บางเรื่องเล่าของ 'เลือน' เป็นบทตอนที่ขาดหายและแหว่งวิ่น
บางเรื่องราวของ 'เลือน' รู้ที่มาที่ไป ทว่าไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง
บางเหตุการณ์ของ 'เลือน' อุบัติขึ้นท่ามกลางความคลุมเครือ!
ความสับสน ความคลุมเครือ ไม่ร้อยเรียงเข้ากัน ไม่เป็นระเบียบ คือเสน่ห์สำคัญยิ่งของงานเขียนขนาดยาวเล่มนี้
'เลือน' เล่าเรื่องชายคนหนึ่ง ที่ถูกเรียกว่า 'เขา' โดยผู้เขียนสร้างเรื่องให้ตัวละครไร้ชื่อนี้ไปพบเจออะไรต่อมิอะไรในแบบ 'เปิดพื้นที่' ให้ผู้อ่านต้องอ่านอย่างระมัดระวัง
เพราะผู้เขียนเลือกจัดการกับเรื่องเล่าขนาดยาวนี้อย่างจงใจให้ขาดวิ่น เว้นระยะไม่ต่อเนื่อง ออกแบบให้เรื่องเล่าไม่สมบูรณ์อย่างมีชั้นเชิง วิพากษ์ประวัติศาสตร์การเมืองอย่างแยบคาย กระชากความจริงและความพร่าเลือนออกมาตีแผ่ตรงหน้าอย่างปิดบังมิดเม้น ไม่เปิดเผย แต่ทิ้งร่องรอยให้ผู้อ่านพบเจอกับความหมายด้วยตัวเอง!
ไม่เกินความจริงแต่อย่างใด หากจะกล่าวว่า ถ้าจะศึกษาวรรณกรรมไทยร่วมสมัย 'เลือน' จำเป็นต้องอยู่ในรายชื่ออย่างแน่นอน!
อติภพ ผู้เขียน ‘เลือน' พูดถึงงานชิ้นนี้ว่า "เลือนเป็นเหมือนการสนทนากับอดีต เป็นการปะทะสังสรรค์กับงานเขียนรุ่นก่อนหน้า และเป็นความพยายามที่จะรื้อฟื้นเนื้อความบางอย่างขึ้นจากซากผงฝุ่นละอองที่จับต้องแทบไม่ได้แล้ว เลือนคงเปรียบเหมือนกับการโปรยฝุ่นผงเหล่านั้นลงต่อหน้าผู้อ่านท่ามกลางลมแรง มันเป็นละอองของอดีต เป็นเถ้าธุลีของความทรงจำที่เลือนราง"
┈ ┉ ┈
QUOTE
การลืม แท้ที่จริงแล้วเป็นรูปแบบหนึ่งของความทรงจำ ขณะที่ความทรงจำก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการลืม หล่อนบอกเขาอย่างนั้น
ความเจ็บปวดของหล่อนคือความเจ็บปวดของเขา น้ำตาของหล่อนที่หยาดหยดลงบนทรวงอกของเขาไม่ผิดไปจากน้ำกรดที่ราดรดดวงใจ เขากำหมัดแน่น พยายามกลั้นน้ำตาไม่ให้ไหล รู้สึกว่าตนเองสูญสียสิ่งมีค่ามากที่สุดในชีวิตไปแล้วอย่างไม่มีวันเรียกหากลับคืน
┈ ┉ ┈
เลือน
วรรณกรรมไทย (นวนิยาย)
อติภพ ภัทรเดชไพศาล : เขียน
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการ
ปฐมพงศ์ น้ำใจดี : ออกแบบปก
ความหนา : 128 หน้า
ISBN: 978-616-7196-32-9