Last updated: 25 เม.ย 2565 | 1532 จำนวนผู้เข้าชม |
ใน เสียงพายุเหมันตฤดู และการเริงรำครั้งสุดท้าย ตอนแรกสุดผมปรับแปรบันทึกประจำวันของตน ใส่สุ้มเสียงให้เป็นวรรณกรรม หรือทำให้วรรณกรรมเป็นชีวิตประจำวัน ใช้เวลาราวครึ่งปี ในส่วนสำคัญที่สุดนี้ผมเอาไปใส่ภาคสุดท้ายของนวนิยาย ประการหนึ่งเพราะเป็นส่วนที่ผมพอใจที่สุด แต่มันเป็นส่วนที่อ่านไม่รู้เรื่องที่สุด จากนั้นผมจึงเขียนใหม่อีกครั้งโดยถอดสปิริตของภาคที่สี่ให้เป็นรูปธรรม และให้คนอ่านเข้าใจ—แต่ก็เป็นสไตล์การเขียนอื่นๆ มากกว่าเจาะจงให้ผู้อ่านเข้าใจเสียทีเดียว ในส่วนนี้ผมเอามาใส่ไว้ในภาคแรก จากนั้นอีกหลายปีให้หลัง ผมใส่เนื้อเรื่องเข้าไปในภาคสองและสาม แต่ก็เป็นเนื้อเรื่องที่มุ่งหมายจะอธิบายเหตุการณ์และปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคมด้วยสไตล์เดียวกับภาคแรก
ในบางช่วง ผมใช้วิธีเขียนนวนิยายร่างแรกเพื่อให้ตนเองเข้าใจว่าจริงๆ ผมต้องการเขียนอะไร การเขียนร่างแรกจะทำเหมือนเป็นร่างจริง ซึ่งบางตอนก็เป็นร่างจริง, จากนั้นผมตัดต่อเอาส่วนที่เป็น 'คำอธิบาย-คำบรรยาย' เรื่องไม่สำคัญนัก ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะคล้ายข้อคิดเห็น ทฤษฎี หรือเป็นวิชาการ เก็บไว้ ส่วน 'คำอธิบาย-คำบรรยาย' ในเรื่องสำคัญเช่นจิตใจของตัวละคร หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ทางสังคม ผมจะตัดออกไปหมด แล้วเขียนใหม่ให้เป็น 'วรรณกรรม' ซึ่งผมอาศัยคำอธิบายร่างแรกเป็นตัวดำเนินเรื่อง
เหตุที่ต้องตัดออกหมดแล้วเขียนให้เป็นวรรณกรรมก็เพราะ ความเข้าใจในส่วนที่สำคัญนี้ เราจะใช้การอธิบายแบบวิชาการไม่ได้ ผมต้องการให้กลไกของ 'จิตอื่นๆ' เป็นตัวอธิบายในสิ่งนี้ เพราะผมเชื่อว่าการอธิบายเชิงทฤษฎี-วิชาการ ก็ทำได้แค่ระดับจิตสำนึก แต่ระดับจิตอื่นๆ ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างกระทบต่อภายในผู้อ่านทั้งหมด-ไม่เกิดขึ้น และสาเหตุที่ผมต้องเขียนจริงจังในร่างแรก แทนการเขียนย่อๆ เพื่อเป็นเค้าโครงก็เพราะ การเขียนย่อๆ คร่าวๆ นั้น ผมจะไม่อาจรู้ได้เลยว่าผมต้องการจะเขียนอะไรจริงๆ ซึ่งผมเห็นว่าการที่เราเขียนอธิบายโดยละเอียด แล้วมาเขียนทับโดยวิธีทางวรรณกรรมนี้ จะตอบสนองความพอใจได้มากกว่า
.
เทคนิคนี้เอามาใช้กับ 'บทเพลงเพลิงเผา' ทั้งหมด ดังนั้น จริงๆ แล้วในส่วนของการทำให้คำอธิบายเชิงวิชาการหรือกึ่งวิชาการกลายมาเป็น 'วรรณกรรม' นี้ เป็นสิ่งที่ท้าทายไม่แพ้ตัวเนื้อหาเลย เพราะรูปแบบทางวรรณกรรมเท่านั้นที่เปิดโอกาสให้จิตอื่นๆ ได้มีพื้นที่อยู่ในตัวบท การเขียนแบบวรรณกรรมเพื่อทับรอยคำอธิบายกึ่งวิชาการนี้ จึงไม่ใช่การเขียนด้วยจิตสำนึกแบบวิชาการ กล่าวคือ เป็นจิตอื่นๆ ที่มุ่งหมายเพื่อให้เกิดการเข้าใจผ่านจิตอื่นๆ ของผู้อ่านด้วย
แต่อย่างที่เราทราบกันว่า มันก็มีงานวิชาการที่มีลักษณะวรรณกรรมชั้นสูง คือ—อธิบายวิชาการด้วยจิตอื่นๆ ในคราวเดียว และผลที่ออกมาก็คือ 'อ่านไม่รู้เรื่อง' ซึ่งมันก็มี บางตอนที่ไม่ว่าจะใช้รูปแบบไหนเทคนิคไหนก็ไม่อาจให้ความพึงพอใจต่อผู้เขียนได้ ถ้อยคำในช่วงนั้นจึงออกมาดิบๆ ไม่ปรุงแต่งอะไรทั้งสิ้น
..,
บางส่วนจาก เสียงพายุเหมันตฤดู และการเริงรำครั้งสุดท้าย หนังสือ Long List รางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write) ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2564
โดย สุขพงศ์ คหวงศ์อนันต์
สุดคุ้ม! สั่งซื้อ Set S.E.A. Write หนังสือรางวัล ในราคาพิเศษ
รวมหนังสือของสนพ. ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์ - S.E.A. Write Award)
ทั้งหนังสือที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) และหนังสือที่เข้ารอบทั้ง Short List และ Long List
และเช่นเคย สมาชิกตลอดชีพ พร้อมจัดส่งให้ถึงบ้าน
อ่านแนวคิดการเปิดรับสมาชิกตลอดชีพ พร้อมสมัครรุ่น 3 ได้ทันที!!! คลิก สมัครสมาชิกตลอดชีพรุ่นสาม เปิดรับอีกไม่ถึง 15 ท่าน