ปรากฏการณ์ส่วนเกิน

คุณสมบัติสินค้า:

ผลงานเล่มแรกของนักเขียนหนุ่ม ผู้ไม่ได้ตั้งตนเป็นศาสดาที่หวังให้ผู้อ่านเปลี่ยนความคิด แต่อยากให้ผู้อ่านตั้งคำถามมากขึ้น คำถามทั้งหลายที่เคยเป็น 'ส่วนเกิน'

Share

งานกวีนิพนธ์ เป็นงานที่มีผู้อ่านไม่มากนัก จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ อาจเพราะภาพของกวีนิพนธ์ถูกนำเสนอในรูปแบบกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ นับแต่โบราณ ผู้คนจึงเหมาว่า คนเขียนกวีต้องเป็นคนเจ้าบท เจ้ากลอน ใช้ถ้อยคำสื่อสารสูงส่งจนยากที่คนธรรมดาทั่วไปจะเข้าถึง

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เราเปลี่ยนจากอนาล็อกเป็นดิจิตัล เปลี่ยนจากรถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นรถพลังงานไฟฟ้า เปลี่ยนจากคนขับเป็นรถไร้คนขับ มีโดรนเป็นพาหนะตั้งแต่การขนส่ง สื่อสาร หรือสอดแนม และในยุคสมัยเช่นนี้ ท่าทีของบทกวีก็เปลี่ยนไป

ผู้เขียน 'ปรากฏการณ์ส่วนเกิน' ชานนที [ชาน-นะ-ที] คือผู้ที่ขึ้นไปอยู่ในรางวัลมติชนอวอร์ดในตำแหน่ง รองชนะเลิศ ด้วยบทกวีที่ชื่อว่า ‘กิ่งที่ปลายเกาะ’ และเขายังคงทำงานเขียนอย่างต่อเนื่อง

และว่ากันว่าผลงานเล่มแรกของนักเขียนมักมีความดุดัน เกรี้ยวกราด กล้าหาญ ‘ชานนที’ เขียนกวีเล่มแรกด้วยความรู้สึกเช่นนั้น เขาเชื่อว่าพื้นที่ระหว่างบรรทัดของบทกวีนั้นมีเสน่ห์ เพราะมันได้ใช้ประโยชน์จากที่ว่างนั้นเพื่อเกลื่อนความแน่ชัดในบทกวี บทกวีจึงเป็นภาพเบลอสลัว ชวนคิด ท้าทาย และน่าลุ่มหลง

'ชานนที' ไม่ได้ตั้งตนเป็นศาสดาที่หวังให้ผู้อ่านเปลี่ยนความคิด แต่อยากให้ผู้อ่านตั้งคำถามมากขึ้น

คำถามทั้งหลายที่เคยเป็น ‘ส่วนเกิน' บัดนี้ มันจะกลายเป็นปรากฏการณ์ 'จำเป็น' ที่ขาดไปไม่ได้เสียแล้ว

'ปรากฎการณ์ส่วนเกิน' เป็นบทกวีคัดสรรในปี พ.ศ.2554 – พ.ศ.2555 ห้วงความคิดในวันนั้น เมื่อได้อ่าน ณ ปัจจุบัน กลับแฝงความร่วมสมัยอย่างไม่อาจละสายตา อาจเพราะเรื่องราวที่ ‘ปรากฎการณ์ส่วนเกิน’ พูดถึง เป็นเรื่องราวของชีวิตที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่ว่าในมุมใดมุมหนึ่ง หรือมิติใดมิติหนึ่ง ของชีวิต

"...เพราะฉันคิด
เธอจึงมาอยู่ตรงนี้
และทิ้งเหตุผลไว้ข้างหลัง...”

-- บางส่วนจาก ปรากฏการณ์ส่วนเกิน
=====================

“เมื่อฉันก้าวเท้าเดินไปข้างหน้า

จึงได้รู้ว่า
ขาข้างหนึ่งก้าวหลงไปยังที่หนึ่ง
ส่วนขาอีกข้างยังคงอยู่ที่เดิม
ไม่เพียงเท่านั้น
ขาอีกข้างยังติดกับดักของตัวเอง”

-- บางส่วนจาก ปรากฏการณ์ส่วนเกิน
=====================

ข้าพเจ้าจัดเรียงความเศร้า
ความปวดร้าวเรียงแถว
อันดับหนึ่งคือทุกข์ระทม
ความขื่นขมเดินตามมา
อีกน้ำตาตามขบวน
ความเรรวนแห่งดวงจิต
โลกปิดล่มจมหาย
พร้อมสลายลงตรงความหวัง
แว่วเสียงดังโอดครวญ
ความปั่นป่วนร่วมบรรทุก
หมดสิ้นยุคความเบ่งบาน
สานสัมพันธ์ความหงอยเหงา
ปิดท้ายด้วยความเศร้า
คำเศร้าๆ
อีกนับแสนล้านคำ

-- บทกวี ขบวนลดไฟ

 

ความน่าสนใจของกวีบทนี้อยู่ที่ขาที่สามของผู้เขียนหมายถึงอะไร นี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของกวีนิพนธ์ที่ชวนให้เราขบคิด ค้นหา ไม่ให้ความรู้สึกผ่านเลยคุณค่าและความหมายไปอย่างว่างเปล่า

‘ปรากฎการณ์ส่วนเกิน’
เลือกใช้คำสั้นๆ อ่านง่าย เพียงพอต่อความรู้สึกซับซ้อนทั่วไปที่มีอยู่ในตัวเรา อ่านแล้วเกิดอารมณ์ร่วมได้ไม่ยาก

‘ปรากฎการณ์ส่วนเกิน’
พูดถึง ดอกไม้ หุ่นยนต์ ปีศาจ ความหิว กาแฟ หรือแม้กระทั่งคนทาสี เหล่านี้ล้วนมีความงดงามและน่าสนใจในแบบของตัวเอง ยิ่งเมื่อเมื่อถูกพูดผ่านคนที่ได้ชื่อว่าเป็นกวี

‘ปรากฎการณ์ส่วนเกิน’
จึงเป็นบทกวีอีกเล่มหนึ่งที่เปรียบเสมือนอาหารว่างรสชาติละมุนลิ้น แม้จะกินไม่อิ่ม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาหารเช่นนี้ กินได้บ่อยๆ กินได้เรื่อยๆ กินได้ทุกเวลา โดยไม่รู้จักเบื่อหน่าย ไม่รู้จักซ้ำซาก บางบทกวีอายุสั้น แต่บทกวีบางประเภทกลับยืนยาว ‘ปรากฎการณ์ส่วนเกิน’ เป็นบทกวีในความหมายแบบหลัง
========

ปรากฏการณ์ส่วนเกิน
วรรณกรรมไทย (กวีนิพนธ์)

ชานนที : เขียน
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการ
ศาตนันท์ ปรัชญาพรศรี : ออกแบบปก
พิมพ์ครั้งแรก : มีนาคม 2558

ความหนา : 120 หน้า
ราคา : 100 บาท
ISBN 978-616-7196-47-3

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้