Last updated: 4 ก.ย. 2565 | 5732 จำนวนผู้เข้าชม |
บทพิสูจน์ของความเป็นนักเขียนหรือกวี คือการเขียน เขียน แล้วก็เขียน นี่เป็นประโยคเชยๆ ที่ได้ยินได้ฟังกันจนคุ้นเคย แต่มันเป็นความสามัญที่เป็นจริงที่สุดสำหรับการหาเหตุผลของการดำรงอยู่ในฐานะอาชีพ ‘นักเขียน’
ไม่ว่าจะในนาม จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ หรือในนาม 'จันทร์ รำไร' และไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือบทกวี และล่าสุดกับงานเขียนประเภทความเรียง ก็ยังคงยืนยันชัดเจนว่า นักเขียนคนนี้มีความพยายามอย่างล้นเหลือเพื่อให้ได้ต้นฉบับที่ดีที่สุด
ในอดีต แม้ต้นฉบับของเขาไม่ผ่านการพิจารณาหลายชิ้น ไม่ถูกอนุญาตให้ตีพิมพ์รวมเล่มหลายต่อหลายครั้ง แต่หน้าที่ของเขาคือการเขียน เขียน แล้วก็เขียน จนกว่าจะผ่านการพิจารณาตีพิมพ์
ในเส้นทางการเขียน จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ อาจไม่ใช่ชื่อใหม่ แต่กับ 'จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์' ภายใต้สำนักพิมพ์สมมติ ปรากฏครั้งแรกในนามปากกา 'จันทร์ รำไร' ด้วยผลงานรวมบทกวีชื่อ 'อื่นใดนอกจากนั้น' เมื่อปี 2559
ใน 'อื่นใดนอกจากนั้น' เราต่างได้สัมผัสกับบทกวีละเอียดอ่อน อันประกอบด้วยถ้อยคำเข้มแข็ง และชัดเจนในห้วงอารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะมาจากความรู้สึกนึกคิด สภาวะแวดล้อม ความอัดอั้นตันใจ หรือความสงสัยที่มีต่อสรรพสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต กล่าวให้ชัดก็คือ เป็นสุนทรียภาพแห่งถ้อยคำที่ถูกถ่ายทอดมาจากความตั้งใจอันประณีตบรรจงของผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวทางความรู้สึกมามากมาย นี่เป็นบทกวีที่หันหลังให้กับความก้าวร้าว แม้ในขณะที่พูดถึงสงครามและปลอกกระสุน
ในปีต่อมา 2560 จรรยากลับมาอีกครั้งด้วยชื่อจริง นามสกุลจริง กับรวมเรื่องสั้นชุดใหม่ภายใต้ชื่อไพเราะคล้ายบทกวี 'ฟ้าบางแห่งร่ำลาเมฆฝนไปเนิ่นนาน'
'ฟ้าบางแห่งร่ำลาเมฆฝนไปเนิ่นนาน' เป็นรวมเรื่องสั้นที่พอจะบอกได้ว่า ให้บรรยากาศโดดเดี่ยว ใช้เสียงน้อย หากเป็นผู้คน ก็ค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัว เป็นเรื่องเล่าที่รอยยิ้มมีจะเสน่ห์เฉพาะในเงามืด! โดยสรุปก็คือ เรื่องเล่าของจรรยาในเล่มนี้อาจเป็นที่เข้าใจยาก มีความซับซ้อน เพราะแม้ว่าจะพยายามเดาทางเรื่องเล่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็มักจะผิดอยู่ร่ำไป นับเป็น 'เรื่องเล่าที่เลื่อนลอยไร้หมุดหมายและปราศจากจุดจบ เรื่องเล่าหลายเรื่องเป็นเช่นนั้น’ ซึ่งยืนยันได้ว่า นี่คือเสน่ห์อย่างที่สุดในงานของจรรยา
และสำหรับปี 2562 นี้ หลังจากเคี่ยวกรำและกลั่นกรองผ่านกาลเวลากว่า 3 ปี จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ กลับมาอีกครั้งด้วยผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งในสายธารชีวิตของนักเขียน 'แบบจำลองของเหตุผล'
‘แบบจำลองของเหตุผล’ หนังสือรวบรวมก้อนความคิดทั้งหมด 231 ชิ้น บรรจุประโยค ถ้อยคำ วลี และความคิดของนักเขียนและกวีคนหนึ่ง เป็นความเรียงว่าด้วยเหตุผลที่ประกอบขึ้นรูปด้วยถ้อยคำแห่งกวีนิพนธ์โดยแท้
กล่าวให้กว้างก็คือ ‘แบบจำลองของเหตุผล’ เป็นงานเขียนที่จัดวางตัวเองในตำแหน่งที่พอเหมาะพอดี มีลักษณะที่คล้ายท่วงทำนองของงาน โจเซฟ จูแบรต์ (Joseph Joubert) นักเขียนความเรียงชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18
งานเขียนเล่มสำคัญนี้ของจรรยา สะท้อนให้เห็นว่างานประเภทความเรียง บทบันทึก ข้อเขียนเชิงทัศนะแบบกวีนิพนธ์ของนักเขียนไทย ไปไกลกว่าการรวม ‘คำคม’ และ ‘ข้อคิดให้กำลังใจ’ ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดและดาษดื่น เพราะงานชิ้นนี้ วางตัวคู่ขนานไปกับความคิดทางปรัชญาที่ว่าด้วยการแสวงหาเหตุผลที่ตนยึดถือ เป็นการตั้งคำถามต่อกระบวนทัศน์สามานย์ที่ตั้งตนเป็นใหญ่ให้ผู้คนหยิบฉวยไปใช้ในนามของเหตุผล
ด้วยความมุ่งมั่นและต่อเนื่อง อื่นใดนอกจากนั้นแล้วก็ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่าน ที่จะเป็นผู้นำพาและเยียวยานักเขียนหนุ่มที่มีความตั้งใจจริงคนนี้ ให้ดำรงฐานะความเป็นนักเขียนตามความปรารถนาของตัวเขาเอง
เพราะเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วตามที่เขาเคยพูดไว้ทำนองว่า “การตั้งเป้าหมาย และทบทวน เพื่อก้าวต่อ ยืนระยะให้ถึงลมหายใจสุดท้ายนั้น ผมถือว่ามันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผมมาก”
และสนพ.สมมติของยืนยันว่า 'แบบจำลองของเหตุผล' คือภาระหน้าที่ของ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ ในฐานะที่กวีจะพึงมีต่อถ้อยคำและผู้อ่านของเขา
==========
สนใจคลิกสั่งซื้อ Set ปกแข็ง พิมพ์จำกัด Hardcover - Clothbound Classics
ในราคาพิเศษ!!
หรือ Set 3 เล่ม จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์
26 ก.ย. 2565
16 ก.ย. 2565
26 ส.ค. 2565
25 ก.ย. 2565