Last updated: 12 ก.ย. 2565 | 1376 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อระเบียบสถาบันใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ระเบียบวินัยสำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพ
▪️ ข้อความในรัฐธรรมนูญที่พยายามสะท้อนอุดมคติของสังคมที่ต้องการเข้าถึงกลายเป็นเพียงถ้อยคำสวยหรู เมื่อระเบียบปฏิบัติในองค์กรจำนวนมากไม่ได้เปลี่ยนตาม กล่าวได้ว่ากฎระเบียบของโรงเรียนบางแห่งแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม ทั้งยังย้อนหลังไปถึงระเบียบช่วงปี 2515 ซึ่งเป็นยุคที่เป็นรากฐานของระเบียบแบบอำนาจนิยมเสียด้วย
▪️ 'การลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ' เป็นประเด็นที่ตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรในปี 2551 ว่า "กระทรวงศึกษาธิการมีมาตรการอย่างไรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาครูที่มีสภาพจิตใจผิดปกติซึ่งส่งผลต่อนักเรียนโดยตรง" ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการพยายามชี้แจงว่าได้กำหนดมาตรการคือ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ครูผู้ประกอบวิชาชีพ จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ (ศมจ.) ในทุกพื้นที่เขต และซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการรักษาวินัยของข้าราชการครู ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความตึงเครียด มีมาตรการเรื่องรางวัลจูงใจ
▪️ โดยในปี พ.ศ.2556 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผม ได้แก่ นักเรียนชายให้ไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ หากไว้ผมยาว ด้านข้างและด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม เช่น แบบทรงผมรองทรง และนักเรียนหญิงให้ไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวก็รวบให้เรียบร้อย
▪️ แนวทางดังกล่าวได้ทำหน้าที่ผ่อนปรนการปฏิบัติในสถานศึกษาที่เอาจริงเอาจังกับวินัยด้านทรงผม หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นความพยายามของรัฐที่จะต่อรองกับ 'ระเบียบเครื่องแบบและทรงผมฉบับวัฒนธรรม' ในแต่ละโรงเรียนด้วยระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษร
▪️ ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า เหตุใดผู้มีอำนาจในกระทรวงกระตือรือร้นเช่นนั้น ประเด็นหนึ่งคือ เพราะว่าสื่อมวลชนเสนอข่าวเรื่องการลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุบ่อยครั้ง บวกกับธรรมชาติของระบบราชการที่เกรงกลัวการตรวจสอบผ่านสื่อมวลชนและการร้องเรียนผ่านระบบราชการ การแก้ไขปัญหาด้วยการออกหนังสือทางราชการเพื่อแสดงให้เห็นว่าได้แก้ไขทั้งที่ในความเป็นจริงอาจแก้ไขปัญหาไม่ได้จึงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป
▪️ ดังเห็นได้จากหนังสือในปี 2552 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานระบุว่า "ตามที่ได้เกิดกรณีครูลงโทษนักเรียนโดยวิธีรุนแรงและไม่เหมาะสม ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนอยู่เนืองๆ และในหลายครั้งจะเป็นกรณีที่ผู้ปกครองนักเรียนได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานหรือองค์กรเกี่ยวกับการดูแลเด็ก ทำให้สังคมมีความเข้าใจว่าการจัดการศึกษาในส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำกับดูแลอยู่ ไม่มีการกวดขันหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลงโทษนักเรียนให้ถูกต้องตามระเบียบ...พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวหมดไป จึงขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้กำกับและให้ความรู้แก่ข้าราชการครู"
▪️ แต่สิ่งที่สะท้อน 'ระเบียบเครื่องแบบและทรงผมฉบับวัฒนธรรม' ได้ดีที่สุดคือเอกสารแนบที่ชื่อว่า "เรื่องที่ประชาชนเสนอแนะและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งเรื่องร้องเรียน" มีข้อเสนอในปี 2557 ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้ตัดผมสั้นเกรียน การนำไม้เรียวกลับมาใช้ การให้ตัดผมเกรียน มีเหตุผลสนับสนุนว่า "ทรงนักเรียนสามารถตรวจสอบได้ง่ายกว่าทรงผมแบบรองทรงเพราะตรวจยาก"
▪️ เนื่องจากเกรงกลัว 'คำสั่งกระทรวง' ทำให้ข้อเรียกร้องว่าให้มีคำสั่งให้ "โรงเรียนสามารถระบุทรงผมตามความเหมาะสมของสถานศึกษาได้" บางแห่งให้เหตุผลว่า "ยากต่อการควบคุม เพราะจะแยกไม่ออกว่าบุคคลไหนเป็นนักเรียน และไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย"
▪️ ที่ไปไกลกว่านั้นคือความพยายามอาศัยอำนาจคณะรัฐประหารในการเปลี่ยนระเบียบ "เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนเปลี่ยนทรงผมนักเรียนให้มีลักษณะของการตัดสั้นเกรียนเหมือนกัน เพราะจะได้เป็นระเบียบแบบแผนเดียวกัน"
▪️ และมีความพยายามเรียกร้องไม้เรียวกลับมาของพวกครูด้วยเหตุผลว่า "จึงทำให้นักเรียนไม่มีความเกรงกลัวครูอาจารย์" บางความเห็นถึงกับเสนอว่า "หากมี(การใช้)ไม้เรียวมาเป็นบทลงโทษในระบบการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนเกรงกลัวและเชื่อฟังครูอาจารย์ ซึ่งจะทำให้ระบบการศึกษาในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น"
▪️ ในทางตรงกันข้ามก็มีเสียงจากนักเรียนที่ชี้ให้เห็นถึงการละเมิดคำสั่งกระทรวงโดยโรงเรียนเช่นกัน "บางโรงเรียนเข้มงวดเรื่องทรงผมมากเกินไป ทั้งๆ ที่มีการให้ไว้ทรงผมแล้ว แต่ทางครูปกครองก็มาเปลี่ยนคำ บางทีครูก็เข้มงวดเกินไป นักเรียนนั่งเรียนนั่งสอบอยู่ก็มาตรวจ ทำให้นักเรียนเสียการเรียน เพราะใครผมยาวเกินติ่งหูก็ให้ออกจากห้องเรียนห้องสอบ"
-- บางส่วนจาก บทที่ 6 การศึกษาไทยหลังรัฐประหารและฉันทามติที่ขาดการมีส่วนร่วม (พ.ศ.2549-2562) โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
ในเล่ม เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย
คลิกสั่งซื้อในราคาพิเศษ ชุดหนังสือประวัติศาสตร์ที๋โรงเรียนไม่ได้สอน พร้อมให้คุณเบิกเนตรและตาสว่าง
17 ก.ค. 2563
17 มิ.ย. 2563
22 ธ.ค. 2567