คู่หยุดโลก ฟิตซ์เจอรัลด์และเฮมิงเวย์

Last updated: 4 มิ.ย. 2565  |  1692 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คู่หยุดโลก ฟิตซ์เจอรัลด์และเฮมิงเวย์

พูดถึง 'คู่ประหลาด' แห่งวงการวรรณกรรมฝั่งอเมริกา (สมัยยุค 1920) คู่แรกและคู่ในตำนานที่ผุดขึ้นมา ยังไงก็คงไม่พ้น เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) และ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway)

จะว่าเป็นเพื่อน เป็นคู่แข่ง หรือเป็นผู้ร่วมชะตากรรมในฐานะที่มี บ.ก. แจ้งเกิดคนเดียวกัน คือ แม็กซ์เวลล์ เพอร์กินส์ (Maxwell Perkins) ก็คงได้

เส้นทางทางวรรณกรรมของทั้งสองบางครั้งก็เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า แต่บางครั้งก็เหมือนไต้ฝุ่นที่ถล่มกันเอง (และแน่นอน, เฮมิงเวย์เป็นฝ่ายถล่มฟิตซ์เจอรัลด์มากกว่า)

ย้อนกลับไปในตอนต้นแมตช์ ฟิตซ์เจอรัลด์ดูเหมือนจะมีคะแนนนำมากกว่าจากการก้าวเข้าสู่เส้นทางนักเขียนก่อนเฮมิงเวย์เกือบ 7 ปี

เพอร์กินส์ไปควานหาตัวฟิตซ์เจอรัลด์มาจากหน้าแมกกาซีน และเป็นคนเดียวในสำนักพิมพ์ Charles Scribner's Sons (หรือเรียกย่อๆ ว่า Scribner) ที่ยอมรับฝีไม้ลายมือของนักเขียนโรแมนติคฟุ้งเฟื่องคนนี้ เพราะในขณะที่คนอื่นโยนดราฟต์ต้นฉบับ This Side of Paradise ของฟิตซ์เจอรัลด์ทิ้งอย่างไม่ไยดี เพอร์กินส์กลับเคี่ยวเข็ญจนนวนิยายเรื่องยาวนี้ได้ตีพิมพ์ในปี 1920 ซึ่งนับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของนวนิยายอเมริกันขณะนั้น

แม้ในวิถีชีวิตส่วนตัว ฟิตซ์เจอรัลด์อาจมีพฤติกรรมหลายอย่างที่สร้างปัญหา (ใช้เงินฟุ่มเฟือย ติดเหล้า) แต่กับบรรณาธิการอย่างเพอร์กินส์ ความสัมพันธ์ของพวกเขานับว่ายืนยาวจนถึงวาระสุดท้ายของฟิตซ์เจอรัลด์ และงานชิ้นสำคัญที่พวกขาทำร่วมกัน ก็คือ 'The Great Gatsby'

ด้วยอานิสงส์ของฟิตซ์เจอรัลด์นี้เอง เพอร์กินส์จึงได้รู้จัก เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ซึ่งในขณะนั้นทำงานเป็นผู้สื่อข่าวอยู่ที่ยุโรป เพราะ 'The Great Gatsby' เป็นเรื่องที่ทำให้เฮมิงเวย์นึกอยากเขียนนวนิยายขึ้นมาบ้างหลังจากที่เขียนแต่เรื่องสั้นมานานปี เขาวางแผนเขียนเรื่อง 'The Sun Also Rises' ระหว่างเทียวไปเทียวมาในยุโรปทั้งที่สเปน ออสเตรีย และปารีส จนปี 1926 เฮมิงเวย์จึงได้ตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกด้วยฝีมือการผลักดันของ 'แม็กซ์' แม็กซ์เวลล์ เพอร์กินส์ บรรณาธิการคู่ใจของฟิตซ์เจอรัลด์นั่นเอง

การผลักดันงานของเฮมิงเวย์ นอกจากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เฮมิงเวย์เป็นที่รู้จักในวงการแล้ว ยังส่งผลสะเทือนต่อตัวฟิตซ์เจอรัลด์ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตบรรณาธิการของเพอร์กินส์ เพราะยุคแรกคนยังไม่ 'อิน' กับประโยคทื่อๆ แมนๆ ของเฮมิงเวย์นัก งานของเขาหนักแน่น ห้วน กระชับ ต่างกันชนิดฟ้ากับเหวจากงานอันเพริศแพร้วที่เต็มไปด้วยเรื่องความสัมพันธ์ฉาบฉวยของฟิตซ์เจอรัลด์ แต่เพอร์กินส์ก็ยังคงแน่วแน่กับสายตาของตน สนับสนุนให้งานของเฮมิงเวย์ได้รับการตีพิมพ์ออกมา

ฉะนั้นหลังผลงานเล่มที่ 2 ของเฮมิงเวย์อย่าง A Farewell to Arms ได้ตีพิมพ์ในปี 1929 และทะยานขึ้นสู่อันดับต้นๆ ของหนังสือขายดี คนที่เคยวิจารณ์เขาก็เป็นอันต้องหุบปากกันหมด

แต่เมื่อเฮมิงเวย์โดดเด่นขึ้นมา ชื่อเสียงของฟิตซ์เจอรัลด์ (ระหว่างที่เขาใช้ชีวิตนักเขียนไปพลาง ผลาญเงินไปพลาง) ก็ยิ่งตกลงๆ และตัวเฮมิงเวย์เองก็ยังเคยเหยียดฟิตซ์เจอรัลด์เรื่องงานเขียนของเขาบ่อยๆ ว่าไม่มีสาระอะไรนอกจากเรื่องชีวิตของพวกไฮโซ (ทั้งๆ ที่เคยชอบ The Great Gatsby จนถึงขั้นอยากเขียนนิยายเองนั่นแหละ)

พูดง่ายๆ ก็คือ เฮมิงเวย์ออกจะขี้หาเรื่องและมีด้านมืดพอสมควร  แต่ถ้าว่ากันเฉพาะด้านงานเขียน คงเป็นโชคร้ายของฟิตซ์เจอรัลด์ด้วยที่ความนิยมเรื่องโรแมนติคหรูหราหวานอมขมกลืนเหมือนอยู่ในมนตราของอเมริกันดรีมเพิ่งสลายหายไปพอดี

ดังนั้นถ้าจะถามว่าสุดท้ายแล้วใครอยู่ยั้งยืนยงกว่ากัน...ก็คงพอจะเดากันได้

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น Scott Donaldson ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Hemingway vs. Fitzgerald อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสองคนนี้แบบง่ายๆ ไว้ว่า


"ถ้าเออร์เนสต์มีลักษณะของคนที่ชอบหาเรื่องเตะชาวบ้าน สก็อตต์ก็เป็นคนในแบบที่บนหลังแปะคำว่า ‘เตะฉันสิ’ เอาไว้"

แต่เพื่อความยุติธรรม ควรบอกเอาไว้ก่อนว่างานของ Donaldson ออกจะเอนเข้าข้างเฮมิงเวย์มากกว่าฟิตซ์เจอรัลด์ การเล่าเรื่องมิตรภาพเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดและศัตรูคู่แค้นของเขาแม้จะมีส่วนที่บันเทิงต่อผู้อ่าน แต่ก็ทำให้ฟิตซ์เจอรัลด์เป็นไอ้ขี้เมาที่ใช้ชีวิตเละเทะกว่าความเป็นจริงมากขึ้นไปอีก (ทั้งที่ปกติก็ติดเหล้าหนักอยู่แล้ว) ส่วนเฮมิงเวย์ที่ร้ายอยู่แล้วก็ยิ่งดูเหมือนคนพาลเกเรที่น่ารำคาญหนักกว่าเก่า ดังนั้นแม้ประเด็นในเรื่องจะสนุกอยู่ แต่จะเชื่อทั้งหมดนั้นทันทีก็ไม่ได้

และถ้าสงสัยว่าเหตุใดเฮมิงเวย์ถึงร้ายกับฟิตซ์เจอรัลด์นัก...ต้องขอบอกก่อนว่าไม่ใช่ เพราะปาป้าแกยังร้ายกับเพื่อนร่วมยุคอีกหลายคน ทั้ง เกอร์ทรูด สไตน์ ที่เคยอยู่แก๊งเดียวกันที่ปารีส และ วิลเลียม โฟล์คเนอร์ (William Faulkner) อนาคตผู้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม (ก่อนเฮมิงเวย์ด้วย)

จนชื่อเสียงของฟิตซ์เจอรัลด์ตกต่ำไปแล้วขณะที่ตัวเองกำลังรุ่งเรืองขึ้น เฮมิงเวย์ถึงได้ไม่ค่อยสนใจจะระรานฟิตซ์เจอรัลด์อย่างเปิดเผยอีก (และต่อมาก็หันไปแซะโฟล์คเนอร์แทน)

แต่ว่ากันแบบเข้าข้างปาป้าเล็กน้อย ในส่วนลึก เฮมิงเวย์ก็ยังคงยอมรับในความสามารถของเพื่อนร่วมยุคคนนี้ (แล้วก็เบะปากออกสื่อว่าเป็นแค่เรื่องน้ำเน่าไร้สาระ) เพราะฉะนั้นเมื่อฟิตซ์เจอรัลด์เสียชีวิตไปแล้วและผู้คนเริ่มกลับมาพูดถึงงานของเขาในแง่ที่ดี เฮมิงเวย์ถึงได้เริ่มออกอาการเหยียดงานของฟิตซ์เจอรัลด์ขึ้นมาอีกระลอก

เข้าทำนอง จริงๆ ก็รู้แหละว่าเก่ง แต่แล้วยังไงล่ะ?

ส่วนฟิตซ์เจอรัลด์ ถามว่าเขาเคยอยากตะบันหน้าเฮมิงเวย์กลับบ้างไหม?...บางทีก็อาจจะมีบ้าง!!

ความสัมพันธ์ระหว่างสองคนนี้มีทั้งความเคารพในฝีมือการเขียน (แต่ด่างานเขียนและตัวตนของกันและกัน) และเรื่องที่ทั้งคู่ต่างก็ผ่านสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 1 มาเหมือนๆ กัน เฮมิงเวย์ผู้ชอบเรื่องปืนผาหน้าไม้และอินกับสงคราม ในขั้นต้นจึงไม่ได้รังเกียจฟิตซ์เจอรัลด์นัก  ส่วนฟิตซ์เจอรัลด์เองก็มีความ 'อ่อน' ในตัวเองมากอยู่แล้ว (ซึ่งนี่ก็คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเขียนงานละเมียดๆ หรือเรื่องรักได้ดี) จะให้ทำตัวเกรี้ยวกราดด่าตอบก็คงไม่ใช่

หลังจากพบกันมาระยะหนึ่ง พฤติกรรมติดเหล้าของฟิตซ์เจอรัลด์ทำให้เฮมิงเวย์อดรู้สึกดูถูกไม่ได้ เขามองว่านั่นคือสิ่งที่คนอ่อนแอเป็น (กินเหล้าไม่ผิด แต่ควบคุมตัวเองไม่ได้น่ะผิด) มิตรภาพระหว่างทั้งคู่จึงเลวลง

แต่เอาเข้าจริง ลึกๆ แล้วเฮมิงเวย์ก็ไม่ได้เกลียดชังเพื่อนคนนี้อยู่ดี เพราะในจดหมายที่เขาเขียนหาฟิตซ์เจอรัลด์เรื่องงานเขียนและเรื่องชีวิตจิปาถะ แม้จะมีคำตำหนิ แต่ก็ยังมีประโยคให้กำลังใจแทรกอยู่เสมอ

สุดท้ายแล้วสองคนนี้ใครเก่งกว่ากัน ดีกว่ากัน คนในยุคหลังอย่างเราๆ ก็คงบอกได้แค่ 'ทั้งคู่ต่างกัน' ทั้งแนวทางการเขียน ความคิดอ่าน ความชอบ ล้วนไปคนละทางกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นจึงยากจะบอกว่าฟิตซ์เจอรัลด์หรือเฮมิงเวย์คือที่สุด เพราะถ้าจะวัดกันที่สำนวนหยดย้อย เฮมิงเวย์ย่อมเทียบฟิตซ์เจอรัลด์ไม่ติดฝุ่น แต่ถ้าจะวัดกันที่ความนิยม ชื่อเสียงของเฮมิงเวย์กลับอยู่ยงคงกระพันยาวนานกว่า

และต่อมาคนรุ่นหลังก็ยกย่องทั้งคู่เหมือนๆ กันในฐานะนักเขียนคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20

ฉะนั้นคำตอบของคำถามนี้ ก็คงเหมือนคำถามที่ว่านวนิยายเรื่องไหนสนุกกว่ากันนั่นแหละ

ตอบยาก...ก็แล้วแต่คนชอบ!

==============================

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์วรรณกรรม The Paperless

==============================

สั่งซื้องานเขียนของฟิตซ์เจอรัลด์ คลิก หวนคืนสู่บาบิลอน และเรื่องสั้นอื่นๆ 


สั่งซื้องานเขียนของเฮมิงเวย์ คลิก บาย - ไลน์ (By-Line)  




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้