Last updated: 24 ธ.ค. 2565 | 1407 จำนวนผู้เข้าชม |
เรื่อง แจ็คผู้ฆ่ายักษ์ บ้าง ดาวิดกับโกลิอัท บ้างนั้น เป็นเพียงนิทานหลอกเด็ก และเรื่องเล่าสอนใจ หรือว่าเคยมีเหตุการณ์ที่ฝ่ายอ่อนแอกว่าเอาชนะฝ่ายที่มีพลังมากกว่าเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง เรื่องแรกนั้นสามารถจัดเข้าประเภทเป็นนิทานก่อนนอนทำนอง 'เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า' (ถ้าใช้ปัญญาก็สู้ยักษ์ได้) ส่วนเรื่องสองมาจากพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ สอนให้คนยึดมั่นในคุณธรรม (ให้เชื่อในพลังของพระผู้เป็นเจ้า แล้วจะได้รับรางวัลเป็นชัยชนะในท้ายที่สุด)
ไม่ว่าทั้งสองเรื่องนี้จะเป็นเรื่องแต่งหรือเรื่องที่มาจากประสบการณ์จริง ก็ชวนให้ประหวัดถึงเหตุผลรองรับว่า ทำไมผู้คนจึงถ่ายทอดเรื่องทำนองนี้กันต่อเนื่องรุ่นแล้วรุ่นเล่า หรือว่าเป็นเพียงเรื่องละเมอ ที่แสดงถึงความปรารถนาของผู้คนกระนั้นหรือ
การที่ฝ่ายด้อยพละกำลังกว่า มีชัยต่อฝ่ายที่มีพลังอำนาจเหนือกว่านั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติวิสัย ฉะนั้นจึงป่วยการที่จะผูกเรื่องพื้นๆ หรือเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วตามสามัญสำนึกมาเป็นเรื่องเล่านิทาน ทว่าก็ในเมื่อกฎเกณฑ์ทั่วไปถือว่าฝ่ายเป็นรองย่อมเป็นฝ่ายแพ้ ส่วนการได้ชัยชนะถือเป็นกรณียกเว้น จึงมีประเด็นชวนให้คิดว่า ทำไมฝ่ายที่เป็นรองถึงหาญสู้กับฝ่ายที่เหนือกว่า
ที่น่าสนใจ (น่าสนเท่ห์) ขึ้นไปอีกคือ เมื่อฝ่ายที่เป็นรองรู้ทั้งรู้อยู่แก่ใจว่าจะต้องพ่ายแพ้อย่างไม่มีทางทางเป็นอื่นไปได้ ทำไมจึงยังจะสู้ กรณีทำนองนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องแต่งตามจินตนาการ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และไม่ว่าจะเป็นกรณีทั่วไปหรือเป็นกรณียกเว้น ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่างสมัย ต่างเทศะ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมในชาติต่างๆ เป็นการต่อสู้ที่มิใช่เพียงเรื่องความคิด หรือ 'ดีแต่ปาก' (ซึ่งย่อมต่างจาก 'ดีแต่พูด' อยู่บ้าง) แต่เป็นการต่อสู้ทั้งที่ไม่มีทางสู้ ที่เหนืออื่นใดคือรู้อยู่แก่ใจว่าผลลัพธ์คือความตาย ความหายนะ
ความหายนะอาจฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ได้ แต่กระทั่งในบรรดาผู้ที่เชื่อในการกลับชาติมาเกิด ก็คงไม่มีใครคิดไปว่า ถึงจะต้องตายก็ยังเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสหน้าอีก ถ้าเช่นนั้น เขาสู้ทำไม? ทำไมเขาถึงยอมตาย
"ต้นตระกูลไทย ใจช่างเหี้ยมหาญ...นายจันหนวดเขี้ยวกับนายทองแก้ว ทำชื่อเสียงเพริดแพร้ว ไว้ลายเลือดไทย"
กรณีบ้านบางระจันเป็นกรณีหนึ่งที่เข้าลักษณะนี้ เพียงแต่น่าเสียดายที่เราไม่ค่อยมีข้อเท็จจริงและความรู้มากพอ เรื่องวีรกรรมชาวบ้านบางระจันถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งจนเป็นเพลงปลุกใจไปเสียแล้ว มิฉะนั้นก็คงจะนำมาอธิบายกันเป็นล่ำเป็นสันได้ และเราอาจได้ฟังความคิดเห็นของนักเทศน์และนักสันติวิธีว่าพวกเขาจะกล่าวหานายจันหนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ นายทองแก้ว นายทองเหม็น ฯลฯ ว่าเป็นพวกนิยมความรุนแรงหรือไม่
รวมถึงการที่พระอาจารย์ธรรมโชติปลุกเสกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ชาวนาควบควายไปสู้ทหารกรำศึก ซึ่งเสมอเหมือนไปฆ่าตัวตายหมู่นั้น หมิ่นเหม่ศีลข้อไหนบ้างหรือเปล่า หรือว่าคำถามเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องพิจารณา ในเมื่อสมัยรัตนโกสินทร์นี้ก็มีพระเจิมเครื่องบินทิ้งระเบิด พรมน้ำมนต์ อวยชัยให้พรทหารไทยไปรบในเวียดนาม 'สมณเจ้า' เหล่านี้ แตกฉานในคำสอนของพระพุทธองค์จนตีความไปได้หรือว่า การกระทำที่เสมอกับสนับสนุนให้คนไปตายหรือไปฆ่าคนอื่นเป็นกิจของสงฆ์ หรือเอื้อต่อการไปสู่นิพพานได้เหมือนกัน (สาธุ...)
แล้วการฆ่าหมู่ที่ราชประสงค์และในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 นี้ ทางมหาเถรสมาคม พระนักปราชญ์ใหญ่น้อยทั้งหลาย รวมทั้งพระจอมเสน่ห์ที่ชอบเทศน์เป็นต่อยหอยในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาสังคมไทย ไปจำวัดหรือติดกิจนิมนต์อยู่ที่ไหนจนป่านนี้ หรือว่าการแสดงความเห็นเรื่องการฆ่าคนกลางกรุงนั้นมิใช่กิจของสงฆ์ หรือว่าพบ 'ทฤษฎีใหม่' ว่า "ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน"
ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของชาวบางระจัน ถ้าเป็นจริงตามตำนาน ก็ควรค่าแก่การคารวะ ทั้งนี้คงไม่ใช่เพราะ "ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่" เพราะประโยคแรกนั้นไม่ได้เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของไทย ประโยคที่สองไม่ใช่สัจพจน์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ ส่วนประโยคที่สาม ขัดกับข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ เห็นได้ชัดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จากการที่กองทัพไทยศิโรราบแก่ทหารญี่ปุ่น
กระนั้น แม้เนื้อเพลงชาติจะทะแม่งๆ เนื้อร้องไม่รับกับทำนอง ไม่คล้องกับความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และตราบใดที่ยังไม่ถึงกับมีเนื้อหาที่สื่อถึงการชอบอวดเก่งกับเพื่อนบ้านที่อ่อนแอกว่าทางการทหาร และให้ทหารต่างชาติมาใช้ดินแดนเป็นฐานทัพ โดยไม่ถือว่าเข้าข่ายละเมิดอธิปไตยที่พวกรักชาติชอบพ่นหลังอาหาร เราคงยืนร้องกันไปโดยไม่ถึงกับต้องตะขิดตะขวงใจจนเกินทน
บางส่วนจาก บท 5 ไม้ซีกฤาจะงัดไม้ซุง
ใน น้ำตาเหือด แล้วเลือดตก : สาธกการเมืองไทยในวรรณกรรมโลก
ไพร่ • ชาติ • อำนาจ • ชนชั้นนำ
ไชยันต์ รัชชกูล : เขียน