนามธรรมมากกว่า 30 ปี จนเป็นที่รู้จักคุ้นเคยแก่ชาวไทย และชาวต่างประเทศ ในระยะหลังได้หันมาเขียนบทกวีที่มีรูปแบบแปลกไปจากคนอื่น เช่น ใช้คำไม่ซ้ำกันซ้อนกัน จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในด้านคัดค้านและสนับสนุน และเมื่อมีการรวมบทกวีของเขา พิมพ์เป็นเล่ม ปรากฏว่ามีผู้สนใจและบางส่วนได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ จนเมื่อประมาณ พ.ศ.2514 ได้รับเชิญให้ไปร่วมประชุมกวีโลกที่แคนเบอร่า ประเทศออสเตรเลีย ในนามประเทศไทย
นิตยสาร ‘ลุคอิส’ ซึ่งพิมพ์จำหน่ายทั่วโลกเคยมาทำสารคดีเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน และความเป็นอยู่ของเขา รวมทั้งได้นำภาพสีของเขาพิมพ์เป็นปก สำหรับในเมืองไทยก็มีนักศึกษาระดับปริญญาโท วิชาภาษาไทย นำผลงานของเขามาวิจัยเป็นวิทยานิพนธ์ด้วย
จ่าง แซ่ตั้ง สามารถอ่านเขียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษได้พอสมควร แต่อ่านเขียนภาษาจีนได้แตกฉาน รอบรู้ปรัชญาจีนมากมาย มีความเป็นอยู่ง่ายๆ มักแต่งตัวด้วยกางเกงสีดำมอๆ และเสื้อกุยเฮงสีเดียวกัน สวมรองเท้าแตะยางรถยนต์ ผมยาวเกล้ามวยผมไว้ท้ายทอยด้านหลังคล้ายๆ พราหมณ์ มีภรรยาชื่อนางเซี๊ยะ แซ่ตั้ง มีบุตรชาย 4 คน บุตรหญิง 2 คน
นามปากกา - จ่าง แซ่ตั้ง
ผลงาน - ที่รวมพิมพ์เป็นเล่มแล้ว : เด็กคนนั้น, แม่กับลูก, ภาพพจน์ที่ผ่านมา, เต้า, ฯลฯ
หนังสืออ้างอิง - เลิศ ส. วชิรภิบาล ‘จ่าง แซ่ตั้ง เขาคือใคร’ ทัศนะ 5: 49-52 มิถุนายน 2516
ย.
ยาขอบ
กำเนิด - เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2450 เป็นบุตรของเจ้าอินแปง เชื้อสายเจ้าเมืองแพร่ กับจ้อย เด็กสาวในอุปการะของหม่อมเฉื่อย หม่อมใหญ่ในสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ แต่เนื่องจากบิดามารดาไม่ได้อยู่ร่วมกัน กรมพระยาดำรงฯ จึงประทานชื่อ ‘โชติ แพร่พันธุ์’ ให้ตามความต้องการของมารดา ที่ไม่ประสงค์ให้ใช้สกุล ‘เทพวงศ์’ ของบิดา
นามจริง - โชติ แพร่พันธุ์
การศึกษา - เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่ด้วยความเกเร จึงถูกบีบคั้นจากทางบ้านของ พ.ต.อ.พระยาบริหารนครินทร์ ซึ่งเป็นผู้อุปการะหลังจากที่มารดาของเขาถึงแก่กรรมแล้ว จึงหนีออกจกบ้านพระยาบริหารนครินทร์ เมื่อเรียนหนังสือได้เพียงชั้น ม.4
ประวัติงาน - หลังจากที่ โชติ แพร่พันธุ์ ต้องร่อนเร่ไปทำงานต่างๆ หลายอย่างมาแล้ว ประมาณ พ.ศ.2472 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รวบรวมพรรคพวกออกหนังสือพิมพ์ ‘สุภาพบุรุษ’ รายปักษ์ และได้ชักชวน โชติ แพร่พันธุ์ ไปร่วมงานด้วย ทำให้ได้เริ่มเขียนเรื่องตลกสั้นๆ ชุด ‘จดหมายเจ้าแก้ว’ ขึ้นเป็นครั้งแรก โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ ตั้งนามปากกา ‘ยาขอบ’ ให้ เพื่อเลียนแบบมาจากชื่อของ เจ. ดับบลิว ยาค็อบ (J. W. Jacob) นักเขียนเรื่องตลกของอังกฤษ
พ.ศ.2473 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ออกหนังสือใหม่ชื่อ ‘สุริยา’ และสนันสนุนให้ โชติ แพร่พันธุ์ เขียนนวนิยายพงศาวดารขึ้น ทำให้ โชติ แพร่พันธุ์ ได้ลงมือเขียนเรื่อง ‘ยอดขุนพล’ แต่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ ในภายหลัง ทำให้โชติ แพร่พันธุ์ มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดเรื่อยมาจนปัจจุบัน และเป็นนักเขียนไทยคนเดียวที่มีชื่อในเอนไซโคลปีเดีย บรีเทนนีก่า เนื่องจาก โชติ แพร่พันธ์ ดื่มสุราเป็นอาจิณ จึงต้องเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลครั้งแล้วครั้งเล่า จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2499
นามปากกา - ยาขอบ
ผลงาน - นวนิยาย : ผู้ชนะสิบทิศ, รักและร้าง, หล่อนชั่วเพราะชาย, เพื่อนแพง, หวานน้ำผึ้ง ฯลฯ
สารคดี : สามก๊กฉบับวณิพก, สินในหมึก ฯลฯ
ม.
ไม้ เมืองเดิม
กำเนิด - พ.ศ.2451 ที่ตำบลวัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ เป็นบุตรคนที่ 3 ของ ม.ล.ปลี และ ม.ล.หญิงแสง พึ่งบุญ
นามจริง - นายก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา
การศึกษา - ได้รับการศึกษาชั้นสุดท้ายที่โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ
ประวัติงาน - เริ่มเข้าเฝ้าถวายตัวรับราชการ เป็นข้าราชการสำนักในรัชกาลที่ 6 สังกัดกรมมหาดเล็กหลวงเมื่อ พ.ศ.2465 ต่อมาอีก 3-4 ปี บิดาถึงแก่อสัญกรรม ครอบครัวได้ย้ายไปเช่าห้องแถวอยู่ใกล้ๆ วัดสระเกศ ประกอบอาชีพค้าขายเล็กๆ น้อยๆ
พ.ศ.2478 เริ่มอาชีพการเป็นนักเขียน เพราะใจรัก ชอบอ่านหนังสือทุกประเภท และมีความรู้เรื่องภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสสามารถใช้การได้ ผลงานประพันธ์เรื่องแรกคือ ‘เรือโยงเหนือ’ หากขายไม่ได้เพราะไม่มีใครกล้าพิมพ์ให้ หลังจากนั้นได้เขียนเรื่อง ‘ห้องเช่าเบอร์ 13’ ขึ้นมาอีก และยังขายไม่ได้เช่นเดิม แต่ ‘เหม เวชกร’ เพื่อนสนิทได้คอยปลอบใจเรื่อยมาและด้วยความสงสาร เหม เวชกร จึงตัดสินใจพิมพ์เรื่อง ‘ชาววัง’ ของ ‘ไม้ เมืองเดิม’ ออกจำหน่ายเอง แต่ไม่ได้รับความสำเร็จ
พอดีมีคนมาตั้งเค้าเรื่องและจ้างให้เขาเขียนเรื่อง ‘คนดีศรีอยุธยา’ โดยใช้นามปากกา ‘ฮ. ไพรวัลย์’ ซึ่งเป็นนามปากกาเจ้าของเรื่องเดิมแทน ปรากฏว่ามีผู้พอใจมาก ‘ไม้ เมืองเดิม’ จึงเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องใหม่ ในแนวเดียวกันคือ ‘แผลเก่า’ และเริ่มใช้นามปากกา ’ไม้ เมืองเดิม’ เป็นครั้งแรก ซึ่งเรื่องนี้ได้รับความสำเร็จอย่างมาก และทำให้ ‘ไม้ เมืองเดิม’ กลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
หลังจากนั้น ‘ไม้ เมืองเดิม’ ได้เขียนนวนิยายออกมาอีกมาก นวนิยายเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือ ‘ขุนศึก’ ซึ่งเขาแต่งยังไม่สมบูรณ์ แต่ สุมทุม บุยเกื้อ น้องชาย ซึ่งเป็นนักเขียนด้วยเช่นกัน ได้เขียนเรื่อง ‘ขุนศึก’ ต่อจนจบ
เนื่องจาก ‘ ไม้ เมืองเดิม’ ชอบดื่มสุราอย่างหนัก ในที่สุดเขาจึงล้มเจ็บเป็นอัมพาตมือสั่น แต่เขาก็ยังเขียนนวนิยายออกมาด้วยความอดทน แม้บางครั้งต้องใช้ผ้าพันนิ้วมือทุกๆ นิ้วเพื่อกันความเจ็บปวด และไม่ให้มือสั่น ‘ไม้ เมืองเดิม’ ถึง แก่กรรม เมื่อ พ.ศ.2488 รวมอายุได้เพียง 37 ปี เท่านั้น
นามปากกา - ไม้ เมืองเดิม, กฤษณา พึ่งบุญ
ผลงาน - แผลเก่า, ทหารเอกพระบัณฑูร, แสนแสบ, บางระจัน, เรือเพลงเรือเร่, ข้าเก่า, ล้างบาง, สาวชะโงก, โป๊ะลม, รอยไถ, ขุนศึก (10 เล่ม) ฯลฯ
จาก โลกหนังสือ ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2533 หน้า 84-87
บรรณาธิการโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
คลิก อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ 'โลกหนังสือ'