ว่าด้วยลิขสิทธิ์การแปล 'หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว' กรณีพิพาทระหว่าง 'สามัญชน' กับ 'บทจร'

Last updated: 17 พ.ย. 2565  |  10195 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ว่าด้วยลิขสิทธิ์การแปล 'หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว' กรณีพิพาทระหว่าง 'สามัญชน' กับ 'บทจร'

ศึกนากแย่งปลากับสุนัขจิ้งจอกที่ไม่มีอยู่จริง : ความขัดแย้งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์การแปล หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว และปัญหาของวรรณกรรมแปลสร้างสรรค์ในวงการหนังสือไทย

-- โดย กฤตพล วิภาวีกุล นักวิชาการอิสระคนหนึ่ง


'ชาดกนากแย่งปลา' หรือ 'ทัพพปุบผาชาดก' ว่าด้วยโทษของการโต้เถียงแบ่งกันไม่ลงตัว เป็นชาดกบทหนึ่งซึ่งเล่าเรื่องราวของสหายนากสองตัวที่ช่วยกันจับปลาตะเพียนแดงตัวใหญ่ขึ้นมาจากแม่น้ำ แต่พวกมันกลับตกลงส่วนแบ่งกันไม่ได้จนเกิดการทะเลาะวิวาทขึ้น กระทั่งมีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเดินผ่านมา สุนัขจิ้งจอกตัวนั้นอ้างตนว่าเคยเป็นผู้พิพากษาของพระราชาและผ่านการวินิจฉัยคดีความมาแล้วมากมาย มันเสนอตัวเป็นผู้ยุติความบาดหมางระหว่างสหายนากทั้งสอง โดยวินิจฉัยให้แบ่งปลาเป็น 3 ส่วน นากตัวหนึ่งได้ท่อนหาง อีกตัวหนึ่งได้ท่อนหัว ส่วนท่อนกลางที่มีเนื้อปลาโอชาตกเป็นของสุนัขจิ้งจอกผู้ทำหน้าที่ตัดสิน


นิทานชาดกนากแย่งปลานี้มิได้อธิบายว่าเหตุใด นากทั้งสองตัวถึงได้หลงเชื่อคำพูดของสุนัขจิ้งจอก ทั้งๆ ที่ปลาก็เป็นของพวกมัน หรือทำไมพวกมันถึงต้องแย่งปลากันด้วยในเมื่อยังมีปลาอีกมากในหนองน้ำ และพวกมันก็น่าจะจับปลากินกันแบบนี้มานานแล้ว แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ชาดกเรื่องนี้สอนพวกเราอย่างหนึ่งว่า หากสหายนากทั้งสองไม่แก่งแย่งปลาที่มีมากมายในหนองน้ำ พวกมันก็คงไม่ต้องเสียส่วนท้องของปลาให้แก่สุนัขจิ้งจอกผู้เป็นคนนอกเป็นแน่

เช่นเดียวกับในวงการหนังสือไทย ความขัดแย้งทางผลประโยชน์นั้นเกิดขึ้นเรื่อยมาตลอดช่วงเวลากว่า 150 ปีของวงการ โดยเฉพาะปัญหาการแย่งชิงลิขสิทธิ์ของวรรณกรรมแปล แน่นอนว่าปลาไม่ใช่วรรณกรรมแปล และลิขสิทธิ์วรรณกรรมแปลก็ไม่ได้มีมูลค่าเท่ากับปลาตะเพียนแดง ชาดกเรื่องนากแย่งปลาจึงไม่อาจเป็นภาพแทนของปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวงการหนังสือไทยให้เกิดความเข้าใจได้ โดยเฉพาะกับปัญหาลิขสิทธิ์การแปลวรรณกรรมสร้างสรรค์ซึ่งสัมพันธ์ทั้งกับจริยธรรมการจัดพิมพ์และความหลากหลายในการเข้าถึงวรรณกรรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

ความขัดแย้งครั้งใหม่ระหว่าง สำนักพิมพ์สามัญชน กับ สำนักพิมพ์บทจร เกิดขึ้นราว พ.ศ.2558 ก่อนจะกลายเป็นคดีความยื่นฟ้องร้องกันในชั้นศาล หนังสือที่เป็นเป้าหมายของ ‘ศึกนากแย่งปลา’ ในครั้งนี้คือ วรรณกรรมแปลเรื่อง ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ของนักเขียนชาวโคลัมเบีย ‘กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ’ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาสเปนใน พ.ศ.2510 และได้รับการเผยแพร่โดยแปลเป็นภาษาต่างๆ มากถึง 40 ภาษา จำหน่ายได้มากกว่า 50 ล้านเล่มทั่วโลก[1]

สำหรับประเทศไทย ‘ปณิธาน และ ร.จันเสน’ ได้แปลจากฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ.2529 และยังคงพิมพ์ซ้ำเพื่อจำหน่ายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโดยสำนักพิมพ์สามัญชนที่รับลิขสิทธิ์ของต้นฉบับแปลภาษาไทยนี้ต่อมาอีกทอดหนึ่ง ในเวลาต่อมา สำนักพิมพ์บทจรได้ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์จากทายาทของมาร์เกซได้เป็นผลสำเร็จผ่านทางความช่วยเหลือจากเอเยนต์ในต่างประเทศ และตีพิมพ์ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ฉบับแปลจากภาษาสเปนโดย ชนฤดี ปลื้มปวารณ์ใน พ.ศ.2560 พร้อมกับเรียกร้องให้สำนักพิมพ์สามัญชนยุติการจำหน่าย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ฉบับแปลของ ปณิธาน และ ร.จันเสน จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตั้งแต่ปลาย พ.ศ.2564 เนื่องจากสำนักพิมพ์สามัญชนยังจำหน่ายหนังสือดังกล่าวในงานสัปดาห์หนังสือ และจำหน่ายด้วยราคาที่ถูกกว่า เป็นเหตุให้สำนักพิมพ์บทจรผู้ถือลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยและทายาทเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความเสียหายและ ‘สูญเสียผลประโยชน์’

ฝ่ายสำนักพิมพ์สามัญชนผู้เป็นจำเลยแย้งว่า แม้ฉบับแปลของ ปณิธาน และ ร.จันเสน จะไม่ได้รับลิขสิทธิ์จากมาร์เกซผู้เป็นเจ้าของผลงานโดยตรง แต่ฉบับแปลจากภาษาอังกฤษฉบับของ ปณิธาน และ ร.จันเสน ถือเป็นงานสร้างสรรค์คนละชิ้นกับต้นฉบับภาษาสเปน และได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ประกอบพระราชกฤษฎีกาประกอบกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ.2526 ที่คุ้มครองสิทธิ์การแปลวรรณกรรมต่างประเทศซึ่งยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทยภายใน 10 ปีนับจากการเผยแพร่ครั้งแรก ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวรรณกรรมต่างชาติง่ายขึ้น

ฝ่ายสำนักพิมพ์บทจรผู้เป็นโจทย์ฟ้องร้องอ้างเหตุผลว่า ‘ต้องการสร้างบรรทัดฐานใหม่’ ให้แก่วงการหนังสือและตั้งคำถามกับศาลไทยว่า ความเชื่อว่าวรรณกรรมที่แปลก่อน พ.ศ. 2537 สามารถพิมพ์จำหน่ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ต้นฉบับภาษาต่างประเทศเป็นจริงหรือไม่

แม้เราจะทราบผลการตัดสินของศึกนากแย่งปลาในชั้นต้นกันไปแล้ว แต่ศึกนากแย่งปลาแห่งวงการหนังสือไทยครั้งนี้ก็คงจะดำเนินต่อไปและกินระยะเวลายาวนานอีกหลายปีกว่าจะถึงชั้นศาลฎีกา ไม่ต่างจากคดีในลักษณะเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นใน พ.ศ.2539 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘คดีอกาธา คริสตี้ในเมืองไทย’ ซึ่งมีการอุทธรณ์จนต้องตัดสินขั้นสุดท้ายในชั้นศาลฎีกา แต่ไม่ว่าผลการตัดสินในชั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะออกมาแบบใด ก็น่าฉงนเสียเหลือเกินว่าผู้อ่านชาวไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการฟ้องร้องในครั้งนี้ และการตั้งคำถามเพื่อเรียกร้องจริยธรรมในการจัดพิมพ์วรรณกรรมแปลสร้างสรรค์นั้น เป็นการตั้งคำถามไปเพื่อประโยชน์ของวงการหนังสือ ของผู้อ่านวรรณกรรม หรือของใครกันแน่ !?!

การติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ต้นฉบับจากเจ้าของชาวต่างประเทศเป็นตัวอย่างที่ดี น่าชื่นชม และเป็นบรรทัดฐานของสังคมในปัจจุบัน แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับการร้องแรกแหกกระเชอเที่ยวป่าวประกาศไปทั่วว่า “ข้าสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของโลกทุนนิยมด้วยการลงทุนซื้อลิขสิทธิ์วรรณกรรมแปลมูลค่ากว่า 1 แสนบาทมาได้แล้ว ดังนั้นพวกท่านบรรดาสำนักพิมพ์และนักแปลรุ่นเก่าทั้งหลายที่ไม่อาจเอื้อมถึงมาตรฐานสากลนี้ก็จงหลีกทางไปเสีย ยุคสมัยของการแปลวรรณกรรมสร้างสรรค์แบบละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศกำลังพัฒนาได้จบลงแล้ว จงหยุดเสียเถิด พวกท่านแก่ชราและล้าหลังมากเกินกว่าจะตามทันโลกยุคปัจจุบันนี้แล้ว”

การป่าวประกาศในทำนองนี้จากฟากฝั่งถือหางเรื่องลิขสิทธิ์ คือการสร้างบรรทัดฐานใหม่เพื่อวงการหนังสือ หรือเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเองเพื่อผูกขาดลิขสิทธิ์การพิมพ์หนังสือกันแน่!?! และผู้เสียหายตัวจริงจากการละเมิดลิขสิทธิ์วรรณกรรมแปลในประเทศกำลังพัฒนาที่มียอดจำหน่ายได้เพียงประมาณไม่เกิน 2 พันเล่มต่อการตีพิมพ์หนึ่งครั้งนั้นคือใครกัน?!? ผู้ประพันธ์และทายาทชาวต่างชาติ หรือสำนักพิมพ์ไทยที่กระเสือกกระสนดิ้นรนจนได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของวรรณกรรมสร้างสรรค์อย่างถูกต้อง?!?

จริงอยู่ว่าการสร้างบรรทัดฐานเรื่องลิขสิทธิ์การแปลวรรณกรรมสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเป็นเรื่องที่ถูกต้องสำหรับโลกยุคปัจจุบัน โลกหลังการโลกาภิวัตน์ที่การติดต่อสื่อสารกับต่างชาติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติ โลกทุนนิยมที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศพัฒนาแล้วด้วยกฎระเบียบและมาตรฐานต้นทุนการผลิตที่เท่าเทียมกัน แม้ว่ามูลค่าของสินค้าที่ขายได้ระหว่างทั้งสองประเทศนั้นจะแตกต่างกันมากมายเพียงใดก็ตาม บางคนอาจบอกว่า หากเราเคารพลิขสิทธิ์ของนักเขียนต่างประเทศ นักเขียนต่างประเทศก็จะเคารพลิขสิทธิ์ของเรา และนั่นจะเป็นผลดีต่อวงการหนังสือไทยในระยะยาวเมื่อถึงวันหนึ่งวันที่นักเขียนไทยได้ไปโลดแล่นในเวทีโลก นั่นเป็นความตั้งใจดีแต่ไม่พิจารณาถึงความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อยว่า วงการหนังสือไทยในปัจจุบันมีสภาพเช่นไร และยอดขายของวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทยในปัจจุบันสร้างผลตอบแทนให้แก่สำนักพิมพ์และนักเขียนได้เหมือนในต่างประเทศหรือไม

พ.ศ.2557 สำนักพิมพ์สามัญชนตีพิมพ์ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 วางจำหน่ายในราคาเล่มละ 590 บาท แม้จะไม่มีการเปิดเผยยอดพิมพ์จำหน่ายที่แท้จริงในแต่ละครั้งให้ทราบ แต่ก็พอจะประมาณได้ว่าอย่างมากที่สุดคงไม่เกิน 2,000 เล่มต่อครั้ง ดังนั้นเมื่อรวมการตีพิมพ์ทั้ง 5 ครั้งแล้ว ยอดพิมพ์รวมทั้งหมดก็คงไม่เกินหนึ่งหมื่นเล่มนับตั้งแต่การพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ. 2529 และตลอดช่วงเวลาการเผยแพร่กว่า 3 ทศวรรษ จำนวนการพิมพ์ทั้งหมดของหนังสือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว รวมกับวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ของมาร์เกซที่แปลเป็นภาษาไทยก็น่าจะมีไม่ถึง 5 หมื่นเล่ม จำนวนดังกล่าวเทียบไม่ได้เลยกับยอดจำหน่ายของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ในตลาดโลกซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50 ล้านเล่ม!

สมมติว่าใน พ.ศ.2547 ก่อนการตีพิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์สามัญชนได้ส่งจดหมายเป็นภาษาอังกฤษโดยตรงไปถึงมาร์เกซ เพื่อติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์วรรณกรรมแปล หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เขาจะตอบตกลงขายลิขสิทธิ์การแปลให้แก่สำนักพิมพ์เล็กๆ แห่งหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาอย่างสำนักพิมพ์สามัญชนหรือไม่ หรือเราควรจะเริ่มจากการตั้งคำถามเสียก่อนว่า มาร์เกซจะรู้หรือไม่ว่าประเทศไทยไม่ใช่ไต้หวัน?!? และตั้งอยู่ที่ส่วนไหนของโลก?!?

เหตุใดมาร์เกซจึงไม่ฟ้องร้องค่าลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์ของไทยเสียเองเล่า หากเขาทราบว่าจะมีการแปลและพิมพ์จำหน่ายวรรณกรรมของเขาในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 และหากมาร์เกซทราบความจริงว่า หากสำนักพิมพ์ขนาดเล็กในประเทศไทยต้องแบกรับต้นทุนค่าลิขสิทธิ์มากถึง 1 แสนบาทจะทำให้ต้นทุนเหล่านั้นตกเป็นภาระที่ผู้อ่านชาวไทยต้องแบกรับแทน เพราะยอดจำหน่ายเพียง 2 พันเล่มภายในระยเวลา 3-5 ปี โดยที่ค่าลิขสิทธิ์ถูกกำหนดไว้สูงถึง 1 แสนบาทจะกลายเป็นต้นทุนที่ทำให้ราคาหนังสือเพิ่มขึ้นประมาณ 100 บาทต่อเล่ม[2] ดังนั้นราคาจำหน่ายของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ฉบับพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ.2529 ก็คงจะไม่ใช่ราคา 68 บาท

มาร์เกซจะทราบหรือไม่ว่าตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 ประเทศไทยได้สร้างกำแพงที่มีชื่อว่า พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เป็นเงื่อนไขจำกัดการแปลวรรณกรรมของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กในประเทศของตัวเอง เพราะทำให้การผลิตหนังสือประเภทวรรณกรรมแปลสร้างสรรค์มีต้นทุนค่าลิขสิทธิ์มากขึ้นและเพิ่มเงื่อนไขจำกัดระยะเวลาการใช้ลิขสิทธิ์ซึ่งอาจจะเป็น 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี ในขณะที่ตลาดวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทยยังคงหดตัวลง และการจำหน่ายวรรณกรรมแปลสร้างสรรค์เพียง 2 พันเล่มให้หมดภายในช่วงเวลาที่ได้รับลิขสิทธิ์ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากขึ้นทุกที

หากมาร์เกซทราบถึงสภาพความเป็นไปของตลาดวรรณกรรมแปลสร้างสรรค์ในประเทศไทย เขาจะยอมมอบลิขสิทธิ์ของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ให้แก่สำนักพิมพ์สามัญชนหรือไม่? ไม่มีผู้ใดทราบคำตอบของคำถามเหล่านี้ เพราะ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ได้เสียชีวิตลงใน พ.ศ.2557 และทายาทผู้ดูแลผลประโยชน์ของลิขสิทธิ์วรรณกรรมทั้งหมดของเขาได้ขายลิขสิทธิ์ของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ให้แก่สำนักพิมพ์บทจรที่ติดต่อผ่านเอเย่นต์ในต่างประเทศได้สำเร็จใน พ.ศ.2560

ถึงตรงนี้คงต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า เหตุใดนากสองตัวจึงต้องมาแย่งชิงปลาที่มีขนาดเล็กเสียจนสุนัขจิ้งจอกเองก็อาจจะไม่สนใจเสียด้วยซ้ำ และมีความจำเป็นต้องสร้างบรรทัดฐานให้แก่การแปลวรรณกรรมสร้างสรรค์ของนักเขียนทรงคุณค่าระดับโลกในตลาดหนังสือของประเทศกำลังพัฒนาที่มียอดจำหน่ายน้อยนิดเช่นนี้หรือไม่?!?

นักวิชาการอิสระคนหนึ่งอ้างว่า การแปลวรรณกรรมสร้างสรรค์ของนักเขียนระดับโลกเรื่องใหม่ๆ โดยสำนักพิมพ์ขนาดเล็กของไทยลดจำนวนลงไปอย่างมากในช่วงที่เกิดการฟ้องร้อง ‘คดีอกาธา คริสตี้ในเมืองไทย’ ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 แม้ว่าศาลฎีกาจะตัดสินให้สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ซึ่งตีพิมพ์ผลงานของ อกาธา คริสตี้ โดยไม่ได้ขออนุญาตนั้นไม่มีความผิดใน พ.ศ.2548 เนื่องจากได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขยกเว้นการคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ความคุ้มครองวรรณกรรมแปลเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ฉบับแปลจากภาษาอังกฤษ ของ ปณิธานและร.จันเสน ได้เกิดขึ้นแล้วนับจากการเผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ. 2529 และกฎหมายไม่สามารถมีผลย้อนหลังกลับถึงการกระทำที่เกิดขึ้นในอดีตได้ แม้จะมีการยกเลิกการสงวนสิทธิ์นั้นหลังจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แล้วก็ตาม

แต่ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปีระหว่างนั้น แทบไม่มีนักแปลหรือสำนักพิมพ์ขนาดเล็กแห่งใดกล้าแปลวรรณกรรมสร้างสรรค์ของนักเขียนระดับโลกเรื่องใหม่อีกเลย เนื่องจากไม่มั่นใจว่าผลคำพิพากษาจะออกมาในทิศทางใด การแปลวรรณกรรมสร้างสรรค์จากต่างประเทศในทศวรรษ 2540 จึงเป็นตลาดสำหรับสำนักพิมพ์ที่มีเงินทุนมากและความสามารถมากพอที่จะติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์การแปลอย่างถูกต้อง[3] และต่อมา กฎเกณฑ์นี้ได้กลายเป็นเงื่อนไขจำกัดการเลือกตีพิมพ์วรรณกรรมแปลสำหรับตลาดหนังสือในประเทศไทย เพราะวรรณกรรมสร้างสรรค์แตกต่างจากหนังสือขายดีประเภทอื่นอย่างการ์ตูน หนังสือฮาวทู หนังสือแนวธุรกิจการเงิน หรือนวนิยายยอดนิยมที่ถูกผลิตเป็นภาพยนตร์ วรรณกรรมสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 3 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้นเพื่อจำหน่ายหนังสือเพียง 2 พันเล่มให้หมด และถ้าขายได้หมดจริงก็ถือเป็นโชคดีของสำนักพิมพ์นั้นแล้ว เพราะโดยส่วนใหญ่ก็มักจะเหลือค้างอยู่ในคลังหนังสือของสำนักพิมพ์ผู้ผลิตเสียเอง

เหตุใดวรรณกรรมสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมไทยหรือวรรณกรรมแปลถึงได้มียอดจำหน่ายน้อยเสียจนผู้ผลิตแทบจะอยู่กันไม่ได้ นี่เป็นคำถามที่ยากและน่าจะไม่มีผู้ใดทราบคำตอบที่แท้จริง บางคนเชื่อว่าเป็นเพราะ ‘คนไทยอ่านหนังสือเพียงปีละ 8 บรรทัด’ แม้ว่าในปัจจุบันคนไทยจะอ่านโพสต์บนเฟซบุ๊คและเว็บไซต์ต่างๆ ได้ต่อเนื่องยาวนานนับชั่วโมงก็ตาม

บางคนเชื่อว่าคนไทยเป็นชนชาติที่เติบโตมาในวัฒนธรรมแห่งการฟัง-พูด และการดูมากกว่าวัฒนธรรมแห่งการอ่าน บางคนเชื่อว่าคนไทยไม่เคยชินกับการจ่ายเงินเพื่อการได้รับความรู้ซึ่งรวมถึงหนังสือด้วย แต่พร้อมจะจ่ายเงินในจำนวนที่มากกว่าให้แก่สิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่ต่างเชื่อคล้ายกันว่า คนไทยเป็นชนชาติที่อ่านหนังสือน้อย และสัดส่วนนั้นก็ยิ่งน้อยลงไปอีกสำหรับวรรณกรรมสร้างสรรค์

ที่จริงแล้ว วรรณกรรมสร้างสรรค์ วรรณกรรมก้าวหน้า หรือจะเรียกว่าวรรณกรรมอะไรก็แล้วแต่การตั้งชื่อนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไม่ได้ขายดีหรือทำกำไรอย่างมหาศาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศใดในโลก และดูเหมือนว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์จะเป็นหนังสือประเภทที่คนไทยอ่านน้อยยิ่งกว่าชนชาติใดอื่นเป็นพิเศษเสียอีก วรรณกรรมสร้างสรรค์อาจมีหลากหลายประเภทหลากหลายแนวเขียน แต่มักจะมีลักษณะร่วมอยู่ประการหนึ่งคือการตั้งคำถาม วรรณกรรมสร้างสรรค์ตั้งคำถามต่อค่านิยมในสังคม ตั้งคำถามต่อคุณค่าทางศีลธรรม ตั้งคำถามต่ออุดมการณ์ทางการเมือง ตั้งคำถามต่อระบบการปกครอง วรรณกรรมสร้างสรรค์ตั้งคำถามเพื่อให้ผู้อ่านขบคิดวิจารณ์โต้เถียง และการตั้งคำถามไม่ใช่สิ่งที่ผู้นำเผด็จการชื่นชอบ เราแทบไม่เคยเห็นรัฐบาลเผด็จการใดส่งเสริมให้ประชาชนอ่านวรรณกรรมสร้างสรรค์ เว้นเสียแต่ว่าผู้นำคนนั้นจะเสียสติหรือไม่รู้ว่านั่นคือสิ่งที่เรียกว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์

กระทรวงศึกษาฯ และ กระทรวงวัฒนธรรม ล้วนส่งเสริมแต่การอ่านหนังสือที่สอนให้ประชาชนรักสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์มากกว่าสิทธิเสรีภาพของตนเอง มีวรรณกรรมสร้างสรรค์เพียงไม่กี่เล่มเท่านั้นที่ได้รับการส่งเสริมจนกลายเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในระบบการศึกษาภาคบังคับของไทย และมันก็อยู่ในระบบได้ไม่นานนักเมื่อผู้รับใช้เผด็จการคนใดนึกขึ้นได้ว่ามันเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์จริงๆ ไม่ใช่สร้างสรรค์แบบไทยๆ สิ่งเหล่านี้คงพอจะตอบคำถามได้ในระดับหนึ่งว่า ทำไมวรรณกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไทยถึงมียอดจำหน่ายเพียงน้อยนิดและจำกัดตัวอยู่ในผู้อ่านจำนวนไม่มากนัก

ช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและเป็นประชาธิปไตยในแบบที่ควรจะเป็นไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ มักเป็นช่วงเวลาที่การผลิตวรรณกรรมสร้างสรรค์ตลอดจนหนังสือวิชาการสายก้าวหน้าเบ่งบานและได้รับความสนใจจากผู้อ่านอยู่เสมอ แต่นั่นก็มักเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ทุกวันนี้หนองน้ำที่ครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยปลาได้เหือดแห้งจนแทบจะไม่มีปลาหลงเหลือแล้ว เช่นเดียวกับเสรีภาพในการแสดงออกของคนไทย ปัจจุบันการแปลวรรณกรรมสร้างสรรค์เพื่อเผยแพร่ในประเทศไทยจึงไม่ใช่ธุรกิจที่สร้างผลกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำให้แก่สำนักพิมพ์เช่นในอดีต แล้วเหล่านากทั้งหลายยังต้องการเพิ่มภาระในการจับปลาให้เป็นไปตามมาตรฐานของโลกทุนนิยมสากลไปเพื่ออะไร ในเมื่อปลาที่เหลือในหนองน้ำตอนนี้ก็ตัวเล็กจนแทบจะไม่พอประทังชีวิตกันแล้ว เล็กจนแม้แต่สุนัขจิ้งจอกก็อาจจะไม่สนใจด้วยซ้ำ

พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.​2521 ยกเว้นการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานแปลของผู้ประพันธ์ที่เป็นคนชาติอื่น เมื่อผู้ประพันธ์คนนั้นไม่เผยแพร่การแปลงานของตนในประเทศไทยภายในเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ได้เผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์เป็นครั้งแรก หากไม่มีการสงวนสิทธิ์งานแปลจาก พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับนี้ คนไทยก็คงไม่ได้อ่าน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 และอาจต้องรอคอยต่อไปจนถึง พ.ศ. 2607 หรือ 50 ปีนับจากปีที่มาร์เกซเสียชีวิต และ One hundred years of solitude ก็อาจจะไม่ได้มีชื่อเรื่องว่า หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว 

บางทีในพุทธศตวรรษที่ 27 คนไทยอาจจะได้มีโอกาสรู้จักกับ One hundred years of solitude ของมาร์เกซในชื่อ หนึ่งร้อยปีแห่งความเหงา, หนึ่งร้อยปีแห่งความสันโดษ, หนึ่งร้อยปีแห่งความอ้างว้าง หรือหนึ่งร้อยปีแห่งอะไรอื่นที่ไม่ใช่ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ถ้ามีสำนักพิมพ์ใดมีความกล้ามากพอที่จะลงทุนซื้อลิขสิทธิ์มูลค่า 1 แสนบาท และมีความเด็ดเดี่ยวมากพอที่จะป่าวประกาศถึงความดีของตัวเองไปทั่ววงการ และมีความกล้ามากพอที่จะชี้หน้าเพื่อนร่วมอาชีพแล้วเรียกว่าพวกไม่มีศักดิ์ศรี ถ้ามีความเด็ดเดี่ยวมากถึงเพียงนี้ ก็จงเปลี่ยนไปใช้ชื่อเรื่องอื่น อย่าใช้ชื่อเรื่องว่า หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เพราะนั่นเป็นชื่อที่ ‘นักเขียนนักแปลผู้ถูกตราหน้าว่าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นผู้คิดค้นขึ้น’

และถ้าเอากันให้ถูกกฎหมายแบบที่ต้องการ ผู้อ่านชาวไทยคงต้องรออ่านวรรณกรรมสร้างสรรค์ในศตวรรษที่ 19 ที่หมดลิขสิทธิ์หลังจากผู้ประพันธ์เสียชีวิตไปแล้ว 50 ปีกันต่อไป เว้นเสียแต่ว่าจะมีสำนักพิมพ์ใดยอมเสี่ยงซื้อลิขสิทธิ์การแปลของวรรณกรรมสร้างสรรค์ของนักเขียนต่างประเทศอย่างถูกต้องเพื่อพิมพ์เผยแพร่อย่างที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน แต่คำถามสำคัญอีกข้อก็คือ ทำไมบรรดาสำนักพิมพ์ที่ต้องการลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องถึงไม่ตีพิมพ์ผลงานของนักเขียนทรงคุณค่า ‘เรื่องอื่น’ ที่ยังไม่เคยแปลเป็นภาษาไทยเสียเล่า หากตอบแบบกำปั้นทุบดินคงพอจะตอบได้ว่า หรือเป็นเพราะวรรณกรรมเล่มนั้นๆ มันไม่ได้เป็นที่รู้จักเท่ากับ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ที่เผยแพร่ในประเทศไทยมานานแล้วกว่า 3 ทศวรรษ!  นากในวงการหนังสือไทยต่างรู้กันดีว่า หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว อาจไม่ใช่หนังสือที่ขายดีทำกำไรได้อย่างหนังสือฮาวทู แต่มันก็ยังขายได้ในระยะยาวเพราะผ่านการพิสูจน์ตลาดมาแล้ว การลงทุนด้วยเงินจำนวนมากเพื่อสงวนสิทธิ์ในการจำหน่ายสินค้าที่ขายได้นั้นจึงไม่ใช่การกระทำที่เรียกว่า 'ความกล้า'  หรือ 'เด็ดเดี่ยว'

นากที่กล้าเสี่ยงซื้อลิขสิทธิ์การแปลผลงานของนักเขียนซึ่งยังไม่เคยตีพิมพ์ในประเทศไทยมาอย่างถูกต้องนั้นเป็นตัวอย่างที่น่ายกย่อง เพราะพวกเขามีทั้งความรักในวรรณกรรมและความกล้าที่ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงทางธุรกิจ แต่นากที่ไปซื้อลิขสิทธิ์ของวรรณกรรมแปลที่เคยเผยแพร่ในประเทศไทยมานานกว่า 3 ทศวรรษ แล้วเที่ยวป่าวประกาศไปทั่ววงการ ทั้งยังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับเหล่านากด้วยกันเองนั้น คือนากที่สวมหน้ากากของสุนัขจิ้งจอกแล้วอวดอ้างตนว่ารักความถูกต้อง ความยุติธรรม และอุทิศตนเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้แก่วงการหนังสือ โดยไม่เคยเข้าใจบริบททางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสภาพของวงการหนังสือไทยในปัจจุบันเลย

อย่างไรก็ดี การแปลวรรณกรรมสร้างสรรค์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของนักเขียนต่างประเทศ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการส่งเสริมวรรณกรรมในประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดตลาดเล็กเกินกว่าสำนักพิมพ์จะแบกรับต้นทุนค่าลิขสิทธิ์นั้น เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่? มีนักเขียนท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “มีหลายสิ่งที่ผิดกฎหมายแต่ไม่ผิด และบางทีสิ่งที่ผิดแต่ถูกกฎหมายอาจจะมีจำนวนมากกว่าด้วยซ้ำ”[4] ดูเหมือนว่าสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้จะไม่สามารถแบ่งแยกให้เป็นสีขาวกับสีดำได้อย่างแน่ชัด และในหลายกรณี สีเทาก็มีความจำเป็นเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า แต่การละเมิดลิขสิทธิ์วรรณกรรมที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ระบุคุ้มครองเอาไว้ก็เป็นประเด็นที่มาตรฐานทางศีลธรรมของโลกยุคปัจจุบันไม่อาจยอมรับได้ ถ้าเช่นนั้น นากแห่งวงการหนังสือไทยจะอยู่กันต่อไปอย่างไร ในเมื่อการแปลวรรณกรรมสร้างสรรค์ไม่สอดคล้องกับทั้งอุดมการณ์ของชาติและผลตอบแทนทางธุรกิจ

มีคำกล่าวว่า “ถ้าติดกระดุมเม็ดแรกผิด กระดุมเม็ดต่อๆ ไปก็จะผิดตามไปทั้งหมด” ถึงตอนนี้ดูเหมือนผู้คนส่วนใหญ่ทั้งคนในวงการหนังสือ ผู้อ่าน ทนายความหรือผู้พิพากษา อาจยังไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่าใครเป็นผู้ติดกระดุมที่มีชื่อว่า “พ.ร.บ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537” ให้แก่วงการหนังสือไทย กระดุมเม็ดนี้เหมาะสมสำหรับควบคุมลิขสิทธิ์ของหนังสือทุกประเภทในไทยหรือไม่ และเราควรต้องปกป้องลิขสิทธิ์ของผู้ประพันธ์ที่อยู่ในต่างประเทศมากเสียยิ่งกว่าโอกาสในการเข้าถึงวรรณกรรมสร้างสรรค์ระดับโลกของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กและผู้อ่านคนไทยด้วยกันเองหรือไม่

ปัญหาลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องซับซ้อนเสมอ เพราะมันสัมพันธ์กับการคุ้มครองสิทธิของผู้สร้างสรรค์ สัมพันธ์กับจริยธรรมในการผลิต และสัมพันธ์กับความหลากหลายในการเข้าถึง หลายคนเข้าใจผิดว่ากฎหมายลิขสิทธิ์หรือกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาบัญญัติไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้สร้างสรรค์เพียงฝ่ายเดียว นั่นเป็นความจริงเพียงครึ่งหนึ่ง เพราะหากคุ้มครองเฉพาะสิทธิของผู้สร้างสรรค์ นั่นย่อมไม่ต่างจากกฎหมายที่มีไว้เพื่อคุ้มครองนายทุน นักวิชาการท่านหนึ่งเสนอว่า นอกจากการคุ้มครองสิทธิของผู้สร้างสรรค์แล้ว กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาควรทำหน้าที่สนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ เพื่อส่งเสริมอารยธรรมทางสังคมให้เจริญรุ่งเรือง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือการคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงานและคุ้มครองสาธารณชนผู้ใช้งานไปพร้อมกัน ดังนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้ว กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีควรทำหน้าที่ประสานความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในผลงานการสร้างสรรค์นั้น เพื่อให้เกิดความสมดุลของผลประโยชน์โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทุกด้าน[5]

ศึกนากแย่งปลาในวงการหนังสือไทยจึงไม่ใช่เพียงปัญหาระหว่างนากที่มีชื่อว่า 'สำนักพิมพ์สามัญชน' กับ 'สำนักพิมพ์บทจร' แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของวงการหนังสือไทย และการออกแบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาหรือกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ไม่สอดคล้องกับบริบทและความเป็นไปของวงการหนังสือไทยในปัจจุบันแล้ว โดยเฉพาะกับตลาดวรรณกรรมแปลสร้างสรรค์

ที่ผ่านมา ผู้คนในวงการหนังสือส่วนใหญ่แทบไม่เคยรู้เลยว่าการเข้าร่วมอนุสัญญากรุงเบิร์นใน พ.ศ.2474 ที่นำมาซึ่งการบัญญัติมาตราสงวนสิทธิ์การคุ้มครองวรรณกรรมแปลจากผู้ประพันธ์ชาวต่างชาตินั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะรัฐไทยต้องการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมเพียงอย่างเดียว แต่นั่นเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการแก้ไขสนธิสัญญาการมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เช่นเดียวกับการประกาศใช้ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ก็เกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ของสินค้าต่างประเทศที่มีมูลค่าสูง เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพลง หนังสือการ์ตูน หรือภาพยนตร์เป็นหลัก เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิ์การลดภาษีส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา[6] ดังนั้น เมื่อได้ทบทวนประวัติศาสตร์และความเป็นมาของกฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศไทยกันแล้ว คำถามสำคัญที่ผู้คนในวงการหนังสือควรถามกับตัวเองคือ ช่วงเวลาที่เกิดการแก้ไขกฎหมายซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำหนังสือ ผู้คนในวงการหนังสือได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือมีตัวแทนจากสมาคมวิชาชีพของคนทำหนังสือเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวงการของตัวเองหรือไม่!?!

อย่างไรก็ดี พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ถูกประกาศใช้ไปแล้วและยังมีผลถึงปัจจุบัน นั่นจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนไทยต้องเคารพและปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับประเด็นที่ว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับปัจจุบันนั้นเหมาะสมกับการผลิตวรรณกรรมแปลสร้างสรรค์ในประเทศไทยขณะนี้หรือไม่

กระดุมที่มีชื่อว่า ‘พ.ร.บ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537’ ถูกติดลงบนเสื้อของวงการหนังสือไทยไปแล้ว และกาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ากระดุมเม็ดนี้เหมาะสมกับการผลิตวรรณกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไทยหรือไม่ แต่ผู้คนที่เกี่ยวข้องในการทำหนังสือและสำนักพิมพ์ควรเตือนตัวเองไว้เสมอว่า “เมื่อติดกระดุมผิดไปแล้วก็ควรถอดออกเสียเพื่อติดใหม่ให้ถูก มิใช่ดันทุรังติดกระดุมผิดต่อไป”

---
---

[1]  THE OPENER (2022) สรุปปมพิพาท ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ลิขสิทธิ์วรรณกรรมต่างประเทศผ่านกฎหมายไทย 3 ยุค. https://theopener.co.th/node/1360


[2] พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล (2019) มหากาพย์แห่งการขอลิขสิทธิ์ และชีวิตใหม่ของ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ https://www.the101.world/new-life-of-one-hundred-years-of-solitude/


[3] Viphaveekul, Krittaphol (2022) Development of Book Publishing Industry in Thailand during 1950s-1990s  -Transition of Print Capital and Culture-. Graduate school of Asia-Pacific studies, Waseda University 


[4] Heidi Heilig (2016) The girl from everywhere. London : Hot Key Books


[5] กรกาญจน์ มุ่งพาลชล (2017) “การวิเคราะห์เปรียบเทียบ ข้อยกเว้นลิขสิทธิ์ “fair use”” https://prachatai.com/journal/2017/11/74255


[6] Viphaveekul, Krittaphol (2022) Development of Book Publishing Industry in Thailand during 1950s-1990s  -Transition of Print Capital and Culture-,Graduate school of Asia-Pacific studies, Waseda University 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้